xs
xsm
sm
md
lg

สสส.เผย "หนี้-อบายมุข" เรื่องใหญ่สุดของเด็ก-ครอบครัวปี 68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สสส." ร่วม "คิด for คิดส์" เปิดรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ปี 2568 พบเด็ก-เยาวชนถูกสาปให้พ่ายแพ้ 8 เรื่อง ชี้หนี้ครัวเรือนเรื่องใหญ่สุด ส่งผลการเรียนรู้ ทักษะ ปัญหาอบายมุข บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา พนันออนไลน์ ใกล้ตัวทำค่านิยมเปลี่ยน คนหวังรวยแต่ไม่ต้องประสบความสำเร็จ

ท่ามกลางความท้าทายทั้งภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ย่อมส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไทยแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุด “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” ร่วมกับ “ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)” ได้เปิดเผย “รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2568” โดยชี้ว่า เด็ก เยาวชนและครอบครัวไทยกำลังถูกสาปให้พ่ายแพ้ในกระแสความเปลี่ยนแปลงรวม 8 เรื่องสำคัญ อันได้แก่ ภาวะครัวเรือนมีหนี้สินสูง , มลพิษทางอากาศและภัยพิบัติ , ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี , การจ้างงานแบบไม่มาตรฐาน , การถูกฉุดรั้งความคิดสร้างสรรค์ , การพัวพันอบายมุขใหม่ , ความขัดแย้งในครอบครัว และ เชื่อมั่นในระบอบการเมือง-ประชาธิปไตยลดลง

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ในปีนี้ข้อมูลหลักมาจากการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 15-ไม่เกิน 25 ปี จากการสุ่มสำรวจทุกจังหวัดทั่วประเทศโดยได้ข้อมูลแบบครบถ้วนราว 10,000 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เห็นว่า เรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือ หนี้ครอบครัว ซึ่งเด็กและเยาวชนล้วนสัมผัสได้ถึงภาระหนี้ของครอบครัวตัวเอง โดยพบว่า ส่วนใหญ่หากได้เงิน 1 ล้านบาท จะนำไปใช้หนี้ให้ครอบครัว เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่า เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน รวมทั้งความแตกต่างต่อภาวะความเครียดและสัมพันธภาพของครอบครัวที่มีหนี้ และไม่มีหนี้ และยังส่งผลต่อการสนับสนุนด้านการศึกษา การเรียนรู้ การฝึกทักษะทางอาชีพต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับปีนี้

น.ส.ณัฐยา กล่าวว่า อีกปัญหาหนึ่งที่พบคือเรื่องอบายมุข ทั้งบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และพนันออนไลน์ เข้ามาใกล้ตัวเด็กและเยาวชนมากๆ จนส่งผลต่อวิถีชีวิต และค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น คนที่ใช้ชีวิตด้วยพนันออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งก็จะต้องการความร่ำรวยแต่ไม่ได้ต้องการการประสบความสำเร็จในการเรียนหรือการงาน ทั้งนี้การทำงานของ สสส.ร่วมกับศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ได้โฟกัสในสิ่งที่เป็นรากแก้วของปัญหา เพื่อสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายที่มุ่งตรงไปที่ต้นตอของอาการที่เห็นออกมาว่าเป็นปัญหา

"อย่างเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา พนันออนไลน์ สสส.ได้ทำการรณรงค์และผลักดันนโยบายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มาอย่างเต็มที่เป็นเวลาต่อเนื่อง พอเราได้เห็นข้อมูลว่า ลึกๆ แล้วมันมาจากความเครียด , สัมพันธภาพในครอบครัว , ภาระหนี้ครัวเรือนที่ทุกคนในครอบครัวแบกหมดรวมถึงเด็กด้วย รวมไปถึงการที่เด็กส่วนใหญ่ยังไม่มีแหล่งการเรียนรู้ใกล้บ้าน บริการนักจิตวิทยาเด็กก็มีไม่เพียงพอ เหล่านี้มันประกอบกันขึ้นมาเป็นรากแก้วอันใหญ่มาก และอาการมันก็ส่งออกมาในเรื่องของการเข้าไปเสพสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความสุขเฉพาะหน้ามากขึ้น พอเราเห็นปัญหาแบบนี้มันก็จะชี้นำการทำงานของเราแล้วว่าเราคงจะไปมัววิ่งไล่แก้อาการอย่างเดียว ซึ่งก็สำคัญแต่คงไม่พอ คงต้องมาดูที่เป็นรากแก้วของปัญหาด้วย สสส.แม้ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ได้ทำเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง การเรียนรู้หรือการศึกษาโดยตรง แต่เราคงต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านี้มากขึ้นเพื่อที่จะแก้ปัญหาให้ได้ตรงจุด" น.ส.ณัฐยา กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.กล่าวถึงกลไกสำคัญในการดำเนินงานว่า ตนมองไปถึงเรื่องนโยบายแรงงานแนวใหม่ ถ้าในครอบครัวมีเวลาคุณภาพ มีสัมพันธภาพที่ดี มีวิธีการที่จะผ่อนคลาย พักผ่อนในทางสร้างสรรค์ ก็น่าจะช่วยให้ความกดดัน ความเครียด บรรเทาลง ความใกล้ชิดเอาใจใส่กันในครอบครัวมันก็จะเป็นเหมือนวัคซีนที่จะทำให้เด็กหันไปพึ่งพิงสิ่งที่เป็นโทษน้อยลง ขณะที่กฏหมายแรงงานไทยยังไม่ได้มีมิติของการทำเรื่องครอบครัวคุณภาพ สวัสดิการครอบครัว แต่มองเพียงการใช้แรงงานเท่านั้น จึงต้องมาคุยในเรื่องนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวกันมากขึ้น ที่จะอยู่ได้ในทั้งบริบทของการทำงาน สังคม ชุมชน สภาพแวดล้อม ที่ต้องเป็นมิตรกับการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพร่วมกัน

