xs
xsm
sm
md
lg

‘365 วันอันตราย : หยุดเด็กตายบนถนน’ สสส.-ยท. เปิด 5 มาตรการต้นแบบสร้างความปลอดภัยทางถนนในเด็กและเยาวชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพราะไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาลสำคัญ แต่ 365 วันหรือหนึ่งปี ไม่ควรมีใครเสียชีวิตหรือพิการจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ สสส. และ สถาบันยุวทัศน์ฯ สานพลังภาคีเครือข่าย เดินหน้าขยายโมเดล 5 มาตรการ จากสถานศึกษาใน 3 จังหวัดต้นแบบ หยุดอุบัติเหตุเด็กและเยาวชน เปลี่ยนถนนไทยให้ปลอดภัย ยกระดับวินัยจราจร ตั้งเป้าเยาวชนไทยตายและพิการเป็นศูนย์

ต้องยอมรับว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนได้คร่าชีวิตเด็กและเยาวชนไปจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี ด้วยเหตุนี้ หลายหน่วยงานจึงได้ประสานความร่วมมือเพื่อสร้างการตระหนักรู้แก่เด็กและเยาวชนในการใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัย ไม่เกิดการสูญเสียชีวิตหรือต้องกลายเป็นผู้พิการ

โดยหนึ่งในโครงการที่นับว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง คือ โครงการพัฒนาความร่วมมือจังหวัดต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุในสถานศึกษา โดยมีพื้นที่นำร่อง ได้แก่ จ.ระยอง จ.ขอนแก่น จ.ชลบุรี (พัทยา) ซึ่งโครงการนี้มีสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) เป็นกำลังสำคัญ โดยการสนับสนุนอย่างเต็มความสามารถจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตลอดจนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยถึงผลลัพธ์การดำเนินงานด้านการขับเคลื่อนพื้นที่ต้นแบบความปลอดภัยทางถนนในเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 20 หน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเพื่อหาแนวทางลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนถนนในเด็กและเยาวชน เพราะ 365 วัน ทุกวันคือวันอันตรายถ้าเราไม่ตระหนักรู้และใส่ใจเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน 


สสส. เน้นบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนหยุดเด็กตาย-พิการ จากอุบัติเหตุบนถนน

ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของระบบบูรณาการข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน หรือ ข้อมูล 3 ฐาน ระบุว่า ในปี 2567 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ รถจักรยานยนต์ คิดเป็น 80% ของยานพาหนะทั้งหมด โดยมีสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความเร็ว การดื่มแล้วขับ รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง

แต่ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นเด็กและเยาวชนมากที่สุด โดยมีอายุระหว่าง 15-19 ปี และนอกจากการเสียชีวิต หลายรายต้องกลายเป็นผู้พิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ติดเตียง กลายเป็นภาระการดูแลของครอบครัว

จากมุมมองของ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เห็นว่า สถานการณ์แบบนี้น่าเป็นห่วง เพราะเด็กและเยาวชนที่ควรจะได้เติบโตไปเป็นกำลังของประเทศในอนาคต กลับต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า หรือกลับกลายเป็นภาระให้กับผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กที่พิการจากอุบัติเหตุ

“ยุคปัจจุบัน อัตราการเกิดใหม่ของเด็กเริ่มน้อยลงทุกวัน และแต่ละปีก็มีเด็กที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนและพิการ จะทำให้เกิดปัญหาที่ส่งผลเสียรุนแรงในเชิงเศรษฐกิจ ดังนั้น เราจำเป็นต้องร่วมแรงร่วมใจในการหยุดการเสียชีวิตและความพิการของเด็กและเยาวชนจากอุบัติเหตุให้ได้” 

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์
ด้วยการเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว สสส. จึงมุ่งเน้นการบูรณาการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเก็บข้อมูล รวมไปถึงการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยบนถนน เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาที่เป็นสถานที่บ่มเพาะความรู้ ระเบียบวินัย การรู้จักหน้าที่ของตนเอง และการเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มีความรับผิดชอบเคารพวินัยจราจร
“สสส. ขับเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนนในเด็กและเยาวชน ร่วมกับภาคีเครือข่ายผ่านการเสริมสร้างความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และพฤติกรรมที่ปลอดภัย เน้นพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ พร้อมสร้างผู้นำเยาวชนที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมความปลอดภัย”

