xs
xsm
sm
md
lg

ฝึกทักษะการตรวจสอบข้อมูล สร้างภูมิต้านทานรู้เท่าทันสื่อ ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันในยุคที่ใครต่างก็เป็นผู้ส่งสารหรือผู้รับสารได้ จะเห็นได้ว่าในโลกออนไลน์มีการแชร์ข่าวลวง ข่าวปลอม หรือข่าวบิดเบือนมากมาย ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่ผ่านมา ที่ข้อมูลเท็จส่งผลให้ประชาชนเกิดอาการตื่นตะหนก วิตกกังวล และด้วยยิ่งในยุคที่ดิจิทัลหรือเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างเช่นทุกวันนี้ ทำให้การรับข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วทันใจ ซึ่งอาจทำให้ข่าวลวงพัฒนามากยิ่งขึ้น เกิดรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนถูกหลอกจนเกิดปัญหาทั้งในเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมไปถึงการก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในทรัพย์สินและข้อมูลส่วนตัวตามมาได้

โดยมีรายงานจากฮูสคอลล์ (Whoscall) แพลตฟอร์มระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม พบว่าในปี พ.ศ. 2567 มีคนไทยถูกหลอกลวงจากการโทรศัพท์ 38 ล้านสาย เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2566 สูงถึง 85% และถูกส่ง SMS หลอกลวง 130 ล้านข้อความ เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2566 สูงถึง 123% เป็นสถิติที่สูงสุดในรอบ 5 ปี อีกทั้งยังมีประชาชนถูกหลอกลวงทางออนไลน์และแจ้งความผ่านระบบออนไลน์กว่า 400,000 ราย ความเสียหายสูงถึง 60,000 ล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโคแฟค ประเทศไทย และภาคีเครือข่าย 20 องค์กร ได้ตระหนักถึงปัญหาและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จึงได้เปิดเวทีสัมมนาระดับชาติเนื่องในโอกาสวันตรวจสอบข่าวลวงโลก ปี พ.ศ. 2568 (International Fact-Checking Day 2025) ภายใต้หัวข้อ “สงครามข้อมูล 2025 : โจทย์แห่งความจริงในยุควิกฤตความเชื่อมั่น (The Battle for Truth: Reclaiming Information Integrity in the Age of Distrust)” เพื่อเดินหน้ายกระดับทักษะการตรวจสอบข้อมูล เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อ พร้อมทั้งชวนใช้แพลตฟอร์ม “Cofact” ตัวช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์ เพื่อรับมือกับข่าวลวงและข่าวปลอมที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น


สสส.- โคแฟค - ภาคีเครือข่ายกว่า 20 องค์กร
เดินหน้ายกระดับทักษะการตรวจสอบข้อมูล
เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้กล่าวถึงการทำงานร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายกว่า 20 องค์กร ว่า เป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่ง ที่หลายภาคส่วนได้ทำงานร่วมงาน โดย สสส. มีความมุ่งมั่นพัฒนาสื่อให้เป็นระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่ดี เนื่องด้วยปัจจุบันข่าวลวง ข่าวปลอม หรือข้อมูลที่บิดเบือนแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน ดังนั้นไม่เพียงแต่ภาครัฐ แต่ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนต้องร่วมมือกัน

“สสส. ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย จัดงานสัมมนาระดับชาติฯ ส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ การตรวจสอบข้อมูล การรู้เท่าทันสื่อ และสนับสนุนให้เกิดกลไกเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อและข้อมูลสุขภาพ เกิดเป็นวิถีปฏิบัติของสังคมในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ สำหรับผลการดำเนินงานของ โคแฟค ประเทศไทย ที่ สสส. ร่วมผลักดันสนับสนุนให้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบนสื่อออนไลน์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2568 เป็นระยะเวลา 6 ปี โดยขณะนี้มีข้อมูลข่าวลวงและข่าวจริงที่อยู่ในฐานข้อมูลมากกว่า 10,000 เรื่อง นับเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่อันดับ 2 รองจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ซึ่งมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเพื่อสืบค้นข้อมูลมากกว่า 500,000 ครั้ง เป็นการสะท้อนความสำเร็จในการร่วมมือกันของหน่วยงานทุกภาคส่วน”


ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวถึงการทำงานของโคแฟคว่า ในปีนี้ โคแฟค ประเทศไทย ร่วมกับ สสส. เดินหน้ายกระดับการรับมือข้อมูลลวง ผ่านการทำงานร่วมกับองค์กรสื่อมวลชน 11 แห่ง มุ่งทำงานเชิงรุก เช่น การจัดทำแคมเปญ “บริจาคข่าวลวง” เพื่อนำมาวิเคราะห์ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเผยแพร่ให้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องในวงกว้าง มีการส่งเสริมรางวัลให้กับองค์กรสื่อ นักข่าว อินฟลูเอนเซอร์ และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่ร่วมเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อและข้อมูลสุขภาพ

