องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความหมายเด็กที่ได้รับประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ (Adverse Childhood Experience: ACEs) หมายถึง ประสบการณ์ความเครียดที่เด็กได้รับ ตั้งแต่การถูกทอดทิ้งทาง ทางใจ การทารุณกรรมทางกาย ใจ ความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิด การหย่าร้างในครอบครัว การที่เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม กินไม่อิ่ม นอนไม่พอ ยิ่งเด็กต้องเผชิญกับจำนวนครั้งของประสบการณ์ไม่พึงประสงค์มากเท่าใด ความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบต่อชีวิตที่เติบโตขึ้นไป มีโอกาสสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพในระยะยาวทั้งทางกายและทางใจ มีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมเสพติด การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การมีโรคประจำตัว โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งโรคซึมเศร้า มีความเสี่ยงถึง 14 เท่า ที่จะฆ่าตัวตาย โรคจิตเวช และพลั้งที่จะตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
อาจารย์ ดร.ไพรินทร์ ยอดสุบัน ประธานบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชุมชนสุขภาวะและความยั่งยืน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าในช่วง พ.ศ. 2567-2568 ได้ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินโครงการการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพบูรณาการสำหรับเด็กที่ได้รับประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ในระดับชุมชน พื้นที่ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนในเด็กปฐมวัยที่ได้รับประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ ครอบคลุมมิติการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และคุ้มครอง สุขภาพ ความปลอดภัย พัฒนาการและการเรียนรู้ ที่มีความต่อเนื่องตั้งแต่ในครรภ์ถึงอายุ 7 ปี ขึ้นไป รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายและการรับรู้สาธารณะในประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพ ศักยภาพการเรียนรู้ และพฤติกรรมสังคมในระยะยาว ซึ่งจังหวัดอำนาจเจริญเป็นจังหวัดนำร่องของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภายใต้โครงการนี้ ได้ให้ความสำคัญพัฒนาเครือข่ายพื้นที่ โดยการแต่งตั้งคณะทำงานเป็นทีมบูรณาการ ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุข อสม. ครูปฐมวัย ครูอนุบาล อพม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ โดยเริ่มต้นจากการคัดกรองเด็กที่ได้รับประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์โดยใช้แบบสอบถามการคัดกรองความยากจนหลายมิติและประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ (MU-MDP-ACE-01) ซึ่งมีการแบ่งผู้รับผิดชอบในการเก็บข้อมูล ได้แก่ 1) พยาบาลวิชาชีพในหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิเก็บข้อมูลกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 2) เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เก็บข้อมูลเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี 3) ครูปฐมวัยที่ปฏิบัติงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเก็บข้อมูลเด็กที่กำลังศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล กำหนดให้ และ 4) ครูปฐมวัยหรือครูอนุบาลเก็บข้อมูลเด็กที่ศึกษาในโรงเรียนอนุบาล ตามลำดับ และได้มอบหนังสือนิทานให้แก่เด็กในกลุ่มเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ อันเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทักษะในวัยเริ่มต้นอย่างรอบด้าน
