xs
xsm
sm
md
lg

ThaiHealth Academy ชวนอัพสกิล เติมทักษะ ลงทุนกับความรู้แบบไม่มีวันหมดอายุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างสังคมที่มีสุขภาวะดีจำเป็นต้องเริ่มจาก “การพัฒนาคน” ผ่านการลงทุนกับ “การเรียนรู้อย่างยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมศักยภาพของประชาชนให้สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ตลอดเวลา เป็นแนวทางที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต

ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy (THA) ได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในมิติต่าง ๆ พร้อมพัฒนาศักยภาพบุคลากรและองค์กรด้านสุขภาวะในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.  และเนื่องในโอกาสครบรอบในครั้งนี้ ล่าสุด THA ได้จัดงานเสวนา “สร้าง ทำ สุข 2025” ภายใต้แนวคิด ปลูก ปรับ เปลี่ยน เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การสร้างสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ ตั้งแต่ระดับบุคคล องค์กร ไปจนถึงระดับสังคม

ลงทุนในคนด้วยทักษะใหม่
ทางรอดในโลกที่เปลี่ยนเร็ว

หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาคนในปัจจุบัน คือ ทักษะแห่งอนาคต และที่ไม่อาจมองข้ามคือความรู้ ความเข้าใจและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยเฉพาะ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทในทุกแวดวง ทั้งในชีวิตประจำวัน การศึกษา ตลาดแรงงาน และสุขภาพ 
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 สะท้อนมุมมองต่อบทบาทขององค์กรยุคใหม่ และแนวทางในการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน ในเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ
“วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ เสริมสร้างสุขภาพในองค์กร” ว่า ในปัจจุบันโลกอยู่ยากขึ้น องค์กรอยู่ยากขึ้น ลูกน้องก็อยู่ยากขึ้น ทุกคนเจอปัญหาหมด ทักษะจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความอยู่รอด ทั้งตนเอง ครอบครัว ชุมชน องค์กร และในภาพรวมคือประเทศ

ซึ่งปัญหาหลักที่ประเทศไทยกำลังเผชิญคือเรื่อง ทักษะแห่งอนาคต เด็กไทยส่วนใหญ่เติบโตในระบบการศึกษาที่เน้นการท่องจำและการสอบแบบปรนัย ส่งผลให้ขาดทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ประเทศไทยมีธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (Unicorn) น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามหรืออินโดนีเซีย ทั้งที่ศักยภาพโดยรวมในหลายด้านของประเทศไทยไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมองถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะผูกขาดร่วมด้วย ทักษะถัดมาคือ AI and Big data (การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ในการแก้ปัญหา) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในโลกยุคใหม่ ตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ มองเห็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มทักษะ จึงมีนโยบายมอบเงินสนับสนุนแก่ประชาชนเพื่อนำไปเรียนรู้เกี่ยวกับ AI และเทคโนโลยีใหม่ ๆ

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 ชี้ว่าสิ่งที่ผู้นำในสังคมไทยควรทำ คือการปลุกพลังให้ประชาชนเกิดความหวังและตื่นรู้ ไม่ควรมองว่า ประเทศไทยหมดหวัง เพราะประเทศยังมีทุนทางสังคมหลายด้าน ทั้งเรื่องของพลเมืองที่ตื่นตัวในระดับท้องถิ่น ศักยภาพด้านภาษาและความสามารถในการปรับตัว หากสามารถพัฒนาได้อย่างเหมาะสมก็จะสามารถแข่งขันกับประเทศชั้นนำในภูมิภาคได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันสามารถแข่งขันกับญี่ปุ่นได้อย่างใกล้เคียง ส่วนจีนก็มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

พร้อมแนะนำให้เร่งลงทุนพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นอย่าง Leadership and Social Influence (ภาวะผู้นำและอิทธิพลทางสังคม)Resilience, Flexibility, Agility(ความสามารถในการฟื้นตัว ปรับตัว คล่องตัว) Curiosity and Lifelong Learning (ใฝ่รู้และเรียนรู้ตลอดชีวิต) Technological Literacy (รู้เท่าทันเทคโนโลยี) Design and User Experience (การออกแบบและประสบการณ์ผู้ใช้) Motivation and Self-awareness (แรงบันดาลใจและการตระหนักรู้ในตนเอง)และ Empathy and Active Listening (เข้าอกเข้าใจและฟังอย่างลึกซึ้ง)

