xs
xsm
sm
md
lg

สสส. ผนึกกำลังเครือข่ายสุขภาพทั่วประเทศ จุดพลังใจชวนคนไทยงดเหล้าเข้าพรรษา ภายใต้แนวคิด “มีสติ มีสุข ทุกโอกาส”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคยสังเกตไหมว่า เวลามีงานเลี้ยงฉลองในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันเกิด งานแต่ง งานบวช งานรวมรุ่น หรืองานเกษียณอายุราชการ หรือแม้กระทั่งงานศพ ก็มักจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานเสมอ แม้หลายคนจะมองว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ เพราะเพื่อการสังสรรค์ เข้าสังคม หรือคลายเครียด แต่รู้หรือไม่ว่า แอลกอฮอล์เป็นต้นตอของปัญหาหลายด้าน ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ อุบัติเหตุ ไปจนถึงความรุนแรงในครอบครัวและสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแอลกอฮอล์มีผลต่อการควบคุมสติของผู้ดื่ม

ด้วยเหตุนี้เองจึงได้เกิดโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 23 ปี ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนลด ละ เลิกการดื่มเหล้าในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา และร่วมกันสร้างสังคมสุขภาวะปลอดเหล้าอย่างยั่งยืน

โดยปี 2568 นี้ สสส. ได้สานพลังเครือข่ายงดเหล้า ภาคีเครือข่ายสุขภาพกว่า 6,050 องค์กรทั่วประเทศ รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ชูแนวคิด “มีสติ มีสุข ทุกโอกาส” เสริมพลังสติผู้ดื่มให้เบรกตัวเองในช่วงเข้าพรรษา ระยะเวลา 3 เดือน เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 มิติ (สุขภาพทางกาย, สุขภาพทางใจ, สุขภาพทางสังคม, และสุขภาพทางจิตวิญญาณ)

“มีสติ มีสุข ทุกโอกาส” งดเหล้าเข้าพรรษา ปี 68
สสส.- สคล. - ภาคีเครือข่ายสุขภาพ 6,050 องค์กร ร่วมขับเคลื่อนสังคมปลอดเหล้า
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวถึงโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ว่า เป็นโครงการที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่ออยากใช้โอกาสเทศกาลเข้าพรรษาเชิญชวนให้คนในสังคมทุกเพศ ทุกวัย ทุกค่านิยม และทุกวิถีชีวิต ได้ใช้ชีวิตช่วงดังกล่าวกลับมาฟื้นฟูชีวิต จิตใจ ชุมชน และสังคม ให้กลับคืนสู่สมดุลที่มีพลังและความสุข โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปีนี้ มาในโครงการฤดูกาลฝึกสติ และรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ภายใต้แนวคิด “มีสติ มีสุข ทุกโอกาส”

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส. กล่าวเสริมถึงโครงการฤดูกาลฝึกสติ และรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2568 ภายใต้แนวคิด “มีสติ มีสุข ทุกโอกาส” ว่า โครงการนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการรณรงค์สร้างเสริมสุขภาวะ ซึ่ง สสส. เครือข่ายงดเหล้า และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาได้ประสบความสำเร็จในทุกมิติแต่ก็ยังมีความท้าทายที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
 
“โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่การก่อตั้ง สสส. โดยในปีนี้มีความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะด้านปัญหาเศรษฐกิจ และนโยบายรัฐบาลเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยว มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางสถานที่ บางเวลา และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สุราจากชุมชน อาจส่งผลให้แนวโน้มการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น”
 


“มีข้อมูลชัดเจนว่าการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดที่มีอัตราการดื่มสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ขอนแก่น (64.1%) ลำปาง (59.5%) มหาสารคาม (56.0%) เชียงราย (53.7%) และพะเยา (53.6%) ซึ่งเราต้องทำงาน ต้องรณรงค์ ต้องสื่อสารกันอย่างเข้มข้นต่อไป อย่างน้อยก็ให้จำนวนการดื่ม 5 จังหวัดนี้ลดลง ดังนั้น สสส. จึงต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการรณรงค์ภายใต้แคมเปญ “งดเหล้าเข้าพรรษา ชวนกันมาตั้งสติ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสปอตโฆษณาที่ออกมาใหม่ 2 ชิ้นนั้น ผู้บริหาร ผู้ผลิตสื่อ ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทำงานกันอย่างหนัก ซึ่งสปอตโฆษณามีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งสติ เตือนตัวเอง ถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างพลังสติ เบรกตัวเองให้ลด ละ เลิกดื่ม ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และส่งเสริมวัฒนธรรมงดเหล้าในทุกระดับ ตั้งแต่ชุมชน สถานศึกษา หน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน และประชาชนทั่วไป จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน”

“ผมในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 มีหน้าที่ดูแลเรื่องการผลิตสื่อ ให้ความรู้ ให้ข้อมูล และสร้างความตระหนักให้กับคนทั่วไป ซึ่งเราคาดหวังว่าเมื่อประชาชนได้ดูสปอตโฆษณาตัวใหม่นี้ เขาจะได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรม เพื่อลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนทั้ง 4 มิติ”

