ในยุคที่สังคมให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น “ข้ามเพศมีสุข” จึงไม่ใช่เพียงแค่แนวคิด แต่เป็นเป้าหมายสำคัญในการสร้างสุขภาวะที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน
ขณะที่คนข้ามเพศจำนวนมากยังต้องต่อสู้เพื่อให้ได้รับบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม แต่สำหรับ คนข้ามเพศหูหนวก ยังต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำซับซ้อนขึ้นเป็นสองเท่า
สำหรับคนทั่วไปการเดินเข้าโรงพยาบาลแล้วบอกอาการเจ็บป่วยกับหมอ อาจดูเป็นเรื่องปกติ แต่นั่นกลับไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนข้ามเพศหูหนวกที่มีข้อจำกัดเรื่องการสื่อสาร เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาภาษามือ ซึ่งหากไม่มีล่าม การเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพหรือการปรึกษาแพทย์ จึงกลายเป็นเรื่องยาก
วันนี้ MGR Online ชวนคนหูดีมานั่งฟังอีกหนึ่งมุมมองผ่านภาษามือในเวทีเสวนา “สุขภาวะของคนข้ามเพศหูหนวก และการใช้ภาษามือเรื่องเพศ” ที่สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้งชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้ง ภายใต้โครงการ “ข้ามเพศมีสุข” ครั้งที่ 2 ที่จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่ร่วมกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศกว่า 29 องค์กร เปิดพื้นที่ความหลากหลาย ส่งเสริมให้คนข้ามเพศมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายด้านสุขภาวะที่ดีรอบด้าน ไม่ว่าจะสิทธิประโยชน์ยาฮอร์โมน สิทธิขั้นพื้นฐานของคนข้ามเพศ เดินหน้าไปสู่การสร้างสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
คนหูหนวกข้ามเพศและกำแพงการสื่อสาร
“เราอยากจะเทคฮอร์โมนเลยไปขอคำแนะนำจากคุณหมอ แต่คุณหมอให้คำแนะนำกระชับมาก จริง ๆ เราอยากได้คำแนะนำการให้ฮอร์โมนละเอียดแล้วก็กว้างกว่านี้ แต่ตอนนั้นคุณหมอพูดสั้น ๆ ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่มีล่าม ไปเองคนเดียว ใช้การเขียนสื่อสาร ซึ่งการสื่อสารของเราก็ค่อนข้างจะลำบาก เพราะว่าข้อมูลต้องลงลึก มีรายละเอียดการใช้ฮอร์โมนบวกกับเราไม่มีฐานความรู้ตรงนี้ด้วย”
เริ่มต้นด้วยหนึ่งในเสียงสะท้อนจากผู้ใช้บริการสุขภาพ ปิ่น ตัวแทนคนข้ามเพศหูหนวก เล่าถึงประสบการณ์ในการเข้ารับคำปรึกษาเกี่ยวกับการเทคฮอร์โมน แต่ขณะเดียวกันแพทย์ให้คำแนะนำเพียงสั้น ๆ และไม่ลงลึกในรายละเอียด ทำให้ตนยังไม่ได้เริ่มเทคฮอร์โมน ซึ่งอยากให้การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนมีความละเอียด รอบด้าน และเข้าใจง่ายกว่านี้ โดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการสื่อสาร เนื่องจากในวันนั้นตนเข้ารับบริการโดยไม่มีล่ามภาษามือ จึงต้องใช้การเขียนในการสื่อสารกับแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะเมื่อต้องทำความเข้าใจข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนด้วยตนเอง