โดยความสำเร็จที่มองเห็นเป็นรูปธรรม คือการสนับสนุนสถาบันยุวทัศน์ในการดำเนินโครงการต้นแบบใน จ.ระยอง จ.ขอนแก่น จ.ชลบุรี (พัทยา) ขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ เช่น การบังคับใช้กฎหมาย พัฒนาทักษะขับขี่ และส่งเสริมทำใบขับขี่อย่างถูกต้อง พร้อมหนุนเสริมกลไกการสื่อสารสร้างการตระหนักรู้ ผ่านรายการวิทยุ โทรทัศน์ และแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น TikTok มุ่งลดอุบัติเหตุและการสูญเสียในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสังคมที่มีวัฒนธรรมการเดินทางปลอดภัยสำหรับทุกคน


“นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สถาบันยุวทัศน์ได้ทำงานร่วมกับสถานศึกษาต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนและสามารถเป็นต้นแบบให้โรงเรียนอาชีวะและสถานศึกษาทุกแห่งสามารถดำเนินรอยตามได้ ตรงนี้ก็จะทำให้เด็กอาชีวะ รวมไปจนถึงเด็กมัธยม เด็กกลุ่มอื่น ๆ หยุดการเกิดอุบัติเหตุลดลง และตายลดลงได้”
อย่างไรก็ดี นพ.พงศ์เทพ ยอมรับว่า เรื่องนี้อาจจะทำได้ไม่ง่าย ต้องอาศัยทุกภาคส่วน โดย สสส. พยายามทำให้ครบทุกส่วน ทั้งเชิงวิชาการ เช่น ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนนถนน (ศปถ.) เพื่อนำข้อมูลมาระบุพื้นที่ แนวทาง และกระบวนการในการทำงาน อีกส่วนคือการทำงานเชิงนโยบาย ซึ่งร่วมกับกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย รวมถึงสำนักงานตำรวจ และหน่วยงานอื่น ๆ ในเรื่องกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย หรือกระบวนการเชิงนโยบายในการจัดการ ขณะที่อีกส่วนคือ สสส. มีการทำงานกับพื้นที่ในการทำต้นแบบ ทั้งโรงเรียนอาชีวะ หมู่บ้าน ชุมชน ระดับตำบล กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับอำเภอ แต่ตรงนี้ก็มีความยากในแง่ที่ว่า ถ้าทำในพื้นที่ การครอบคลุมก็จะได้ผลค่อนข้างยาก ซึ่งถ้าทำในเชิงกฎหมายหรือนโยบายได้ จะครอบคลุมได้ทั่วถึงมากกว่า

นอกจากนั้น ผู้จัดการกองทุน สสส. ยังมองถึงรากเหง้าของปัญหาที่เป็นตัวแปรเงื่อนไขซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานเรื่องการลดอุบัติเหตุสำเร็จได้ไม่ง่าย ทั้งเรื่องความเคยชิน ค่านิยม หรือการมองเห็นเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย เช่น การไม่สวมหมวกนิรภัย หรือการดื่มแล้วขับ รวมถึงการขับรถโดยประมาท ไม่เคารพวินัยจราจร

“เพราะประเทศไทยเรายังอยู่ในจุดที่ว่า คนทำผิดเยอะกว่าคนทำถูก เช่น คนที่สวมหมวกนิรภัยก็มีน้อยกว่าคนที่ไม่สวม คนที่ดื่มแล้วขับก็มีจำนวนมากจนกระทั่งรู้สึกว่าจับไม่หมดจับไม่ไหว อันนี้เป็นความยากของสังคมไทยที่เราต้องขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปจนถึงจุดหนึ่งที่คนทำผิดน้อยกว่าคนทำถูก เมื่อถึงจุดนั้นก็จะสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกขึ้นมาได้อย่างแท้จริง” นพ.พงศ์เทพ กล่าวอย่างมีความหวัง

 

นายณัฐวรรธน์ พรรังสรรค์
ขับเคลื่อนสู่เป้าใหญ่ในปี 70ลดตายจากอุบัติเหตุให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากร

ต้องยอมรับว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน นับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต เศรษฐกิจ สังคมไทยมายาวนาน จากข้อมูลของ TDRI พบว่าประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียและอาเซียน

แต่ความหวังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงยังคงเดินหน้าไม่หยุดยั้ง ดังที่ นายณัฐวรรธน์ พรรังสรรค์ ผู้ตรวจราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ให้ข้อมูลว่า ตามแผนแม่บทความปลอดภัยบนนถนน 2565 – 2570 ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันตั้งเป้าว่าต้องลดอัตราการเสียชีวิตให้เหลือเพียง 12 คนต่อแสนประชากร ให้สำเร็จภายในปี 2570

“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สถานการณ์ปัญหาดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มความสูญเสียที่รุนแรง เนื่องจากปี 2567 ที่ผ่านมายังคงพบอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงถึง 17,556 คน เฉลี่ยวันละ 48 คน โดยเฉพาะกลุ่ม “เด็กและเยาวชน” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคต ขณะที่สถิติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ที่ผ่านมา มีจำนวนเด็กและเยาวชนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงถึง 30.26% หรือ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดทุกช่วงวัย”

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ หากสถานการณ์ไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์สำคัญอีกกว่า 37,321 คน ซึ่งจะเป็นการสูญเสียอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย

“วันนี้ผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นพลังและการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ คือสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญและการแก้ไขปัญหา โดยได้ดำเนินโครงการพัฒนาความร่วมมือจังหวัดต้นแบบความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชน โดยการสนับสนุนของ สสส. ร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนกว่า 40 แห่ง ในการประสานความร่วมมือผลักดันการดำเนินงานในระดับนโยบาย รวมทั้งริเริ่มให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ทั้งในระดับพื้นที่โดยร่วมกับภาคีสถานศึกษาจำนวน 32 แห่งจาก 3 จังหวัดต้นแบบ ในการสร้างนวัตกรรมและเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการส่งเสริมพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชน”

 


นายณัฐวรรธน์ ยังแสดงความชื่นชมในความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหลายประเด็น ซึ่งความสำเร็จนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้น หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันประสานความต่อเนื่องของการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และผลลัพธ์ท้ายที่สุด ประเทศย่อมจะได้ประโยชน์จากการไม่ต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาและการขับเคลื่อนประเทศ นำมาซึ่งความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทุกช่วงวัยที่มีความปลอดภัยในชีวิตทุกครั้งที่ต้องใช้รถใช้ถนนในการสัญจร
“ผมมีความเชื่อมั่นกับทุกเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนสนับสนุนการทำงานของคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงการหนุนเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อลดอัตราการเจ็บตายบนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชน ให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตบนท้องถนน เพราะเด็กและเยาวชน คือกำลังสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต” นายณัฐวรรธน์ กล่าวด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่น

ยท. ถอดบทเรียนความสำเร็จ 5 มาตรการ
พร้อมเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ สู่การเปลี่ยนพฤติกรรม


ต้องบอกว่า นับเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินงานของสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือจังหวัดต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถอดบทเรียนมาตรการความสำเร็จของพื้นที่นำร่องที่จังหวัดระยอง ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งสามารถนำไปศึกษาต่อยอดและพัฒนาได้ในพื้นที่อื่น ๆ

โดยมาตรดังกล่าวมี 5 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1. ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย 2. ประกาศนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย 3. พัฒนาองค์ความรู้ด้านการขับขี่และทักษะการขับขี่ 4. ส่งเสริมทำใบอนุญาตขับขี่ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก 5. สนับสนุนการปรับปรุงสภาพแวดล้อม 

นายรวิศุทธ์ คณิตกุลเศรษฐ์
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยผลการดำเนินงานโดย นายรวิศุทธ์ คณิตกุลเศรษฐ์ รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) นำไปสู่การนำไปใช้จริงในพื้นที่ต้นแบบต่าง ๆ นับเป็นปีแรกที่ทางสถาบันยุวทัศน์ฯ ขยายพื้นที่ต้นแบบ ทั้งใน จ.ขอนแก่น และ จ.ชลบุรี (พัทยา)
“จากการทำงานในพื้นที่ ทำให้เราได้พบว่า การขับเคลื่อนกิจกรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากต้นทุนพื้นที่ รวมไปถึงความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนมาตรการทั้ง 5 ข้อ รวมไปถึงการเก็บข้อมูลในพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านกระบวนการวิจัยการมีส่วนร่วม เพื่อเก็บข้อมูล และพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมในการสร้างวินัยจราจร จนนำไปสู่การลดจำนวนผู้เสียชีวิตทางถนน ให้บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน”

