xs
xsm
sm
md
lg

“หนีภาษี” แค่เลี่ยงภาระหรือสร้างปัญหาใหญ่กว่าที่คิด?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วาทะอมตะโด่งดังของเบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) หนึ่งในรัฐบุรุษผู้สร้างชาติอเมริกากล่าวไว้ว่า “มีเพียงสองสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือ ความตายและ ภาษี

แต่ความจริง ภาษี เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จริงหรือ?

แน่นอนว่า หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “หนีภาษี” แต่จริง ๆ แล้วมันคืออะไร แล้วจะมีผลกระทบอะไรตามมา วันนี้ MGR Online พาไปเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ และ รศ. ดร. คณิตศร เทอดเผ่าพงศ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรบัญชี มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรังสิต หากคุณคิดจะหนีภาษี ลองอ่านเรื่องนี้ก่อนตัดสินใจ!

ว่าด้วยเรื่องของการ “หนีภาษี”

ภาษี” เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลที่เรียกเก็บจากประชาชน เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างและบริการสาธารณะต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การศึกษา คมนาคม สาธารณสุข ดังนั้น การเสียภาษีจึงถือเป็น หน้าที่พลเมือง ของประชาชนที่มีรายได้ และไม่มีรายได้จะต้องจ่ายหรือยื่น ซึ่งถูกกำหนดไว้โดยกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างพื้นที่ฐานของประเทศที่ต้องเติบโต

จากการหาข้อมูล ขณะนี้ประเทศไทยมีแรงงานในระบบกว่า 40.2 ล้านคนและเข้าข่ายยื่นแบบภาษี 10.7 ล้านคน แต่มีการเสียภาษีเงินได้ เพียง 4.2 ล้านเท่านั้น ซึ่งภาษีที่เก็บได้ส่วนใหญ่มาจากมนุษย์เงินเดือน

ทั้งนี้ ตัวเลขที่หายไปอาจมาจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน อาทิ การขาดความรู้ความเข้าใจในการยื่นแบบฯ หรือไม่ทราบหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นภาษีนั่นเอง

รศ. ดร. คณิตศร เทอดเผ่าพงศ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรบัญชี มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต
รศ. ดร. คณิตศร เทอดเผ่าพงศ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรบัญชี มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรังสิต เริ่มต้นอธิบายว่า จากตัวเลขดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องเสียภาษีจริง ๆ บางคนยื่นแบบแสดงแล้วหักลดหย่อนจนแทบไม่ต้องเสีย แต่ว่าอย่างน้อยการยื่นภาษีเข้าระบบเป็นสิ่งสำคัญ แสดงให้เห็นว่า ยังมีคนอีกจำนวนมากที่น่าจะมีรายได้ แต่ไม่ได้มาจดทะเบียนหรือยื่นภาษีอย่างถูกต้อง

แต่ในที่นี้เมื่อพูดถึงในกรณีของ การหนีภาษี (Tax Evasion) มันก็คือการพยายามไม่จ่ายภาษีหรือเลี่ยงภาษีที่ควรจะต้องเสียตามกฎหมาย พูดง่าย ๆ ก็เป็นการ “ทำเนียน” ไม่ยื่นแบบภาษี ยื่นรายได้ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือบิดเบือนค่าใช้จ่ายนั่นเอง ซึ่งตรงนี้ต่างจากการ “วางแผนภาษี” (Tax Planning) ที่ยังอยู่ในกรอบกฎหมายและเป็นการใช้ประโยชน์จากสิทธิทางภาษีได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ หลายคนอาจเลือกที่จะหนีภาษีจากหลายปัจจัย เช่น บางคนมองว่า ภาระภาษีเยอะ จ่ายแล้วเหลือเงินน้อย ก็เลยคิดว่า หนีภาษีน่าจะ “คุ้ม” กว่า บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า ต้องยื่นภาษี เนื่องจากขาดความรู้ ทั้งเรื่องกฎหมายภาษีและระบบยื่นภาษี บางคนก็รู้ว่า ต้องยื่นแต่ขี้เกียจทำ ทั้ง ๆ ที่สามารถยื่นผ่านออนไลน์ได้แล้ว หรือบางคนอาจจะคิดว่า “หนีภาษีก็ไม่เห็นมีใครจับ” เพราะเคยเจอคนอื่นทำแล้วไม่โดนอะไร ก็เลยทำตาม

ผู้อำนวยการหลักสูตรบัญชี มหาบัณฑิต ย้ำว่า การหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีอาจทำให้ประหยัดเงินในระยะสั้น แต่หากเกิดการตรวจสอบในภายหลัง บุคคลนั้นจะต้องชำระภาษีย้อนหลังพร้อมทั้งเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และอาจได้รับโทษที่รุนแรงตามกฎหมาย

นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงภาษียังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากภาษีเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐในการใช้พัฒนาประเทศ

ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ด้านหนึ่ง ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ได้กล่าวถึงมุมมองต่อเรื่องนี้ไว้ว่า คำว่า หนีภาษี (Tax Evasion) อาจเป็นถ้อยคำที่รุนแรงเกินไปและไม่ครอบคลุมถึงกรณีอื่น แต่จริง ๆ แล้ว ยังมีอีกกรณีที่ผู้เสียภาษีไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดทางภาษีหรือไม่ยอมชำระภาษีให้กับรัฐ แม้ว่าจะเป็นพลเมืองของรัฐก็ตาม ซึ่งถือว่า เป็นการเสียภาษีในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งใช้คำว่า การหลีกเลี่ยงภาษี หรือ “Tax Avoidance”