กว่า 23 ปี สสส.-สคล. ทำงานมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง
จุดเริ่มต้นของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2546 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการงดเหล้า และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายธีระ วัชรปราณี เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.). ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาว่า เกิดขึ้นเพราะประเพณีปฏิบัติตามวิถีชุมชน ซึ่งวันเข้าพรรษาถือเป็นวันพระใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนถือศีลปฏิบัติธรรม เป็นโอกาสอันดีที่จะรณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิกการดื่มสุรา 


โดยปีนี้มีภาคีความร่วมมือรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาจำนวน 6,050 แห่ง ได้แก่
1. สถานศึกษา 2,500 แห่ง มีกิจกรรม “โพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า” นักเรียนเขียนจดหมายเชิญชวนพ่อแม่ลด ละ เลิกการดื่ม
2. ชุมชน 1,178 แห่ง มีกระบวนการ “5 ช.” คือ ชวน ช่วย ชม เชียร์ เชิดชู พร้อมยกย่องผู้ที่สามารถงดเหล้าได้ตลอดพรรษาเป็น “คนหัวใจหิน หัวใจเหล็ก และหัวใจเพชร”
3. อำเภอ 150 แห่ง นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. รณรงค์ชวนประชาชนร่วมปฏิญาณตนงดเหล้า
4. องค์กร 2,222 แห่ง ผ่านระบบลงทะเบียนออนไลน์ร่วมกิจกรรมและรับใบประกาศเกียรติคุณ เช่น ธ.ก.ส. กว่า 900 สาขาทั่วประเทศ, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, เทศบาล, ที่ว่าการอำเภอ, โรงเรียน และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่

“ปีที่ผ่านมา 2567 เรามีคนงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา 13 ล้านคน ผมมองว่านี่คือโอกาสที่สำคัญ ถ้าไปดูสถิติเรื่องอุบัติเหตุ หรือความรุนแรงต่าง ๆ ที่โรงพักหรือโรงพยาบาลในช่วงเข้าพรรษาจะเห็นได้ว่า สามารถลดความรุนแรงหรือปัญหาได้ ปีนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายเรื่องการตลาด การท่องเที่ยว สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีอะไรต่าง ๆ กฎหมายที่จะมาปกป้อง คุ้มครองประชาชน คุณภาพชีวิตประชาชนที่เคยเข้มแข็งก็กำลังแก้ไขอยู่ ดังนั้นจึงคิดว่าเครื่องมือที่เรามีอยู่ อย่างวัฒนธรรมประเพณี น่าจะพอช่วยทำให้สังคมไทยเราเบรกหรือหยุดเพื่อตั้งสติตัวเองได้”

“ปีนี้เราใช้คำว่า ‘สติ’ มาเชิญชวนและรณรงค์ในการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็อยากจะเชิญชวนทุกท่านมาฝึกสติ ซึ่งสติไม่ได้ใช้ได้กับแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สติยังใช้ได้กับทุก ๆ เรื่อง สติอยู่กับชีวิตประจำวันของเราทุกคน โอกาสนี้เราจะใช้การพัฒนาตนเองในมิติต่าง ๆ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี ซึ่งเป็นเจตนารมย์ของ สสส.และ สคล.ขอบคุณทุกท่านที่ได้ร่วมโครงการกับเรา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะร่วมขับเคลื่อนไปอีก 3 เดือนข้างหน้านี้ครับ”

งดเหล้าเข้าพรรษา ได้ผลจริง!
จากผลสำรวจเผย ปี 2567 คนไทยร่วมงดเหล้าถึง 13 ล้านคน 48.6% สุขภาพดีขึ้น 40.5% ประหยัดค่าใช้จ่าย และ 31.4% สุขภาพจิตดีขึ้น รวมประหยัดเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มตัวอย่าง 58.4% มีความตั้งใจว่าในปีนี้จะลด ละ เลิก ต่ออีก

นพ.พงศ์เทพ
ยังได้เผยถึงผลประเมินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ว่า ใน ปี 2567 มีผลการสำรวจจากศูนย์วิจัย SAB พบว่า มีคนไทยร่วมงดเหล้า 13,154,239 คน โดยเป็นผู้ที่งดตลอดพรรษา 7,646,408 คน (58.1%) งดเป็นบางช่วง 2,681,000 คน (20.4%) และไม่งดแต่ลดการดื่มลง 2,826,831 คน (21.5%) โดยกลุ่มตัวอย่าง 73% ระบุว่าได้รับผลดีอย่างน้อย 1 อย่าง จากการลด ละ เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา ทั้งนี้ ตัวอย่างที่ได้รับผลดี ระบุส่งผลดีด้านสุขภาพกาย 48.6% ประหยัดค่าใช้จ่าย 40.5% และสุขภาพจิตดีขึ้น 31.4% รวมประหยัดเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่ง หรือ 58.4% มีความตั้งใจว่าในปีนี้จะลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ออีกปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในระยะยาว


นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว และคณะ ได้วิเคราะห์ในระดับประชากร โดยเปรียบเทียบยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงก่อนรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2546 กับหลังจากมีการรณรงค์ในช่วง 3 เดือน พบว่า การรณรงค์ทำให้การดื่มของคนไทยลดลงในช่วง 3 เดือน ถึง 9.97%