โดยรูปแบบที่ ยท. เข้าไปทำ จะเริ่มจากการหารือกับสถานศึกษาว่าเขาอยากจะทำอะไร ซึ่ง ยท. ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้กำหนดวิธีการ แต่อาจจะมีการกำหนดหัวข้อว่า ถ้าเราต้องการให้เด็กในโรงเรียนสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง ต้องทำอย่างไร หรือต้องการให้เด็กและเยาวชนดื่มไม่ขับ ต้องทำอย่างไร ส่วนที่เหลือสถานศึกษาจะนำไปคิดและทำต่อ เพราะในบริบทที่แตกต่างกัน แต่ละสถานศึกษาย่อมรู้ว่านักเรียนของเขาเป็นคนยังไง หรือมีพฤติกรรมอย่างไร เขาก็จะไปออกแบบการส่งเสริมการตระหนักรู้ให้เหมาะสมกับเด็กในโรงเรียนต่อไป


“พอเราเข้าไปทำงาน เราก็จะมีการถอดบทเรียนร่วมกันว่า แต่ละสถานศึกษามีวิธีการอย่างไรที่ช่วยให้ลดอุบัติได้ เพื่อนำมาแชร์กันต่อไป เพราะจากสถานศึกษาแต่ละที่เขาทำไปแล้ว ไม่อยากให้มันอยู่ที่เดียว ก็อยากให้แชร์ให้สถานศึกษาอื่น ๆ ได้ทราบว่าเขามีวิธีการ นวัตกรรม หรือเทคนิคอย่างไรในการช่วยลดอุบัติเหตุ

“นอกจากนั้น เราจำเป็นต้องเอามาตรการเหล่านี้ไปทดลองใช้ในพื้นที่จังหวัดอื่นดูบ้างว่า มาตรการเหล่านี้สามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้จริงไหม เพราะในจังหวัดระยอง เราสามารถลดได้จริง ดังนั้น ในจังหวัดอื่น อย่างขอนแก่น เราก็อยากนำร่องกับเด็กอาชีวะเหมือนกัน แต่ในจังหวัดชลบุรี เราเลือกเป็นโรงเรียน เนื่องจากว่ามีความเสี่ยงมากกว่า เพราะโรงเรียนที่เราเลือกนั้นอยู่บนถนนวิภาวดีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง”

จากความสำเร็จดังกล่าว นายรวิศุทธ์ ย้ำว่า จะยังคงเดินหน้าดำเนินงานต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทั้งในพื้นที่เดิมและจะขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ๆ หรือเมืองเศรษฐกิจที่ประชากรมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุบัติเหตุเพิ่มขึ้นตามมา เช่น นครศรีธรรมราช ภูเก็ต เชียงราย อุบลราชธานี

“แม้ว่าตอนนี้เราอาจจะลดอุบัติเหตุได้ยังไม่เยอะมากนัก เนื่องจากปัญหาและบริบทของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สถานศึกษาสะท้อนกลับมาหาเราคือเขาไม่อยากให้ทิ้งโครงการ เนื่องจากว่าพอเกิดการขับเคลื่อนโครงการ เขาก็มีกำลังใจในการทำงาน เพราะเรื่องความปลอดภัยบนถนน มักเป็นเรื่องที่ถูกละเลยมาก ๆ เราเคยถามสถานศึกษาหลายแห่ง พบว่า มีการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องอุบัติเหตุ ปีละครั้งเท่านั้นเอง คือมีน้อยมาก ดังนั้น การที่เราเข้าไปทำโครงการ ก็ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการตื่นตัวและตระหนักรู้ แน่นอนว่าเราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ในทันที แต่สิ่งสำคัญคือเราทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการตระหนักรู้ได้ และนำไปสู่การขับขี่ปลอดภัยซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ในท้ายที่สุด” นายรวิศุทธ์ กล่าวย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและมีความหวัง




กำลังโหลดความคิดเห็น