“เราเชื่อว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่มีคุณภาพและสามารถรับมือกับข่าวลวงได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าว


ขณะที่ รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินหน้าสานพลังร่วมกับ สสส. โคแฟค ประเทศไทย และภาคีเครือข่าย มุ่งขับเคลื่อนหลักการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-checking) เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางข้อมูลให้ประชาชน พร้อมทั้งร่วมสร้างพื้นที่สื่อสารที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ เปิดรับความหลากหลาย ชวนคิด ถกเถียงอย่างมีเหตุผล และพัฒนาให้กลายเป็นพลังของการสื่อสารที่สร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน

“ทุกคนต่างมีเป้าหมายเหมือนกัน คือ การปกป้องความจริง ยกระดับการสื่อสารของสังคมให้ไปข้างหน้าอย่างรับผิดชอบ โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยข้อมูลและคำถามมากมาย ไม่ใช่แค่คำถามที่ว่าอะไรคือความจริง แต่ยังรวมไปถึงคำถามที่ว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราเชื่อหรือแชร์ออกไปเป็นความจริง ใครเป็นคนที่มีอำนาจที่จะบอกได้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ ในยุคที่ทุกคนเป็นผู้ส่งสารและเป็นผู้รับสารได้ในเวลาเดียวกัน ความพร้อมความสามารถในการกลั่นกรองข้อมูลจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องทักษะของใครคนใดคนหนึ่งหรือปัจเจกบุคคล แต่ยังเป็นทักษะที่จำเป็นของทุกคนในสังคมด้วย”

“สสส. โคแฟค (ประเทศไทย) และเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน ได้ทำงานกันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความจริง รวมกันตั้งคำถาม หาคำตอบ และไม่ปล่อยให้ความจริงเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามลำพัง เรารู้สึกว่าไม่ว่าจะอยู่ให้ห้องเรียน ห้องข่าว หรือในสังคมออนไลน์ก็ตาม ต้องจับมือกันเพื่อรักษาพื้นที่ที่ความจริงยังมีที่ยืน เรารู้ว่าอนาคตสื่อไม่ได้อยู่แค่ในมือของนักข่าว แต่กำลังอยู่ในมือของทุกคน เรารู้ว่าเสรีภาพจะไร้ค่าหากปราศจากความรับผิดชอบ เรารู้ว่าความจริงจะไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ถ้าเราไม่ร่วมกันปกป้อง ซึ่งในวันที่ข้อมูลล้นโลก การกล้าตรวจสอบ คือ พลังของการสื่อสารที่แท้จริง เสรีภาพในการแสดงออก ต้องเดินไปพร้อมกับความรับผิดชอบ และข้อมูลที่ถูกต้อง” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

พบคนไทยถูกหลอกลวงจากการโทรศัพท์ 38 ล้านสาย เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 85%
ถูกส่ง SMS หลอกลวง 130 ล้านข้อความ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 สูงถึง 123%
ถูกหลอกลวงทางออนไลน์และแจ้งความผ่านระบบออนไลน์กว่า 400,000 ราย ความเสียหายสูงถึง 60,000 ล้านบาท


รองผู้จัดการกองทุน สสส. ได้ให้ข้อมูลว่า มีรายงานความเสี่ยงระดับโลกประจำปี พ.ศ. 2567 โดยเว็บไซต์ www.weforum.org เผยว่า ในอีก 2 ปี ข้างหน้า ข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือน จะเป็นสาเหตุความเสี่ยงอันดับ 1 ของโลก ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง สังคม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ยังได้เผยอีกว่า ปีที่ผ่านมา ฮูสคอลล์ (Whoscall) แพลตฟอร์มระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม ได้รายงานว่า ปี พ.ศ. 2567 คนไทยถูกหลอกลวงจากการโทรศัพท์ 38 ล้านสาย เพิ่มขึ้นจากปี 2566 สูงถึง 85% และถูกส่ง SMS หลอกลวง 130 ล้านข้อความ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 สูงถึง 123% เป็นสถิติที่สูงสุดในรอบ 5 ปี

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย)กล่าวให้ข้อมูลเสริมเพิ่มเติมว่า จากผลสำรวจสถานการณ์การหลอกลวงทางออนไลน์ในประเทศไทย ไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2567 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พบว่ามีประชาชนถูกหลอกลวงทางออนไลน์และแจ้งความผ่านระบบออนไลน์กว่า 400,000 ราย เกิดมูลค่าความเสียหายสูงถึง 60,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากทีเดียว


บทบาทของสื่อในการช่วยประชาชนตรวจสอบข้อมูล
สื่อจะช่วยสังคมเข้าถึงข้อเท็จจริงได้อย่างไร?