ทั้งนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า ขณะนี้มีการรณรงค์ในลักษณะงดดื่มชั่วคราวหลายประเทศในยุโรป ซึ่งกำหนดงดดื่มเป็นเวลา 1 เดือน เช่น ประเทศอังกฤษ รณรงค์ในช่วง ม.ค. ในชื่อ ‘Dry January’ หรือ ประเทศออสเตรเลีย รณรงค์ในช่วง ก.ค. ในชื่อ ‘Dry July’ ซึ่งของไทยก็ได้ใช้โอกาสวันสำคัญตามพระพุทธศาสนาวิถีพุทธ กำหนดงดดื่ม 3 เดือน ในช่วงวันเข้าพรรษา นั่นเอง

‘สติ’ เครื่องมือสำคัญ ช่วยเลิกเหล้าได้
หากพูดถึง ‘สติ’ อาจารย์ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการธนาคารจิตอาสา ได้ให้คำนิยามของคำว่า ‘สติ’ ว่า คือการที่กลับมารับรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในร่างกายและจิตใจของเรา

“การฝึกสติไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่เรารับรู้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นในร่างกายของเรา เราทำอะไรอยู่ เรารู้ว่าใจของเราตอนนี้เกิดอะไรขึ้น เรารู้สึกยังไง เรามักจะใช้ชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอนในรูปแบบเดิม ๆ เป็นรูปแบบอัตโนมัติ จึงทำให้ยากที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ซึ่งหากเรามีสติจะทำให้มีอิสรภาพ ทำให้เรารู้ว่าเรามีทางเลือก หมายความว่า ถ้าเรามีสติปุ๊บมันจะทำให้เราเข้าถึงอิสรภาพ เข้าถึงทางเลือกในชีวิต ทุก ๆ ชั่วขณะที่เรามีสติ เราสามารถเลือกได้ว่า จะทำอะไร / จะไม่ทำอะไร พอเราเข้าถึงอิสรภาพเราจะมีความสุข ณ ตอนนั้นเลย รวมถึงมีความสุขจากผลของการกระทำที่เราเลือก เช่น การเลิกเหล้า พอลด ละ เลิกได้ สุขภาพดีขึ้น มีเงินเก็บมากขึ้น คนรอบตัวดีขึ้น มีความปลอดภัยทางท้องถนน มีความปลอดภัยในบ้านเพิ่มมากขึ้น อย่างโครงการฤดูกาลฝึกสติ และรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2568 หัวใจหลักสำคัญคือ ‘สติ’ ผมเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจแน่วแน่แล้วว่าอยากจะทำอะไร แล้วมีสติเข้ามาช่วย เราทำได้แน่นอน”


ด้านนายวิเชษฐ์ กรรมการกองทุน สสส. ได้ให้นิยามคำว่า ‘มีสติ มีสุข ทุกโอกาส’ ว่า ‘สติ’ คือ การรู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ‘มีสุข’ ในมุมมองของผมคือการมีสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 มิติ คือ กาย ใจ สังคม จิตวิญญาณ ส่วน ‘ทุกโอกาส’ คือ โอกาสต่าง ๆ ที่เรานึกถึงการเฉลิมฉลอง ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานบวช งานแต่ง งานแข่งเรือ งานเลี้ยงเกษียณ ทุกงานต้องไม่มีเหล้าหรือแอลกอฮอล์ เพราะฉะนั้น ‘มีสติ มีสุข ทุกโอกาส’ เป็นสิ่งที่มีความหมายของการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาในปีนี้ครับ”

ผู้จัดการกองทุน สสส. ยังได้กล่าวเสริมเพิ่มเติมว่า ‘สติ’ ถือเป็นเพื่อนแท้ที่ดีที่สุด เหมือนกับรถ มีทั้งเบรกและคันเร่ง ใช้ควบคุมชีวิตให้มีความสุขไปตลอดเส้นทาง เราในฐานะคนขับจะรู้ว่าควรจะเร่งหรือเบรกจังหวะไหน อย่างไร ซึ่งสติจะเป็นตัวควบคุมทั้งอารมณ์ วาจา และการกระทำ ดังนั้นถ้าเราทำลายเพื่อนของเรา (สติ) จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับชีวิตเรา”

“จากประสบการณ์การทำอาชีพหมอ ผมเคยเจอเคสที่ผู้ชายแสนดี แต่พอดื่มเหล้าก็เตะภรรยากระทั่งไตแตก พอได้สติมาขอโทษว่าเมาไปหน่อย ทำให้ภรรยาต้องรักษาตัวอยู่ 2 สัปดาห์ ซึ่งต้นเหตุเพราะเราไปปลุกปีศาจร้ายที่ทำลายสติ อาจารย์หมอที่สอนผมมักจะบอกเสมอว่าอย่าเกลียดคนดื่มเหล้า แต่ให้เกลียดการดื่มเหล้า เวลาเราเจอคนไข้เมาแล้วขับ คนไข้เมาแล้วทำร้ายคนอื่น สิ่งที่ผมทำคือตั้งสติ อย่าไปเกลียดหรือโกรธคนที่เมาเหล้า ขอให้เกลียดการกระทำ เขาอาจจะเป็นเหยื่อของเหล้า เพราะสิ่งที่น่ากลัวของเหล้าคือ การทำลายสติ ผมมองว่าการดื่มเหล้าเป็นความสุขเทียม ซึ่งบางคนต้องการความสุขแต่มีชีวิตลำบาก มีเรื่องไม่สบายใจ มีหนี้มีสิน ครอบครัวมีปัญหา จึงอยากได้ความสุขชั่วครู่นี้ แต่หารู้ไม่ว่ามันอาจจะกลายเป็นปีศาจร้ายที่อยู่กับเราไปตลอดชีวิตเลยก็ได้ ซึ่งสิ่งที่ สสส. และ สคล. (เครือข่ายงดเหล้า) พูดถึงนั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ดื่ม งดดื่ม หรือคนดื่มเป็นคนไม่ดี แต่อยากเชิญชวนให้มาร่วมฝึกสติด้วยการงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษานี้ครับ”