ต่อมา รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 ยกกรณีศึกษา“Health Impact Pyramid”ของนิวยอร์ก ในการสร้างสุขภาวะผ่านการปรับบริบทโครงสร้างสังคมภาพรวมมากกว่ารายบุคคล ซึ่งสามารถเปลี่ยนเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาให้กลายเป็นเมืองที่ปลอดภัย เช่น การส่งเสริมการฉีดวัคซีน เติมฟลูออไรด์ในน้ำประปา และห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ

จากกรณีนี้ นพ.สุรเชษฐ์ เห็นด้วยว่าการแก้ปัญหาสุขภาพต้องเริ่มจากโครงสร้าง ซึ่งจากการวิจัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จะพบว่า ครัวเรือนไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน มักมีหนี้สินสูงถึง 120% ของรายได้ และปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยสูงถึง 89% ของ GDP อยู่อันดับ 8 ของโลก ดังนั้น การมีสุขภาพที่ดีจึงไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นกลไกที่ช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจระดับชาติลงด้วย

พร้อมเน้นย้ำในช่วงท้ายของการบรรยายและฝากข้อคิดสำคัญว่า “การที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา ต้องมีความเพียร อย่าท้อ มองให้เห็นความหวัง การสร้าง Culture ที่ดีด้านสุขภาพ ก็สามารถสร้าง Culture ที่ดีทางธุรกิจการงานตามมาด้วยไม่ว่าจะเป็นราชการหรือเอกชน ถ้าสร้าง Culture องค์กรไม่ได้ มันไม่มีทางยั่งยืน เพราะถ้าสังคมไม่ดีตัวองค์กรไม่ดี เราเจ๊งก่อน สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่า มันเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่เราต้องมาฟังและเอาไปปฏิบัติให้ความรู้เกิดขึ้นจริง ขอให้ทุกคนมีความหวังเพื่อลูกหลานเราต่อไป”

ศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ
AI ของหวานหรือดาบสองคมในโลกดิจิทัล?

หลังจากที่ นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวถึงความสำคัญของ AI ในฐานะทักษะแห่งอนาคต  ศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ ก็ได้เน้นย้ำในอีกแง่มุมหนึ่งถึงทักษะสำคัญการรู้เท่าทัน (Literacy) ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมาควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี AI ที่ต้องรู้เท่าทันและมีสติเสมอ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลหรือการนำเสนอ อย่างไรก็ดี ในฐานะจิตแพทย์และผู้มีประสบการณ์การทำงานกับเด็กและเยาวชนมองไปถึงปัญหาที่ตามมาว่า อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของเด็กและครอบครัว โดยเฉพาะในเด็กที่ถูกเลี้ยงดู โดยผู้สูงอายุที่ยังขาดทักษะในส่วนนี้

“กลุ่มคนที่มีปัญหาจริง ๆ คือ กลุ่มเปราะบางอย่าง เด็กจากข้อมูลพบว่า เด็กไทยจำนวนมากกว่า 50-60% เกิดในกลุ่มรายได้น้อย พ่อแม่ต้องไปทำงาน ปู่ ย่า ตา ยายเลี้ยงแทน อายุเยอะ ไม่มีทักษะส่วนนี้ ต่อมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน ผมคิดว่า เขามีต้นทุนชีวิตที่พอปรับตัวได้ มีสังคมสื่อสาร คุยกับเพื่อน คุยกับที่ทำงาน แต่พอเป็นเด็กมันยังไม่พอ อาจต้องช่วยเสริม แล้วถามว่า ใครช่วยได้ วัยทำงานก็สามารถช่วยได้ ช่วยดูแลลูกหลาน ดูแลพ่อแม่”

หมอว่า AI หรือเทคโนโลยีก็เหมือนกับอาหารหวาน ความหวานมันเย้ายวนใจ ตอนแรกดูน่ากิน ดูมีพลังงาน แต่ถ้ากินแบบไม่ยับยั้งชั่งใจ ไม่รู้เท่าทัน ก็เกิดโรคในที่สุดอย่างโรคหัวใจและเบาหวาน ซึ่ง AI ก็คล้ายกัน ต้องรู้ว่า ใช้ได้แค่ไหน อะไรที่ไม่ควรใช้ ต้องมีทักษะและมีความรู้ร่วมด้วย”


ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอย่างโชค วิศวโยธิน Co-Founder Deduz & GAMEINDY และผู้เขียนหนังสือ ChatGPT: AI ปฏิวัติโลก เล่าถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการใช้ AI โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ Generative AI ในกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ โดยเปรียบเทียบนักเขียน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเขียนเนื้อหา กับกลุ่มที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือช่วยในการผลิตเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1. ความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์มีข้อจำกัด เพราะฉะนั้นเมื่อมีการนำ AI มาใช้ จึงทำให้ปริมาณของผลงานเพิ่มมากขึ้น 2. คุณภาพโดยเฉลี่ยของผลงานที่ได้จากการใช้ AI มีแนวโน้มดีขึ้น 3. ช่องว่างทางความคิดสร้างสรรค์แคบลง เพราะถ้าหากใช้ AI อย่างถูกต้อง จะสามารถช่วยให้ผู้ใช้ผลิตงานที่มีคุณภาพดีขึ้นแต่ปัญหาที่ต้องระวังที่สุดคือความหลากหลายทางความคิดสร้างสรรค์ลดลง

“AI ไม่ได้เอาของใหม่มา มันแค่เอาของเดิมมาสับ ผสม ยำรวมกันเพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ Value Added บนงานที่ทำมา งานนั้นจะไม่ใช่งานที่โดดเด่น เวลาพูดว่า งานเกรดบีมันเป็นทั้งพรและคำสาป สำหรับเด็กนักเรียนได้งานเกรด B ก็อาจจะโอเค แต่ถ้าเมื่อไหร่ทำงานเป็น Professional ส่งงานลูกค้าและลูกค้าบอกว่า งานของคุณเป็นงานเกรดบี มันแย่มากนะ”

“สิ่งที่ต้องทำคือ Value Added หรือเพิ่มมูลค่าลงไป ทำอย่างไรก็ได้ให้งานเกรด B กลายเป็นงานเกรด A หรือ A+ ในบริบทของงานชิ้นนั้น ๆ ปกติผมจะใช้ Framework ที่เรียกง่าย ๆ ว่า AI draft Human craft ให้ AI ทำงานร่าง คนมาเกาแล้วเพิ่มมูลค่าให้เป็นงานฝีมือ ใช้ AI เพื่อเป็นเครื่องมือเป็นผู้ช่วย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเอามาทดแทนงานของตัวเองทั้งหมด ตัวเราจะถูกทดแทนและเราจะด้อยมูลค่าตัวเอง”

“ปลูก ปรับ เปลี่ยน”
เพราะการพัฒนาคนต้องเริ่มต้นจากเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้
ที่ผ่านมา THA พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพกว่า 220 หลักสูตร โดยมีผู้รับผลประโยชน์ 9,181 ราย
นพ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า THA เป็นหน่วยงานลักษณะพิเศษของสสส. ที่มุ่งเน้นการทำงาน 1. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ยกระดับขีดความสามารถ (Competency development) ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. มุ่งขยายฐานผู้รับประโยชน์ไปยังกลุ่มบุคคลและองค์กร สร้างนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ เป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมสุขภาวะทั้งระดับชาติและระดับสากล


ปัจจุบัน THA มีหลักสูตรการเรียนรู้ 26 หลักสูตร รองรับผู้เข้าอบรมมากกว่า 1,265 คนต่อปี ครอบคลุมทั้งทักษะเชิงเทคนิค ความรู้ด้านสุขภาวะ การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ และการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ โดยมีหลักสูตรที่มีความโดดเด่น เช่น 1. หลักสูตรการสื่อสารการตลาดเพื่อธุรกิจสุขภาพ 2. หลักสูตร Generative AI กับการขับเคลื่อนพลังความคิดและนวัตกรรม 3. โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Equity Leaders Program) เพื่อผลักดันการเรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง ให้เกิดเป็นก้าวแรก (First Step) ขั้นต่อไป (Next Step) ผลกระทบ (Impact) และสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“หลักสูตร AI ของสถาบันฯ มาคู่กับหลักสูตร Big Data เพราะปัจจุบันมีข้อมูลจำนวนมากรออยู่แล้วแต่ไม่ปะติดปะต่อ ยกตัวอย่าง คนตายจากโรคอะไรกันบ้าง ถ้าเอาข้อมูลนี้มาปะติดปะต่อกันได้ ก็จะรู้ว่า คนตายเพราะไม่ออกกำลังหรือเป็นโรคหัวใจมากกว่ากัน ต้องแก้ไขด้วยการออกกำลังกายมากขึ้นดีไหม กินอาหารที่มีสุขภาวะขึ้นดีไหม สุขภาพจิตที่ดีขึ้นช่วยให้อัตราการตายจากโรคหัวใจลดลงหรือเปล่า ถ้าข้อมูลพวกนี้ซิงก์กันได้ แล้วเอามาวิเคราะห์ต่อ ก็จะเกิดประโยชน์มหาศาล”

