xs
xsm
sm
md
lg

สสส.-โคแฟค เตือนประชาชน ระวังมิจฉาชีพส่ง SMS ดูดข้อมูลส่วนตัว-อย่าหลงเชื่อข่าวปลอมบนออนไลน์อ้างเหตุการณ์แผ่นดินไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส.-โคแฟค เตือนประชาชน ระวังมิจฉาชีพส่ง SMS ดูดข้อมูลส่วนตัว-อย่าหลงเชื่อข่าวปลอมบนออนไลน์อ้างเหตุการณ์แผ่นดินไหว หลังพบ ภายใน 24 ชั่วโมง ประชาชนแห่ตรวจข่าวลวงเหตุการณ์ภัยพิบัติพุ่ง 7,832 ราย ชวนทุกคนใช้แพลตฟอร์ม “cofact” ตรวจสอบข่าวให้ชัวร์ ก่อนแชร์ พร้อมแนะนำคาถา “อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งโอน” ป้องกันไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2568 นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า จากกรณีการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในเมียนมา ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนที่ไม่ได้ตั้งรับกับเหตุการณ์ภัยพิบัติอาจมีภาวะเครียด วิตกกังวล และต้องเผชิญภัยหลอกลวงจากมิจฉาชีพ เนื่องจากหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ข่าวปลอมจำนวนมาก สอดคล้องกับรายงานสถิติผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม cofact.org พัฒนาโดย สสส. และโคแฟค ประเทศไทย เพื่อตรวจสอบข่าวลวง ภายใน 24 ชม. พบมีประชาชนเข้าระบบตรวจสอบข่าวเกี่ยวกับการรายงานเหตุการณ์ภัยพิบัติ อาคารสูงที่มีรอยร้าวจากแผ่นดินไหว สอบถามข้อเท็จจริงผู้รับเหมาอาคารที่ตึกถล่ม 7,832 ราย นอกจากนี้ ยังพบอีกว่ามิจฉาชีพอาศัยสถานการณ์ดังกล่าว ส่งลิงก์ผ่าน SMS และโพสต์ลิงก์ข่าวปลอม โดยอ้างว่าเป็นการแจ้งเตือนเหตุการณ์แผ่นดินไหว หากประชาชนรู้ไม่เท่าทันและเผลอกดลิงก์ดังกล่าว จะส่งผลให้มิจฉาชีพสามารถเข้าควบคุมเครื่องโทรศัพท์จากทางไกลได้ นำมาสู่ความไม่ปลอดภัยในทรัพย์สินและข้อมูลส่วนตัว
“สสส. ขอส่งความห่วงใยให้ประชาชน หากได้รับข้อความ SMS ที่แนบลิงก์ ต้องสงสัย ให้ระมัดระวังไม่กดลิงก์โดยทันที SMS ทางการจากภาครัฐใช้ชื่อว่า DDPM แต่จะไม่มีลิงก์ให้กด และอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม หรือข่าวลือที่ไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจน เพราะอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดความแตกตื่นในสังคม ขอเชิญชวนทุกคนใช้คาถา “อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งโอน” ป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ตามแนวทาง 3 ข้อ ดังนี้ 1.อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าพึ่งรีบตัดสินใจเชื่อในทันที 2.อย่าเพิ่งแชร์ หาข้อมูล เช็กให้ชัวร์ หาข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อน 3.อย่าเพิ่งโอน เมื่อหาข้อมูลที่ถูกต้องได้แล้ว ค่อยตัดสินใจลงมือทำต่อไป ทั้งนี้ ทุกคนสามารถตั้งหลักตรวจสอบข่าวเช็คให้ชัวร์ก่อนเผยแพร่ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง สามารถเข้าใช้งานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่เว็บไซต์ https://blog.cofact.org หรือ Line OA : @Cofact หากพบว่ามีการส่งลิงก์ต้องสงสัยหรือได้รับข้อความที่อ้างถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวพร้อมแนบลิงก์ที่ไม่ได้ส่งจากหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานที่น่าเชื่อ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนตำรวจไซเบอร์ โทร. 1441 โทร 1212 ETDA ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น