ร่วมสร้างชุมชนและสังคมปลอดเหล้า ผ่าน 9 โมเดลต้นแบบ
ทั้งนี้ผู้แทนจาก 9 โมเดลพื้นที่ต้นแบบ ยังได้มาร่วมขับเคลื่อนสังคมด้วยการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ เครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม, ภาคีรัฐวิสาหกิจ, ภาคีสถานประกอบการ, ภาคีนายอำเภอ, ภาคีผู้ใหญ่บ้าน, ภาคีปกครองท้องถิ่น, ภาคีตำรวจ, เครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน และเครือข่ายชุมชน

เริ่มต้นที่ เครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม พระครูสุมณฑ์ธรรมธาดา เจ้าคณะตำบลคลองกระจง และเจ้าอาวาสวัดคลองกระจง อ.สวรรคโลก จ..สุโขทัย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาของทางเครือข่ายว่า เครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีแกนนำพระสงฆ์ 50 รูป โดยได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม ซึ่งได้รับการอุปถัมป์จาก สสส.


“งานที่เราทำเป็นการรณรงค์ป้องกันลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงในหลายเรื่อง และในช่วงเข้าพรรษานี้ ได้เชิญชวนพุทธศาสนิกชนงดเหล้าเข้าพรรษา โดยถือเป็นการใช้ต้นทุน บุญประเพณีที่มีอยู่แล้วในสังคมไทยมาลด ละ เลิกอบายมุขกัน เพื่อทำให้สุขภาพดีขึ้น”

“บทบาทของพระสงฆ์จะทำทั้งในวัดและทำร่วมกับผู้นำชุมชน อย่างจังหวัดสุโขทัย อาตมาได้ขับเคลื่อนผู้นำชุมชน 30 ชุมชน เชิญชวนให้ชุมชนมารณรงค์งดเหล้า โดยผู้ที่งดเหล้าจะได้ทำพิธีบวชใจ ปฏิญาณตนว่าจะงดเหล้าตลอด 3 เดือน โดยปีหนึ่งทางเครือข่ายทำให้คนเลิกเหล้าได้ 5-10 คน ส่งเสริมทำให้เกิดคนหัวใจเพชร 50-60 คน”

“อาตมาอยากเชิญชวนชาวพุทธทั้งหลายมาให้กำลังใจกัน เพื่อทำให้คนที่ตั้งปณิธานอยากงดเหล้าทำได้สำเร็จ เพราะการงดเหล้านอกจากจะทำให้สุขภาพดีขึ้น ครอบครัวและชุมชนยังมีความสุขด้วย”

ด้านภาคีรัฐวิสาหกิจ นายมานพ จินาไหม ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาองค์กรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงวิสัยทัศน์ของ ธ.ก.ส.ว่า เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน นอกเหนือจากภารกิจที่เป็นสถาบันการเงินแล้ว ยังมีภารกิจมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบท ภาคชุมชน ไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณี


“นโยบายที่เราดำเนินการมา คือการลงไปสร้างความรู้เรื่องการจัดการทางการเงินให้กับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ให้รู้จักการบันทึกบัญชีครัวเรือน วิเคราะห์งบการเงิน เพื่อนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรามีนโยบายส่งเสริมเปลี่ยนเหล้ามาเป็นเงินออม ซึ่งในกลุ่มพนักงานของเราก็เช่นกัน เราจะมุ่งเน้นส่งเสริมให้พนักงานยึดมั่นเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร เพื่อเป็นต้นแบบที่ดี ห่างไกลอบายมุข”

“ในส่วนโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ธ.ก.ส. ได้เป็นภาคีสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจนี้ เราทำมาเกือบ 20 ปี ได้ทำงานกับเครือข่าย สคล.มาอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมจะมีการรณรงค์ให้พนักงาน ลูกค้า และบุคคลทั่วไปได้ลงนามปฏิญาณตน ลด ละ เลิกเหล้าในช่วงวันเข้าพรรษา เราใช้พื้นที่ ธ.ก.ส. กว่า 900 สาขาทั่วประเทศ ลงนามงดเหล้าเข้าพรรษา เป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยลดความเสี่ยง ดูแลสุขภาพตนเอง ได้อยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น รวมถึงได้ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ ซึ่งในนามของ ธ.ก.ส. อยากจะเชิญชวนทุกท่านมาร่วมงดเหล้าเข้าพรรษากันครับ”

