xs
xsm
sm
md
lg

ผนึกกำลังร่วมปกป้องเด็กและเยาวชน สร้างสังคมปลอดภัยจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ควันจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นภัยร้ายที่ทำลายสุขภาพของทุกคน โดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะจะส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ โรคหืด ภูมิแพ้กำเริบ โรคปอดอักเสบ ปอดเสื่อม มะเร็งปอด เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้เองมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “ร่วมปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อเสริมสร้างความตระหนักและเรียกร้องให้สังคมและผู้ปกครองร่วมมือกันปกป้องเด็ก ๆ จากภัยของควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีบุคลากรจากศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยผู้ปกครอง และเด็กเล็ก เข้าร่วมเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการลดการสัมผัสกับควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า


ควันบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้าอันตราย ทำลายร่างกายทุกระบบ
เด็กเล็กมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่


พญ.พิมพ์ชนก จันทร์สวัสดิ์ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ได้ให้ความรู้เรื่องโทษ พิษภัย และอันตรายของควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าว่ามีส่วนประกอบหลักคือสารนิโคติน ซึ่งนิโคติน = ยาพิษ

“ความอันตรายของนิโคตินอย่างแรกเลยคือทำให้ติด เพราะนิโคตินจะไปกระตุ้นสารสื่อประสาททำให้สูบแล้วรู้สึกมีความสุข นอกจากนี้นิโคตินยังไปกระตุ้นสื่อประสาทส่วนกลาง เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งตับอ่อน โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ อัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ กระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน อีกทั้งนิโคตินยังส่งผลต่อพัฒนาการของสมองทารกในครรภ์ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย”

“โดยบุหรี่มวนทำให้เกิดสารนิโคตินผ่านทางการจุดไฟ เผาไหม้ จึงมีควันออกมา ส่วนบุหรี่ไฟฟ้าจะเผาไหม้ด้วยการใช้ไฟฟ้า จากนั้นจะมีการนำความร้อนส่งเข้ามาที่ขดหลวด จึงทำให้สารนิโคตินออกมาเป็นไอน้ำ ซึ่งดูแล้วเหมือนจะไม่อันตราย แต่จริง ๆ แล้วอันตรายมาก เพราะละอองไอน้ำที่พ่นออกมา มีขนาดอนุภาคเล็ก จึงสามารถกระจายได้มากกว่า ตกค้างได้มากกว่า สามารถเข้าสู่ปอดได้มากกว่า พอจับเข้ากับเนื้อเยื่อปอด จึงดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วและยากที่ร่างกายจะขับออกมา”


ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้กล่าวเสริมถึงความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าว่า มีหลักฐานออกมาแล้วว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความอันตรายใกล้เคียงกับบุหรี่มวน เป็นข้อมูลที่วิจัยแล้ว 3 เรื่อง คือ ทำให้สมองเสื่อม เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคปอด และผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะได้รับนิโคตินมากกว่า เพราะสูบสะดวก ไม่มีหมดมวน หมดซอง หยิบขึ้นมาสูบได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้สูบได้รับนิโคตินเกินขนาด

นอกจากนี้ พญ.พิมพ์ชนก ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า การรับสารพิษนั้นจะแบ่งได้ทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ ควันบุหรี่มือ 1 ที่มาจากการสูบเอง ควันบุหรี่มือ 2 มาจากการได้รับควันที่เห็นด้วยตาเปล่าในอากาศ จากที่มีคนมาสูบใกล้ ๆ และควันบุหรี่มือ 3 มาจากการที่ไม่เห็นควันด้วยตาเปล่า แต่มีสารเคมีที่อยู่ในควันบุหรี่เกาะติดพื้นผิวต่าง ๆ ทั้งเสื้อผ้า ผิวหนัง ร่างกาย โต๊ะ เฟอร์นิเจอร์ เบาะ โซฟา พรม พื้น เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่คนสูบเท่านั้นที่เป็นอันตราย แต่คนที่ได้รับควันหรือสารตกค้างก็ส่งผลเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่มีความเสี่ยงมากกว่าวัยผู้ใหญ่ เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงต่อสู้กับสารพิษได้ไม่ดี เสี่ยงกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้นและระยะยาว

