xs
xsm
sm
md
lg

HPV สาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกที่ป้องกันได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์ แพทย์หญิงพิมพ์พรรณ พิสุทธิ์ศาล
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล


ไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) เป็นสาเหตุหลักของ มะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้มากในผู้หญิงทั่วโลก โดยเชื้อ HPV มักติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ และถึงแม้ร่างกายส่วนใหญ่สามารถกำจัดเชื้อนี้ได้เอง แต่ในบางราย เชื้ออาจคงอยู่ในร่างกายและพัฒนาไปเป็นการติดเชื้อเรื้อรัง ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเซลล์จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

นอกจากมะเร็งปากมดลูกแล้ว HPV ยังเกี่ยวข้องกับมะเร็งบริเวณอื่นที่สัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ เช่น มะเร็งช่องปาก กล่องเสียง ลำคอ อวัยวะเพศ และทวารหนัก แม้ว่าปัจจัยอื่นๆ จะมีส่วนร่วม แต่ HPV ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ดังนั้น พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย หรือการมีคู่นอนหลายคน เพราะจะเพิ่มโอกาสในการรับเชื้อ HPV ได้มากขึ้น มีผลการศึกษาพบว่าในผู้หญิงประมาณ 85% และผู้ชาย 91% ที่เคยมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต อาจเคยติดเชื้อ HPV มาก่อนแล้ว และส่วนใหญ่ร่างกายก็จะกำจัดเชื้อไปได้

อาการของมะเร็งปากมดลูกจะแตกต่างกันไปตามระยะของโรค ในระยะแรกที่เพิ่งได้รับเชื้อ หากภูมิคุ้มกันร่างกายกำจัดเชื้อได้ หรือแม้แต่มีการติดเชื้อเรื้อรังอยู่ ก็อาจจะยัง ไม่มีอาการใดๆ เลย หลังจากนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยของเซลล์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยการตรวจคัดกรองจึงจะพบความผิดปกติได้แต่หากมีรอยโรคเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหูดหรือมะเร็งในระยะที่ลุกลามขึ้น อาจมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกหรือตกขาวผิดปกติ มีเลือดออกหรือรู้สึกเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่การติดเชื้อ HPV ในตอนแรกไปจนถึงการตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง อาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะปรากฏอาการและตรวจพบได้

ดังนั้น การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อช่วยค้นหาความผิดปกติของการเปลี่ยนแปลงเซลล์ที่ปากมดลูกตั้งแต่ระยะแรกๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือมะเร็งในระยะเริ่มต้น ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป หรืออาจจะเร็วกว่านั้นหากมีความเสี่ยงสูง เช่น เป็นผู้ติดเชื้อ HIV, มีคู่นอนหลายคน, เป็นหูดหงอนไก่, หรือเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และแนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 2-5 ปี ขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ

การสวมถุงยางอนามัยสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV และลดความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก รวมถึงมะเร็งตำแหน่งอื่น ๆ ที่เกิดจาก HPV ได้ในระดับหนึ่ง อีกวิธีหนึ่งคือการฉีดวัคซีน แม้ว่า วัคซีน HPV อาจจะป้องกันได้ไม่ 100% แต่ก็ถือว่าครอบคลุมสายพันธุ์ไวรัสที่เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะวัคซีนในปัจจุบันที่ครอบคลุมได้ถึง 90% ของมะเร็งปากมดลูก นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันมะเร็งที่เกิดจากเชื้อ HPV ในตำแหน่งอื่นๆ ได้ด้วย การฉีดวัคซีนจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีสำคัญในการป้องกันโรคเหล่านี้

วัคซีน HPV สามารถฉีดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป ปัจจุบัน ประเทศไทยได้บรรจุวัคซีน HPV ไว้ในสิทธิประโยชน์พื้นฐานสำหรับเด็กผู้หญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อายุ 11-12 ปี สามารถฉีดได้ฟรี นอกจากนี้ คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีโครงการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ในราคาพิเศษสำหรับเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย อายุ 9-21 ปี โดยสามารถเข้ารับบริการได้จนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2568
กำลังโหลดความคิดเห็น