พันตำรวจโท ประเสริฐ ฟุ้งพิมาย รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรพิมาย จ.นครราชสีมา ผู้แทนจากภาคีตำรวจ ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการสถานีตำรวจปลอดเหล้าว่า ปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้วที่ข้าราชการตำรวจสภ.พิมายได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการเพื่อให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล


“สภ.พิมาย มีข้าราชการตำรวจในสังกัด 98 นาย เป็นข้าราชการตำรวจชาย 95 ราย และข้าราชการตำรวจหญิง 3 ราย ผู้ชายอยู่ด้วยกันก็อาจจะมีการสังสรรค์ พบปะกันหลังเลิกงาน มีการดื่มสุราเป็นเรื่องปกติ ถ้าดื่มอยู่ในขอบเขตก็ไม่น่ามีปัญหา แต่มีบางส่วนที่ดื่มต่อเนื่องส่งผลให้เกิดผลกระทบตามมา ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ร่างกายทรุดโทรม หรือทางด้านหน้าที่การงาน เนื่องจากตำรวจเรามีความใกล้ชิดกับประชาชน มีการรักษาความเรียบร้อยให้กับประชาชน ถ้าตำรวจไม่มีความพร้อม ติดสุรา ประชาชนจะขาดความเชื่อมั่น ขาดความศรัทธา ภาพลักษณ์ขององค์กรจะเสียหายไปได้ หรือทางด้านเศรษฐกิจของครอบครัว จากที่เงินเดือนที่ได้รับเอามาใช้สอยในครอบครัวอาจจะต้องเสียไปกับการซื้อเหล้ามาดื่ม เกิดผลกระทบกับครอบครัว ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเสียไป ผลกระทบจากปัญหานี้ทำให้ท่านผู้กำกับการได้เล็งเห็นการแก้ไขปัญหา จึงได้นำตำรวจสภ.พิมาย 98 นาย เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นตัวอย่าง หลังจากนั้นก็ได้ขยายไปยังชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ”

“การทำงานของตำรวจเกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น เมาแล้วขับ ถ้าตำรวจยังเมาแล้วไปจับคนเมาก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี ดังนั้นเราต้องเป็นแบบอย่างให้กับประชาชน ในส่วนงานของตำรวจมีทั้งป้องกันและปราบปราม ที่ผ่านมาเรามีการจับกุม กวดขัน บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผลไม่ได้เป็นที่สำเร็จเท่าที่ควร เราจึงทำงานเชิงรุก โดยเน้นการป้องกันเข้าไปเสริม เรามีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับปกครอง โรงเรียน ชุมชน ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา เป็นการบูรณาการร่วมกันจนเกิดเป็นผลสำเร็จบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์”

ด้านนายทศพล จักรบุญมา นายอำเภอวังเหนือ จ.ลำปาง (ภาคีนายอำเภอ) ได้กล่าวถึงการร่วมขับเคลื่อนว่า หนึ่งในปัญหาหลักของอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง คือ เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด ซึ่งส่งผลกระทบเป็นภาพกว้างต่อพี่น้องประชาชนและสังคม และจากการที่ได้เล็งเห็นถึงปัญหาจึงทำให้ลงมาร่วมกันขับเคลื่อนกันอย่างแท้จริง ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดสัดส่วนของผู้ดื่มแอลกอฮอล์รายเก่า และป้องกันการเกิดขึ้นของผู้ดื่มรายใหม่


“อำเภอวังเหนือมี 80 หมู่บ้าน 8 ตำบล มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 289 คน มีหัวหน้าส่วนราชการ 43 คน เราจะต้องพูดคุยกัน อย่างในช่วงเข้าพรรษาสิ่งที่เราทำ คือ 1. การกล่าวปฏิญาณ เพื่อที่จะงดเหล้าร่วมกัน โดยเริ่มจากผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในพื้นที่ เช่น นายอำเภอ นายกองค์กรส่วนท้องถิ่นหรือหัวหน้าส่วนราชการ จะต้องเป็นแบบอย่างก่อน 2. ใช้ธรรมะ เราได้ไปกราบขอเจ้าคณะอำเภอวังเหนือและพระสังฆาธิการในพื้นที่ของอำเภอวังเหนือ ซึ่งท่านได้เมตตาพูดคุยในเวทีที่ท่านไปเทศน์ในงานต่าง ๆ ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในช่วงเข้าพรรษาเราจะมีโครงการที่นายอำเภอพาเข้าวัด ทำบุญ ฟังธรรม เชิญภาคีเครือข่ายมาร่วม 3. เราให้เรื่องสุขภาพ พี่น้องประชาชนถ้าเราพูดแต่เราไม่ได้ทำให้เขาเห็น ให้เขาตระหนักว่าเกิดผลกระทบกับเขายังไง เขาจะไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบ แต่ถ้าบอกว่า ดื่มเยอะตับแข็งนะ ดื่มเยอะเป็นโรคความดันโลหิตสูงนะ จะเป็นโรคร้ายต่าง ๆ นะ พอเขาเห็นคนที่เป็นมาก่อน เขาจะตระหนักและเข้าร่วม และเห็นว่ามีผลดีต่อสุขภาพ รวมถึงส่งเสริมให้ออกกำลังกาย ให้ทีมงานอสม. ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล เชิญชวนประชาสัมพันธ์ให้มาเข้าร่วมโครงการ 4. เราให้ในเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทางชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจะช่วยกันดูแล เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน โดยเรามีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา 10 วัน อันตรายในช่วงมกราคม 2568 อำเภอวังเหนือ ได้รับรางวัลเพราะไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในช่วงดังกล่าว 5. เราให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ผมมองว่าเด็ก ๆ เป็นกำลังใจที่มีค่ากับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งเราใช้เครือข่ายสถานศึกษาเข้าไปช่วยพูดคุย ด้วยความรักที่มีต่อลูกหลาน ผมเชื่อว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองทำได้”

