รองศาสตราจารย์ ดร.วไลลักษณ์ พุ่มพวง ภาควิชาสุขภาพจิต และการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นไม่ได้เป็นเพียงอาการทางจิตใจที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน แต่เป็นผลจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัววัยรุ่นเอง และจากสภาพแวดล้อมภายนอก ดังนั้น การป้องกันและดูแลภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นควรเริ่มจากการสร้างความเข้าใจในพัฒนาการของวัยนี้ พร้อมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงบวกในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้เด็กสามารถเติบโตทางจิตใจได้อย่างมั่นคงและมีสุขภาวะที่ดี
“วัยรุ่น” คือ วัยที่มีอายุระหว่าง 10- 19 ปี โดยเป็นช่วงวัยที่เปลี่ยนผ่านจากวัยเด็ก เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ วัยนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่น ในปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นจำนวนมากเผชิญกับภาวะทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาวะซึมเศร้า” ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญด้านสุขภาพจิตในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง รองศาสตราจารย์ ดร.วไลลักษณ์ พุ่มพวง ภาควิชาสุขภาพจิต และการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตอีกช่วงหนึ่ง เด็กจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แม้เป็นกระบวนการทางธรรมชาติ แต่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่วัยรุ่นเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน ซึ่งข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและวัยรุ่น อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 360,069 ราย ผ่าน Application Mental Health Check-in ระหว่างวันที่ 12 ก.พ.65 - 27 ก.พ.67 พบว่าเสี่ยงซึมเศร้า 39,105 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.86 เสี่ยงฆ่าตัวตาย จำนวน 65,951 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.12 สอดคล้องกับการสำรวจในเขตสุขภาพที่ 1 (8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) จำนวน 20,562 ราย พบมีภาวะเสี่ยงซึมเศร้ามากที่สุด จำนวน 2,219 ราย และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 3,931 ราย
ปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น ได้แก่ ครอบครัวและความสัมพันธ์ในบ้าน หากครอบครัวมีความขัดแย้ง พ่อแม่ทะเลาะกัน ใช้ความรุนแรง หย่าร้าง อาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงและวิตกกังวล เด็กบางคนแบกรับภาระในบ้าน ต้องดูแลตัวเองหรือทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัว ส่งผลให้เกิดความเครียดและรู้สึกโดดเดี่ยว ขณะที่บางคนอาจมีฐานะดีแต่ขาดการดูแลทางด้านจิตใจ เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเวลา ทำให้เด็กขาดความอบอุ่น ความเข้าใจ และพื้นที่ปลอดภัยทางอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่นส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม เด็กอาจมีอารมณ์แปรปรวน ขาดการควบคุมตนเอง และรู้สึกไม่เข้าใจตัวเอง ภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลง อาจกลายเป็นสาเหตุให้ถูกกลั่นแกล้งหรือล้อเลียน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นใจในตนเองและก่อให้เกิดความรู้สึกด้อยค่า ความคาดหวังและแรงกดดันจากครอบครัวและโรงเรียน เด็กจำนวนไม่น้อยเติบโตภายใต้ความคาดหวังจากพ่อแม่ เช่น ต้องเรียนดี ต้องสอบได้ ต้องประสบความสำเร็จตามที่ครอบครัวกำหนด หากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย เด็กจะรู้สึกผิดหวัง รู้สึกล้มเหลว และเริ่มลดคุณค่าของตนเอง นอกจากนี้ คำพูดที่ถูกตำหนิในเชิงลบ เช่น “เธอไม่เก่ง” หรือ “เธอไม่ดีพอ” มักถูกตีความจากเด็กว่าเป็น “ความจริง” เกี่ยวกับตัวตน จึงส่งผลต่อภาพลักษณ์และความภาคภูมิใจในตนเองได้ ความสัมพันธ์กับเพื่อนและสังคม