xs
xsm
sm
md
lg

สูงวัย กินปลอดภัย ไม่สำลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กบ.ชนิตพล บุญยะวัตร คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

“ผู้สูงอายุ” เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางกายภาพ และระบบการทำงานของร่างกาย ซึ่งล้วนมีความเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เสื่อมถอยลงไป โดยทุกการเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ไม่เหมือนเดิม แม้แต่การดำเนินกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ อย่างเช่น การรับประทานอาหาร หากเกิดความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะในช่องปาก คอหอย หลอดอาหาร หรือระบบประสาทที่ควบคุมการกลืน อาจจะส่งผลส่งผลให้มีภาวะกลืนลำบาก และอาจเสี่ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการ “สำลัก” อาหารหรือน้ำ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

กบ.ชนิตพล บุญยะวัตร คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสำลัก คืออาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีอาหาร หรือน้ำเข้าไปในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอเพื่อขับหรือดันสิ่งแปลกปลอมนั้นออกจากหลอดลม ซึ่งปัญหาการสำลักเป็นปัญหาที่มีความสำคัญและอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัจจัยทางร่างกายที่มีความเสื่อมถอยตามวัย ทำให้การทำงานต่าง ๆ ของร่างกายทำได้ไม่ดีเท่าเดิม กลไกการกลืนทำงานได้ช้าลง อวัยวะที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปาก ฟัน และกล้ามเนื้อต่าง ๆ เริ่มเสื่อมสภาพ จึงทำให้เกิดปัญหาด้านการเคี้ยวและกลืน หรือในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจมีอาการที่ส่งผลต่อความสามารถในการกลืนได้ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการสำลัก

โดยกลไกลของการกลืน แบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่ ระยะช่องปาก คือ ระยะที่ใช้ในการบดเคี้ยว คลุกเคล้า และส่งอาหารเข้าสู่คอหอย ในระยะนี้ผู้สูงอายุมักจะมีการทำงานของอวัยวะในช่องปากที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรมีอาการอ่อนแรงทำให้ไม่สามารถอ้าปาก หรือปิดปากได้ดี ไม่มีแรงในการบดเคี้ยวอาหาร ความสามารถในการรับรส และการรับความรู้สึกที่เปลี่ยนไป ไม่สามารถจัดการอาหารภายในปากได้ เนื่องจากการควบคุมการทำงานของลิ้นลดลง ทำให้เกิดการตกค้างของเศษอาหารในช่องปากได้ ระยะคอหอย คือ ระยะที่ต่อมาจากช่องปาก ทำหน้าที่ลำเลียงอาหารเข้าสู่หลอดอาหาร ระยะนี้มักเกิดการสำลักได้ง่าย เนื่องจากเป็นจุดที่มีการเชื่อมต่อของหลอดลมและหลอดอาหาร สาเหตุหลักของการสำลักเกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่ไม่สัมพันธ์กันกับการกลืนอาหาร เนื่องจากกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงหรือความยืดหยุ่นที่ลดลง หรือกลไกลของการควบคุมระบบการกลืนทำงานได้ช้าลง ระยะหลอดอาหาร คือ ระยะที่เชื่อมต่อระหว่างคอหอยและกระเพาะอาหาร ระยะนี้ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากเป็นการทำงานอัตโนมัติ ในผู้สูงอายุมักพบภาวะกรดไหลย้อน ส่งผลให้หูรูดของหลอดอาหารเกิดปัญหา กระทบต่อการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิต

วิธีการป้องกันการสำลักในผู้สูงอายุ
รับประมานอาหารที่มีปริมาณและขนาดที่เหมาะสม ควรตัดแบ่งอาหารให้สามารถรับประทานได้ง่าย ปรับอาหารให้มีความอ่อนนุ่ม มีขนาดเล็กลงหรือเป็นชิ้นที่ง่ายต่อการบดเคี้ยว เนื่องจากความสามารถในการบดเคี้ยวอาจทำได้ไม่ดี อาจจะทำให้เคี้ยวไม่ละเอียด
เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่รีบเร่งในการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการทานไปด้วยพูดไปด้วย หรือมีสิ่งรบกวนขณะทาน ควรจดจ่อกับการรับประทานอาหาร ไม่ควรทำกิจกรรมอื่น ๆ ขณะรับประทานอาหาร เพราะจะเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการสำลักอาหาร
ควรนั่งตัวตรงและก้มศีรษะเล็กน้อยขณะรับประทานอาหาร เพื่อให้โคนลิ้นชิดกับคอหอยมากขึ้น ลดโอกาสในการสำลักอาหาร

