xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิสุกรี เจริญสุข จัดดนตรีริมเจ้าพระยา ณ บ้านกุฎีจีน ผู้นำศาสนา-ชุมชนร่วมฟังอบอุ่น ที่ปรึกษารมว.อว.-ส.ศิวรักษ์ ชื่นชม สะท้อนรากวัฒนธรรมสู่รุ่นลูกหลาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข จัดดนตรีที่พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน ผู้นำชุมชน-ผู้นำศาสนา และนักท่องเที่ยว นั่งฟังบรรยากาศอบอุ่น ที่ปรึกษารมว.อว.ชื่นชม เผยทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน “ส.ศิวรักษ์”ปลื้มช่วยอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมสืบทอดสู่รุ่นลูกหลาน

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ร่วมกับพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน เขตธนบุรี กทม.จัดดนตรีในชุมชนที่พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน เขตธนบรี กทม. เมื่อบ่ายวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา บรรเลงโดยวงเครื่องสายไทยซิมโฟนีฯ สตริง ควอเต็ต บุคคลสำคัญที่มาร่วมชมประกอบด้วย ผู้นำชุมชน-ผู้นำศาสนาในพื้นที่ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือส.ศิวรักษ์ วัย 93ปี เจ้าของรางวัลโนเบลทางเลือก พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และคณะ รวมทั้งนักท่องเที่ยว จำนวนกว่าร้อยคน

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวว่า การจัดดนตรีในชุมชนแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ รวมทั้งการที่ผู้นำทางศาสนา นักธุรกิจ ผู้นำชุมชนและผู้นำทางศาสนา มาร่วมรับฟัง ถือเป็นความสุขของชุมชน ผู้คนที่มาฟังดนตรีต่างยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะเพลงที่บรรเลงล้วนได้ยินมาก่อนเพียงคนละเวอร์ชั่นกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ของเพลง ซึ่งเป็นรากเหง้าที่บ่งบอกว่าสังคมชาวสยามประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่อยู่กันอย่างมีความสุข ทั้งๆที่มีความแตกต่าง ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน อันนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่า แม้สังคมจะแตกต่างและหลากหลาย แต่คนเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

รศ.ดร.สุกรี กล่าวอีกว่า เพลงที่นำมาบรรเลง เป็นเพลงที่มีร่องรอยทำนองโปรตุเกส เพลงจีน เพลงแขก เพลงฝรั่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับบ้านกุฎีจีน รวม 15 เพลง อาทิ เพลงต้นวรเชษฐ์(ต้นโปรตุเกส) ,แขกโยสลัม,ฝรั่งรำเท้า,จีนไจ๋ยอ และแขกบุหลันลอยเลื่อน(แขกปัตตานี)ฯลฯ

“ดนตรีเป็นตัวกลางของทุกชาติศาสนา และทุกๆคนในชุมชน สังเกตุได้ว่าเวลาคุยกันเรื่องการเมือง เรื่องศาสนา หรือเรื่องเศรษฐกิจ มักจะทะเลาะกัน ตรงกันข้ามถ้าคุยเรื่องดนตรี เรื่องศิลปะ คนจะรักกัน ดนตรีเป็นหัวใจของศิลปะทั้งมวล ดนตรีเป็นหัวใจของคนมีความสุข ถ้าใช้ดนตรีนำสังคม ผมคิดว่าจะสร้างสรรค์ความสุขได้อีกเยอะ”รศ.ดร.สุกรี กล่าว

