xs
xsm
sm
md
lg

อว.ส่วนหน้า” ลุยช่วยผู้ประสบภัยพายุ “วิภา” ระดมพลังมหาวิทยาลัยตั้งศูนย์บัญชาการ-รับผู้อพยพ-เปิดครัวแจกอาหาร-เร่งส่งสิ่งของช่วยเหลือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อว.ส่วนหน้า” ลุยช่วยผู้ประสบภัยพายุ “วิภา” ระดมพลังมหาวิทยาลัยตั้งศูนย์บัญชาการ-รับผู้อพยพ-เปิดครัวแจกอาหาร-เร่งส่งสิ่งของช่วยเหลือ ด้าน สสน. พร้อมใช้เทคโนโลยีเตือนภัยล่วงหน้าแบบเรียลไทม์ พื้นที่เสี่ยงรู้ก่อน 48 ชม. ครอบคลุมถึงระดับตำบล

หลังจากที่ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ระดมสรรพกำลังทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงกำลังคนรับมือและพร้อมเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “วิภา” อย่างเร่งด่วน ในหลายจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดน่านและเชียงราย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพื่อลดความเสียหายและบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเป็นรูปธรรม

ล่าสุด เครือข่าย “อว. ส่วนหน้า” และมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้เข้าไปปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่แล้ว โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรภ.เชียงราย) ได้ระดมทุกภาคส่วนรับมือ-ช่วยเหลือ-ฟื้นฟู ครอบคลุมครบวงจร ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ โดยจัดตั้ง ศูนย์เฝ้าระวังและตอบโต้ภัยพิบัติเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ร่วมฝึกทักษะให้ผู้นำชุมชน จิตอาสา และนักศึกษา พร้อมขับเคลื่อนงานวิจัยด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ และบูรณาการการใช้เครื่องจักรและทรัพยากรกับหน่วยงานท้องถิ่น โดยในช่วงเกิดเหตุ ได้ส่งจิตอาสาและเครื่องจักรช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม เช่น ขุดลอกสิ่งกีดขวางทางน้ำ สร้างพนังกั้นน้ำ ตั้งจุดแจกจ่ายกระสอบทรายและถุงยังชีพ รวมถึงเปิดพื้นที่มหาวิทยาลัยให้ประชาชนอพยพ ใช้แอป JITASA.CARE เฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง และตั้ง ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ภายใน มรภ.เชียงราย และยังได้เตรียมพร้อมฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยเตรียมจิตอาสา อาจารย์ นักศึกษา พร้อมรถน้ำและอุปกรณ์ช่วยล้างบ้าน-ซ่อมแซมบ้านเรือนผู้ประสบภัย

ขณะที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน (มทร.ล้านนา น่าน) ได้เปิดพื้นที่จอดรถแก่ผู้ประสบภัย พร้อมจัดตั้ง “ครัวราชมงคล ช่วยน้ำท่วม” ผลิตอาหารแจกจ่าย 2 มื้อ/วัน ผ่านหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเปิดรับบริจาควัตถุดิบและสิ่งของจำเป็นเพื่อใช้ประกอบอาหาร พร้อมยังให้เงินช่วยเหลือเยียวยาบ้านเรือนของนักศึกษาที่ได้รับความเสียหาย

ด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรภ.อุตรดิตถ์) และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (มรภ.ลำปาง) ยังเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นไปมอบให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่ พร้อมเปิดจุดรับบริจาคของใช้จำเป็น อาหารแห้ง เครื่องนุ่งห่ม ชุดปฐมพยาบาล ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งต่อความช่วยเหลือไปถึงมือผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้ดำเนินการในพื้นที่อย่างต่อเนื่องกับ 3 ภารกิจ คือ 1. เฝ้าระวังและแจ้งเตือนตลอด 24 ชั่วโมง จากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติที่ติดตั้งครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดน่าน ซึ่งทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณฝนและระดับน้ำ และส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์โดยอัตโนมัติทันทีเมื่อมีฝนตกหนักหรือระดับน้ำสูงถึงเกณฑ์เฝ้าระวัง ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที 2. ส่งข้อมูลตรงถึงหน่วยงานและชุมชน โดยจัดทำ "รายงานสถานการณ์น้ำประจำวัน" เพื่อวิเคราะห์และชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง ส่งตรงไปยังหน่วยงานหลัก เช่น ปภ., อว.ส่วนหน้า และที่สำคัญคือ ส่งตรงถึงเครือข่ายชุมชนในจังหวัดน่าน ผ่านกลุ่มไลน์แจ้งเตือนภัย ซึ่งระบบโทรมาตรของ สสน. จะส่งข้อความอัตโนมัติทันทีเมื่อตรวจพบปริมาณฝนหรือระดับน้ำที่ถึงเกณฑ์เฝ้าระวัง ทำให้ชุมชนสามารถเตรียมขนย้ายสิ่งของและวางแผนอพยพได้ล่วงหน้า และ 3. เปิดช่องทางให้ประชาชนติดตามด้วยตนเอง ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถติดตามสถานการณ์น้ำและฝนได้ด้วยตนเองแบบเรียลไทม์ ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaiwater.net และแอปพลิเคชัน “ThaiWater” ที่สามารถดูข้อมูลพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษเสี่ยงน้ำท่วมจากฝนตกหนักล่วงหน้าได้ 48 ชั่วโมง ถึงระดับตำบล

ที่สำคัญ สสน. ได้ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 และ กอ.รมน.ภาค 3 จัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรใน 17 จังหวัดภาคเหนือไว้ล่วงหน้า เพื่อให้กำลังพลสามารถใช้ข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติและแอปพลิเคชัน ThaiWater ในการติดตามสถานการณ์และวางแผนเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้การเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดน่านครั้งนี้เป็นไปอย่างทันท่วงที

“กระทรวง อว. จะไม่รอให้ความเดือดร้อนกลายเป็นวิกฤต แต่จะเร่งเข้าไปถึงพื้นที่ให้เร็วที่สุด ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และหัวใจของคนทำงาน เพื่อยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชนในทุกสถานการณ์“ น.ส.สุดาวรรณ กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น