โดยแนวทางนี้มักถูกใช้โดยบุคคลที่มีความรู้ด้านกฎหมายภาษีและมีฐานะการเงินสูง โดยอาศัยการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อให้สามารถจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำที่สุด หรือหากสามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้ทั้งหมดก็ยิ่งดี อาจจะไม่ใช่การหนีจากการเสียภาษีโดยตรง แต่เป็นการพยายามลดให้น้อยที่สุด โดยอาจมีการแจ้งข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น การแจ้งรายได้ที่ไม่ถูกต้อง หรือการพยายามหาวิธีการที่ทำให้เสียภาษีน้อยที่สุด ทั้งที่รายได้จริงอาจสูงมากก็ตาม เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การหลีกเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance) จึงเป็นคำที่ครอบคลุมและกว้างกว่า

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น การหลีกเลี่ยงภาษีโดยอาศัยช่องทางกฎหมายที่ ศ.พิเศษ วิชา ยกขึ้นมาคือกรณีของ มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Foundation) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1909 โดยจอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา โดยมูลนิธินี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น การแพทย์ การศึกษา ผ่านการมอบทุนและโครงการต่าง ๆ

“ในที่สุดรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเอื้อประโยชน์ให้เพราะว่า คนนี้รายได้สูงมาก จะลดภาษีให้ถ้าหากว่า เขาจ่ายโดยการบริจาคเงินให้ทางรัฐหรือมูลนิธิต่าง ๆ เขาก็เลยตั้งมูลนิธิขึ้นมาเรียกว่า มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ หักภาษีทำให้เขาจ่ายน้อยลง ไม่ใช่ไม่มีเงินเสีย มีเงินเยอะแยะ แต่เขาเห็นว่า มันไม่เป็นธรรมกับเขา ทำมาหากินด้วยความยากลำบาก แล้วทำไมต้องมาตั้งหน้าตั้งตาเก็บภาษีแบบตะบี้ตะบันกับเขา ทำไมไม่ไปเก็บคนที่หนีภาษี ซึ่งสุดท้ายรัฐเลยจำเป็นต้องวางหลักการเอาไว้แบบนี้”

ศ.พิเศษ วิชา ยังกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับในประเทศไทยมีการอนุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิที่ได้รับการรับรองจาก กรมสรรพากร และ กระทรวงการคลัง ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อองค์กรสาธารณกุศล ซึ่งครอบคลุมหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา ศาสนา สาธารณสุข การสังคมสงเคราะห์ รวมถึงการคุ้มครองและช่วยเหลือสัตว์ ซึ่งบุคคลหรือองค์กรสามารถบริจาคเงินให้กับมูลนิธิและใช้เป็นส่วนลดหย่อนภาษีได้ กรณีนี้ถือเป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายในการลดภาระภาษี

กฎหมายภาษีไทยยังไกลจากความเข้มข้น?

ต้องยอมรับว่า ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเสียภาษี หลายประเทศเลือกใช้ สวัสดิการที่ดึงดูดและมาตรการจูงใจ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเต็มใจเสียภาษีมากขึ้น เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การคืนภาษีที่รวดเร็ว หรือรางวัลผู้เสียภาษีดีเด่น บางประเทศที่มีระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพมักให้ความสำคัญกับ ความรู้ด้านภาษี ซึ่งจะถูกบรรจุไว้ในการศึกษาขั้นพื้นฐานผ่านหลักสูตรในโรงเรียน หรือรวมทั้งความ เข้มข้นของบทลงโทษ

หากพูดถึงความเข้มข้นของบทลงโทษของการหนีหรือเลี่ยงภาษี จีน มีบทลงโทษค่าปรับสูงสุด 5 เท่าของภาษีที่ค้างชำระ มีกรณีตัวอย่าง เช่น ฟ่าน ปิงปิง นักแสดงชื่อดัง ถูกปรับและจ่ายภาษีย้อนหลังกว่า 880 ล้านหยวน (ประมาณ 4.2 พันล้านบาท) จากคดีเลี่ยงภาษี และต้องหายหน้าไปจากวงการกว่า 5 ปี บทลงโทษที่รุนแรงไม่เพียงแต่เป็นการปรับเงินจำนวนมหาศาล แต่ยังส่งผลต่อชีวิตและอาชีพการงาน ฝรั่งเศส รัฐใช้สิทธิในการเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ หรือห้ามประกอบธุรกิจสูงสุด 3 ปี หากแจ้งข้อมูลภาษีที่เป็นเท็จหรือไม่ครบถ้วน ญี่ปุ่น ผู้ที่หลีกเลี่ยงภาษี อาจถูกจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี และปรับสูงสุดถึง 10 ล้านเยน(2.3 ล้านบาทไทย) อินเดีย ผู้ที่ถูกพิสูจน์ว่า หลีกเลี่ยงภาษีอาจไม่สามารถได้รับการรับรองใบอนุญาตทางธุรกิจ ขณะที่ มาเลเซีย แคนาดา หากบุคคลนั้นไม่สามารถชำระค่าปรับหรือภาษีที่ค้างอยู่ อาจมีการยึดทรัพย์สินหรือทรัพย์สินทางการเงินเพื่อชำระหนี้ภาษี

มาตรการเหล่านี้สะท้อนถึงการพัฒนาของแต่ละประเทศในการสร้างความรับผิดชอบทางสังคมและการส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง

แล้วเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ กฎหมายภาษีของไทยมีความเข้มแข็งเพียงพอหรือไม่ ทั้งสองอาจารย์มีความเห็นสอดคล้องกันว่า กฎหมายภาษีไทยยังมีจุดอ่อนบางประการเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่อง “ความเข้มงวด”

ในขณะที่บทลงโทษสำหรับการหนีภาษีในประเทศไทย รศ. ดร. คณิตศร อธิบายว่า ในกฎหมายไทยจะมี “ประมวลรัษฎากร” เป็นหลักในการจัดเก็บภาษี แล้วก็ใช้ในการกำหนดบทลงโทษกรณีหนีภาษีด้วย ซึ่งตามกฎหมายจะมีโทษหลัก ๆ ที่เจอกันบ่อย ๆ คือ เบี้ยปรับ (Penalty) ถ้ายื่นแบบภาษีล่าช้า หรือยื่นไม่ครบถ้วน อาจถูกปรับได้ถึง 100 – 200% ของภาษีที่ขาด เงินเพิ่ม (Surcharge หรือดอกเบี้ยปรับ) ถ้าเสียภาษีล่าช้า ทางกรมสรรพากรจะคิดดอกเบี้ยเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ขาด (คำนวณแบบรายเดือน เศษของเดือนก็คิดเป็นหนึ่งเดือน) โทษอาญา (Criminal Penalty) ในกรณีที่เห็นได้ชัดว่า แจ้งข้อความเท็จ หรือปลอมแปลงหลักฐานเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี และมูลค่าความเสียหายสูง ผู้กระทำผิดอาจเจอโทษถึงขั้น จำคุก ได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำว่ากันตั้งแต่ไม่กี่เดือนไปจนถึงหลายปี ในขณะที่ถ้ามีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ขณะที่บทลงโทษสำหรับบุคคลธรรมดา ถ้ายื่นภาษีไม่ครบ หรือจงใจปกปิดรายได้ หนักสุดก็อาจถึงขั้นเจอจำคุกได้เหมือนกัน แต่มักจะเริ่มต้นที่การเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง เบี้ยปรับ และ เงินเพิ่ม ก่อน ถ้าไปไกลถึงกระบวนการอาญา ก็ต้องดูว่า ความเสียหายมากน้อยแค่ไหน ขณะที่บทลงโทษสำหรับนิติบุคคล (บริษัท/ห้างหุ้นส่วน) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่ “ยื่นเท็จ”จงใจปลอมเอกสาร หรือทำบัญชีเท็จ หากเป็นความผิดโดยตรงของผู้บริหารหรือกรรมการ อาจโดนทั้งบริษัทและตัวกรรมการเองเลย เพราะกฎหมายสามารถเอาผิดผู้ที่มีอำนาจสั่งการได้เช่นกัน”


ในมุมมองของ รศ. ดร. คณิตศร ให้ความเห็นว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศในยุโรป การเลี่ยงภาษีจะเจอโทษหนักมาก และ “บังคับใช้กฎหมาย” กันอย่างเข้มงวด ยิ่งของอเมริกา หากตรวจสอบเจอว่า มีการหลบเลี่ยงภาษี เจอทั้งปรับสูงและจำคุกได้จริงจัง เนื่องจากกรมสรรพากร (IRS) ให้ความสำคัญมาก ส่วนในไทยก็มีบทกฎหมายที่ถือว่า รุนแรงอยู่เพราะก็มีโทษจำคุกเหมือนกัน มีปรับสูงสุดถึง 200% แต่ปัญหาคือ การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร (หรืออาจใช้เวลานานกว่าจะตรวจสอบและดำเนินคดี) ทำให้บางคน “กล้าเสี่ยง” ที่จะหนีภาษี เพราะคิดว่า โอกาสโดนจับอาจไม่สูงเท่าต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังภาครัฐพยายามปรับปรุงระบบการตรวจสอบผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้การตรวจจับง่ายขึ้น และเมื่อโดนจับจริง โทษก็ค่อนข้างแรงเหมือนกัน

ในทำนองที่คล้ายกัน ศ.พิเศษ วิชา เสริมว่า ระบบภาษีของอเมริกามีความเข้มงวดและมีประสิทธิภาพสูง และถือเป็นประเด็นที่หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อบุคคลหรือองค์กรมีการย้ายถิ่นฐานหรือดำเนินการลงทุน ข้อมูลดังกล่าวจะถูกบันทึกลงในฐานข้อมูลของหน่วยงานจัดเก็บภาษีโดยอัตโนมัติ ประเด็นสำคัญหากมีคดีติดตัวและไม่สามารถดำเนินคดีในข้อหาอื่นได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้กฎหมายด้านการหลีกเลี่ยงภาษีเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีแทนทันที

“ในสหรัฐฯ ถ้าคุณไปอยู่ในแผ่นดินนั้นแล้วมีรายได้ ไม่ว่าจะมีรายได้จากการเป็นอาชญากรหรือมีรายได้จากการทำงาน ก็ต้องเสียภาษี ไม่เสียไม่ได้ เราเห็นกรณีที่เขาปราบมาเฟียปรากฏว่า เขาไล่ปราบแต่ไม่สามารถเอาผิดอะไรได้เพราะว่า พวกนี้มีทนายเก่งแล้วก็มีคนที่คุ้มครอง เพราะจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางมาโดยตลอด แต่กรมสรรพกรของเขาสามารถใช้คดีในประเด็นการหลีกเลี่ยงภาษี เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง จากนั้นก็ส่งให้ศาลจำคุกเป็นแถวเลย หมายความว่า คุณจะไม่มีทางลืมตาอ้าปากได้เลย เขาฉลาดไหมล่ะ”