‘สื่อหลัก’ ยังมีความสำคัญกับความเชื่อถือของประชาชน

นาย กิตติ สิงหาปัด ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ ได้พูดถึงมุมมองในฐานะสื่อหลัก หรือสื่อวิชาชีพว่า สื่อหลักยังสำคัญมากกับความเชื่อถือของประชาชน เพราะสื่อหลักมีความรับผิดชอบ มีความเสียหายทั้งในเชิงกฎหมาย เชิงจริยธรรม และชื่อเสียงส่วนตัว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบให้มั่นใจก่อนเผยแพร่ข่าวออกไปสู่สาธารณชน

“สื่อหลักทำงานภายใต้จริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งต้องมีองค์กรวิชาชีพสังกัด เราต้องมีความเข้มข้นในวิชาชีพ เราไม่ได้รับอนุญาตให้ผิดพลาด ไม่ว่าจะทำสื่อไหน แพลตฟอร์มไหนก็ตาม ต้องนำเสนอแต่ข้อเท็จจริงเท่านั้น ซึ่งเป็นหลักจริยธรรมที่อยู่ในข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนเลยครับ”

เมื่อถามถึงวิธีการรับมือกับข้อมูลข่าวสารลวง นายกิตติกล่าวเสริมว่า หากประชาชนอยากรู้ว่าสิ่งไหนจริงหรือไม่จริงให้ดูจากแหล่งอ้างอิง ข้อมูลต้องมีที่มาที่ไป เช่น ผู้ให้ข้อมูลเป็นใคร ข้อมูลมาจากไหน ปีไหนอย่างไร อย่าไปเชื่อที่ตัวบุคคล ให้ตรวจสอบก่อน ดูว่าบุคคลนั้นเชื่อถือได้หรือไม่

“เราต้องหัดเป็นคนที่ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ สมัยนี้มีมือถือกันทุกคน คลิกเข้าไปอ่านแล้วส่งต่อไม่ตรวจสอบ อันนี้เป็นการเผยแพร่เชื้อข่าวลวง ข่าวลือ โดยแนวทางการรับมือและหลักการทำงานส่วนตัวผมจะเริ่มจากเช็กก่อนถึงจะนำเสนอข่าว ไม่ใช่ว่าได้อะไรมาแล้วนำเสนอเลยทันที ผมจะเช็กจากข้อมูลปฐมภูมิ สอบถามข้อมูลจากองค์กร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ ให้นักข่าวลงพื้นที่ ให้เห็นด้วยตาตนเอง ไปสัมภาษณ์ด้วยตนเอง ผมจะระวังที่สุด เพราะอาชีพเราแขวนอยู่บนความน่าเชื่อถือ”


‘สื่อออนไลน์’ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือไม่แพ้กัน

นายธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวไทย สำนักข่าว The Standard กล่าวถึงบทบาทการทำงานในฐานะสำนักข่าวและบริษัทผลิตสื่อออนไลน์ว่า การทำงานของสื่อต้องเริ่มต้นจากการสร้างความน่าเชื่อถือก่อน ทุกข้อมูลที่รายงานออกไปต้องเช็กแล้ว กรองแล้ว

“การทำงานสื่อของเราก็ต้องตรวจสอบข้อมูลปฐมภูมิเช่นเดียวกัน ต้องลงไปสถานที่จริง ใช้วิธีเช็กกับแหล่งข่าวที่เป็น Official รวมถึงพี่ ๆ สื่อมวลชนที่ทำงานหน้างาน และสื่อมวลชนด้วยกันเอง หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาเช็กดูว่าข้อมูลเหล่านั้นเท็จจริงอย่างไร”

