การให้บริการเสียงบรรยายภาพ (Audio Description) หรือ AD นอกจากจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ของคนพิการทางการเห็น ยังเป็นการยกระดับการพัฒนาคุณภาพของคนในประเทศให้ทัดเทียมในระดับสากลด้วย ทั้งนี้ สื่อ AD ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงสื่อสำหรับคนพิการทางการเห็นในประเทศไทยยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเดินหน้าสานต่อโครงการ "ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการผลิตบริการเสียงบรรยายภาพเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการ" จากการสนับสนุนของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) เปิดอบรมให้กับประชาชนทั่วไป ที่มีความสนใจการผลิตเสียงบรรยายภาพทางออนไลน์กับวิทยากรมากประสบการณ์ ในรูปแบบ pre-recorded video โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
อมีนา ทรงศิริ คนพิการทางการเห็น ที่ปรึกษาด้านสื่อและเสียงบรรยายภาพ จบปริญญาโทจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากรที่ร่วมถ่ายทอดความรู้ด้าน AD จะชวนผู้เข้าอบรมทำความเข้าใจกับโลกที่ไม่มีภาพ กับการบรรยายในหัวข้อ “การสื่อสารเพื่อการเข้าถึงสื่อของคนพิการทางการเห็น”
“โลกที่ไม่มีภาพ อาจจะทำความเข้าใจได้ยากสำหรับคนที่สายตาปกติ ดังนั้นการผลิตสื่อ AD จำเป็นต้องทำความรู้จักว่า ความพิการทางการเห็นไม่ได้มีแค่ตาบอดสนิทเท่านั้น บางคนก็สายตาเลือนรางซึ่งยังมองเห็นภาพ ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป บางคนเห็นเป็นภาพเบลอ เห็นแค่บางมุมของลูกตา ในขณะที่บางคนมองไม่เห็นด้านข้างหรือไม่เห็นตรงกลาง การทำสื่อเพื่อคนกลุ่มนี้ จึงจำเป็นต้องรู้ว่าคนเหล่านี้เข้าใจภาพแบบไหน อย่างไร มีการใช้ชีวิตโดยรวมเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าเรารู้จักผู้ใช้สื่อก่อนก็จะช่วยให้การผลิตงาน AD ตอบโจทย์ความต้องการ เซกชั่นนี้จึงเกิดขึ้น” อมีนา เกริ่นนำถึงเนื้อหาที่ตนเตรียมจะถ่ายทอด
สำหรับวิทยากรคนอื่น ๆ อาทิ รศ.ดร.กุลนารี เสือโรจน์ นักวิชาการด้านสื่อและคนพิการ คณะวารสารศาสตร์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ จะเล่าถึงประวัติและความสำคัญของเสียงบรรยายภาพ ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์, รศ.ดร.อารดา ครุจิต นักวิชาการด้านเสียงบรรยายภาพผู้มากประสบการณ์ จากคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเขียนบทเสียงบรรยายภาพที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจเนื้อหาและได้รับอรรถรส, ดร.พันธกานต์ ทานนท์ ภาคีเครือข่ายจากคณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จะมาแบ่งปันประสบการณ์และความท้าทายในการทำเสียงบรรยายภาพสำหรับรายการสาระและบันเทิง, กมลวรรณ สุนทรธรรม ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 มีประสบการณ์ลงเสียงบรรยายงานเอดีจะอธิบายเทคนิคการลงเสียงบรรยายภาพ และเล่าถึงความแตกต่างของงานลงเสียงบรรยายภาพกับงานลงเสียงประเภทอื่น, ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล และปิยะวัลย์ องค์สุวรรณ จากมูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Vohan และ Pannana จะมาแนะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้การผลิตและเข้าถึงเสียงบรรยายภาพง่ายขึ้นและใกล้ตัวมากขึ้น
“ถ้าคนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้กันเยอะๆ และมีทักษะการผลิตเพิ่มขึ้น สื่อ AD ก็จะขยายวงกว้าง คนที่ใช้ก็จะเข้าถึงสื่อได้หลากหลาย ตรงกับความต้องการของคนพิการทางการเห็นมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถนำไปปรับใช้กับตัวเองได้ จะเป็น content creator ก็ยังได้ อย่างในต่างประเทศตอนนี้ EU มีกฎหมายที่ผลักดันให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม เพราะการเข้าถึงเป็นสิทธิ สิ่งสำคัญอยากให้เข้าใจว่า การทำเรื่องนี้ เราไม่ได้ทำเพื่อการกุศล แต่เป็นบริการเพื่อความเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ ตามหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สากลให้การยอมรับ ถ้าหากมีคนมาทำสื่อ AD เพิ่มมากขึ้น คนตาบอดมีโอกาสเข้าถึงสื่อได้มากขึ้น ก็จะช่วยยกระดับการพัฒนาเทียบเท่าสากลอีกรูปแบบหนึ่ง”อมีนา ฝากทิ้งท้าย
ลองหลับตา แล้วจินตนาการถึงสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว สามารถรับรู้อะไรได้บ้าง หากยังมีข้อสงสัย เสียงบรรยายภาพ มีคำตอบ ผู้ที่สนใจการอบรมสามารถติดตามข่าวสารและกำหนดการเปิดลงทะเบียนได้ทางเพจ JC Thammasat