ทั้งนี้ ปิ่นยังบอกอีกว่า หากมีล่ามภาษามือก็ยังไม่แน่ใจว่า ล่ามจะสามารถถ่ายทอดคำศัพท์หรือข้อมูลทางการแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับฮอร์โมนได้อย่างถูกต้องหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การเทคฮอร์โมนของคนข้ามเพศ ถือเป็น ด่านแรก สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพของคนข้ามเพศเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นวิธีการเปลี่ยนแปลงสรีระเพศตัวเองของเพศทางเลือก ในกลุ่มของคนข้ามเพศ ด้วยการรับฮอร์โมนเพศตรงข้าม หรือเพศที่ต้องการเป็นเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านการรับประทานยา หรือผ่าตัดอวัยวะเพศเพื่อลดฮอร์โมนเพศเดิม ซึ่งต้องมีทั้งความปลอดภัยและคุณภาพ แต่ปัจจุบัน คนข้ามเพศจำนวนมากยังต้องพึ่ง การเทคฮอร์โมนนอกระบบ เช่น ซื้อยาจากร้านหรือออนไลน์โดยไม่มีแพทย์ดูแล เสี่ยงต่อผลกระทบสุขภาพในระยะยาว สะท้อนช่องว่างของระบบบริการสุขภาพที่ยังไม่รองรับความหลากหลายทางเพศอย่างทั่วถึง
ภาษามือ...เครื่องมือสื่อสารที่ยังพัฒนาไม่สุด
ต่อมาอุปสรรคสำคัญคือ การขาดคำศัพท์ภาษามือ
ภาษามือ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร และช่วยให้คนหูหนวกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยหลายคนเข้าใจผิดว่า ภาษามือเป็นภาษาเดียวกันทั่วโลก แต่แท้จริงแล้ว ภาษามือมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและแต่ละภูมิภาค เช่น ภาษามือไทย ภาษามืออเมริกัน ภาษามือบริติช ภาษามือญี่ปุ่น หรือภาษามือสากล
และภาษามือไม่ได้มีคำศัพท์สำหรับทุกคำอย่างที่หลายคนเข้าใจ เนื่องจากภาษามือมีโครงสร้างและหลักไวยากรณ์เฉพาะของตนเอง จึงไม่สามารถแปลคำทุกคำจากภาษาพูดเป็นภาษามือได้แบบตรงตัว
ดังนั้น แม้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร แต่หากไม่มีการพัฒนาคำศัพท์เฉพาะด้าน โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพและเพศ ก็จะส่งผลให้การอธิบายเรื่องเพศศึกษา ฮอร์โมน หรือกระบวนการข้ามเพศผ่านภาษามือทำได้ยาก คนข้ามเพศหูหนวกก็จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการดูแลตัวเองได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การพัฒนาและเพิ่มเติมคำศัพท์ภาษามือที่ถูกต้องและเป็นมาตรฐานจึงมีความจำเป็น
เบียร์ อีกหนึ่งตัวแทนคนข้ามเพศหูหนวกเล่าว่า เรื่องคำศัพท์ภาษามือถือเป็นประเด็นสำคัญสำหรับคนหูหนวก บางคนอาจจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจภาษาไทย เพราะต้องยอมรับว่า ภาษาไทยยาก เนื่องจากส่วนมากคนหูหนวกใช้ภาษามือเป็นหลัก ซึ่งในกรณีที่ต้องพบแพทย์และได้รับยา อยากเสนอให้จัดทำโครงการที่มี QR Code ติดไว้ที่ขวดยา เพื่อช่วยอธิบายด้วยภาษามือ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจการใช้ยาได้ถูกต้อง ลดความเสี่ยงจากการอ่านฉลากยา โดยเฉพาะเมื่อยามีลักษณะหรือสีคล้ายกัน
นอกจากนี้ ยังเสนอให้จัดทำคำศัพท์ภาษามือกลางและครอบคลุมคำศัพท์แบบครบถ้วน โดยเฉพาะในการสื่อสารถึงเรื่องละเอียดอ่อนหรืออวัยวะภายในร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น กรณีของผู้หญิงที่มีประจำเดือน ซึ่งจำเป็นต้องมีท่ามือที่ชัดเจน สื่อสารได้ถูกต้องและตรงประเด็น
และเมื่อมีการจัดทำคำศัพท์ สิ่งสำคัญคือควรมีการนำไปใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงเผยแพร่ให้ล่ามภาษามือได้รับรู้และสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้การสื่อสารระหว่างผู้รับบริการที่หูหนวกและแพทย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นั่นจึงทำให้ ชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้ง ได้จับมือกับหน่วยงานสำคัญอย่าง สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามืออย่างคุณอนุชา รัตนสินธุ์ นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ร่วมกันพัฒนา “คำศัพท์ภาษามือเกี่ยวกับเรื่องเพศ” โดยออกแบบให้ครอบคลุมคำศัพท์สำคัญเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และสุขภาพทางเพศ