นายสุลักษณ์ กล่าวว่า การจัดดนตรีในชุมชนเป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก ควรจะอนุรักษ์ไว้ เพราะสิ่งที่มนุษย์ต้องการคือความงาม ความไพเราะ และในวันนี้นอกจากได้ฟังเพลงแล้ว ยังมีศิลปินมาเขียนรูปให้เห็นอีกด้วย ขณะที่สมัยนี้ความงามความไพเราะกลายเป็นทุนนิยมบริโภคนิยมไปหมดต้องซื้อต้องหา แต่การจัดดนตรีในชุมชนบ้านกฎีจีนครั้งนี้ทำกันเอง เจ้าของบ้านก็ใจดีให้ใช้บ้าน ศิลปินก็ไม่ได้คิดเรื่องเงินเรื่องทอง คิดอย่างเดียวว่าจะทำให้ทุกคนมีความสุข สิ่งนี้นับว่าสิ่งประเสริฐสุด เป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่ควรจะภาคภูมิใจถึงรุ่นลูกรุ่นหลานตลอดไป

ด้านพญ.เพชรดาว กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีมาก เพราะเพิ่งมาบ้านกุฎีจีนครั้งแรก เคยได้ยินแต่ชื่อ อีกทั้งเพลงที่นำเล่นเป็นเพลงปัตตานีหลายเพลง และชื่อเพลงก็สื่อเป็นภาษามลายู รู้สึกชื่นใจและขอขอบคุณเจ้าของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน ที่นี่สวยงามงาม ขอชื่นชมที่เปิดให้คนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ตรงนี้มาเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งดนตรีที่นำมาเล่นบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่าคนในพื้นที่นี้อยู่ร่วมกันอย่างไร เรื่องราวของชาวโปรตุเกสก็ได้ยินมานาน แต่วันนี้เพิ่งรู้ว่าหนึ่งในตระกูลเชื้อสายโปรตุเกสก็คือเจ้าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ พอไปดูพิพิธภัณฑ์ทำให้ได้รู้เรื่องราวต่างๆมากขึ้น อย่างเช่นขนมฝรั่ง

“ที่สำคัญได้มาฟังดนตรีเพราะๆมากกว่า 10 เพลง อยากให้จัดแบบนี้อีก ต้องขอบคุณผู้มีอุปการะคุณที่ทำให้ได้ฟังดนตรีๆดีแบบนี้ โดยเฉพาะคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง และเจ้าของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎจีน ซึ่งทางอาจารย์สุกรีบอกว่าถ้าเป็นไปได้อยากจัดหน้าวัดซางตาครู้ส เพราะไม่ใช่เฉพาะแค่ฟังดนตรีเท่านั้น แต่อาจารย์สุกรียังนำประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเรื่องราวในอดีต-ปัจจุบัน มาผสมผสานผ่านเสียงเพลงได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งมาก”พญ.เพชรดาว กล่าว

นายฉัตรชัย พงศ์ไทย เจ้าของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน กล่าวว่า การจัดดนตรีครั้งนี้ถือว่าได้รับเกียรติจากมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เป็นอย่างมาก และรู้สึกตื่นเต้นเพราะจัดเป็นครั้งแรก สนุกมาก ตนไม่เคยฟังดนตรีแบบนี้มาก่อน ประทับใจมาก ดนตรีไพเราะ นักดนตรีก็เล่นด้วยจิตวิญญาณต้องขอบคุณอาจารย์สุกรีที่เลือกสถานที่นี้ จัดแล้วมีความสุข เพลงแต่ละเพลงที่ได้ฟัง ไม่ได้เป็นเพลงของฝรั่งแท้ เป็นเพลงประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งหลายเพลงทำน้ำตาคลอเพราะเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอยุธยา รวมถึงความเป็นมาของเพลงต่างๆที่อาจารย์สุกรีเล่าให้ฟัง ตนดีใจแทนทุกคนที่ได้ฟังเพลง

“ถ้าเป็นไปได้อยากให้จัดดนตรีแบบนี้อีก เพราะเพลงที่นำมาเล่นทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับชุมชนโปรตุเกสในพื้นที่นี้ ในอนาคตถ้าทางมิสซังอนุญาตอาจจะได้ไปจัดที่วัดซางตาครู้สก็ได้”นายฉัตรชัย กล่าว














กำลังโหลดความคิดเห็น