“เด็กทารกและเด็กเล็ก มีปอดและระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ ไม่สามารถต่อสู้กับสารพิษได้ดีเท่าผู้ใหญ่ เด็กมีอัตราการหายใจเร็วกว่า ทำให้สูดดมสารพิษเข้าไปในปริมาณมากกว่า หากเด็กได้รับควันมือ 2 จากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก ในระยะสั้นจะทำให้เกิดโรคหืด ภูมิแพ้กำเริบ โรคปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับบุหรี่ไฟฟ้า (E-cigarette or vaping use-associated lung injury; EVALI) และในระยะยาวจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม มีสมรรถภาพปอดเสื่อมถอย ปริมาตรปอดลดลงและก่อให้เกิดมะเร็งปอด ในขณะที่ผลของบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อระบบประสาทของเด็กและเยาวชนในทุกช่วงอายุ ส่งผลเสียต่อสมาธิ ความจำ การคิดวิเคราะห์ การควบคุมอารมณ์ การพัฒนาระบบประสาทและสมอง รวมถึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าด้วย ผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั่งแต่อายุยังน้อยมีแนวโน้มที่จะใช้สารเสพติดชนิดอื่นด้วย”

“ผมได้ฟังจากหมอเด็กหลายคน คนไข้บอกว่าลูกป่วย เป็นหวัด รักษาไม่หาย พอถามว่ามีใครสูบบุหรี่ไหม เขายืนยันว่าไม่มี แต่สุดท้ายมารู้ว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งที่เขาตอบว่าไม่มีเพราะเขาเข้าใจว่ามันไม่อันตราย เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก และนอกจากอันตรายต่อสุขภาพของเด็กแล้ว การที่มีคนสูบบุหรี่ในบ้านยังเป็นต้นแบบให้เด็กทำตามด้วย พอโตขึ้นมาเด็กอาจเกิดความอยากรู้อยากลองมากกว่าเด็กที่ไม่มีต้นแบบในบ้าน” ศ.นพ.ประกิต กล่าวเสริม


ผิดกฎหมาย แต่หาซื้อได้ง่ายกว่าที่คิด!
แถมมีความเชื่อผิด ๆ ว่าสูบแล้วดีกว่าบุหรี่มวน
พบมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กอายุ 13-15 ปี ถึงร้อยละ 8.1

ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้เผยถึงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.2564 พบว่า มีคนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นจำนวน 78,742 คน มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กนักเรียนไทย (อายุ 13-15 ปี) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในปี พ.ศ.2558 เป็นร้อยละ 8.1 ในปี พ.ศ.2564 และจากการสำรวจการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.2564 พบว่า ค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับบุหรี่ไฟฟ้า เฉลี่ยต่อเดือนสูงถึง 718 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของคนที่จนที่สุดที่มีรายได้ต่อเดือนแค่ 1,043 บาทเท่านั้น

ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าหาซื้อง่ายกว่าที่คิด โดยมีขายทั่วไป อีกทั้งยังมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม มีกลิ่นหอม มาในรูปแบบ Toy Pod ทำให้ดึงดูดเด็ก ๆ ได้ง่าย ซึ่งมีสถิติว่าเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 60% มาจากความอยากรู้อยากลอง 20% รู้สึกว่าเท่และใช้ตามโซเชียลมีเดีย และ 15% ครอบครัวแนะนำให้สูบ

“เพราะยังมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าสูบแล้วไม่ติด แต่ความจริงคือ บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ดังนั้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงทำให้ผู้สูบติดได้ไม่ต่างจากบุหรี่มวน รูปแบบและขั้นตอนในการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่มวน ทำให้ผู้สูบยังคงติดในพฤติกรรมการสูบเหมือนบุหรี่มวน โฆษณาของบุหรี่ไฟฟ้ามีการเน้นถึงข้อดีบางอย่างที่เหนือกว่าบุหรี่มวน เช่น มีรสชาติที่หลากหลายกว่า ดีต่อสุขภาพมากกว่า มีรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัยและหลากหลายกว่า มีกลิ่นหอม ดึงดูดและทำให้ผู้สูบมีแนวโน้มที่จะติดกับการสูบได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการโกหกหลอกลวงผู้บริโภคทั้งสิ้น”

“วันนี้หมออยากให้ทุกคนตระหนักว่าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น ถึงแม้เราจะไม่ได้สูบเอง แต่ทุกสถานที่ที่มีคนสูบ เราได้รับสารพิษทั้งหมด อยากให้ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา เป็นกระบอกเสียงเล็ก ๆ เพื่อช่วยกันปกป้องลูกหลานของเราให้เขาได้อยู่ในอากาศที่บริสุทธ์กว่านี้ หมอไม่อยากให้มีข่าวว่าเด็กใส่ท่อช่วยหายใจเป็นร้อยคน พันคน ล้านคน แล้วเราถึงจะมาตื่นตูม ตื่นตัว วันนี้เราควรจะตื่นตัวได้แล้ว” พญ.พิมพ์ชนก กล่าว


‘นิทาน’ สื่อการเรียนรู้
สร้างความรู้-ความเข้าใจเรื่องพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็กเล็ก
พบเด็ก 3-4 ขวบ จากกลุ่มตัวอย่าง 99.6% ไม่ชอบเมื่อพบเห็นคนสูบบุหรี่

อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมนิทานสำหรับเด็ก นายชีวัน วิสาสะ ได้กล่าวถึงการออกแบบนิทานเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็กและเยาวชนว่า ตั้งใจออกแบบนิทานเพื่อให้เด็กรับรู้ เรียนรู้ และเข้าใจอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ยกตัวอย่างเช่น นิทานเรื่อง “อีเล้งเค้งโค้ง พับปลอดพอท” ซึ่งเด็กจะได้มีส่วนร่วม ตอบโต้ ค้นหา หาคำตอบว่าสิ่งไหนคือทอยพอทอันตราย เป็นต้น โดยนิทานจะทำให้ดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ ได้

“คำว่า ‘นิทาน’ ก็เหมือนกับ ‘ขนม’ ซึ่งถ้าเด็กได้ยิน ก็จะสนใจขึ้นมาทันที เราต้องออกแบบให้มีความน่าสนใจ แต่ละเรื่อง แต่ละเล่ม จะมีเนื้อหา ลูกเล่นหลากหลายมิติที่จะสื่อสารให้เด็กเข้าใจ ซึ่งก็ได้นักวรรณกรรมสำหรับเด็กหลาย ๆ คนมาช่วยกันออกแบบ และนอกจากจะสื่อสารไปยังเด็กแล้ว ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็จะเปิดประสาทรับฟังด้วย ข้อมูลต่าง ๆ ก็จะหมุนเวียนสะท้อนไปสะท้อนมาระหว่างเด็กและผู้ใหญ่”

ด้านนายชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมนิทานสำหรับเด็ก กล่าวเสริมว่า การเล่านิทานให้เด็กฟังคือความรัก เด็กเพียงแค่ต้องการใครสักคนมาเล่นด้วย ดังนั้นอยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู ให้เวลากับการเล่น ให้เวลากับการเล่านิทานให้พวกเขาฟัง ซึ่งมองว่านิทานสามารถจะเป็นสิ่งที่ปกป้องและคุ้มครองให้เด็ก ๆ ปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ ได้
ทั้งนี้จากผลการประเมินเจตคติของเด็กที่มีต่อการสูบบุหรี่ พ.ศ.2567 กลุ่มตัวอย่างเด็กเล็กอายุ 3-4 ขวบ จำนวน 837 คน โดยภาคีโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจาก 9 จังหวัด พบว่า 99.6% รู้สึกไม่ชอบเมื่อพบเห็นคนสูบบุหรี่, 99.8% รู้สึกไม่ชอบเมื่อมีคนมาสูบบุหรี่ในบ้าน หรือใกล้กับบริเวณบ้านของตนเอง, 99.8% คิดว่าบุหรี่มีกลิ่นเหม็น เด็กเล็กเกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อการสูบบุหรี่ของผู้ใหญ่


