มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University - MU) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University - TU) รวมพลังทางวิชาการเพื่อร่วมกันผลักดันการศึกษาที่ตอบโจทย์อนาคต ภายใต้ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยความแตกต่างแต่เสริมพลังกันอย่างลงตัว จับมือเปิดตัวความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งสำคัญ ภายใต้แนวคิด “การศึกษาเพื่อโลกใบใหม่” โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างระบบการศึกษาแบบเปิด (Open and Integrated Education Ecosystem) ที่ยืดหยุ่น ทันสมัย และเน้นคุณค่าต่อสังคมมากกว่าการท่องจำในห้องเรียน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “แม้เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่หลายสิ่ง แต่บางศาสตร์ โดยเฉพาะในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ยังต้องอาศัยหัตถการและประสบการณ์ตรง ซึ่ง AI ไม่สามารถทดแทนได้ เราจึงต้องมีระบบอุดมศึกษาที่แข็งแรง ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิตองค์ความรู้ และเป็นแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมต่อความถนัดของนักศึกษากับความต้องการของตลาดแรงงาน ระบบการเรียนรู้ในอนาคตต้องยืดหยุ่น Hybrid เปิดโอกาสให้ผู้เรียนผสมผสานหลายศาสตร์ และ Empower ตัวเองในการกำหนดเส้นทางชีวิต โดยมหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่จัดวาง ชี้แนะ และเปิดประตูโอกาสให้กับผู้เรียนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในยุคที่สังคมสูงวัยทวีความสำคัญ เราต้องตอบสนองด้วยการรีสกิล อัพสกิล และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง” ความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างสองมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมกันออกแบบแนวทางใหม่ของการศึกษาไทยที่ตอบโจทย์ทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยตั้งเป้าสร้างบัณฑิตที่มีความรู้แบบบูรณาการ มีทักษะพร้อมใช้งาน และสามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศ
ความร่วมมือในระยะแรกเริ่มต้นด้วย “หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต – วิทยาศาสตรบัณฑิต” ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนสองปีแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกสองปีที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผสานความรู้จากศาสตร์ต่างกันอย่างลงตัว พร้อมฝึกงานในภาคเอกชนระหว่างศึกษา เพื่อเสริมประสบการณ์จริงและสร้างทักษะที่นำไปใช้ได้ทันที
ศาสตราจารย์ ดร. ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การศึกษายุคใหม่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนออกแบบเส้นทางของตนเอง ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกรอบของปริญญาแบบเดิม มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ ไม่ใช่ยัดเยียดเป้าหมายเดียวให้ทุกคน นักเรียนควรเลือกเรียนในแบบที่เหมาะกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเฉพาะบางวิชาผ่านระบบเครดิตแบงค์ หรือเรียนจบหลักสูตรเต็มรูปแบบก็ตาม เราต้องเชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้ระดับโลก บูรณาการ Soft Skills วิเคราะห์จุดแข็งเฉพาะบุคคล และออกแบบการเรียนรู้แบบ ‘เย็บเสื้อเฉพาะตัว’ แทนการผลิตเสื้อโหล ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อตัวมหาวิทยาลัย แต่เพื่อสร้างคนที่ตอบโจทย์ประเทศอย่างแท้จริง”
ความร่วมมือ TU x MU ในครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่การร่วมพัฒนาหลักสูตร แต่คือการวางรากฐานของ “Synergy ทางปัญญา” ที่จะเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นศูนย์กลางของการออกแบบชีวิต เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่หลากหลาย และเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไปสู่อนาคตที่สมดุลและยั่งยืน
เพื่อสื่อสารแนวคิดนี้ให้เข้าถึงสาธารณชนอย่างสร้างสรรค์ ทั้งสองมหาวิทยาลัยยังได้ร่วมกันเปิดตัวรายการพอดแคสต์ “TU x MU Battle: จากโลกวิชาการสู่โลกความจริง” รายการพูดคุยรูปแบบ Casual Talk Show ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้บริหารและนักวิชาการจากทั้งสองสถาบัน ได้แลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นร่วมสมัยอย่างตรงไปตรงมา Kick-off ตอนแรกในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่ไหม? ในโลกยุคนี้” ได้นำเสนอวิสัยทัศน์จากสองอธิการบดี โดยชี้ว่า การศึกษาไม่ควรถูกจำกัดไว้ในกรอบวิชาอีกต่อไป แต่ต้องเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ สร้างทักษะที่แท้จริง และส่งเสริมศักยภาพในการปรับตัวของผู้เรียนให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง ตลอดซีรีส์ ยังมีประเด็นชวนคิดอีกมากมาย อาทิ Home Unsweeted Home หมอ กฎหมาย คนไข้: เรื่องจริงจากห้องตรวจ ที่จะสะท้อนมุมมองสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และแพทยศาสตร์ อย่างถึงแก่น เจาะลึกประเด็นที่ยากจะมีเวทีไหนกล้าคุย ติดตามรายการได้ทาง Mahidol Channel: https://channel.mahidol.ac.th | YouTube: https://www.youtube.com/mahidolchannel