xs
xsm
sm
md
lg

สวรส. Kick off 10 จังหวัด ขยายโมเดลถ่ายโอน รพ.สต. ยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิและคุณภาพชีวิตประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในสถานการณ์การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย แม้เป็นการขับเคลื่อนเรื่องใหญ่ ยาก และต้องใช้เวลา เพื่อเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ซึ่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเชิงระบบผ่านการดำเนินงานวิจัยมาโดยตลอด แม้ความท้าทายหนึ่งคือ ปัญหาด้านสาธารณสุข มีความเป็นพลวัต เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ สวรส. ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เกิดความรู้และนวัตกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้การถ่ายโอน รพ.สต. เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาฐานรากของระบบบริการสุขภาพ ควบคู่กับการเติมเต็มศักยภาพให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้สามารถดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สวรส. จึงร่วมกับวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการของนักวิจัยพี่เลี้ยงและนักวิจัยในพื้นที่ เพื่อนำงานวิจัย “รูปแบบการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิได้ดีขึ้น” ไปใช้ประโยชน์และขยายผล โดย Kick off อีก 10 จังหวัด และในช่วงพิธีเปิดการประชุม มีผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้แนวคิด/มุมมอง และเสริมพลังให้กับนักวิจัยในพื้นที่ อาทิ นายสมพร ใช้บางยาง ประธานอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองเลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และรองนายก อบจ.
กระบี่ ทั้งนี้มีนักวิจัยในพื้นที่กว่า 40 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น
นายสมพร ใช้บางยาง ประธานอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่ อปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. กล่าวว่า การถ่ายโอน รพ.สต. นับเป็นโอกาสที่จะทำให้เห็นถึงพลังและศักยภาพของหน่วยงานท้องถิ่น หากแต่ต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ และเป็นไปตามมาตรฐานด้านสาธารณสุข ซึ่งงานวิจัยของ สวรส. ช่วยสนับสนุนให้เกิดการจัดระบบในทุกระดับ และสามารถเป็นแนวทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปบริหารจัดการในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถนำไปเป็นกรอบในการถ่ายโอน รพ.สต.

ในอนาคต และสร้างระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็ง ทั้งนี้การจัดทำพื้นที่นำร่องจะเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ
นำไปเป็นแนวทางและประยุกต์ใช้ในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิให้กับประชาชนตามบริบทของพื้นที่ตนเอง

รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงแนวคิดและสาระสำคัญของงานวิจัยว่า การพัฒนารูปแบบการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิได้ดีขึ้น งานวิจัยในระยะแรกมี 11 พื้นที่นำร่อง แบ่งเป็น กลุ่ม 1 ศึกษาการขับเคลื่อนทั้งจังหวัด (ระยอง ปราจีนบุรี) กลุ่ม 2 ศึกษาการขับเคลื่อนทั้งอำเภอ (ปัตตานี สกลนคร ลำปาง อุบลราชธานี) กลุ่ม 3 ศึกษาการขับเคลื่อนในระดับอำเภอ แต่ไม่ครอบคลุมทั้งอำเภอ (สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ น่าน) กลุ่ม 4 พื้นที่พิเศษ (เชียงใหม่) ซึ่งงานวิจัยได้ทดลองการยกระดับการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิของ อบจ. ด้วยหลักเวชศาสตร์ครอบครัว และออกแบบระบบบูรณาการยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขของ อบจ. และหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้กลไกคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) แผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ และระบบการประเมินประสิทธิภาพของ อปท. โดยมีกรอบแนวคิดและทฤษฎีในการศึกษาวิจัยคือ ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง ทฤษฎีการบริหารจัดการภาครัฐแบบเครือข่าย และการประเมินผลเชิงพัฒนา รวมทั้งมีการใช้กลไกแทรกแซง (Intervention) คือ มีชุดทำงานขับเคลื่อนงานปฐมภูมิระดับจังหวัด มีช่องทางการ Coaching ทั้งในเรื่องระเบียบและความรู้ ในรูปแบบนักวิจัยพี่เลี้ยง มีการบูรณาการยุทธศาสตร์และตัวชี้วัด พร้อมใช้เครื่องมือ อาทิ การคิดค้นและดำเนินโครงการเพื่อแก้ปัญหาของพื้นที่ (โครงการเรือธง) ส่งเสริมแนวทางการทำงานแบบบูรณาการและนำโครงการเรือธงเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายของ กสพ. อบจ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) การติดตามการวินิจฉัยโรคต่างๆ และการรับบริการสุขภาพ การสำรวจความคิดเห็น ฯลฯ และจาก 11 พื้นที่นำร่องที่เกิดเป็นรูปแบบการพัฒนาการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิที่หลากหลาย ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ได้มีการนำงานวิจัยในระยะแรกไปขยายผลอีก 10 จังหวัด แบ่งเป็น กลุ่ม 1 ศึกษาการขับเคลื่อนทั้งจังหวัด (ขอนแก่น ชลบุรี มุกดาหาร) กลุ่ม 2 ศึกษาการขับเคลื่อนทั้งอำเภอ (สมุทรสาคร นราธิวาส พิจิตร ศรีสะเกษ) กลุ่ม 3 ศึกษาการขับเคลื่อนในระดับอำเภอ แต่ไม่ครอบคลุมทั้งอำเภอ (ยะลา สงขลา) กลุ่ม 4 ศึกษาการขับเคลื่อนการบูรณาการระหว่าง อบจ. และเทศบาล (ปทุมธานี) โดยมีทีมนักวิจัยพี่เลี้ยงพร้อมถ่ายทอดประสบการณ์และให้คำปรึกษา

ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า สวรส. พัฒนา
องค์ความรู้จากงานวิจัย คู่ขนานกับสถานการณ์การถ่ายโอนมาโดยตลอด โดยเฉพาะในประเด็นของการออกแบบการ
ถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. ที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนไปสู่การใช้ประโยชน์ จนมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเกิดเป็นคู่มือการถ่ายโอน รพ.สต. ให้กับ อบจ. นอกจากนั้น ประเด็นหนึ่งที่ สวรส. ให้ความสำคัญคือการพัฒนาพื้นที่นำร่องหรือพื้นที่ต้นแบบ เพื่อการขยายผลและสามารถประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้ระหว่างการดำเนินงานวิจัยจะมีกระบวนการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ โดยใช้แนวคิดการประเมินผลเชิงพัฒนา และมีการประเมินก่อนและหลังการดำเนินงาน ที่มีการระบุตัววัดให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน ซึ่งงานวิจัยของ สวรส. เน้นการดำเนินงานภายใต้หลัก 3E
1) Execute การนำนโยบายไปปฏิบัติ 2) Evidence การสะท้อนหลักฐานเชิงประจักษ์ได้อย่างถูกต้อง 3) Efficiency การทำให้เกิดประสิทธิภาพอย่างชัดเจน รวมทั้งคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ประชาชน ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ เพื่อการร่วมกันสร้างภาพอนาคตหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิของ อบจ. ที่พึงประสงค์ โดยมีนักวิจัยในพื้นที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่คาดหวัง คือการส่งมอบผลลัพธ์ที่เกิดเป็นนวัตกรรมเชิงระบบและนวัตกรรมบริการที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพปฐมภูมิได้ดีขึ้น










กำลังโหลดความคิดเห็น