และข้อสำคัญที่ ศ.พิเศษ วิชา พบก็คือการที่ สหรัฐฯ มีหน่วยเฉพาะทางสำหรับตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายภาษีโดยตรง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจสูงในการสืบสวน ติดตาม และดำเนินคดีกับผู้หลีกเลี่ยงภาษี เนื่องจากถือว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดร้ายแรงที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของรัฐ

หรือในต่างประเทศ แม้แต่ผู้ที่กระทำความผิดทางอาญาหรือดำเนินกิจกรรมในลักษณะ “สีเทา” เช่น จีนเทา เปิดบ่อนการพนันออนไลน์ ก็ยังคงถูกเรียกเก็บภาษีควบคู่ไปกับการรับโทษทางกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพและมาตรการบังคับใช้ที่เข้มงวด แม้แต่ในกรณีของการค้ามนุษย์ หน่วยงานด้านภาษีในบางประเทศจะคำนวณและประเมินรายได้ที่ผู้กระทำผิดได้รับจากการทำผิดกฎหมาย และดำเนินการเรียกเก็บภาษีจากรายได้นั้นโดยตรงนั้น

ต่างจากในประเทศไทยที่ภาษีจะสามารถเรียกเก็บได้ในกรณีที่มีการฟอกเงิน โดยต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายในการยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน

ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ศ.พิเศษ วิชา วิเคราะห์เพิ่มว่า กระบวนการกำหนดโทษของประเทศไทยที่ยังไม่มีความเข้มงวดเท่าที่ควร เนื่องจากภาครัฐให้ความสำคัญกับการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐและประชาชน หรือเรียกง่าย ๆ ว่า มีความเกรงใจ ไม่อยากให้ประชาชนมีความรู้สึกไม่ดีต่อรัฐ การลงโทษในเรื่องการไม่เสียภาษีจึงยังไม่รุนแรง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังเป็นช่องโหว่สำคัญคือ ระบบการติดตามภาษีและการขาดกลไกในการประมวลผลข้อมูล เกี่ยวกับการเสียภาษีหรือไม่เสียภาษีของประชาชน เนื่องจากประเทศไทยมีพลเมืองประมาณ 70 ล้านคน จึงจำเป็นต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับรายได้ของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้เกินกว่า 150,000 บาทต่อปี ซึ่งควรระบุข้อมูลเหล่านี้ให้ชัดเจนในฐานข้อมูลของบัตรประจำตัวประชาชน (ID card) โดยระบุว่า บุคคลนั้นได้เสียภาษีเท่าไหร่ หรืออยู่ในกลุ่มที่ไม่ต้องเสียภาษี เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ

นอกจากนี้ รัฐต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจสอบสถานะทางเศรษฐกิจของประชาชนว่า เป็นกลุ่มยากจนหรือกลุ่มเปราะบางหรือไม่ เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้องและไม่เกิดความซ้ำซ้อน โดยเฉพาะในกรณีของการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ต้องการข้อมูลที่เชื่อถือได้ ซึ่งระบบฐานข้อมูลที่มีในปัจจุบันยังไม่สมบูรณ์และขาดความสามารถในการจำแนกข้อมูลอย่างชัดเจน ทั้งนี้ หากประชาชนย้ายที่อยู่ จะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของทรัพย์สินหรือแหล่งรายได้ เพื่อให้กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบได้อย่างถูกต้อง ถ้าไม่ต้องเสียภาษีจะต้องถูกตรวจสอบทันที

และอีกประเด็นสำคัญคือ ไม่มีการกำหนดโทษที่ชัดเจนในระยะยาว ซึ่งในความเห็นของ ศ.พิเศษ วิชา ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีระบบ แบล็กลิสต์ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ใดต้องเสียภาษีหรือไม่เสียภาษี ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่า กรมสรรพากรได้พัฒนาและเจริญก้าวหน้าเรื่องฐานข้อมูลในระดับหนึ่ง เช่น การระบุว่า ใครต้องเสียภาษีและใครไม่ต้องเสียภาษี แต่ยังไม่มีการบูรณาการข้อมูลเหล่านี้ให้สามารถใช้งานในลักษณะของการติดตามตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการติดตามตัวบุคคลที่เป็นอาชญากร

เมื่อการหนีภาษีไม่ใช่แค่เรื่องของ ‘คนหนี’

ถัดจากบทลงโทษทางกฎหมาย การหนีภาษียังมีผลกระทบจากหลายมุมมอง ทั้งต่อบุคคล ต่อธุรกิจ และต่อสังคมวงกว้าง ซึ่งมักจะยาวไปถึงระดับภาพรวมเศรษฐกิจ

ด้านผลกระทบต่อผู้หนีภาษี รศ. ดร. คณิตศร กล่าวว่า อันดับแรก การหนีภาษีถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ถ้าถูกตรวจสอบเจอขึ้นมากก็อาจถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังพร้อมเบี้ยปรับและดอกเบี้ย ยังไม่รวมถึงการเสียประวัติด้านเครดิต หรือในกรณีร้ายแรงอาจถึงขั้นต้องเจอโทษอาญา ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากทั้งลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ไปจนถึงสถาบันการเงิน เรียกง่าย ๆ ว่า นอกจากต้องจ่ายหนักกว่าเดิมแล้ว ยังเสียโอกาสด้านภาพลักษณ์และลดความน่าเชื่อถือไปอีก

ในขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในมุมกว้าง เวลาหนีภาษี รัฐก็จะเก็บรายได้ได้น้อยลง ส่งผลให้ภาครัฐมีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับพัฒนาหรือดูแลบริการสาธารณะต่าง ๆ เช่น ถนน การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการแรงงาน ซึ่งทุกคนในประเทศควรจะได้รับอย่างทั่วถึง พอรัฐมีงบประมาณน้อย ก็อาจต้องไปกู้ยืม หรือจัดเก็บเพิ่มในส่วนอื่นแทน ส่งผลให้มีแรงกดดันทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

“ที่สำคัญ การหนีภาษียังเป็นการบิดเบือนกลไกของตลาด เพราะผู้ประกอบการที่ไม่เสียภาษีอย่างถูกต้องจะมีต้นทุนต่ำกว่ารายอื่นที่ปฏิบัติตามกฎหมาย กลายเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ธุรกิจที่ซื่อสัตย์อาจอยู่ลำบากกว่า ซึ่งในระยะยาวย่อมทำให้ภาพรวมการลงทุนและการเติบโตของประเทศเสียสมดุลไปด้วย”

“โดยสรุปก็คือ การหนีภาษีอาจดูเหมือนเป็นการประหยัดเงินได้ในระยะสั้น แต่เมื่อต้องเผชิญการตรวจสอบและผลกระทบทางกฎหมายแล้วก็ยิ่งเจ็บตัวทั้งด้านการเงินและความน่าเชื่อถือ ยิ่งไปกว่านั้นยังบั่นทอนงบประมาณภาครัฐที่จะใช้พัฒนาประเทศ และทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคมด้วย”

ขณะที่ ศ.พิเศษ วิชา ฝากไว้ว่า ในความเป็นพลเมืองสิ่งแรกที่เป็นจริยธรรมสูงสุดก็คือ การจ่ายภาษีตามจำนวนที่จะต้องจ่าย

“การหนีภาษีไม่ใช่เรื่องเล็ก ทุกประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะมันทำให้นโยบายสาธารณะที่ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าลดระดับลง แทนที่จะสร้างโรงพยาบาลได้ร้อยแห่ง เก็บภาษีได้ไม่ถึง ไม่มีเงิน ไม่สามารถสร้างโรงพยาบาลได้ มันก็ต้องลดคุณภาพลง หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ควรต้องทันสมัย ก็ต้องลดจำนวน เพราะฉะนั้นโอกาสของคนที่จะเข้าถึงในระบบ ก็มาจากภาษีที่จ่ายไป การจ่ายไม่ได้หมายความว่า จะทำให้คนจ่ายภาษีได้รับผลดีเท่านั้น มันจะได้รับผลดีทุกฝ่าย ซึ่งบางทีมันก็เลยเป็นเหตุที่ทำให้คนจ่ายภาษีบางคนมีความรู้สึกว่า ฉันจะต้องไปจ่ายให้กับพวกเธอทำไม พวกเธอยังไม่จ่ายภาษีเลย อันนี้ผมบอกเลยว่า คิดผิดมาก”

นิติศาสตร์-บัญชี
2 หลักสูตรจาก ม.รังสิต
ตอบโจทย์ทุกความต้องการ

หลักสูตรของมหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับการออกแบบเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในแต่ละสาขาวิชาชีพ โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ที่ทันสมัยและสามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะหลักสูตรนิติศาสตร์และบัญชี ที่ได้รับการออกแบบให้ครอบคลุมทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ศ.พิเศษ วิชา กล่าวว่า หลักสูตรนิติศาสตร์ ในปัจจุบันจำเป็นต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยในหลักสูตรดั้งเดิมมักประกอบด้วยวิชากฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายมหาชน ครอบคลุมไปถึงกฎหมายปกครอง กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายว่าด้วยพยานหลักฐาน ทั้งหมดนี้ถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย

ซึ่งปัจจุบันหลักสูตรนิติศาสตร์ ม.รังสิต มีการขยายขอบเขตการเรียนรู้ เพื่อไม่จำกัดเพียงแค่กฎหมายที่ใช้ประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยตรงเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการศึกษา “กฎหมายสมัยใหม่” ที่สอดคล้องกับภารกิจของรัฐและภารกิจของประชาชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ นักศึกษาไม่เพียงแต่ต้องเรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลหรือกฎหมายที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษอาชญากรรมทางไซเบอร์อีกด้วย

ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
หากว่ากันเรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับภาษี ศ.พิเศษ วิชา ให้ข้อมูลว่า หลักสูตรนิติศาสตร์มุ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการเรียกเก็บและคำนวณภาษีในระบบภาษีของประเทศไทย รวมถึงการปฏิบัติที่บุคคลและนิติบุคคลต้องทำตามเพื่อเสียภาษีอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบกฎหมายภาษีของแต่ละประเทศ ซึ่งช่วยให้เห็นความแตกต่างและความคล้ายคลึงของระบบภาษีทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก การศึกษาในด้านภาษีจะเจาะลึกมากยิ่งขึ้น เช่น การพิจารณาความเพียงพอของภาษีที่เก็บ รวมถึงการศึกษาวิธีการหลีกเลี่ยงภาษี เช่น การจดทะเบียนบริษัทในเขตอำนาจที่มีการเก็บภาษีต่ำ ซึ่งจะช่วยทำความเข้าใจถึงช่องโหว่ของระบบภาษีและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

ในโลกที่เทคโนโลยีและภาคธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว การศึกษากฎหมายไม่อาจจำกัดอยู่เพียงกรอบเดิมที่เน้นเพียงภาครัฐหรือหลักกฎหมายพื้นฐานอีกต่อไป นักกฎหมายยุคใหม่จำเป็นต้องมีความรู้ที่ครอบคลุมถึง ระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน เทคโนโลยีดิจิทัล และแนวคิดเศรษฐกิจสมัยใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าใจโครงสร้างของสังคมที่ซับซ้อนขึ้น

“ม.รังสิต เป็น Private University เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มุ่งเน้นการศึกษาอย่างครอบคลุมทั้งด้านภาครัฐและภาคเอกชน เช่น กฎหมายของรัฐ ระบบการปกครอง การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา และการประกอบธุรกิจเอกชน โดยจะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการที่จะสอดคล้องกับแนวคิดโลกสมัยใหม่ นักศึกษาจะได้เรียนรู้ถึงสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในฐานะพลเมืองและผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้สามารถสร้างโอกาสได้มากกว่าแค่การสอบเป็นนิติกรภาครัฐ ผู้พิพากษา หรืออัยการ แต่ยังสามารถตั้งบริษัทสตาร์ทอัพได้ และเรียนรู้วิธีการตั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่ไม่เข้าข่ายปัญหาทางกฎหมาย เช่น เคสดิไอคอน ซึ่งถือเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมสำหรับโลกธุรกิจในอนาคต”

นอกจากนี้ นักกฎหมายในยุคปัจจุบันต้องมีความรู้และความเข้าใจในตลาดทุน การลงทุนในหุ้น รวมถึงการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกหลอกลวงหรือถูกชักจูงให้ลงทุนในหลักทรัพย์ การมีความรู้ที่ลึกซึ้งในด้านเหล่านี้จะช่วยให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้กฎหมายในโลกธุรกิจได้อย่างเหมาะสมและทันสมัย

แต่อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแค่การ ‘ปลุกปั้น’ นักศึกษาให้มีทักษะที่ตอบโจทย์ของตลาดแรงงานเท่านั้น แต่ทิ้งท้ายของ ศ.พิเศษ วิชา ในฐานะคณบดีคณะนิติศาสตร์และผู้คร่ำหวอดในวงการกฎหมาย ยังคงเน้นย้ำถึงการ ‘ปลูกฝัง’ จริยธรรมและมีความรับผิดชอบในวิชาชีพลงไปด้วย

“จริง ๆ ผมต้องการให้เขาเป็นนักกฎหมายที่ดี ประกอบวิชาชีพด้วยความถูกต้อง ไม่ต้องถูกตำรวจไล่จับ เสียชื่อเสียง หรือว่า หิวแสง ในทำนองนี้ ต้องการให้พวกเขามีวิถีชีวิตที่มีจริยธรรมสูงกว่าอาชีพอื่น ๆ เพราะว่าเป็นผู้ที่รู้กฎหมาย จะต้องให้ข้อแนะนำและช่วยเหลือประชาชนด้วยต้องพยายามเน้นให้เขามีโอกาสได้ช่วยเหลือคนที่ทุกย์ยาก เดือดร้อน ซึ่งไม่เพียงจะสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณให้ตัวเอง แต่ยังรวมถึงสถาบันและมหาวิทยาลัยที่เป็นต้นกำเนิดในการพัฒนาอาชีพของพวกเขา”

รศ. ดร. คณิตศร เทอดเผ่าพงศ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรบัญชี มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต
รศ. ดร. คณิตศร กล่าวว่า ในส่วนหลักสูตรบัญชีบัณฑิตให้ความสำคัญกับการสอนที่ครอบคลุมทั้งทฤษฎีและปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เริ่มที่

1.เน้นความเข้าใจ “ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงกรณีศึกษา” เริ่มต้นให้นักศึกษารู้จักประมวลรัษฎากรว่าคืออะไร ต้องเสียภาษีแบบไหนบ้างแล้วก็ค่อย ๆ ขยับไปยังภาษีเฉพาะด้าน เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม จนถึงภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจจริง สิ่งสำคัญคือเราจะให้นักศึกษาทำกรณีศึกษาจากสถานการณ์จริง เช่น การยื่นภาษีผ่าน e-Filing การคำนวณภาษีจากข้อมูลของธุรกิจขนาดเล็ก ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้เด็กเห็นภาพชัดเจนขึ้น

2. ลงมือปฏิบัติ (Practical Approach) มีรายวิชาที่ให้นักศึกษาได้ลองคำนวณภาษี ยื่นแบบภาษีจำลอง หรือวิเคราะห์งบการเงินและรายการทางบัญชีที่ส่งผลต่อการเสียภาษี ยกตัวอย่างเช่น เวลาทำโครงงานในรายวิชาภาษี นักศึกษาต้องเข้าใจขั้นตอน เตรียมเอกสารจำเป็น ลองคำนวณและยื่น “แบบฟอร์มจำลอง” เหมือนกำลังเป็นผู้เสียภาษีตัวจริง ทำให้เกิดทักษะปฏิบัติจริง