“ต้นน้ำจะได้ป้องกันส่งเสริมก่อน กลางน้ำรักษาอย่างรวดเร็ว และปลายน้ำเมื่อป่วยแล้วทำอะไรได้อีกบ้าง ข้อมูลทั้งหลายเมื่อก่อนอยู่บนกระดาษ แต่ยุคนี้คือ ยุคของ Big Data เชื่อมกันได้หมด ซึ่งบางครั้งอาจจะมารูปแบบธุรกิจ แต่จากมุมหมอ หมอมองถึงประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก เดิมทีทำข้อมูลมานับกันทีละแผ่น ทำไม่ไหว ข้อมูลเยอะมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเข้าใจว่า ส่วนนี้คือข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้อยู่ในระบบเท่านั้น แต่จริง ๆ ยังมีข้อมูลในพื้นที่ ข้อมูลหน้างานจริง ความรู้สึกจริง และข้อมูลจากคนจริง ๆ ด้วย” ศ.ดร.นพ.นันทวัช เสริม

หลักสูตร THA มุ่งพัฒนาทักษะไปที่กลุ่ม Active Citizen หรือ พลเมืองตื่นรู้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนสังคมในอนาคต พร้อมทั้งมุ่งสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนต่างวัย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหรือAI แต่อย่างน้อยควรมีความเข้าใจพื้นฐาน สามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเหมาะสม


นอกจากนี้ สำหรับเกณฑ์การพัฒนาหลักสูตรของ THA ศ.ดร.นพ.นันทวัชอธิบายต่อว่า ต้องพิจารณาหลายปัจจัย เช่น แนวโน้มของเทคโนโลยี นโยบายรัฐบาล และทิศทางของโลก และต่อมาคือข้อมูลจากการลงพื้นที่และพูดคุยกับผู้ที่ทำงานจริง เพื่อเก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เช่น กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้ที่ทำงานกับผู้สูงอายุ เพราะการเก็บข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถนำมาคำนวณเฉลี่ยได้ แต่ต้องพูดคุยและเก็บข้อมูลโดยตรง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม
หากมองไปข้างหน้า แนวทางที่จะเกิดขึ้นคือ ในทิศทางต่อไป ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพทิ้งท้ายว่าTHA ครบรอบ 5 ปี มุ่งขยายโอกาสกลุ่มภาคีเครือข่ายให้เข้าถึงหลักสูตรบ่มเพาะนวัตกรนักสร้างสุของค์กร ผ่านกิจกรรม “สร้าง ทำ สุข” ภายใต้แนวคิดปลูก ปรับ เปลี่ยน คือ 1. ปลูกนิสัยการเรียนรู้ สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กร 2. ปรับตัวให้ทันโลก ให้เกิดมุมมองและศักยภาพที่พร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 3. เปลี่ยนสังคมอย่างสร้างสรรค์ นำสังคมไปสู่ความเป็นธรรม และสุขภาวะที่ดี ผ่านเครือข่ายการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง โดยมีหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่สามารถลงมือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ได้จริง และส่งผลให้เกิดแกนนำในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อกระจายความรู้และสร้างสังคมที่มีสุขภาวะที่ดีไปด้วยกัน

“เราอยากให้หลักสูตรเหล่านี้เติบโตต่อไปได้ ปลูก ปรับ เปลี่ยนได้ เมื่อปลูกทดสอบแล้วโอเค ครบ 1 ปีหรือ 6 เดือนต้องปรับแล้วว่า มีอะไรทันสมัยขึ้นหรือเปล่า หรือแม้กระทั่งการ Customized ให้เข้ากับกลุ่ม เช่น กลุ่มทำงานกับแรงงานข้ามชาติ ต้องปรับข้อมูลให้เข้ากับเขา กลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อก็ต้องปรับตัวอย่าง ปรับข้อมูลเข้ากับกลุ่ม เอาข้อมูลเป็นตัวกลาง จากนั้นก็ไปตรวจทานข้อมูล ทดสอบต่ออีกแล้วก็ฟังฟีดแบคว่า ตอบโจทย์หรือไม่ เพราะฉะนั้นหลักสูตรของเราจะเติบโตเหมือนต้นไม้ ทำแล้วไม่นิ่งตายเป็นต้นไม้แห้ง โตแล้วก็ต้องปรับตัวเรื่อย ๆ”

ทั้งนี้ สำหรับภาคีเครือข่าย องค์กร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ ThaiHealth Academy และ www.thaihealthacademy.com หรือ โทร. 02-171-8656


กำลังโหลดความคิดเห็น