กทม. ผลักดันมาตรการ เฝ้าระวังควบคุมป้องกันอย่างเข้มงวด โรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง

นางสาวอลิสษา ยูนุช นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนมีจำนวนมากที่สุด จากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ามีร้อยละ 14.6 ของเยาวชนในกรุงเทพฯ โดยสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ได้มีการสำรวจเยาวชนในกรุงเทพมหาคร 400 ตัวอย่าง พบว่า เยาวชนเสียเงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้าต่อปีถึง 26,944 บาท

ทั้งนี้จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้มีแนวทางการขยายผลและหนุนเสริมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในการปกป้องจากอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการ 1. กำหนดมาตรการแนวทางปฏิบัติ เฝ้าระวังควบคุมป้องกันสร้างทัศนคติการไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า 2. รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้องให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน 3. ส่งเสริมและสนับสนุนการบำบัดรักษาผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 4. สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า และ 5. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติติงานตามที่มอบหมาย รวมถึงปฏิบัติติการอื่นใดตามที่ผู้ว่าฯ กทม. มอบหมาย

“เรามีมาตรการให้โรงเรียนเฝ้าระวัง โดยให้ผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงานเขตต่าง ๆ ช่วยกันดูแล เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่เป็นแหล่งอบายมุข มีการสอดแทรกความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในวิชาเรียน มีการดูแลช่วยเหลือหากพบว่านักเรียนสูบบุหรี่ให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยเรามีศูนย์บริการสาธาณสุข 69 แห่ง ทั้งนี้ 437 โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จะต้องมีการติด/แสดงข้อความ/สัญลักษณ์ปลอดบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณทางเข้า-ออกและภายในบริเวณโรงเรียน ให้สำนักงานเขตและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตรวจตราไม่ให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณรอบโรงเรียน ชุมชนและแหล่งต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเขต โดยจัดเจ้าหน้าที่บูรณาการร่วมกันระหว่างฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายการศึกษา เป็นต้น”

“โดยในปี พ.ศ. 2568 นี้ จะเร่งสร้างและขยายความรู้ให้เข้าถึงกลุ่มเด็ก เยาวชนและประชาชน เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองเข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า และเข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่อันตรายต่อไป”


ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
สร้างสังคมที่ปลอดภัยให้ลูกหลาน

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ดำเนินโครงการสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ในบ้านเพื่อปกป้องเด็กเล็ก (Gen Alpha) คือกลุ่มเด็กแรกเกิด-7 ปี จากการได้รับควันบุหรี่ในบ้าน โดยได้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านสื่อรณรงค์กล่องออมสินสำหรับเด็ก ในหัวข้อ “ค่าบุหรี่ของพ่อ หนูขอเป็นค่าขนม” ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันปกป้องลูก ๆ หลาน ๆ จากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

“สุดท้ายแล้วทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ตอนนี้รัฐบาลก็เดินหน้าเพื่อหามาตรการคุมเข้มและปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน เราต้องพยายามกันต่อไป เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเป็นเรื่องที่ต้องเร่งให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและครูให้รู้เท่าทันโทษและพิษภัยของควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อเด็กเล็ก อีกทั้งเพื่อตระหนักถึงความสำคัญของการทำให้บ้านปลอดจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนเราต้องช่วยกันปลูกฝังให้เด็กเกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” ศ.นพ.ประกิต กล่าวทิ้งท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น