“เราขับเคลื่อนโดยใช้กลไก บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) ใช้การเข้าใจ เข้าถึง เราต้องทลายกำแพงทั้งหมดเพื่อเป้าหมายลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ ให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เพราะผมเชื่อเสมอว่าการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและทรงพลังที่สุดคือการให้ โดยเฉพาะการให้ความรัก ความเข้าใจที่ถูกต้องกับพี่น้องประชาชนทุกคน ผมอยากเชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ผมมองว่าเปลี่ยนที่คนอื่นเปลี่ยนยากครับ แต่ถ้าเปลี่ยนที่ตัวเราก่อน แล้วค่อยไปเปลี่ยนคนอื่น สิ่งที่ดี ๆ จะเกิดขึ้นตามมา”

ด้านนายยุทธ บุญเกศ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองวังสะพุง จ.เลย (ภาคีเทศบาล) กล่าวถึงการร่วมขับเคลื่อนโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาว่า ในปีนี้ เทศบาลเมืองวังสะพุงได้มีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างเข้มข้นและเข้มแข็ง โดยปีนี้จะมีการจัดกิจกรรม เช่น การปฏิญาณตนร่วมกับผู้นำท้องถิ่น และมอบเกียรติบัตรให้กับคนที่งดเหล้าได้ครบ 3 เดือน


“ปีนี้ทางเทศบาลเมืองวังสะพุง จะมีการปฏิญาณตน และมอบเกียรติบัตรให้กับคนที่งดเหล้า 3 เดือน โดยท่านนายอำเภอ ท่านเจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้มอบ และมีกิจกรรมทำบุญตักบาตร เราต้องการคืนความสุขให้พี่น้องประชาชน และจะขยายผลเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในโอกาสต่อไป”

ด้านนายอภิสิทธิ์ ภูชัยแสง ผู้ใหญ่บ้านโคกเครือ ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ (ภาคีผู้ใหญ่บ้าน) เล่าถึงเราขับเคลื่อนการเป็นปลอดเหล้ามาตั้งแต่ปี 2552 หัวใจหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ พระครูโสภณวินัยวัฒน์ หรือ หลวงปู่เวิน คุเณสโก


“จุดเริ่มต้นมาจากที่หลวงปู่เวิน ท่านเห็นมากว่า 50 พรรษา ว่า ในงานศพมีคนดื่มเหล้าเต็มไปหมด ซึ่งท่านเกิดความรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ ว่าทำไมชุมชนถึงเป็นเหมือนเดิม สภาพเดิมอยู่ ทำไมไม่เปลี่ยนแปลงสักที ท่านจึงหักดิบเลยว่าจะทำยังไงให้งานศพไม่มีเหล้า ท่านได้เรียกผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รพ.สต. นายกเทศบาลท้องถิ่น มาร่วมปรึกษาหารือกัน งานแรกที่ท่านทำคืองานศพของพี่ชาย หลังจากนั้นท่านเลยพาพี่น้องร่วมเวที ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนถอดบทเรียน นำพาประกาศงดเหล้า 3 งาน ได้แก่ งานศพ งานอุปสมบท งานกฐิน โดยถอดบทเรียนมาตั้งแต่ปี 2552 และ ปี 2554 ได้เข้าเครือข่ายงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งได้ทำมาต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ”

“นอกจากนี้ยังขับเคลื่อนให้เกิดรายได้ เอาเงินที่งดเหล้ามาออมในธนาคารความดี ซึ่งในรอบพรรษาจะมีประกาศเชิดชูว่าใครได้เงินออมเท่าไหร่ และนำเงินออมนั้นไปฝากที่ธนาคาร ธกส. ณ ปัจจุบันนี้ มีเงินออมในกองทุนหมุนเวียนประมาณ 400,000 บาท ซึ่งผมภูมิใจอย่างยิ่งที่พาพี่น้องทำได้”

อีกหนึ่งตัวอย่างจาก ภาคีสถานประกอบการ นายวินัยศักดิ์ เหมืองทอง ผู้จัดการโครงการ SHAP กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เล่าถึง

โครงการ SHAP หรือ SMEs Happy and Productive Workplace ว่าได้รับการสนับสนุนจากทาง สสส. โดยโครงการนี้ส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีความสุข และเพิ่มผลิตภาพของ SMEs