ธีรศักดิ์ พรหมจรรย์ ประธานชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้ง กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาคำศัพท์ภาษามือทางเพศผ่านล่ามภาษามือว่า ชมรมฯ ได้จัดทำคำศัพท์ภาษามือเพื่อใช้ในการสื่อสารในด้านสุขภาพ โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เนื่องจากคำศัพท์ภาษามือที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ครบถ้วน การพัฒนาและคิดค้นคำศัพท์ใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้คนหูหนวกสามารถสื่อสารและเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยในกระบวนการนี้ได้มีการประชุมหารือร่วมกันของผู้แทนคนหูหนวกจากแต่ละภาค ซึ่งได้ข้อสรุปคำศัพท์ที่ใช้เป็นมาตรฐานภาษากลางจำนวน 86 คำ แม้ว่าจะมีการเสนอคำศัพท์มากกว่า 100 คำ แต่คำที่ได้รับการยอมรับและตกลงกันได้มีจำนวน 86 คำ และคำศัพท์เหล่านี้ได้รับการรับรองจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย
ตัวอย่างคำศัพท์ที่พัฒนา อาทิ คำว่า “เพศกำเนิด” ในภาษามือแสดงท่าทางคล้ายการคลอดลูก ประกอบกับการชี้ใกล้บริเวณอวัยวะเพศ เพื่อสื่อความหมายถึงเพศตั้งแต่แรกเกิด “บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” ใช้ มือขวา ยกนิ้วโป้งตั้งขึ้นแทนสัญลักษณ์ของคน และ มือซ้าย แผ่ห้านิ้ว คล้ายสายรุ้งพาดผ่าน แสดงถึงความหลากหลายทางเพศ
นอกจากนี้ยังมีคำว่า ยาฮอร์โมน แดร็กควีน เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เหยียดเพศ อคติทางเพศ ฯลฯ ซึ่งไม่เคยมีการนิยามในภาษามือไทยอย่างเป็นทางการมาก่อน ทั้งนี้ สามารถติดตามชมคำศัพท์ภาษามือเพิ่มเติมได้ที่ Facebook ชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้ง
เสียงสะท้อนจากคนทำงาน
ถึงเวลาออกแบบระบบสุขภาพที่เข้าใจ ‘อัตลักษณ์ทับซ้อน’
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเปิดรับความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ยังมีช่องว่างที่ต้องทำงานกันต่อไป ซีซ่า ฤทธิวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืน สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้ง ให้อีกหนึ่งแง่มุมที่น่าคิดต่อ เนื่องจากการศึกษาสำหรับคนหูหนวกในประเทศไทยมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีสภาพเศรษฐกิจไม่ดี คนหูหนวกบางคนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ หลายคนไม่สามารถเรียนต่อในโรงเรียนโสตศึกษา ดังนั้น เด็กหูหนวกในครอบครัวที่ขาดแคลนทางเศรษฐกิจมักจะไม่สามารถเรียนหนังสือต่อไปได้
ในหลายกรณี คนหูหนวกจบการศึกษาที่ระดับชั้นประถมศึกษา และมีเพียงจำนวนน้อยที่สามารถศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาตรี หรือในบางกรณี บางคนอาจไม่เคยเรียนภาษามือเลย และจะใช้ท่าทางภาษามือที่พวกเขาคุ้นเคย ซึ่งอาจเกิดจากการสังเกตและออกแบบท่าทางภาษามือจากครอบครัวหรือจากการพบเห็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น
ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การพัฒนาภาษามือกลางสำหรับคนหูหนวกและการสร้างคำศัพท์ที่เป็นสากลจึงเป็นสิ่งจำเป็น
“แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศบริการสาธารณสุขติดอันดับต้นของโลก แต่ปัญหาอุปสรรคใหญ่ที่สำคัญเวลาเข้ารับบริการสุขภาวะ โดยเฉพาะด้านสุขภาวะทางเพศ กลุ่มเหล่านี้ยังไม่เคยมีคำศัพท์ภาษามือหรือองค์ความรู้ที่สามารถสื่อสารเรื่องเพศได้แบบจริงจัง เวลาเราไปสอนเวิร์กช็อปให้คนหูหนวก มันมีหลายกิจกรรมมาก แต่มันไม่มีคำศัพท์ภาษามือที่เขาเข้าใจ ทำให้ความหมายหรือความเข้าใจของเขาจากเดิมที่เราไปให้ความรู้ 100% หลาย ๆ ครั้ง หลายคนสามารถรับรู้ได้เพียงแค่ 20-30% เท่านั้น เนื่องจากขาดคำศัพท์ภาษามือ”
“จริง ๆ เรื่องของฮอร์โมน ขนาดเราเป็นคนหูดี เรายังต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ อย่างที่บอกไปว่า ข้อจำกัดของคนหูหนวกจะจำภาพเป็นหลัก ดังนั้น หากเขาเห็นข้อมูลฮอร์โมนจากสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งฮอร์โมนบางตัวก็ไม่ได้จำเป็น หรือเป็นฮอร์โมนที่แพทย์ไม่ได้แนะนำ แต่คนหูหนวกที่เขาเห็น เขาไม่รู้หรอกว่า ตัวไหนเป็นอย่างไร ควรใช้อย่างไร พอใช้เยอะก็เกินขนาด บางตัวราคาสูงแถมไม่เห็นผล รวมทั้งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพภายหลัง รวมถึงในแง่ของเศรษฐกิจ มีคนหูหนวกหลายคนที่ไม่ได้ทำงาน หรือด้วยสภาพเศรฐกิจที่ไม่เอื้อให้เขาสามารถใช้ยาฮอร์โมนที่ดี ซึ่งมีราคาแพงได้ เขาเลยต้องไปซื้อของราคาถูก ตามที่เห็นคนใช้กันในโฆษณา อาจจะเอามาใช้แล้วเกิดอันตรายได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องพึงระวัง”
ล่ามภาษามือต้องเติบโตไปพร้อมภาษามือ
นอกจากภาษามือ หนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยให้คนหูหนวกสามารถเข้าถึงข้อมูลและการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ล่ามภาษามือ
การขาดแคลนล่ามภาษามือในไทยเป็นปัญหาที่ไม่อาจมองข้ามได้ โดยข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ปี 2567 พบว่า ประเทศไทยมีล่ามภาษามือเพียง 178 คน โดยเป็นล่ามภาษามือหูดี 170 คน และล่ามภาษามือหูหนวก 8 คน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 0.04% ของจำนวนคนหูหนวกทั้งหมดในประเทศกว่า 418,612 คน
ถ้าเปรียบเทียบแบบเห็นภาพ คือล่ามภาษามือ 1 คนต่อคนหูหนวกประมาณ 2,352 คน ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะจังหวัดกรุงเทพฯ ที่มีล่ามภาษามือมากที่สุดถึง 69 คน ตามาด้วยนนทบุรี 28 คน และนครปฐม 16 คน และพบอีกว่า ทั่วประเทศ มีล่ามภาษามือ อยู่ 41 จังหวัด และไม่มีล่ามภาษามืออีก 36 จังหวัด
อย่างไรก็ดี เราได้พูดคุยประเด็นนี้เพิ่มเติม โดย ซีซ่า กล่าวว่า “ล่ามมีบทบาทสำคัญมากเพราะว่าเวลาคนหูหนวกไปหาหมอ คนหูหนวกก็ต้องทำงานกับล่าม คำศัพท์พวกนี้นอกจากคนหูหนวกจะต้องใช้แล้ว ล่ามภาษาก็ต้องมาเรียนรู้ร่วมกัน”
“แม้ปัจจุบันจะมีระบบล่ามออนไลน์ให้บริการสำหรับคนหูหนวก หรือ TTRS ซึ่งเป็นล่ามออนไลน์ที่คนหูหนวกสามารถวิดีโอคอลกับล่ามภาษามือ ที่เป็นการช่วยเหลือคนหูหนวกทางออนไลน์ หมอพูดไป ล่ามก็จะแปล แต่ทีนี้ถ้าเกิดว่า คำศัพท์ภาษามือยังไม่มีเรื่องเพศ ล่ามจะแปลได้ไหม มันก็ไม่ได้ ดังนั้นเลยต้องทำงานควบคู่กัน”
“ตอนที่คิดกระบวนการคำศัพท์ เราก็มีล่ามเข้ามาอยู่ในกระบวนการด้วย จริง ๆ อย่างที่บอกว่า ล่ามมีความสำคัญ เพราะล่ามต้องเข้าใจประเด็นเรื่องความละเอียดอ่อนทางเพศด้วย เพราะบางทีล่ามก็อาจจะไม่รู้ตัวว่า บางคำ บางการแสดงออกอาจเป็นการตีตราโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเรื่องเพศ ขนาดเราเป็นคนหูดีเรื่องเพศยังไม่ค่อยพูดกันเลย ดังนั้น ภาษามือที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ล่ามภาษามืออาจจะไม่ได้เข้าใจทุกคนขนาดนั้น ซึ่งคงจะเป็นเฟสต่อไปที่ชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้งขยับไปทำเรื่องนี้ต่อ”