วัยรุ่นเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์กับเพื่อนเริ่มมีอิทธิพลมากกว่าครอบครัว เด็กต้องการการยอมรับจากกลุ่ม หากไม่ได้รับการยอมรับ หรือถูกกลั่นแกล้งในกลุ่มเพื่อน อาจเกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นที่รักหรือไม่มีคุณค่า นำไปสู่ความเศร้าและการปลีกตัวจากสังคม ความรักและผลกระทบจากสื่อออนไลน์ ความรักในช่วงวัยรุ่น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต การมีความคาดหวังในความสัมพันธ์ การเปรียบเทียบกับภาพในโซเชียลมีเดีย หรือการเผชิญกับความผิดหวัง อาจทำให้เกิดความเครียด ความรู้สึกไม่มั่นคง และความเจ็บปวดทางใจ นอกจากนี้ โลกโซเชียลยังเป็นพื้นที่ที่เด็กแสวงหาการยอมรับ และอาจใช้เวลามากในโลกออนไลน์เพื่อหลีกหนีความจริง หลีกเลี่ยงปัญหาทางอารมณ์อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งเสี่ยงต่อการติดสื่อออนไลน์ในที่สุด
คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น รองศาสตราจารย์ ดร.วไลลักษณ์ พุ่มพวง กล่าวว่า ผู้ปกครองสามารถเสริมสร้างศักยภาพให้วัยรุ่นสามารถดูแลตนเอง โดยอันดับแรกผู้ปกครองต้องเชื่อว่าวัยรุ่นเขามีศักยภาพในการดูแลตนเองได้ เมื่อเขาได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับแนวทางของจิตบำบัดที่มุ่งเน้นให้บุคคลสามารถนำทักษะที่เรียนรู้ไปใช้ในการจัดการชีวิตของตนเอง แต่การเสริมสร้างศักยภาพดังกล่าวควรดำเนินการผ่านการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน เช่น ครอบครัว โรงเรียน บุคลากรด้านสุขภาพจิต โดยเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต เพื่อให้วัยรุ่นตระหนักรู้ถึงสัญญาณเตือน และสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างเหมาะสม การเข้าถึงเครื่องมือประเมินตนเอง เทคโนโลยีจะช่วยให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึงเครื่องมือประเมินสุขภาพจิตได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันจะมีแบบคัดกรองเกี่ยวกับความเครียด ซึมเศร้า และความวิตกกังวล วัยรุ่นสามารถใช้ประเมินอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง และรับคำแนะนำเบื้องต้นตามระดับความรุนแรงของปัญหา และการมีเครื่องมือเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้วัยรุ่นประเมินตนเองได้เร็วขึ้น แต่ยังส่งเสริมความตระหนักรู้และการแสวงหาความช่วยเหลืออย่างถูกต้องมากขึ้น การส่งเสริมทักษะชีวิต (life skills) ได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ (Resilience) การตระหนักรู้ถึงคุณค่าในตนเอง เห็นจุดแข็งของตนเอง การฝึกทักษะการจัดการอารมณ์ รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง การมองเห็นรูปแบบความคิดด้านลบ และการเรียนรู้การพิสูจน์ความคิดเพื่อสร้างมุมมองเชิงบวก การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา ผ่านการฝึกสถานการณ์จำลอง เช่น การทำงานกลุ่ม หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมการคิดแก้ปัญหาร่วมกับผู้อื่น การเสริมสร้างทักษะทางสังคม เพื่อให้วัยรุ่นสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น รู้จักการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานร่วมกับกลุ่มได้ และการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางออนไลน์ เช่น ไซเบอร์บูลลี่ หรือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) และการเผชิญกับค่านิยมผิด ๆ บนโลกออนไลน์ได้
ท้ายที่สุดแล้วภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นไม่ได้เป็นเพียงอาการทางจิตใจที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน แต่เป็นผลจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัววัยรุ่นเอง และจากสภาพแวดล้อมภายนอก ดังนั้น การป้องกันและดูแลภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นควรเริ่มจากการสร้างความเข้าใจในพัฒนาการของวัยนี้ พร้อมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงบวกในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้เด็กสามารถเติบโตทางจิตใจได้อย่างมั่นคงและมีสุขภาวะที่ดี