xs
xsm
sm
md
lg

คณะแพทย์รามาฯ จับมือ 4 หน่วยงาน พัฒนาโมเดลรักษาผู้ป่วยโรคหืด-COPD แบบเน้นคุณค่า ลดแอดมิท จ่ายเงินเหมาะสมต้นทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะแพทย์รามาฯ จับมือ สธ. สปสช. คลินิก EACC และ GSK ศึกษาผ่าน Policy Lab สร้างโมเดลระบบบริการแบบเน้นคุณค่า Value-Based Healthcare ในผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภายใน 3 ปี ให้มีผลลัพธ์การรักษาที่ดี ลดการแอดมิท จ่ายเงินเหมาะสมกับต้นทุนค่ารักษา หวังเป็นต้นแบบขยายการดูแลในผู้ป่วยโรคอื่น

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และนางมาเรีย คริสติช กรรมการผู้จัดการ GSK ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการขับเคลื่อนนโยบายการสร้างระบบบริบาลสุขภาพแบบเน้นคุณค่าสำหรับโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง


ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์กล่าวว่า ปัจจุบันมีองค์ความรู้และนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ต้นทุนการรักษาเพิ่มสูงขึ้น การจะนำมาใช้ดูแลผู้ป่วยก็ต้องมีการประเมินว่า เทคโนโลยีเหมาะสมกับการรักษามากขึ้นหรือไม่ ช่วยให้คุณภาพชีวิตคนไข้ดีขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งการจัดบริการสุขภาพแบบเน้นคุณค่า (Value-Based Healthcare) ที่โฟกัสกับผลลัพธ์ของการรักษาโดยคำนึงถึงต้นทุนการรักษาพยาบาลด้วย มองว่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อย่างโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เมื่อมีอาการแต่ละครั้งย่อมมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนไข้หรือต้องเข้ามารักษาพยาบาล การจัดบริหารแบบ Value-Based Healthcare ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตคนไข้ดีขึ้น เข้า รพ.น้อยลง สามารถทำงานหรืออยู่บ้านกับครอบครัวอย่างมีความสุขมากขึ้น

"ปกติเมื่อพูดถึง Value-Based Healthcare จะนึกถึงผู้ให้บริการ ผู้จ่ายเงิน และคนไข้ แต่อาจไม่ได้นำบริษัทผู้ผลิตยาต่างๆ เข้ามาพูดคุยด้วยเท่าไร การลงนามในครั้งนี้ก็ทำให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งด้านวิชาการ ผู้ให้บริการ คนไข้ รวมถึงผู้ผลิตยา มาระดมสมองกันว่าจะทำอย่างไรให้การจัดบริการแบบเน้นคุณค่าของโรคหืดทำได้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ" ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์กล่าว


ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์กล่าวว่า รพ.รามาธิบดีมี Policy Lab ที่จะจำลองสถานการณ์การใช้นโยบายแบบนี้ในกลุ่มแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น แทนที่จะเป็นการคิดนโยบายแล้วไปใช้ทั่วทั้งประเทศ เชื่อว่าเมื่อทำได้ครบวงจรจะสร้างโมเดลของ Value-Based Healthcare สำหรับโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและนำไปใช้งานได้ เป็นการลองถูกมากกว่าลองผิด และจะเป็นตัวอย่างของการจัดบริการในโรคอื่นต่อๆ ไป

รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การดำเนินงานในครั้งนี้ รพ.รามาธิบดีจะเป็นผู้เชื่อมกระบวนการวิชาการด้านการแพทย์และกระบวนการวิชาการด้านการออกแบบนโยบายและระบบสุขภาพ ซึ่งในส่วนของโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังพบว่า ที่ผ่านมาผลลัพธ์การดูแลคนไข้ยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่มีเครื่องมือความรู้จากต่างประเทศ คือ Value-Based Healthcare จะเข้ามาช่วยเสริมได้ เนื่องจาก Value Based-Healthcare ต้องดูแล 3 อย่าง คือ ดูคน ดูไข้ และดูคุ้ม ไม่ใช่ดูเฉพาะไข้ว่ารักษาหายหรือไม่หาย แต่ดูคนด้วยว่าได้รับประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ ทำงานได้หรือไม่ ต้องมา รพ.บ่อยหรือไม่ และดูคุ้มในแง่ต้นทุนทั้งมุมมองคนไข้และ รพ.

"การดูแลผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังจะต้องดูแลผู้ป่วยนอกให้ดี เพราะหากดูแลไม่ดีก็จะมีอาการมาห้องฉุกเฉิน หากเอาไม่อยู่ก็ต้องนอน รพ. ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องดูแลผู้ป่วยนอกให้ดีไม่ให้มีอาการไปห้องฉุกเฉินเป็นผู้ป่วยใน แต่แรงจูงใจทางการเงินยังไม่ได้เอื้อให้เกิดการลงทุนในการดูแลผู้ป่วยนอก เพราะเงินผู้ป่วยนอกมีจำกัด ดังนั้น ถ้าหากจัดบริการถ้าดูแลคนไข้ได้ดี ลดผู้ป่วยในและห้องฉุกเฉิน คนไข้อยู่บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำงานได้ ควรจะถือว่าประสบความสำเร็จในการดูแลรักษาและให้รางวัลผู้ที่ทำได้ดี ไม่ใช่ว่าเสียประโยชน์จากการไม่มีคนไข้และไม่มีรายได้จากการดูแลคนไข้ในห้องฉุกเฉิน" รศ.ดร.นพ.บวรศมกล่าว

รศ.ดร.นพ.บวรศมกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือจะต้องหาตัวชี้วัดที่เหมาะสมชัดเจน อย่างผลลัพธ์การรักษาที่ดี คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ไม่มีผู้ป่วยมาห้องแกเฉินหรือแอดมิท ก็ต้องมีตัวชี้วัดที่ไม่ผิดเพี้ยน ไม่ใช่เกิดจากการที่หมอหรือพยาบาลหลีกเลี่ยงการไม่ให้รับเป็นผู้ป่วยใน รวมถึงต้องมีตัววัดการจ่ายเงินที่เอื้อต่อการช่วยให้ทุกคนมีทรัพยากรจัดบริการผู้ป่วยนอกให้ดี ซึ่ง รพ.รามาธิบดีก็จะเข้ามาช่วยตรงนี้ในการศึกษา โดยเบื้องต้นเห็นตรงกันว่าจะศึกษาโดยทำแบบทั้งประเทศแต่เป็นบางประเด็น รวมถึงทำบนแบบจำลองสถานการณ์ในคอมพิวเตอร์ จะมีการใส่ข้อมูลเพื่อดูว่า การออกแบบนโยบายแบบนี้ จ่ายเงินแบบนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ใช้ค่าใช้จ่ายเท่าไร


"ที่ประชุมวางแผนการทำงาน 3 ปีให้เห็นผล โดยปีแรกอาจค่อยๆ พัฒนากระบวนการไปที่เน้นการดูแลผู้ป่วยนอกให้มากขึ้น ยังไม่มีการปรับอะไรมาก จะเน้นการจ่ายเงินที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย และการเปลี่ยนตัววัดเล็กน้อย ส่วนปีถัดไปอาจมีการพัฒนาตัววัดที่แม่นยำมากขึ้น มีตัววัดในมุมมองคนไข้เพิ่มขึ้น เป็นธรรมกับทุกคนมากขึ้น ศึกษาต้นทุนที่เหมาะสมที่จ่ายให้ รพ.ไม่ขาดทุน นอกจากนี้ เนื่องจากทั้ง 2 โรคนี้มีลักษณะเหมือนกันและคล้ายกัน ปีแรกๆ จะเน้นคนไข้โรคหืดมากหน่อย ส่วนปีหลังๆ จะพยายามให้มีทั้งคนไข้หืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งขึ้นกับงบประมาณที่ดำเนินใช้โครงการ ซึ่ง สปสช.จะเตรียมงบประมาณไว้ในแต่ละปี" รศ.ดร.นพ.บวรศมกล่าว

รศ.ดร.นพ.บวรศมกล่าวว่า ต่างประเทศที่ใช้ Value-Based Healthcare ก็มีทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชียก็เริ่มมีที่สิงคโปร์ ไต้หวัน ขณะนี้บางบริษัทยาหรือบริษัทเครื่องมือแพทย์ ที่เป็นซัพพลายเออร์ของผู้ให้บริการสุขภาพก็เริ่มมาช่วย อย่างผลลัพธ์ไม่ดีก็ไม่คิดเงิน โดยเอาผลลัพธ์เป็นตัวหลัก ไม่ใช่แค่ต้นทุนยาแพงหรือไม่แพงอย่างเดียว ซึ่งการออกแบบระบบสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องการใช้ยาหรือเครื่องมือแพทย์ ก็มีการเห็นตัวอย่างในต่างประเทศ ก็หวังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ก็มีทาง GSK เข้ามาสนับสนุนให้เกิดเป็นวิธีปฏิบัติที่ดีด้วย นอกจากนี้ยังร่วมมือกับทาง สธ. สปสช. ซึ่งหวังว่าอนาคตจะมีสำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง หรือ รพ.เอกชนเข้ามาร่วมด้วยในการวัดผลการดูแลแบบเน้นคุณค่าแทนที่จะวัดเป็นกิจกรรม เช่น การแอดมิทแต่ละครั้ง นอน รพ.แต่ละครั้ง หวังว่าทิศทางเหล่านี้จะดีขึ้นเรื่อยๆ