ในตอนท้าย สำหรับประเด็นเรื่อง ล่ามภาษาอังกฤษ รองผอ. สำนักสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืน สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้ง เผยถึงปัญหาการขาดแคลนล่ามภาษามือที่สามารถแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษามือไทย โดยกล่าวว่า ในการประชุมต่างประเทศแต่ละครั้ง ต้องใช้ล่ามถึง 4 คนในการแปลจากภาษามือกลาง (International Sign Language) เป็นภาษามือไทย คือต้องมีล่ามหูหนวกแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษามือกลาง และล่ามหูดีแปลจากภาษามือกลางเป็นภาษามือไทยอีกที
“พี่มองว่า ขนาดเราเป็นคนข้ามเพศยังยากขนาดนี้ เขาเป็นคนหูหนวกด้วยมันยากกว่าเราอีก เพราะว่าเขามีอัตลักษณ์ทับซ้อน เป็นคนข้ามเพศแล้วยังเป็นคนหูหนวกด้วย บางคนอยู่กับ HIV อีก บางคนไม่ได้เรียนภาษามือ กดทับหลาย ๆ ชั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องลุกมาทำอะไรสักอย่าง ให้เราสะท้อนเสียงของเขา อย่างน้อยให้เขาได้พูดว่า เขายังขาดอะไร เขาต้องการอะไร หน้าที่ของเราหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกแบบบริการสุขภาพ หรือตอบสนองเขาอย่างไร ซึ่งแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งก็มาจากเพื่อนสนิทที่เป็นคนหูหนวกแล้วเรามีโอกาสเรียนภาษามือมาจากเขา ประจวบกับทำงานใกล้ชิดกับคนข้ามเพศหลายประเภทมาก จากนั้นก็เลยขยับมาทำงานภาคประชาสังคม ก็เห็นว่า เราสามารถที่จะเป็น Voice for the Voiceless ให้กับเพื่อนได้ เราอยากเป็นเสียงให้เพื่อน ตอนนี้ทำเรื่องบริการมาเรื่อย ๆ เป็นปีที่ 7 แต่ก็เป็น 10 ปีที่คลุกคลีกับคนคนข้ามเพศหูหนวก”
“พี่รู้สึกว่า คนในคอมมูฯ นี้คือพี่น้อง ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเดินทางมาไกลแล้ว เราก็อยากจะจูงมือเพื่อนเราที่เข้าไม่ถึงข้อมูล จูงเขาเข้ามาให้เข้าถึงข้อมูล ให้เท่ากับเราแค่นั้นเอง” ซีซ่า ทิ้งท้าย
วาที กองบาง หรือ เก้อ เจ้าหน้าที่กิจกรรม/เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จากกลุ่มแอ็คทีม จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ตนมีโอกาสเจอกับคนหูหนวกบ่อยครั้ง บางครั้งก็เป็นลูกค้าที่เข้ามาซื้อของ ซึ่งรู้สึกอยากสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มนี้ แต่พบปัญหาในการใช้ภาษามือ แม้แต่ในบางครั้งที่เห็นเขาเจอปัญหา อยากเข้าไปช่วยแต่ว่าค่อนข้างมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร ซึ่งในขอนแก่นมีผู้พิการทางการได้ยินจำนวนมากโดยเฉพาะในโรงเรียนโสตศึกษา ที่ยังขาดชุดความรู้ภาษามือเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และ HIV ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ต้องขอบคุณที่ได้ให้คำแนะนำในเรื่องคำศัพท์ภาษามือต่าง ๆ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ภาษามือมากยิ่งขึ้น และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสื่อสารและช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยินได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต