อาจารย์ ดร.ทิพาจินต์ ไทยพิสุทธิกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อพูดถึงคำว่า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI ฟังแล้วอาจจะดูไกลตัวเรา แต่ในความเป็นจริงแล้ว AI ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราจนบางครั้งอาจไม่ทันรู้ตัวว่าใช้งาน AI อยู่ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันที่แนะนำเพลงที่เราชอบ หรือระบบตอบกลับอัตโนมัติในแชตต่าง ๆ ล้วนเป็นผลจากการทำงานของ AI แทบทั้งสิ้น คำว่า Machine Learning (ML) เป็นอีกคำที่มักได้ยินอยู่บ่อย ๆ จัดเป็นแขนงหนึ่งของ AI ที่นิยมใช้กัน เน้นการเรียนรู้จากการเก็บข้อมูลแทนโดยไม่ต้องป้อนกฎตายตัวให้ทีละข้อ และทำการประมวลผล เพื่อให้ AI ช่วยคิดและตัดสินใจ เพราะฉะนั้น AI ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของหุ่นยนต์ หรือระบบไฮเทคที่ไกลตัว แต่มันคือเครื่องมือที่เรากำลังใช้ เพื่อช่วยคิดและตัดสินใจร่วมกันอยู่ทุกวัน
ปัจจุบัน AI ได้มีการนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ใน 2 ประเด็น คือช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ เช่น การตรวจข้อสอบอัตโนมัติ การจับคำตอบผิดถูกจากแบบฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น รวมถึงช่วยให้เราคิดไอเดียใหม่ ๆ ในการทำงาน ในแบบที่เราเองอาจจะคาดไม่ถึง เช่น การต่อยอดความคิด ไอเดียสร้างสรรค์ต่าง ๆ ดังนั้น AI จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในชีวิตประจำวันของแทบทุกวงการ รวมไปถึง “วงการศึกษา” ด้วยเช่นกัน ซึ่งการพัฒนาของ AI เข้ามามีบทบาทในการช่วยปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน เปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้มีความหลากหลาย และเหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนมากยิ่งขึ้น
ในด้าน “การศึกษา” AI ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ครูและนักเรียน สร้างโอกาสในการเรียนรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล (Personalized Learning) ซึ่งเราสามารถจำแนกกลุ่มผู้ใช้งานได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
1.กลุ่มครูผู้สอน AI ถูกใช้เป็นผู้ช่วยส่วนตัวของคุณครูผู้สอน ในการทำงานให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
- การตรวจการบ้าน/ ข้อสอบอัตโนมัติ สามารถตรวจคำตอบโดยอัตโนมัติ และสรุปคะแนนให้นักเรียนแบบรายบุคคล ได้คราวละหลาย ๆ คน โดยใช้เวลาน้อยลง
- การออกข้อสอบใหม่ และสามารถสร้างข้อสอบใหม่ที่ไม่ซ้ำกับชุดเดิมได้
- การช่วยออกแบบสื่อการสอนที่ทันสมัย ช่วยสรุปบทเรียนให้ แปลงเนื้อหายาก ๆ ให้เข้าใจง่ายโดยใช้สื่อการสอนรูปแบบต่าง ๆ
- การการสอนแบบ Personalized Learning ช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนของนักเรียนแต่ละคน และแนะนำชุดบทเรียนที่เหมาะสมกับผู้เรียนได้
2.กลุ่มนักเรียน มี AI เป็นติวเตอร์ส่วนตัวอยู่ข้าง ๆ ถือเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน ช่วยให้เรื่องเรียนง่ายขึ้น เช่น ช่วยสรุปบทเรียนให้เข้าใจง่าย ช่วยฝึกเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ แปลบทความวิจัยให้เข้าใจมากขึ้น เป็นต้น
3.กลุ่มนักวิจัย ให้ AI ช่วยสร้างไอเดียใหม่ ๆ และลดเวลาในการทำงานวิจัยหรือโปรเจกต์ เป็นเครื่องมือทรงพลังที่ช่วยทำงานในกระบวนการต่าง ๆ ทั้งในช่วงคิดและช่วงทำ ตั้งแต่ช่วยสร้างไอเดียโปรเจกต์ วิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ตลอดจนช่วยสร้างแบบจำลองทางวิชาการหรือโปรแกรมจำลองให้กับผลงาน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการนำ AI มาใช้ในด้านการศึกษา ผู้เรียนกับผู้สอนจะมีเป้าหมายและบทบาทในการใช้เครื่องมือที่ชัดเจนแตกต่างกันไป ผู้สอนเปรียบเสมือน “ผู้กำกับ” มีหน้าที่ในการวางระบบ วางแผน ออกแบบการสอน จัดการเนื้อหาการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียน ส่วนผู้เรียนเปรียบเสมือน “นักแสดง” มีหน้าที่เรียนรู้ ฝึกฝน ทบทวน เพื่อให้เข้าใจเนื้อหา และเสริมความเข้าใจในแบบของตัวเอง ทำให้หลายคนยอมรับในข้อดีของ AI ว่ามีความรวดเร็ว ฉลาด ทำอะไรได้เยอะมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อควรระมัดระวังและรู้เท่าทันการใช้งาน AI ด้วย เนื่องจากเทคโนโลยียังมีข้อจำกัดที่ต้องตระหนักถึง ดังนี้
ความถูกต้องของข้อมูล (AI ตอบผิดได้) บางครั้ง AI อาจสรุปเนื้อหาผิด ตีความคลาดเคลื่อน หรืออ้างแหล่งข้อมูลปลอมโดยเฉพาะถ้าเป็น AI ที่ไม่ได้เชื่อมกับแหล่งความรู้ทางวิชาการโดยตรง
ลดทักษะการคิด วิเคราะห์ และการเขียนด้วยตนเอง ถ้าใช้ AI ช่วยมากเกินไป นักเรียนอาจคัดลอกโดยไม่เข้าใจสิ่งที่ทำ เสี่ยงต่อการพึ่งพา AI มากเกินไปจนขาดทักษะพื้นฐานที่ควรจะมี
ช่องว่างทางเทคโนโลยี (Digital Divide) คนบางกลุ่มไม่มีอุปกรณ์ มือถือหรืออินเทอร์เน็ตใช้งาน จึงไม่สามารถเข้าถึงการใช้งานได้ ความเหลื่อมล้ำนี้อาจทำให้การเข้าถึง AI กลายเป็นสิ่งสงวนเฉพาะกลุ่ม
ในส่วนของ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากการเรียนการสอนภายในห้องเรียนเรากำลังสร้าง "ระบบนิเวศ" ที่ทั้งคณาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุนและนักศึกษา มีบทบาทสำคัญในการนำ AI มาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยอย่างรอบด้านและเป็นรูปธรรม โดยขับเคลื่อนเรื่องนี้ผ่านมิติต่าง ๆ อาทิ ให้อาจารย์ของเราทำวิจัย AI เพื่อการเรียนรู้จริงจัง ผลักดันการเรียนรู้ AI ของนักศึกษา ตั้งแต่พื้นฐานสู่การสร้างนวัตกรรม สร้างหลักสูตร AI สำหรับนักศึกษาทุกระดับ และทักษะแห่งอนาคต ฯลฯ เน้นสร้างวัฒนธรรมการใช้ AI อย่างมีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรม ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ AI มาทำงานแทน แต่เพื่อเติมเต็มและเสริมศักยภาพของมนุษย์ ร่วมกันสร้างอนาคตผ่านงานวิจัย การเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการลงมือปฏิบัติจริง เพราะเราเชื่อมั่นว่า “เทคโนโลยีจะไม่มีความหมายเลย หากมันไม่สามารถช่วยให้ผู้คนเรียนรู้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และการศึกษา คือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดและทรงพลังที่สุดในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนั้น”