xs
xsm
sm
md
lg

“ห้องเรียนปลอดภัย” พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้และการเติบโตทางใจอย่างสมบูรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรงเรียนเป็นระบบนิเวศที่สำคัญนอกจากครอบครัวในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ได้รับความรู้ และทักษะที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต “ห้องเรียนปลอดภัย” (Trauma Sensitive Classroom) คือแนวคิดที่มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมความรู้สึกปลอดภัยทางด้านจิตใจ พร้อมทั้งสนับสนุนพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์แก่เด็กและเยาวชน โดยบุคลากรในโรงเรียนจะต้องมีความเข้าใจถึงสาเหตุและผลของความบอบช้ำทางด้านจิตใจที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรม ความสามารถในการเรียนรู้ และการเข้าสังคมของเด็ก “ห้องเรียนปลอดภัย” จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนรู้สึกปลอดภัย ลดผลกระทบที่ได้รับจากประสบการณ์ไม่พึงประสงค์หรือความบอบช้ำทางจิตใจ ให้สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสม

รองศาสตราจารย์ ดร.มธุรส ทิพยมงคลกุล อาจารย์ประจำสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการโมเดลการสร้างห้องเรียนปลอดภัยเพื่อการเรียนรู้สังคมและอารมณ์และสร้างเสริมสมรรถนะการฟื้นตัวในเด็กไทย กล่าวว่า “ความบอบช้ำทางจิตใจ” (Trauma) ส่งผลกระทบต่อเด็กตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์มารดา ความเครียดของมารดาทำให้ปริมาณฮอร์โมนบางชนิดสูงในถุงน้ำคร่ำและส่งผ่านรกสู่ทารกในครรภ์ เด็กประถมวัยที่มีความบอบช้ำทางจิตใจ หากได้รับการบ่มเพาะภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ตระหนักต่อผลกระทบของความบอบช้ำทางจิตใจ (Trauma Aware Mindset) จะได้รับการปลูกฝังระบบคิดและการจัดการตนเองเชิงบวกเพื่อที่จะสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคตได้ภายใต้สถานการณ์ของโรงเรียนที่มีระบบดูแลทางด้านสุขภาพใจที่ดี เป้าหมายสำคัญของ “ห้องเรียนปลอดภัย” จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เด็กเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีความบอบช้ำทางจิตใจ หรือเด็กที่มีความบอบช้ำทางจิตใจถูกเยียวยาและไม่เกิดความบอบช้ำทางจิตใจซ้ำในโรงเรียน

Assoc. Prof. Dr. Mark Vicars, Researcher จาก Institute for Sustainable Industries and Liveable Cities (ISILC), Victoria University เครือรัฐออสเตรเลีย ศาสตราจารย์วุฒิคุณ (Adjunct Professor) ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และในฐานะนักวิจัยผู้ร่วมโครงการฯ กล่าวว่า “โครงการโมเดลการสร้างห้องเรียนปลอดภัยเพื่อการเรียนรู้สังคมและอารมณ์และสร้างเสริมสมรรถนะการฟื้นตัวในเด็กไทย” นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาและผลักดันเกี่ยวกับแนวคิด “ห้องเรียนปลอดภัย” ขึ้นในประเทศไทย การพัฒนาแนวคิดดังกล่าวในบริบทของสังคมไทยมุ่งเน้นที่การพัฒนาความตระหนักรู้ของครู และการนำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนอย่างเหมาะสม โดยได้ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับครูในโรงเรียน ผ่านการสร้างองค์ความรู้จากแหล่งข้อมูลระดับนานาชาติ และการศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับแนวทางการสอนที่คำนึงถึงภาวะบอบช้ำทางจิตใจ (Trauma-Informed Pedagogies) ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมพฤติกรรมและส่งเสริมการเรียนรู้ โดยไม่กระตุ้นความวิตกกังวลหรือกระตุ้นภาวะบอบช้ำของเด็ก