จากนั้นได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและบันทึกข้อมูลในระบบ https://www.thaiecce.org/ เพื่อคัดกรองและเฝ้าระวังเด็ก ACEs ในชุมชนดำเนินการคัดกรองได้เอง ผลการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการวางแผนและพัฒนามาตรการช่วยเหลือเด็กที่มีคะแนน ACE ≥ 2 และครอบครัวที่ประสบภาวะบกพร่อง เพื่อให้ได้รับการดูแลและสนับสนุนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง จากนั้นได้มีการเยี่ยมครอบครัวเด็ก ACEs ร่วมกับทีมบูรณาการ เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกแล้วนำมาประชุมวางแผนการช่วยเหลือระดับบุคคล ครอบครัว และแผนการช่วยเหลือระดับชุมชนในรายที่มีคะแนน ACEs สูง เพื่อประสานผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลช่วยเหลือตามปัญหาความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อมาได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาผู้ดูแลเด็ก ACEs ด้วยการดูแลแบบฟูมฟักเอาใจใส่ อันที่เป็นกระบวนการที่สำคัญต่อการพัฒนาผู้ดูแลเด็ก ACEs ที่มีแนวทางในการเพิ่มพูนศักยภาพเด็ก ตามกรอบแนวคิดการดูแลอย่างเอาใจใส่เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยรอบด้าน (Nurturing Care Framework: NCF) ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ สุขภาพที่ดี โภชนาการที่เพียงพอ การคุ้มครองความปลอดภัย โอกาสในการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย และการดูแลตอบสนองเชิงบวกต่อความต้องการและความรู้สึกเด็ก ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนาทักษะการเลี้ยงดูของผู้ดูแลและส่งเสริมองค์ประกอบต่างๆ ให้แก่บุตรหลานได้อย่างครบถ้วน และมีการจ้างงานนักบริบาลท้องถิ่นเด็ก จำนวน 6 คน ในการติดตามเพื่อกระตุ้น และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ACEs ในชุมชน มีการพัฒนาแอปพลิเคชันระบบข้อมูลเด็กที่ได้รับประสบการณ์ชีวิตให้พึงประสงค์ โดยให้ผู้จัดการและนักบริบาลท้องถิ่นเด็กปฐมวัยบันทึกแผนการดูแลผ่านแอปพลิเคชัน และได้มีการเปิดบริการคลินิกฮักลูกแพงหลาน ในหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิด้วย
จากการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการในการประกอบอาชีพของผู้ดูแลเด็ก ACEs พบว่าผู้ดูแลเด็ก ACEs ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีรายได้น้อย ยังขาดความรู้และทักษะในการประกอบอาชี จึงได้อบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ดูแลเด็ก ACEs โดยมีการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการในการประกอบอาชีพ การจัดทำบัญชีครัวเรือน การลดรายจ่ายและการเพิ่มรายได้ การฝึกทักษะอาชีพ เช่น การเพาะปลูกต้นกล้าพันธุ์ไม้ การทอผ้า การทอเสื่อ การปลูกผักปลอดสารพิษ การทำข้าวแต๋นน้ำแตงโม การเลี้ยงไก่ และการอบรมด้านการตลาด เป็นต้น โดยมีทีมบูรณาการติดตามเยี่ยมเสริมพลังเพื่อให้คำปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะ และติดตามประเมินผลการประกอบอาชีพเป็นระยะ และประเมินคุณภาพชีวิตผู้ดูแลเด็ก ACEs
นอกจากนี้ ทีมบูรณาการได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากลุ่มเด็ก ACEs ให้มีพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาอย่างสมวัย โดยเฉพาะลักษณะการเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้ควรเน้นการเล่นที่สร้างสรรค์ จะช่วยส่งเสริมทั้งการพัฒนาทักษะพื้นฐานและการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง การจัดกิจกรรมที่ผสมผสานการเรียนรู้และการเล่นจะช่วยกระตุ้นความสนใจของเด็ก เสริมสร้างจินตนาการ ทักษะการแก้ปัญหา และการทำงานร่วมกับผู้อื่น จึงได้ดำเนินการจัดโครงการเล่นรอบมอ กับ ม.มหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ จุดประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่น่าสนใจและเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย กิจกรรมมีลักษณะฐานการเรียนรู้จำนวน 5 ฐาน โดยแต่ละฐานมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่หลากหลาย อาทิ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ด้านความปลอดภัย การเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่ว และการพัฒนาปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมอยู่ในบรรยากาศที่สนุกสนานและปลอดภัย ภายในพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชนสุขภาวะอย่างยั่งยืน และเกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคม (Real World Impact) ในการดูแลเด็กที่ได้รับประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์แบบบูรณาการในชุมชน จนกลายมาเป็นพื้นที่ต้นแบบระดับประเทศ ปัจจุบันได้มีการขยายผลในจังหวัดอำนาจเจริญเพิ่มอีก 2 พื้นที่ คือ ตำบลคำโพน อำเภอปทุมราชวงศา และตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน อีกด้วย