เจาะผลงาน 3 พยาบาลดีเด่นระดับประเทศรางวัล "ศรีสังวาลย์" ประจำปี 2567 เผยสาขานโยบายช่วยผลักดันตำแหน่ง "ชำนาญการพิเศษ" รวมกว่าหมื่นตำแหน่ง สาขาสถานบริการพัฒนาศักยภาพพยาบาลเฉพาะทางรองรับดูแลผู้ป่วยซับซ้อน และสาขาชุมชนมุ่งเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมโรงพยาบาลและชุมชนให้ผู้ป่วยดูแลสุขภาพตนเองได้ ด้านรองปลัด สธ.ย้ำนโยบายเน้นดูแลจิตใจ รักษาพยาบาลให้อยู่ในระบบ
วันนี้ (30 เมษายน 2568) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการรางวัลศรีสังวาลย์ ผลงานดี วิชาการเด่น สมคุณค่าพยาบาลไทย ครั้งที่ 8 "สุขภาพจิต สุขภาพกาย การพยาบาลที่มุ่งเน้นการดูแลด้วยหัวใจ" จัดโดยกองการพยาบาล ระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2568 โดยมีพยาบาลจากหน่วยบริการต่างๆ เข้าร่วม ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการประกาศผู้ที่ได้รับรางวัล "ศรีสังวาลย์" ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นรางวัลพยาบาลดีเด่นระดับประเทศ มี 3 สาขา ดังนี้
1.รางวัลสาขาผู้นำการพยาบาลระดับนโยบาย ได้แก่ นางศิริมา ลีละวงศ์ อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 มีผลงานโดดเด่นในเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนพยาบาลให้ปฏิบัติงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการยกระดับความก้าวหน้าในสายงานวิชาชีพให้เป็น "ชำนาญการพิเศษ"
2.รางวัลสาขาการพยาบาลในสถานบริการ ได้แก่ นางกนกพร แจ่มสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีผลงานโดดเด่นในเรื่องพัฒนาการพยาบาลผู้ป่วยวัณโรคช่วยลดการขาดยา เพิ่มความสำเร็จในการรักษา พัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน Fast track STEMI ภายในสถาบันโรคทรวงอก ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่รวดเร็ว ลดอัตราการเสียชีวิต และการพัฒนาศักยภาพพยาบาลเฉพาะทางโรคหัวใจและทรวงอก
3.รางวัลสาขาการพยาบาลในชุมชน ได้แก่ นางเพ็ญพิศ นุกูลสวัสดิ์ อาจารย์พยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น บุรีรัมย์ โดยมีผลงานโดดเด่นเรื่องพัฒนาระบบบริการการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องในชุมชน
สาขานโยบาย : ผลักดัน "ชำนาญการพิเศษ" กว่าหมื่นตำแหน่ง
นางศิริมากล่าวว่า หลังจากปฏิบัติงานในฐานะพยาบาลวิชาชีพที่หอผู้ป่วยอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเป็นเวลา 6 ปี ก็ย้ายเข้ากองการพยาบาล เปลี่ยนสายงานมาเป็นนักวิชาการพยาบาล และมีโอกาสได้มาทำงานเรื่องงานบุคคล (HR) ที่เราไม่มีความรู้ก็ต้องมาศึกษาใหม่ว่า มีขั้นตอนที่จะพางานวิชาชีพเราให้ก้าวหน้าไปได้ เพราะที่ผ่านมาจะได้ยินเสียงตัดพ้อของพยาบาล ทั้งเรื่องของภาระงานหนัก ความก้าวหน้าไม่มี มีการพูดตลอดว่า "พยาบาลอยู่ชำนาญการนานเป็นพิเศษ" จะทำอย่างไรให้ตัดคำว่า "นาน" ออกไป ให้กลายเป็น "ชำนาญการพิเศษ" จึงได้ทำงานขับเคลื่อนเรื่องการทำให้พยาบาลมีความสุขและความก้าวหน้าของพยาบาล โดยศึกษาหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการผลักดันตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ช่วงแรกได้มาประมาณ 1 พันกว่าตำแหน่ง ก็ทำข้อมูลไปเรื่อยๆ จนเกษียณจากตำแหน่งผู้อำนวยการกองพยาบาลและส่งข้อมูลให้ผู้อำนวยการคนถัดไปก็ได้มาอีก 9 พันกว่าตำแหน่ง