“ ‘คน’ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ โดยเรามีแนวคิด Human Productivity Center คนสำราญงานสำเร็จ ในการส่งเสริมโครงการ เจ้าหน้าที่กรมทำด้วยจิตอาสา ทำมา 9 ปีแล้ว เราส่งเสริมมา 900 โรงงานทั่วประเทศ มีการสำรวจ โดยใช้เครื่องมือวัดค่าความสุของค์กร (Happy Meter) ซึ่งเราพบว่าคนวัยทำงานมี 3 ประเด็นปัญหา ค่าเฉลี่ยนปีที่ผ่านมาคนวัยทำงานอยู่ที่ 61% Happy Money 40% Happy Body 50% และ Happy Relax 53% แน่นอนว่าปัญหาเงิน กาย ใจ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับวัยทำงาน ส่งผลให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เราจะทำยังไงให้คนทำงานมีความสุขมากขึ้น แต่แค่การสำรวจไม่พอ เรายังมีการอบรมพัฒนาสุขภาวะองค์กร 12 เมนูสร้างสุข โดย 1 ในนั้นคือ ‘เหล้าจ๋าลาก่อน’ ซึ่งโปรแกรมหลักก็คือ ‘การงดเหล้าเข้าพรรษา’ ที่เราร่วมมือกับ สคล.จับมือกันมากว่า 9 ปี เพื่อความมุ่งมั่นให้คนวัยทำงานมีความสุข”


“การเลิกเหล้าเข้าพรรษา จะได้ถึง 5 Happy 1. Happy Body สุขภาพดีขึ้น 2. Happy soul จิตวิญญาณมีความสุข เรามีการปฏิบัติตามหลักศาสนา ฝึกสติ ทำสมาธิ ไหว้พระ 3. Happy Money มีเงินออมมากขึ้น เราพบว่าวัยทำงานมีค่าใช้จ่ายในเรื่องการดื่มเยอะมาก ประมาณ 2,000-4,000 บาท เรามีการปฏิญาณร่วมกัน และมีการติดตามผล 4. Happy Family มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น และ 5. Happy Society ขับขี่ปลอดภัย ทางกรมของเรามีการส่งเสริมให้ยกระดับ มีมาตรฐานองค์กรแห่งความสุข (มอส.) หรือ Happy Workplace ให้การรับรองสถานประกอบการด้วย ปัจจุบัน Happy Workplace Center มีอยู่ 5 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และสุราษฎ์ธานี”

“การที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยปีที่ผ่านมาเราส่งเสริมได้ถึง 7,600 คน ลดค่าใช้จ่ายไปประมาณ 11.6 ล้านบาท ตอนนี้มียอดสะสมเกือบ 4 หมื่นคน ลดค่าใช้จ่ายจากการดื่มได้ 42 ล้านบาท ดังนั้นเราต้องมาร่วมมือร่วมใจกัน ต้องอาศัยทุกภาคีร่วมกัน หวังว่าเราจะเป็นอีกหนึ่งก้าวเล็ก ๆ ที่จะทำให้คนในประเทศมีสุขภาพดีไปด้วยกัน”

ด้านตัวแทนจากเครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน นางวนิดา บุญมั่น ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดสระแก้ว จ.นครศรีธรรมราช ได้เล่าว่าต้องเริ่มจากการขับเคลื่อนนโยบาย โดยผู้บริหารมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมโรงเรียนปลอดเหล้า

“โรงเรียนวัดสระแก้ว ขับเคลื่อนกิจกรรมการมีส่วนร่วม เช่น กีฬา นอกจากกีฬาแล้ว ยังมีกิจกรรมออมสินสื่อรัก ปลูกผักกินเอง และกิจกรรมอะไรอยู่ในขวด นั่นก็คือ ‘ตับแช่เหล้า’ ซึ่งลูก ๆ นักเรียนจะสื่อสารไปยังผู้ปกครองว่าตับเป็นยังไงเมื่อโดนแช่ในเหล้า นอกจากนี้โรงเรียนยังส่งเสริมให้นักเรียนเขียนจดหมายสื่อรัก เป็นโพธิสัตว์น้อยขอพ่อแม่เลิกเหล้า ซึ่งได้ผลจริง ๆ พ่อแม่สามารถลด ละ และบางคนเลิกได้ จึงสรุปได้ว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญมากในการขับเคลื่อนให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย และขยายผลไปสู่ชุมชนที่มีความปลอดภัยโดยใช้ภาคีเครือข่ายบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) มีส่วนร่วมอย่างยิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดเหล้า”


“สิ่งสำคัญอย่างมาก คือ เราต้องจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยบูรณาการกิจกรรมการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระวิชา แล้วบูรณาการความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย เพราะโรงเรียนจะทำเพียงลำพังไม่ได้ กิจกรรมจะขับเคลื่อนอยู่เฉพาะในโรงเรียนไม่ได้ เรามองว่าสถานศึกษา ไม่ได้เป็นเพียงที่จัดการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมได้”

นางปิยะนาฎ ใหม่นา ชมรมคนหัวใจเพชร ชุมชนบ้านตุ่นใต้ อ.เมือง จ.พะเยา ได้กล่าวว่าในปีนี้ทางชมรมคนหัวใจเพชรได้ไปทำงานร่วมกับทางชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเชิญชวนนักดื่มมาร่วมกิจกรรมเข้าพรรษา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 33 คน