3. เชื่อมโยงกับกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ นอกจากกฎหมายภาษีโดยตรง (ประมวลรัษฎากร) เรายังมีการพูดถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายบริษัทมหาชน กฎหมายประกันสังคม กฎหมายแรงงาน ฯลฯ เพื่อให้นักศึกษามองภาพรวมกฎหมายทางธุรกิจและภาษีได้ครบถ้วน ข้อดีคือ เมื่อเด็กไปทำงานจริง ไม่ว่าจะฝ่ายบัญชี ฝ่ายการเงิน หรือวางแผนภาษี จะรู้ว่ากฎหมายส่วนไหนเกี่ยวข้องกันบ้าง จะได้วางกลยุทธ์ถูก

4. อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญที่มาสอน ในหลักสูตรบัญชีของ ม.รังสิต มีอาจารย์ที่จบสายบัญชีโดยตรง และบางท่านก็เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) มีประสบการณ์ทำงานบัญชีและภาษีมาอย่างยาวนาน ที่สำคัญ เรามี “ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี” ซึ่งเคยทำงานในสายภาษีมาโดยตรง มาช่วยสอนและแบ่งปันประสบการณ์ด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งที่นักศึกษาจะได้ไม่ใช่แค่เนื้อหาทฤษฎี แต่จะมีเคสจริงในชีวิตการทำงานมาเล่าให้ฟัง ทำให้เห็นภาพ “ภาษีในโลกความเป็นจริง” ยิ่งขึ้น

บางวิชาเชิญ Guest Speaker จากกรมสรรพากร หรือจากบริษัทสอบบัญชี มาแชร์มุมมองในประเด็นร้อน ๆ อย่างเช่น การปรับปรุงกฎหมายภาษี หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กรมสรรพากรนำมาใช้ตรวจสอบ ก็จะรู้ทันได้ก่อนใคร

“ที่คณะบัญชี ม.รังสิต เราไม่ได้สอนภาษีแค่ “ตามตำรา” แต่พยายามออกแบบกิจกรรมและรายวิชาให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง มีทั้งการทำกรณีศึกษา ฝึกปฏิบัติ ลงมือยื่นแบบจำลอง และที่สำคัญมีอาจารย์ที่มีประสบการณ์ภาษีมาอย่างยาวนานมาสอนโดยตรง ทำให้มั่นใจได้ว่า นักศึกษาจะได้ทั้งความรู้แบบอัปเดต และทักษะที่พร้อมใช้งานในชีวิตการทำงานจริงด้วย”

รศ. ดร. คณิตศร ลงรายละเอียดเพิ่มว่า การเรียนภาษีในหลักสูตรนี้ควรเน้นการสอนในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจที่ครอบคลุมและสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีทั้ง การวิเคราะห์และประยุกต์ใช้กฎหมาย ไม่ใช่แค่ท่องว่า “กฎหมายมาตราไหน” แต่ต้องเข้าใจเหตุผลและหลักการของกฎหมายภาษี เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในสถานการณ์จริงได้ นักศึกษาจะได้ “มองภาพกว้าง” รู้ว่า เมื่อออกไปทำงานจริง จะเจอกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างไรบ้าง แล้วจะหาทางออกที่ถูกต้องได้อย่างไร

เทคโนโลยีและระบบอิเล็กทรอนิกส์ เดี๋ยวนี้การยื่นภาษีเป็นระบบ E-Filing และการตรวจสอบของกรมสรรพากรเองก็ใช้ Big Data เข้ามาช่วยเยอะมาก การสอนให้นักศึกษาคุ้นเคยกับการทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การยื่นแบบผ่านระบบออนไลน์ การใช้โปรแกรมคำนวณภาษี หรือแม้แต่การบริหารงานบัญชีด้วยซอฟต์แวร์ ช่วยให้เด็กพร้อมลงสนามจริงได้อย่างมั่นใจ

เน้นให้นักศึกษาไม่เพียงแต่เรียนรู้ทฤษฎีในตำราเท่านั้น แต่ต้องศึกษา เคสตัวอย่างและสถานการณ์จริง (Real-world Cases) การเจอภาษีในชีทหรือในตำราเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าได้ลองแก้โจทย์ซับซ้อน คล้ายกับที่ธุรกิจต้องเจอจริง เช่น ธุรกิจส่งออก E-Commerce สตาร์ทอัพ หรือธุรกิจ SME จะช่วยให้นักศึกษารู้จักวางแผนและจัดการปัญหาได้ดีขึ้น ยิ่งเจอเคสเยอะ ก็จะยิ่งเรียนรู้จากความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ก่อนออกไปเจอของจริง

ในด้านของ ทักษะการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม ผู้อำนวยการหลักสูตรบัญชี เน้นย้ำว่า คนทำบัญชีหรือภาษีไม่ได้ทำงานคนเดียว ต้องประสานงานกับผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เพราะฉะนั้น ต้องสอนให้นักศึกษารู้จักสื่อสาร ชี้แจง แนะนำ หรือแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

“นักศึกษาควรทำความเข้าใจกฎหมายและใช้เทคโนโลยีให้เป็นเพราะทุกอย่างเปลี่ยนเร็วมาก ฝึกแก้โจทย์ภาษีจากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง เพื่อสร้างทักษะการวิเคราะห์และการแก้ปัญหา อย่าลืมเรื่อง Soft Skills อย่างการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม เพราะบัญชี-ภาษี ไม่ใช่งานเดี่ยวอีกต่อไป ถ้าได้ครบทั้ง 4 ข้อนี้ เชื่อเลยว่า นักศึกษาจะพร้อมรับมือกับโลกการทำงานด้านภาษีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างแน่นอน!”



