รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิงประภาศรี ริรัตนพงษ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในงานวิจัยครั้งนี้ว่า จากความตั้งใจในการหาทางเลือกใหม่ในการยับยั้งรอยโรคฟันผุ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูงและอาจยังไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษาทางทันตกรรมได้อย่างเต็มที่ ในปัจจุบัน มีการใช้สาร “ซิลเวอร์ไดอามีนฟลูออไรด์” ซึ่งสามารถชะลอการลุกลามของฟันผุได้ดี แต่มีข้อเสียสำคัญคือทำให้เนื้อฟันบริเวณที่ทามีสีดำ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเด็กและผู้ปกครอง ไม่ยอมรับการรักษา จากข้อจำกัดดังกล่าว จึงได้มีการพัฒนานวัตกรรมเจลซิลเวอร์นาโนฟลูออไรด์ขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีระดับนาโน เพื่อให้สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนสีของเนื้อฟันหลังการใช้งาน
การพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักในการยับยั้งรอยโรคฟันผุ โดยไม่ทำให้เกิดคราบสีดำบนฟัน ลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยและผู้ปกครอง และเพิ่มโอกาสในการดูแลรักษาฟันให้เด็กที่ยังไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษาได้อย่างเต็มที่ และยังสามารถนำไปใช้ในชุมชนห่างไกล ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทันตกรรม จุดเด่นของเจลนี้อยู่ที่การใช้อนุภาคสารที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร ทำให้มีพื้นที่ผิวในการสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียมาก จึงสามารถยับยั้งเชื้อที่เป็นสาเหตุหลักของฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีส่วนผสมของสารช่วยเสริมความแข็งแรงของผิวฟัน และอยู่ในรูปแบบที่ไม่เกิดปฏิกิริยากับอากาศ จึงไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของฟัน ถือเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านประสิทธิภาพและความสวยงาม
ในอนาคต รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิงประภาศรี ริรัตนพงษ์ และทีมนักวิจัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนที่จะต่อยอดนวัตกรรมนี้ไปสู่ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพช่องปากรูปแบบอื่น ๆ เช่น น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน ที่สามารถปล่อยสารออกฤทธิ์ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม เช่น เด็กเล็ก และผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ หรือประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดฟันผุและชะลอการลุกลามของโรค
นวัตกรรม “องค์ประกอบเจลทางเภสัชกรรมเพื่อยับยั้งรอยโรคฟันผุ” ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาแนวทางการดูแลสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูงและไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษาได้ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการป้องกันฟันผุ หวังว่าองค์ประกอบเจลทางเภสัชกรรมนี้จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยลดภาวะโรคฟันผุในช่องปาก และสามารถต่อยอดเพื่อยกระดับคุณภาพการรักษาทางทันตกรรมของประเทศในอนาคต