“เราได้ผู้เข้าร่วมโครงการ 33 ท่าน ซึ่งทั้งหมดจะได้มาร่วมกิจกรรม โดยเราจะให้ความรู้ ให้การอบรมกับทุกท่านเกี่ยวกับโทษของการดื่มเหล้า เพื่อให้รู้จักดื่มให้ถูกที่ ถูกเวลา ถูกกาลเทศะ รวมถึงส่งเสริมการออมโดยจะมอบกระปุกไม้ไผ่ ให้คนที่งดเหล้าเข้าพรรษา 3 เดือน นำเงินจากการงดดื่มมาหยอดกระปุก และทุก ๆ เดือนทางคณะสงฆ์ ทางท้องที่ ท้องถิ่น อสม. จะลงพื้นที่ไปเยี่ยม ไปให้กำลังใจ เพื่อส่งเสริมพลังใจให้กับเขาด้วย จากนั้นพอครบ 3 เดือน เราจะพาเขามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน มอบใบประกาศ และนับเงินจากการออม ซึ่งใครออมได้มากที่สุด เป็นอันดับที่ 1 2 3 เราจะมีรางวัลให้ บวกกับทุนที่เราได้จากชมรมคนหัวใจเพชรเราจะนำไปซื้อไก่พันธุ์ไข่ให้เขาเลี้ยง เพื่อให้เขาสามารถเก็บไว้กิน ไว้ขาย เพื่อเก็บออมไว้ต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ เป็นการสร้างอาชีพให้กับเขาด้วย”


นอกจากนี้นางปิยะนาฎยังได้กล่าวถึงประสบการณ์ตรงของตนเองว่าที่มาทำงานร่วมกับทาง สสส. และ สคล. แบบทุ่มเทแรงกายแรงใจนั้น เนื่องมาจากชีวิตในวัยเด็กอยู่ในครอบครัวที่ผู้ปกครองชอบดื่มเหล้า ประสบปัญหาครอบครัวไม่มีความสุขมาก่อน จึงตั้งปณิธานเอาไว้ว่า ไม่อยากให้ครอบครัวของคนอื่นต้องมาประสบปัญหาเหมือนกันกับตน

“เราตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง เหมือนกับเป็นต้นไม้ใหญ่ที่จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนในชุมชน ดิฉันเชื่อมั่นว่าเมื่อเราทำครอบครัวตัวเองให้มีความสุข มีความแข็งแรงมั่นคงแล้ว จะขยายต่อยอดไปยังชุมชน สังคม และประเทศชาติได้ ทั้งนี้ก็เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมั่นคง และยั่งยืนตลอดไป”

เข้าพรรษาปี 68 คาดหวังเห็นคนไทยหันมางดเหล้ามากขึ้น
จากการดำเนินงานในปี 2567 ที่ผ่านมา มีตัวเลขผู้งดเหล้าเข้าพรรษาถึง 13 ล้านคน ซึ่งปี 2568 นี้ สสส. คาดหวังว่าจะมีเพิ่มมากขึ้น

“ปีนี้อย่างที่หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี บางคนอาจจะมองว่าการซื้อสุรา จะสามารถทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน แต่การหมุนเวียนแบบนี้อาจจะเป็นการทำลายสุขภาพไปด้วย แต่ถ้าเรานำมาลงทุนกับตัวเอง เช่น ลงทุนกับสุขภาพ ซื้ออาหารที่มีประโยชน์ ลงทุนกับการศึกษา ลงทุนกับการเรียนรู้ ลงทุนกับลูก ลงทุนกับชีวิต หรือลงทุนกับประสบการณ์ต่าง ๆ จะได้ประโยชน์มากกว่า และยังขับเคลื่อนประเทศชาติไปได้ด้วย”

“มีงานวิจัยระบุชัดเจนว่าการดื่มแอลกอฮอล์ 1 แก้วจะทำให้อายุสั้นลง 30 นาที ดังนั้นการงดเหล้าเข้าพรรษาจะช่วยทำให้อายุยืนยาวขึ้น ซึ่งวันที่เราอายุน้อยอยู่ เราอาจจะมองไม่เห็นค่าของเวลาที่เหลืออยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราอายุมากขึ้น เราจะอยากมีชีวิตอยู่นานขึ้นเพื่อคนที่เรารัก ผมอยากให้ทุกคนฉุกคิดว่าการมีสติในวันนี้ ก็เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว ซึ่งปี 2568 นี้ เราคาดหวังว่าจะมีคนหันมางดเหล้าเข้าพรรษากันมากขึ้นครับ” นพ.พงศ์เทพ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวทิ้งท้าย










สำหรับผู้ที่สนใจเลิกเหล้า หรือคนรอบข้างที่ได้รับผลกระทบจากคนดื่ม สสส. ได้เปิดให้คำปรึกษาฟรี ที่ โทร.1413 , เว็บไซต์ www.1413.in.th หรือทง Chatbot น้องตั้งใจ Line@1413สายด่วนเลิกเหล้า

ทั้งนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการลงนามงดเหล้าเข้าพรรษาปฏิญาณตนออนไลน์ ร่วมลงนามได้ที่ >> https://noalcohol.ddc.moph.go.th/


กำลังโหลดความคิดเห็น