น.ส.ณัฐยา กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ สสส.จะนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลากหลายมิติ ตนคิดว่าเป็นข้อมูลชุดสำคัญที่จะเข้าไปเติมเต็มกับข้อมูลชุดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนที่มีอยู่แล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันรวมไปถึงข้อเสนอนโยบายต่างๆ


ทั้งนี้รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2568 ได้ระบุถึงปัญหาสำคัญ 8 เรื่องประกอบด้วย

1.ปัญหาภาวะครัวเรือนมีหนี้สินสูง สนับสนุนเด็กและเยาวชนได้จำกัด เป็นภาระถ่วงรั้งการเติมเต็มความฝัน โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 66 พบว่า เด็กและเยาวชนไทยอยู่ในครัวเรือนมีหนี้ราว 6.2 ล้านคน และมี 360,000 คนอยู่ในครัวเรือนเสมือนล้มละลาย ซึ่งครัวเรือนทุกระดับรายได้มีหนี้สูง แต่โครงสร้างหนี้แตกต่างกัน ขณะที่การผ่อนชำระหนี้คือแอกการเงินสำคัญ นอกจากนี้ยังพบครอบครัวที่มีหนี้ ลงทุนระยะยาวและให้การสนับสนุนไม่เป็นตัวเงินได้จำกัดกว่า ใช้จ่ายกับการศึกษาบุตรหลานได้ต่ำกว่า ใกล้ชิดกับบุตรหลานน้อยกว่า ทำให้เยาวชนมีภาระต้องทำงานระหว่างเรียนและภาระจิตใจ ทั้งความเครียดมากกว่า และมีความมั่นใจน้อยกว่า

ขณะที่ภาระการใช้หนี้ครอบครัว กลายเป็นการถ่วงรั้งการเติมฝัน-สร้างอนาคตของเยาวชน ในนามของหนี้บุญคุณ ที่ต้องสูญเสียทรัพยากรไปใช้หนี้แทนที่จะได้ลงทุนกับเป้าหมายอื่นในชีวิต โดยพบว่า เยาวชนที่ครอบครัวมีหนี้กว่า 37% หากได้เงิน 1 ล้านบาท จะนำไปใช้หนี้ให้ครอบครัว
โดยรายงานฉบับนี้ได้มีข้อเสนอ อาทิ ขยายสวัสดิการเงินโอนสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว , ลดต้นทุนการเข้าถึงบริการการศึกษา-การเรียนรู้ , เพิ่มการสร้างที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมให้แก่ประชาชน , สนับสนุนการนำข้อมูลเครดิตทางการเลือกมาใช้พิจารณาสินเชื่อ , เปิดกว้าง-ส่งเสริมนวัตกรรมสินเชื่อสำหรับกลุ่มเปราะบาง และ เสริมสร้างทักษะรู้เท่าทันทางการเงินแก่เด็กและเยาวชน

2.มลพิษทางอากาศและภัยพิบัติ เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบแต่เผชิญปัญหารุนแรงไม่เท่ากัน โดย PM 2.5 คือภัยสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงเผชิญมากที่สุด และยังพบความเหลื่อมล้ำในการมีเครื่องปรับอากาศต่อเด็กเล็กของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำสุดและสูงสุดต่างกันถึง 10 เท่า โดยมีเด็กอายุ 5-9 ปีป่วยจากฝุ่นเยอะที่สุด ขณะที่การรับฝุ่นตั้งแต่ก่อนลืมตาดูโลกนั้นก็กระทบต่อพัฒนาการสมองของเด็กจนเติบโต และกระทบการเรียนรู้ เสี่ยงสูญเสียคุณภาพชีวิตในอนาคต นอกจากนี้ภาวะโลกร้อน ฝนแปรปรวน น้ำท่วมรุนแรง ก็ส่งผลกระทบทั้ง ความเป็นอยู่พื้นฐาน การเรียนรู้ และการสูญเสียรายได้ของครัวเรือน