อีกหนึ่งวิธีที่จะลดความเสี่ยงในเกิดการสำลักของผู้สูงอายุนั้นคือ การบริหารกล้ามเนื้อบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการกลืนอาหาร ได้แก่ ลิ้น ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ขากรรไกร เพื่อเสริมความสารมารถในการกลืน ท่าบริหารลิ้น เนื่องจากลิ้นเป็นอวัยวะที่สำคัญในการที่จัดการอาหารในช่องปาก และช่วยดันอาหารเข้าสู่ทางเดินอาหาร การบริหารลิ้นจะช่วยความยืดหยุ่นของลิ้น และเพิ่มกำลังโคนลิ้น ท่าที่ 1 หันหน้าตรง จากนั้นแลบลิ้นออกมา ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นดึงลิ้นเก็บเข้าปากเร็ว ๆ ท่าที่ 2 หันหน้าตรง จากนั้นแลบลิ้นไปแตะที่บริเวณมุมปากด้านซ้าย มุมปากด้านขวา ริมฝีปากบน ริมฝีปากล่าง ท่าที่ 3 หันหน้าตรง จากนั้นให้ใช้ลิ้นดันกระพุ้งแก้ม ข้างซ้ายและขวา หรืออาจะเพิ่มแรงต้านได้ด้วยการใช้มือกดที่กระพุ้งแก้มเบา ๆ แล้วใช้ลิ้นดัน เพื่อให้ผู้สูงอายุออกแรงลิ้นเพิ่มมากขึ้น ขากรรไกร เป็นอวัยวะที่ช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร ในผู้สูงอายุมักพบว่าการเคลื่อนไหวของขากรรไกรทำได้น้อยลง การบริหารขากรรไกรจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อที่ควบคุม และเพิ่มช่วยคงช่วงการเคลื่อนไหวของขากรรไกร ท่าบริหารขากรรไกร อ้าปากกว้างโดยที่ไม่ให้รู้สึกเจ็บ ค้างไว 10 วินาที จากนั้นปิดปากเบา ๆ ริมฝีปาก ในผู้สูงอายุกล้ามเนื้อริมฝีปากอาจทำงานได้ลดลง ทำให้อาหาร น้ำ น้ำลาย ไหลระหว่างรับประทานอาหาร การบริหารริมฝีปากจะช่วยเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อรอบริมฝีกปาก ทำให้ปากปิดสนิทมากขึ้น ท่าบริหารริมฝีปาก ออกแรงเม้มริมฝีปากเบา ๆ ร่วมกับเพิ่มแรงต้านด้วยการใช้นิ้วดึงริมฝีปากออกด้านนอกเบา ๆ รอบริมฝีปาก

ผู้สูงอายุต้องใส่ใจเรื่องการกินอาหารให้ปลอดภัย เพราะการสำลักในผู้สูงอายุมีความเสี่ยง และผลที่ตามมาอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ในผู้สูงอายุบางรายสำลักมาก ๆ อาจจะทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เกิดความกังวล กลัวการกลืนอาหาร ผลกระทบทางร่างกาย ทำให้น้ำหนักตัวลดลง เกิดภาวะขาดสารอาหาร ขาดน้ำ ส่งผลให้เกิดให้ร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ผลกระทบทางสังคม เกิดความกังวลในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ทำให้ไม่อยากออกไปทานข้าวนอกบ้าน ออกไปเจอเพื่อน ๆ เพราะกลัวว่าจะไอหรือสำลัก เวลาอยู่ข้างนอก ผลกระทบทางจิตใจ ทำให้ผู้สูงอายุบางรายไม่มีความสุขตอนรับประทาน กังวล กลัว ไม่กล้ากิน เพราะกลัวว่าตัวเองจะสำลัก กลัวว่าจะไอ นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้






กำลังโหลดความคิดเห็น