Prof. Dr. Marcelle Cacciattolo, Associate Director (Research Training) จาก Institute for Sustainable Industries and Liveable Cities (ISILC), Victoria University เครือรัฐออสเตรเลีย ศาสตราจารย์วุฒิคุณ (Adjunct Professor) ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการร่วมฯ กล่าวว่า มีงานวิจัยจำนวนมากในเครือรัฐออสเตรเลียที่ศึกษาเกี่ยวกับภาวะบอบช้ำทางจิตใจในห้องเรียน โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อบทบาทของครู ผู้นำโรงเรียน ชุมชนโรงเรียน และวัฒนธรรมของโรงเรียน ในการร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย และเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่เผชิญกับภาวะบอบช้ำทางจิตใจสามารถเชื่อมโยงเข้ากับผู้อื่นได้ ห้องเรียนที่คำนึงถึงภาวะบอบช้ำทางจิตใจจึงเป็นสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่มีการนำแนวปฏิบัติทางด้านการสอนและสนับสนุนการเรียนรู้โดยคำนึงถึงผลกระทบของภาวะบอบช้ำทางจิตใจมาใช้ในการออกแบบหลักสูตรและวิธีการสอนให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้เด็กสามารถเรียนรู้และเติบโตได้อย่างเหมาะสมในสภาพแวดล้อมที่เข้าใจและคำนึงถึงประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ภาวะบอบช้ำทางจิตใจอาจไม่มีคำจำกัดความที่ตายตัวเนื่องด้วยประสบการณ์ที่แต่ละคนรับรู้ และวิธีการตอบสนองที่แตกต่างกันไป รูปแบบการแสดงออกของภาวะบอบช้ำทางจิตใจจึงสามารถปรากฏให้เห็นได้อย่างหลากหลาย และอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและสภาพจิตใจของเด็กในระยะยาว เช่น การสู้ (Fight) เป็นการแสดงความก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวทั้งต่อตนเองและผู้อื่น การนิ่งงัน (Freeze) เป็นการที่เด็กหยุดการเคลื่อนไหว ทำให้ตัวเองเล็กลง หรือแยกตัวออกจากสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยเด็กที่อยู่ในภาวะนี้อาจมีการซ่อนตัวเพื่อลดโอกาสในการถูกมองเห็น และเป็นเป้าหมายของความอันตรายได้ และการหลบหนี (Flight) เป็นการเลือกที่จะหนีออกจากสถานการณ์นั้น ๆ เช่น การวิ่งออกจากห้องเรียน หรือพยายามออกจากพื้นที่ที่พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งกลไกการป้องกันตัวนี้ทำให้เด็กพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเครียดหรือกระตุ้นความทรงจำที่เจ็บปวดในอดีต

Assoc. Prof. Dr. Mark Vicars เสริมว่า เมื่อเด็กอยู่ในภาวะสู้ นิ่งงัน หรือหลบหนี สิ่งสำคัญคือการตระหนักว่า เด็กไม่สามารถการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งอาจไม่ใช่เพียงการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา แต่ยังเป็นการตอบสนองของสมองต่อความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยของเด็กอีกด้วย ดังนั้น อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองจากการมองว่า “เด็กดื้อ” หรือ “เด็กซน” เป็นการตั้งคำถามว่าทำไมพวกเขาจึงมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้น และมุ่งเน้นไปที่การทำให้เด็กกลับมารับรู้ถึงร่างกายของตนเอง (Body Awareness) โดยการตั้งคำถามเกี่ยวกับประสาทสัมผัสรอบตัว เช่น ถามว่าพวกเขามองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น หรือรู้สึกอย่างไร เพื่อให้เด็กกลับมามีสติรับรู้ถึงปัจจุบัน สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองได้ดีขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.มธุรส ทิพยมงคลกุล กล่าวว่า บุคคลที่มีความสำคัญในการสนับสนุนให้เกิด “ห้องเรียนปลอดภัย” คือ ครู และผู้บริหารที่ใช้ฐานคิดของความตะหนักต่อความบอบช้ำทางจิตใจ เพื่อที่จะสามารถส่งต่อพลังในการดูแลแก่นักเรียนได้อย่างเหมาะสม และเรียนรู้ว่าเด็กที่มีความบอบช้ำทางด้านจิตใจควรใช้เทคนิค ให้การดูแล หรือจัดการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อท้ายที่สุดแล้วครูเองที่ทำหน้าที่ในการดูแลเด็กที่มีความบอบช้ำทางจิตใจอยู่แล้วจะไม่กลับกลายมาเป็นผู้ได้รับความบอบช้ำทางด้านจิตใจตามไปด้วย วิธีการฝึกครูให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความบอบช้ำภายในจิตใจของเด็กโดยการสังเกตพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสามารถนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเชิงบวกภายในห้องเรียนให้ทุกคนมีความเข้าใจในสิ่งเดียวกัน และสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เช่น เปลี่ยนจากการจดชื่อคนที่ไม่ตั้งใจเรียนเพื่อถูกลงโทษ เป็นการเชิดชูพฤติกรรมที่ดีด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ซึ่งกระบวนการนี้มีข้อดีคือไม่เป็นการตอกย้ำบาดแผลในใจเด็กให้เกิดซ้ำ รวมถึงเป็นการปลูกฝังการให้คุณค่า “คน” ในนักเรียนและโรงเรียนด้วย