โดยรายงานฉบับนี้ได้มีข้อเสนอ อาทิ ตรวจวัดฝุ่นให้ตรงเป้า ครอบคลุม ทั่วถึง , เร่งสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นอย่างทั่วถึง ควบคู่มาตรกการแก้ปัญหาฝุ่นที่ต้นเหตุ ,ปรับเมือง-ชุมชน-ระบบการศึกษาให้พร้อมรับมือและยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติ และเห็นเด็กและเยาวชนในสมการแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3.ความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ โดยพบว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ผลักดันให้เด็กอายุ 6-14 ปีเป็นพลเมืองเน็ตเร็วขึ้น เยาวชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ แต่ยังเกิดความเหลื่อมล้ำในการมีคอมพิวเตอร์สูง ซึ่งทำให้เข้าไม่ถึงการเรียนรู้และทักษะสมัยใหม่ ทั้งการวิเคราะข้อมูลเชิงลึก AI การเขียนโปรแกรม แอนิเมชัน กราฟิค การค้นคว้าและพิมพ์งาน โดยเยาวชนในครัวเรือนรายได้สูงประเมินทักษะด้านดิจิทัลของตนเองสูง ทำให้มีเป้าหมายการศึกษาสูง โดยเฉพาะในสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะที่ครัวเรือนรายได้ต่ำสุดสนใจอาชีพผู้ประกอบการ และด้านสาธารณสุข

โดยรายงานฉบับนี้ได้มีข้อเสนอ อาทิ เสริมสร้างทักษะทางเทคโนโลยีให้เด็กและเยาวชนอย่างถ้วนทั่ว ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เสริมพลังครอบครัวและสถานศึกษาให้เท่าทันเทคโนโลยีร่วมกับเด็ก และกำหนดมาตรการกำกับดูแลการพัฒนาและใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้งเหนือผลประโยชน์ทางการค้า

4.การจ้างงานในรูปแบบไม่มาตรฐาน (NSE) มีมากขึ้น ทำให้เยาวชนไม่ได้รับสวัสดิการและความคุ้มครองที่เหมาะสม การจ้างงานแบบ NSE ที่เน้นความยืดหยุ่น ได้ประสิทธิภาพในระบบเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ ทำให้แรงงานที่ขาดโอกาสการเป็นพนักงานประจำและต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานเข้าสู่ระบบนี้มากขึ้น แต่ก็ต้องเสี่ยงต่อความเปราะบางในการจ้างงานสูง
โดยพบว่า เยาวชนที่เรียนเต็มเวลา 15.5% ได้รับการจ้างงานในรูปแบบ NSE โดยมีสัดส่วนของครัวเรือนรายได้ต่ำมากที่สุด ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ การพักผ่อน และการเข้าสังคม ขณะที่เยาวชนที่ไม่ได้เรียนหรือเรียนจบแล้วถูกจ้างงานแบบ NSE กว่า 13.7% โดยส่วนใหญ่เครียดการเงินและงาน ได้รับอาหารไม่เพียงพอ ขณะที่ประเทศไทยก็ขาดกลไกในการคุ้มครองแรงงาน NSE

โดยรายงานฉบับนี้ได้มีข้อเสนอ อาทิ ให้ขยายนิยาม การคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุม NSE กำหนดมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็กและเยาวชน พัฒนาระบบประกันสังคมที่สอดคล้องกับสภาพการจ้างงาน พัฒนานโยบายอุตสาหกรรม สร้างโอกาสจ้างงานระบบพนักงานประจำใหม่ พัฒนาทักษะแรงงานเยาวชนเพิ่มโอกาสรับจ้างงานประจำ ขยายสวัสดิการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว
5.การถูกฉุดรั้งความคิดสร้างสรรค์ ด้วยปัญหาระบบนิเวศการเรียนรู้เข้าถึงยาก ไม่ตอบโจทย์ โดยพบว่า เยาวชนครอบครัวรายได้ต่ำการเจริญเติบโตทางความคิดค่อนข้างต่ำ ส่วนครู-โรงเรียนก็ไม่เอื้ออำนวยให้ความคิดสร้างสรรค์งอกเงย ในส่วนของแหล่งการเรียนรู้ก็พบ เยาวชนที่ไปพิพิธภัณฑ์/หอศิลป์สม่ำเสมอ ประเมินว่าตนมีทักษะความคิดสร้างสรรค์สูง ขณะที่เยาวชน 63.7% ไม่เคยไปศูนย์ฝึกทักษะ ซึ่งการที่เยาวชนไม่ได้ไปแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ส่วนใหญ่มีอุปสรรคมาจากการเดินทาง