ถามว่าการมี Value-Based Healthcare จะช่วยลดข้อขัดแย้งเรื่องการจ่ายเงินของหน่วยบริการและ สปสช.ลงได้หรือไม่ รศ.ดร.นพ.บวรศม กล่าวว่า เชื่อว่าลดด้วย 2 เหตุผล คือ 1.อดีตที่ผ่านมามักโต้เถียงกันว่าเงินพอหรือไม่พอ แต่อนาคตจะกลายเป็นว่าทำให้คนไข้ดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น ตัววัดความพอก็จะเปลี่ยนไป และเกิดการเปลี่ยนทิศทางการทำงาน และ 2.การออกแบบนโยบายมีการปรึกษาหารืออย่างรอบด้าน ทำให้มีการพูดคุยกันก่อนที่ออกเป็นนโยบาย ไม่ใช่ออกนโยบายเสร็จแล้วมาเถียงกัน ทำให้ความขัดแย้งน้อยลง


ด้าน รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) กล่าวว่า โรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังผ่านไป 15 ปี พบว่าความรู้เรื่องโรคดีขึ้น ยาที่ใช้ดีขึ้นราคาถูกลง แต่การแอดมิทยังเหมือนเมื่อ 15 ปีที่แล้ว คือ ประมาณ 6.6 หมื่นรายต่อปี แต่ช่วงหนึ่งคนไข้ที่ต้องแอดมิทลดลงไป คือ ช่วงที่ สปสช.มีการจ่ายเงินเพิ่มแบบคุณภาพ ดังนั้น ปัญหาคือระบบการจ่ายเงินให้ รพ.ไม่กระตุ้นให้เกิดการรักษาที่ดี โดยผู้ป่วยนอกใช้แบบเหมาจ่าย ผู้ป่วยแอดมิทจ่ายตาม DRG ถ้า รพ.หนึ่งรักษาคนไข้โรคหืดได้ดี จะต้องลงแรงลงเงินค่ายา เสียเงินเพิ่มขึ้นเพื่อลดการแอดมิท แต่ได้ค่าเหมาหัวเท่ากัน การอยากรักษาให้ดีเต็มที่ก็จะเจ็บตัว จึงต้องมี Value-Based Healthcare เข้ามาคิด ไม่ใช่เอาแต่เหมารายหัวแล้วรักษาไปตามกิจกรรม แต่เป็น รพ.ไหนรักษาได้คุณภาพดี ควรได้รับผลตอบแทนที่ดีเพื่อไม่ให้ขาดทุน จะเป็นการส่งเสริมให้ทุก รพ.อยากทำดี

"กระบวนการดูแลผู้ป่วยมีอยู่แล้ว คือ ต้องมีคลินิกเฉพาะโรคที่ได้คุณภาพ มีการประเมิน มีการสอนเรื่องโรคให้ความรู้คนไข้ อย่างการพ่นยา ซึ่งต้องใช้หลายคนมาช่วยกัน แต่หากไม่มีระบบการเงินที่จะสนับสนุนให้ รพ.นำคนมาทำงานตรงนี้เพิ่มขึ้น คนไข้ก็เข้าไม่ถึงคลินิกคุณภาพทำให้เกิดการแอดมิท การสนับสนุนการจ่ายเงินเป็น Value-Based ก็จะเป็นคำตอบ" รศ.นพ.วัชรากล่าว

รศ.นพ.วัชรากล่าวว่า ผลของการศึกษาที่จะเกิดขึ้นคือ ได้ตัวชี้คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย แต่ไม่ใช่ว่า รพ.ไม่ยอมให้แอดมิท คนไข้สามารถอยู่กับบ้านเป็นคนปกติ ใครทำได้อย่างนั้นก็ได้รับการตอบแทน ซึ่ง สปสช.เริ่มมีเงินท็อปอัปมาสนับสนุน คือ ปี 2568 จำนวน 50 ล้านบาท ปี 2569 จำนวน 60 ล้านบาท และปี 2570 อีก 200 ล้านบาท แล้ะจะอาศัยกระบวนการ Value-Based จ่ายเข้าไปตรงไหน กระบวนการด้านการเงินไปสิ่งสำคัญ อย่างคลินิก EACC ที่จะขยายไปให้ถึง รพ.สต. ถ้าไม่มีอะไรสนับสนุน คนก็ไม่อยากทำเพราะงานเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามี Value-Based มีงบประมาณก็จะลงไปถึง รพ.สต.ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น