“ทุกวันนี้ผมมองว่าสื่ออาชีพไม่แบ่งแพลตฟอร์มแล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้เราแพ้คือความน่าเชื่อถือเพราะคนในสังคมเลือกที่จะเชื่อมากกว่า อย่างอินฟลูเอนเซอร์เขาพูดด้วยคำพูดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนฟังที่เขารู้สึกแบบนั้น หรือสิ่งเขาเห็นมากับตา แต่ในขณะที่สื่ออาชีพอย่างเราต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ ดังนั้นในแง่การทำงาน สื่อเองต้องเริ่มต้นจากการสร้างความน่าเชื่อก่อน จะทำอย่างไรให้คนมาติดตามเรา เกาะติดกับเราไปเรื่อย ๆ รู้สึกว่าทุกข้อมูลข่าวสารที่เราตั้งต้นเริ่มรายงานไปหลังจากนี้คุณเชื่อได้นะ ซึ่งในฐานะสื่อเราไม่ได้สู้แค่เนื้อหาเพียงอย่างเดียว ผมว่าเรากำลังต่อสู้กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นคือความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่เป็นจุดสำคัญ ผมมองว่าข้อมูลที่กระจัดกระจาย ความน่าเชื่อถือมันก็กระจัดกระจายด้วย เราจะดึงความน่าเชื่อถือตรงนี้มาอยู่รวมกันได้ยังไง ให้เขาอาจจะเอ๊ะมาจากที่อื่น แต่พอมาเจอสื่อเราแล้ว เขาสามารถอ้างอิงได้ ใช้ส่งต่อได้ ใช้ทำอะไรเพิ่มเติมต่อได้”


‘สื่อสาธารณะ’ ของประชาชน
สร้างเครื่องมือ Thai PBS Verify ช่วยตรวจสอบข่าวสารในโลกออนไลน์

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้กล่าวถึงบทบาทการทำงานในฐานะสื่อสาธารณะว่า Thai PBS เป็นมากกว่าสถานีการผลิตสื่อ เนื่องจากถูกวางบทบาทให้มีหน้าที่สร้างเสริมสังคมที่ใช้ปัญญา และสร้างสรรค์สังคมให้มีคุณภาพและคุณธรรมด้วย

“ในฐานะสื่อสาธารณะ เรามีหน้าที่ต้องเอาความจริงเข้าถึงประชาชน มีหน้าที่ร่วมกันสร้างสังคมเพื่อเป็นสังคมที่รู้เท่าทัน โดยบทบาทของ Thai PBS สิ่งที่เราตั้งโจทย์มาตลอดการทำงานคือ มีหน้าที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงความจริงให้ได้ง่ายที่สุดและมากที่สุด ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าทุกวันนี้ประชาชนสามารถหาความจริงได้จากหลากหลายช่องทาง แต่ในฐานะที่เป็นสื่อหลัก เราต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าสิ่งที่เขารู้มันใช่ นอกจากนี้เรายังพยายามสร้างเสริมความแข็งแรงในองค์กร สร้างมาตรฐานจริยธรรมในการรายงานข่าวและการผลิตเนื้อหา ซึ่งเรามีกลไกการตรวจสอบในองค์กร ตรวจสอบกันเองด้วย โดยเรามีคณะอนุกรรมการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ประชาชนสามารถตรวจสอบสื่อสาธารณะได้”

ทั้งนี้ปัจจุบัน Thai PBS มีเครื่องมือช่วยตรวจสอบข่าวสารในโลกออนไลน์ ชื่อว่า ‘Thai PBS Verify’ ซึ่ง Thai PBS ได้มีการร่วมมือกับนักวิชาการ ที่มาช่วยตรวจสอบ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงเหล่านั้นด้วยตนเองด้วย

Thai PBS Verify เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือ Fact Checking พร้อมทั้งป้องกันการแพร่กระจายข่าวลวง ข้อมูลบิดเบือน ส่งเสริมความรู้ ทักษะเท่าทันสื่อ โดยมีวัตถุประสงค์ ได้แก่ 1. ตรวจสอบและยุติการระบาดของข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเท็จ ข่าวปลอม 2. สร้างทักษะและเสริมภูมิคุ้มกันการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อป้องกันอันตราย การตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมทั้งในเชิงเนื้อหาและเครื่องมือทางเทคโนโลยี 3. สร้างภูมิทัศน์สื่อด้าน Fact Checking 4. สร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานในอุตสาหกรรมสื่อ


AI เครื่องมือช่วยทำงานสื่อ
แต่สิ่งสำคัญที่ยังต้องมีคือจรรยาบรรณในวิชาชีพ

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า AI สามารถเข้ามาช่วยในการทำงานได้ โดยเฉพาะกับงานสื่อ ที่ AI สามารถนำมาสร้างสรรค์คอนเทนต์ สร้างสรรค์รูปภาพ ทำวิดีโอ ฯลฯ ได้หลากหลาย แต่อย่างไรก็ตาม บรรณาธิการข่าวไทย สำนักข่าว The Standard ได้เผยมุมมองต่อเรื่อง AI ว่า AI เป็นเครื่องมือที่หนีไม่พ้น และปฏิเสธไม่ได้ว่าสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานได้ ซึ่ง AI ทำได้หลากหลายอย่าง แต่สิ่งสำคัญคือต้องรู้เท่าทันและใช้ให้เป็น โดยเฉพาะกับวิชาชีพสื่อมวลชน