ในขณะเดียวกัน หลักสูตรบัญชีบัณฑิตยังครอบคลุมเนื้อหาอื่น ๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างมาก ในระดับปริญญาตรี จะได้เรียนรู้พื้นฐานและทักษะทางบัญชีที่จำเป็นต่อการเริ่มต้นอาชีพ ได้แก่ การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่องานบัญชี (เรียนรู้การใช้ซอฟต์แวร์และเครื่องมือสมัยใหม่ที่ช่วยให้งานบัญชีมีประสิทธิภาพมากขึ้น) การบัญชีเพื่อผู้ประกอบการ (เข้าใจวิธีการจัดการบัญชีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพ รวมถึงการวางแผนทางการเงินและภาษีอย่างรอบด้าน) การบัญชีและภาษีอากรสำหรับธุรกิจ (เจาะลึกเกี่ยวกับการปฏิบัติทางภาษีสำหรับธุรกิจในสถานการณ์จริง พร้อมการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น) และ โปรแกรมสำเร็จทางการบัญชี ๖ หลักสูตรที่เน้นการปูพื้นฐานด้านบัญชีอย่างรวดเร็ว ให้พร้อมสำหรับการทำงานภายในระยะเวลาอันสั้น

สำหรับระดับปริญญาโท นอกจากจะได้ทบทวนพื้นฐาน รศ. ดร. คณิตศร เล่าให้ฟังว่า เรายังลึกซึ้งเข้าไปในเชิงกลยุทธ์และการบริหารจัดการ ซึ่งมีรายวิชาที่น่าสนใจมากมาย เช่น การกำกับดูแลกิจการและการบริหารความเสี่ยง ๖ เรียนรู้วิธีการกำกับดูแลบริษัทอย่างมืออาชีพและการประเมินความเสี่ยงในองค์กร) สัมนาการวิเคราะห์รายงานทางการเงิน (เจาะลึกทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเพื่อใช้ในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์) การบัญชีบริหารเชิงกลยุทธ์ (ศึกษาวิธีวางแผนและตัดสินใจเพื่อให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพและก้าวหน้า) การบริหารการเงินเชิงกลยุทธ์ (เรียนรู้การจัดการด้านการเงินที่ซับซ้อนเพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจ) การวางแผนภาษีอากรเชิงกลยุทธ์ (มุ่งเน้นที่วิธีการวางแผนภาษีในระดับองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงินและลดความเสี่ยง) มาตรฐานการรายงานทางการเงินและจริธรรมวิชาชีพ (ทำความเข้าใจมาตรฐานสากลและจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้องกับการรายงานทางการเงิน)

และเทคโนโลยีดิจิทัลในการบัญชี (เจาะลึกการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการปฏิบัติงานบัญชีและการวิเคราะห์ข้อมูล) นิติบัญชีศาสตร์ (วิชานี้จะเน้นไปที่การสอบสวนการทุจริตทางการเงิน การตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ในการบัญชี และการวิเคราะห์หาลักษณะที่ผิดปกติจากข้อมูลทางบัญชี เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตภายในองค์กร โดยใช้เทคนิคและเครื่องมือเฉพาะทาง ช่วยให้องค์กรสามารถรักษาความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือได้)

“จะเห็นว่า การเรียนของทั้งสองระดับจะมีความความแตกต่างกัน โดยหลักสูตรในระดับปริญญาตรี มุ่งเน้นที่การปูพื้นฐานที่สำคัญของการบัญชีและภาษี รวมทั้งใช้เทคโนโลยีและกรณีศึกษาเพื่อสร้างทักษะที่พร้อมสู่โลกของการทำงาน ส่วนหลักสูตรระดับปริญญาโท เน้นไปที่แนวกลยุทธ์ขั้นสูง ด้วยการวิเคราะห์เชิงลึก วางแผนและบริหารจัดการทางการเงินและภาษี เพื่อเสริมให้ธุรกิจสามารถก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

“ทั้ง 2 หลักสูตรถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมกับขั้นตอนในอาชีพที่ประสงค์ โดยการเรียนรู้ในระดับปริญญาตรีจะเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคง และการเรียนในระดับปริญญาโทจะเน้นเพิ่มพูนความรู้เชิงกลยุทธ์และการบริหารจัดการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจอย่างมั่นใจ พร้อมทั้งเสริมทักษะโดยเฉพาะทักษะที่เป็น Soft skills ที่สำคัญต่องการบริหารเชิงกลยุทธ์ให้กับองค์กร”



“อยากจะฝากไว้สักนิดว่า ภาษี ไม่ได้เป็นแค่ตัวเลขหรืองานเอกสารที่น่าเบื่ออย่างที่หลายคนคิด แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ สนุก ท้าทาย และเชื่อมโยงกับ ธุรกิจและการพัฒนาของประเทศ อย่างแนบแน่นเลยเพราะเมื่อเรารู้จักกฎหมายภาษี เข้าใจกลไกการจัดเก็บ ก็จะทำให้เรามองเห็นภาพรวมของเศรษฐกิจและสังคมได้กว้างขึ้น ที่คณะบัญชี ม.รังสิต พวกเรามีทีมอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะถ่ายทอดความรู้ และแชร์ประสบการณ์จริงในโลกแห่งบัญชีและภาษีให้น้อง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำองค์ความรู้และทักษะไปใช้ สร้างสรรค์ธุรกิจ พร้อม ๆ กับมีส่วนร่วมในการ พัฒนาประเทศ ให้ก้าวไปข้างหน้า หวังว่า เราจะได้ร่วมเดินบนเส้นทางนี้ไปด้วยกัน!” รศ. ดร. คณิตศร ฝากทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น