"พยาบาลเป็นงานที่มีเสน่ห์เพราะต้องดูแลผู้คน เมื่อมาทำงานบริหารจึงพยายามผลักดันให้ความมีเสน่ห์ยังคงอยู่และประชาชนรับรู้ ที่สำคัญผู้บริหารพยาบาลต้องทำตัวเป็น "พาวเวอร์แบงค์" ที่มีพลังในตัวเองจะต้องให้พลังน้องๆ ได้เสมอ คือ เป็นที่พึ่ง โดยจะต้องเป็นคนที่เปิดใจกว้างรับทุกสิ่งที่น้องพยาบาลเข้ามาหาเรา เปิดโอกาสและชาร์จพลังให้น้องได้ โดยพัฒนาจับมือไปด้วยกัน ไม่ทิ้งน้องเมื่อน้องมีปัญหา ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไปด้วยกันเป็นทีม ไม่มีพวกใครมีแต่พวกเราพยาบาลใจดวงเดียวกันตลอดไป" นางศิริมากล่าว
สาขาสถานบริการ : พัฒนาศักยภาพพยาบาลเฉพาะทางหัวใจ
นางกนกพร กล่าวว่า ประชาชนที่เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลมีความซับซ้อนมากขึ้น ต้องการการดูแลจากพยาบาลเฉพาะทาง ตนเป็นพยาบาลเฉพาะทางโรคหัวใจและทรวงอก สถาบันโรคทรวงอก จึงขับเคลื่อนเรื่องพัฒนาศักยภาพพยาบาลเฉพาะทางโรคหัวใจและทรวงอก โดยเริ่มจากพัฒนาศักยภาพทีมงานของตนเองก่อนและขยายเพิ่มขึ้น โดยสถาบันโรคทรวงอกเป็นที่ฝึกหลักสูตรให้แก่พยาบาลทั่วประเทศ มีการสร้างหลักสูตรตั้งแต่ปี 2547 โดยแต่ละปีแรกๆ สามารถอบรมได้ 1 คลาส ปัจจุบันได้ 3 คลาสต่อปี เฉลี่ยอบรมได้ปีละ 100 กว่าคน ขณะนี้โรงพยาบาลที่มีการดูแลเฉพาะทางหัวใจและปอดก็มีพยาบาลเฉพาะทางแล้วประมาณ 50-60% ซึ่งยังต้องพัฒนาต่อเนื่อง ปัจจุบันมีแล้ว 7 หลักสูตร และพัฒนาเป็นหลักสูตรนานาชาติมีการแลกเปลี่ยนการฝึกปฏิบัติการพยาบาลในประเทศเพื่อนบ้านและเอเชีย ทำข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์คุณหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน แลกเปลี่ยนพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาลเฉพาะทางโรคหัวใจและทรวงอก
"ความยากของการพัฒนาพยาบาลเฉพาะทาง คือ พยาบาลมีความขาดแคลนอยู่แล้ว การมาฝึกอบรมอาจจะต้องมีเวลาส่วนหนึ่งที่จะต้องออกมาจากงานที่ทำ จึงต้องทยอยสับเปลี่ยนกันมาอบรม มาพร้อมกันไม่ได้ ซึ่งเราคาดหวังว่าหน่วยงานเฉพาะทาง พยาบาลจะได้รับการฝึกและเรียนรู้เรื่องการพยาบาลเฉพาะทางให้เต็ม 100% ซึ่งก็พยายามเดินหน้าในเรื่องนี้" นางกนกพรกล่าว
สาขาชุมชน : ยกระดับการดูแลผู้ป่วยในชุมชน
ขณะที่นางเพ็ญพิศ กล่าวว่า งานพยาบาลในชุมชนมีความสำคัญ เพราะทุกวันนี้เป็นสังคมสูงอายุ มีปัญหาสุขภาพติดบ้าน ติดเตียง ติดสังคม ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากไม่มีพยาบาลดูแลในชุมชน คนไข้จะเสียโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์และแหล่งประโยชน์ที่จะช่วยสนับสนุน ไม่ได้รับการจัดการสุขภาพตนเองที่จะช่วยให้มีความรู้ในการดูแลตนเองและเข้าถึงบริการได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น ตนจึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้โดยเน้น "การดูแลเริ่มแรกที่บ้านทุกเรื่อง ดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน บริการประทับใจทุกวันวาน บริการผสมผสานทั้งครอบครัว" โดยให้ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ช่วงโควิด 19 มีการฉีดวัคซีนเชิงรุกในผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง พัฒนาการดูแลแบบ Home Isolation และ Home Ward ช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัยดีไม่มีเสียชีวิต เป็นต้น การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงเน้นสร้างเสริมการจัดการสุขภาพตนเองช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้กว่า 80% พัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุเข้มแข็งจนเป็นต้นแบบ สร้างเครือข่ายแกนนำวัยรุ่น ผู้ปกครองและชุมชน ช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทำให้ในชุมชนแออัดลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจาก 30% เหลือ 8%
"พยาบาลเป็นโซ่ข้อกลางระหว่างโรงพยาบาลและชุมชน เป็นคนดูแลเรื่องของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่จะสร้างภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและทีมสหสาขาวิชาชีพจากโรงพยาบาลไปสู่ชุมชนได้อย่างแท้จริง เราต้องเป็นต้นแบบและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อนำมาจัดการการออกแบบระบบจัดการสุขภาพของประชาชน ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี มีเมตตา กรุณา อุทิศตนเพื่อการดูแลผู้ป่วย สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและภาคีเครือข่าย ก็จะเป็นที่ยอมรับของชุมชนได้อย่างแท้จริง" นางเพ็ญพิศกล่าว
สำหรับ "รางวัลศรีสังวาลย์" เป็นรางวัลพยาบาลดีเด่นระดับประเทศ ที่ได้ผนวกรางวัลพยาบาลดีเด่นของสภาการพยาบาลเข้ากับรางวัลเพชรกาสะลองของกระทรวงสาธารณสุข โดยกระทรวงสาธารณสุขขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธย "ศรีสังวาลย์" เป็นชื่อรางวัลพยาบาลดีเด่น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ครบ 110 ปี ของสมเด็จพระศรีนครินครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2553 และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่วิชาชีพการพยาบาล โดยเชิญอักษรพระนามาภิไธย "ส.ว." ประดิษฐานบนโล่รางวัล เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2556
สธ.เข้มดูแลจิตใจพยาบาล
ด้าน นพ.วีรวุฒิปาฐกถาพิเศษ "นโยบายและทิศทางการจัดบริการด้านสุขภาพด้วยหัวใจ" มีใจความโดยสรุปว่า การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตาและความเข้าใจ พยาบาลเรามีการปลูกฝังและดูแลด้วยหัวใจมานานแล้ว แต่ยุคนี้อยากเน้นย้ำว่าจะดูแลพยาบาลอย่างไร โดยเฉพาะสุขภาพจิต เพราะต้องเจอหลายเรื่อง เช่น การถูกคุกคามหรือโดนทำร้ายในห้องฉุกเฉิน ถูกวิจารณ์ลงโซเชียลมีเดียเรื่องไม่พอใจการบริการที่รอนาน ล้วนมีผลกระทบด้านจิตใจของพยาบาลหน้างาน ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีและหาวิธีการร่วมกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีระบบดูแล ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้ตรวจราชการ แต่มองว่าเครือข่ายพยาบาล ชมรม สมาคมพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ อาจจะต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นโยบายจะเน้นการให้รางวัลทุกรูปแบบเพิ่มมากขึ้นด้วย อย่างรางวัลศรีสังวาลย์จะเพิ่มรางวัลในระดับจังหวัด ระดับเขตเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ โดยเฉพาะการให้รางวัลกับพยาบาลรุ่นใหม่ จะช่วยให้เกิดค่านิยมเรื่องของความเสียสละต่างๆ กลับมา อย่างไปซีพีอาร์ช่วยผู้ป่วยข้างถนน สนามบิน ห้าง ส่วนใหญ่รู้จากโซเชียลมีเดีย มีแต่หน่วยงานข้างนอกให้รางวัล แต่เราดูแล้วเฉยๆ ทั้งที่น่าจะให้ความสำคัญและมีการให้รางวัลหรือประกาศนียบัตรต่างๆ
"กระทรวงสาธารณสุขมีพยาบาลเยอะที่สุดก็ต้องดูแลพยาบาลมากขึ้น ต้องรักษาให้อยู่ในระบบมากที่สุด เวลามีข่าวลบถูกทำร้ายต้องมีกระบวนการมากกว่าเดิมที่จะต้องเข้าไปดูแล โดยเฉพาะกองการพยาบาลควรจะเป็นหน่วยงานเชิงรุกมากขึ้น ต้องลงไปเยี่ยมให้กำลังใจ ไม่ใช่แค่แจ้งความดำเนินคดีซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว ก็จะสะท้อนเรื่องการดูแลด้วยหัวใจให้รู้สึกอุ่นใจมากกว่าระบบเดิมที่มีอยู่ ว่ามีการดูแลจริงจังมากขึ้นในช่วงเวลาเปราะบาง" นพ.วีรวุฒิกล่าว