ด้าน ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมี AI เข้ามามากมาย ซึ่งในยุคที่ AI พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว Thai PBS เองก็ปรับตัวเข้าสู่การใช้ AI อย่างสูงเหมือนกัน

“เราใช้ AI ทำงาน ทั้งในด้าน Production เช่น กระบวนการที่จะได้มาซึ่งคอนเทนต์ กระบวนการที่ได้มาซึ่งข้อมูล ครีเอทีฟต่าง ๆ และอีกด้านหนึ่งคือเราเอา AI มาใช้ให้เราไปให้ถึงประชาชนได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา ถูกคน ถูกจริต ซึ่งจะช่วยให้เราทำงานได้ดียิ่งขึ้น แล้วเข้าใจในสิ่งที่ประชาชนกลุ่มนั้นอยากได้ อยากมี อยากทำ แน่นอนว่าเราต้องใช้ AI เพื่อทำให้เราสามารถเข้าถึงประชาชนได้ดีมากขึ้น รู้จักประชาชนมากขึ้น ผลิตเนื้อหาได้มากขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราต้องทำงานกับ AI โดยเพิ่มจริยธรรมขั้นสูงสุดและความเคารพในศักดิ์ศรีวิชาชีพของสื่อ”


ขณะที่ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ อดีตผู้อำนวยการ DGA สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ในฐานะผู้ที่สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลให้หน่วยงานรัฐ 7,850 แห่ง ได้กล่าวถึงการทำงานของ AI ว่า เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยทำงานได้แต่อย่าลืมจรรยาบรรณในวิชาชีพ และความรู้เท่าทันของประชาชนยังสำคัญที่สุด

“มันเหนื่อยนะครับ คนสร้างข่าวเท็จสร้างเท่าไหร่ก็ได้ แต่ข่าวจริงคืออะไร อย่างทุกวันนี้ AI ก็ทำได้หลายอย่าง และ AI ร้ายกว่านั้นมาก เพราะไม่ใช่แค่หลอกเราแบบหว่าน ๆ แล้ว เดี๋ยวนี้สามารถรู้แล้วว่าเราเป็นใคร นิสัยยังไง พฤติกรรมเป็นยังไง คนนี้ควรหลอกเรื่องอะไร ผมคิดว่าความพร้อมความรู้เท่าทันของประชาชนสำคัญที่สุด โดยหลักของผมคือส่วนใหญ่ถ้าข้อมูลไม่ได้ออกจากคนที่มีอำนาจหรือคนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ผมจะไม่เชื่อ และเราจะไม่ติดตามอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราทำอย่างนั้นได้โอกาสที่จะถูกหลอกก็จะน้อยลง ปัจจุบันรูปต่าง ๆ ที่ทำด้วย AI สามารถนำไปเช็กในเว็บไซต์ได้แล้วว่าทำมาจาก AI หรือไม่ ในทางเทคนิคเขาพยายามทำว่าต่อไปนี้เวลาเราถ่ายภาพจะสามารถบันทึกได้ว่าถ่ายโดยกล้องอะไร ยี่ห้อไหน เวลาไหน สถานที่ไหน ตรงนี้ก็น่าจะช่วยให้ภาพมีความน่าเชื่อถือ ผมคิดว่า เทคโนโลยีมีคำตอบ แต่ว่าเราต้องมีสติและเลือกเชื่อในสิ่งที่เราคิดว่ามีความน่าเชื่อถือจริง ๆ”

ท้ายนี้หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อข่าวลวง ข่าวปลอม ประชาชนสามารถตรวจสอบข่าวให้แน่ใจก่อนแชร์ ป้องกันการถูกหลอกลวง ใช้งานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่เว็บไซต์ cofact.org หรือ Line OA : @Cofact

“เราต้องมีกระบวนการเช็กก่อนว่าจะทำยังไงให้เราได้ข้อมูลที่ถูกต้อง อะไรที่จะทำให้เรามั่นใจก่อนส่งข้อมูลต่อให้กับคนที่เรารัก การเช็กข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อยากเชิญชวนให้ทุกคนมาใช้เว็บไซต์ cofact.org เพื่อช่วยเช็กข้อมูลก่อนส่งต่อค่ะ” รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวทิ้งท้าย










กำลังโหลดความคิดเห็น