โดยรายงานฉบับนี้ได้มีข้อเสนอ อาทิ เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้ชุมชนที่ตอบสนองความต้องการของเยาวชน อาทิ ลานกีฬา ห้องสมุด เพิ่มการมีส่วนร่วมของนักเรียนในกระบวนการเรียนรู้ เพิ่มการเรียนแบบบูรณาการ ผนวกการฝึกทักษะความคิดสร้างสรรค์ในทุกรายวิชา และเปลี่ยนการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นหน่วยกิตอย่างมีมาตรฐาน

6.การพัวพันอบายมุขใหม่ โดยพบว่า เยาวชนกว่า 18.6% สูบบุหรี่ไฟฟ้า เยาวชน 6.45% เคยใช้กัญชา และ 32.3% เล่นพนันออนไลน์ โดยเฉลี่ยเดือนละ 1,633 บาท ในจำนวนนี้ 86.2% เริ่มเล่นพนันก่อนไปติดพนันออนไลน์ โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุจากความเหงาและความเครียด ห่างเหินครอบครัว และขาดเป้าหมายในชีวิต โดยผู้เสพบุหรี่ไฟฟ้าและพนันออนไลน์ส่วนใหญ่อยากร่ำรวย มีอิสรภาพทางการเงิน

โดยรายงานฉบับนี้ได้มีข้อเสนอ อาทิ ควบคุมคุณภาพและปริมาณนิโคติน ห้ามแต่งสี กลิ่น รูปลักษณ์ ควบคุมคุณภาพและปริมาณ THC ของผลิตภัณฑ์ทุกประเภท ควบคุมมาตรฐาน การฟอกเงิน คุณสมบัติผู้เล่น และผลกระทบ เพิ่มโทษการส่งเสริมการขายและการขายให้เยาวชน เพิ่มจำนวนจิตแพทย์เด็ก และเพิ่มพื้นที่กิจกรรมเยาวชน หรือมอบหมายหน้าที่ชุมชนให้

7.ความขัดแย้งในครอบครัว พบสาเหตุจากความคิดเห็นขัดแย้งกันมากที่สุด ขณะที่การไม่มีเวลาให้กันและความสนใจต่างกันมีแนวโน้มที่เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวมากขึ้น โดยเรื่องการเรียนและการทำงานเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งมากที่สุด ส่วนความฝันในสายงานด้านสื่อสารมวลชนเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มเยาวชนคนเมืองมากที่สุด ขณะที่เยาวชนชนบทเป็นเรื่องของสายอาชีพด้านศิลปะ การออกแบบ นอกจากนี้ยังพบเยาวชนหันไปปรึกษาปัญหากับผู้ปกครองลดลงอีกด้วย

โดยรายงานฉบับนี้ได้มีข้อเสนอ อาทิ เติมทรัพยากรดูแลสุขภาพใจและเสริมความเข้าใจให้ผู้ปกครองในครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยว ข้ามรุ่น เพิ่มนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตการศึกษา ทำงานเชื่อมครู ผู้ปกครอง เพิ่มเนื้อหาการวางแผนอาชีพในหลักสูตรการศึกษาให้เยาวชน พร้อมรับมือโลกการทำงานผันผวน และกระจายทักษะสูงสู่หัวเมืองภุมิภาค ลดช่องว่างความเข้าใจ ความเป็นไปได้ของอาชีพ

8.ความเชื่อมั่นในระบอบการเมือง-ประชาธิปไตยลดลง หันขวามากขึ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 65 เยาวชนเห็นว่า พรรคประชาชนมีแนวคิดใกล้เคียงกับตนเพิ่มขึ้น แต่สนใจติดตามการเมืองน้อยลง โดยยังเชื่อว่าไทยต้องเป็นประชาธิปไตยจึงจะพัฒนาต่อได้ มีความภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทยมากขึ้น ให้ประชาชนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของชาติลดลง มองความเสมอภาคทางเพศและการกดทับความหลากหลายลดลง มองความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหามากขึ้น แต่มองระบบเศรษฐกิจเอื้อต่อคนรวย ความมั่งคั่งของคนรวยเกิดจากเอาเปรียบคนจนลดลง

โดยรายงานฉบับนี้ได้มีข้อเสนอ อาทิ หยุดกดปราบเยาวชนที่มีส่วนร่วม-คืนความยุติธรรม รับร้องคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออก ขยายช่องทางการมีส่วนร่วมทางตรง ให้ความเห็น เสนอ เรียกร้อง สนับสนุนทรัพยากรการมีส่วนร่วมของเยาวชน ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง-รับสมัครเลือกตั้ง จำกัดอำนาจศาล องค์กรอิสระ ราชการ เหนือผู้แทนประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น