Prof. Dr. Marcelle Cacciattolo กล่าวต่อว่า หากภาวะความบอบช้ำทางจิตใจในเด็กไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่ช่วงแรก จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่จะไม่อยากมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ เนื่องจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยทั้งจากที่บ้านและอาจรวมถึงที่โรงเรียนด้วยที่มีความเสี่ยงต่อการถูกกระตุ้นให้หวนนึกถึงประสบการณ์เลวร้ายที่กระทบกระเทือนจิตใจ ทำให้เด็กต้องการแยกตัวออกจากกระบวนการเรียนรู้ และเมื่อเด็กขาดความรู้สึกเชื่อมโยงกับห้องเรียนก็จะไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครูหรือเพื่อนในห้องเรียนได้ และหากยิ่งปล่อยไว้นานอาจทำให้เด็กไม่รู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนและไม่เห็นถึงความสำคัญของการมาโรงเรียนได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือครูและโรงเรียนต้องให้ความสำคัญต่อแนวทางการป้องกันและวิธีจัดการกับปัจจัยที่อาจกระตุ้นความรู้สึกด้านลบของเด็ก เพื่อให้พวกเขาอยากมาโรงเรียน และรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่จะได้รับการปกป้อง ดูแล และสนับสนุนจากครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียน

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และในฐานะนักวิจัยผู้ร่วมโครงการฯ กล่าวว่า การทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ในบริบทของวัฒนธรรมไทย นอกจากบทบาทของครูแล้วทางผู้บริหารโรงเรียน (school leaders) ก็ต้องให้ความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันแนวคิดดังกล่าวด้วย จึงเป็นที่มาของวิธีดำเนินโครงการฯ ภายใต้รูปแบบ “การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” (Participatory Action Research: PAR) โดยมุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การเข้ามามีส่วนร่วมของผู้บริหารโรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญในฐานะผู้อำนวยความสะดวกและผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งหากผู้บริหารตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างห้องเรียนปลอดภัย การนำแนวคิดดังกล่าวไปปฏิบัติจริงในโรงเรียนก็จะมีความเป็นไปมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในการสร้างวัฒนธรรมของโรงเรียน (school culture) ผู้บริหารจะมีอิทธิพลต่อแนวทางการดำเนินงานของครูและบุคลากรในโรงเรียนโดยรวม จึงเป็นจุดเชื่อมโยงที่มีอทธิพลต่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน ปัจจุบันคณะวิจัยได้มีความพยายามจะขยายการดำเนินงานไปในระดับเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ โดยในอนาคตยังมุ่งหวังที่จะขยายแนวคิดเกี่ยวกับห้องเรียนปลอดภัยเข้าสู่ระบบสนับสนุนด้านสุขภาพจิตหรือระบบสนับสนุนด้านอื่น ๆ ของภาครัฐอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.มธุรส ทิพยมงคลกุล ทิ้งท้ายว่า คณะวิจัยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวคิด “ห้องเรียนปลอดภัย” จะถูกนำไปใช้ในระบบโรงเรียนอย่างแพร่หลาย และสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาชุมชนในระยะยาวต่อไป การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพจิตของเด็กในโรงเรียนเป็นหน้าที่ร่วมกันของครู ผู้บริหารโรงเรียน และการสร้างวัฒนธรรมของโรงเรียน เพื่อให้เด็กมีพื้นที่ที่ปลอดภัย และได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ซึ่ง “เด็กที่ดีจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต” เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผู้ใหญ่ในวันนี้คือการสร้างสมรรถนะด้านสังคมอารมณ์ในเด็กเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมไว้ให้พวกเขา และพอถึงวันหนึ่งที่เมล็ดพันธุ์เหล่านี้เจริญเติบโตขึ้นมาเมื่อจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจเพียงใดก็จะสามารถป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากผลกระทบของประสบการณ์ที่ไม่ดีเหล่านั้นได้




กำลังโหลดความคิดเห็น