เมื่อเสียงออดคาบสุดท้ายของภาคการศึกษาดังขึ้น อาจหมายถึงเวลาพักผ่อนสำหรับเด็กและเยาวชนหลายคน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเวลาเริ่มต้นสำหรับกิจกรรมดี ๆ อย่าง ปิดเทอมสร้างสรรค์ จาก สสส. และภาคีเครือข่าย ที่เดินทางเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว
ความพิเศษในปีนี้ถูกส่งต่อไปยังหนึ่งในบิ๊กสี่ของภาคอีสานอย่างขอนแก่น จังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอีสาน รองจากนครราชสีมา
เมื่อคนพร้อม! แรงสนับสนุนพร้อม! ปิดเทอมสร้างสรรค์ ปี 68 จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง! นั่นจึงทำให้ต้นสัปดาห์เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมืองของแก่นเต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา บ้างเป็นเหล่านักกิจกรรมที่หวังหอบหิ้วประสบการณ์กลับไปพัฒนาบ้านเกิด บ้างก็เป็นครอบครัวที่พาลูกมาใช้เวลาช่วงวันหยุด บ้างก็เข้ามาโดยบังเอิญแล้วพบว่า เฮ้ย เจ๋งจัง!
ต้องบอกว่า ปิดเทอมสร้างสรรค์เป็นมากกว่ากิจกรรมในช่วงวันหยุดไปแล้ว แต่กลายเป็นเฟสติวัลเด็ก-เยาวชน ยิ่งใหญ่แห่งปีเลยก็ว่าได้ ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย 40 องค์กร พร้อมภาคประชาชน จัดงาน Kick Off ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ปี 2568 ภายใต้แนวคิด “ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ” ที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น เปิดพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้สร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวทั่วประเทศ เติมช่องว่างรอยต่อการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนกับนอกห้องเรียน พร้อมเปิดตัว LINE OA ‘@happyschoolbreak’ อำนวยความสะดวกเด็กและเยาวชน เข้าถึงพื้นที่เรียนรู้ 15 นาทีใกล้บ้าน
มาเด้อพี่น้อง สสส. จับมือ ขอนแก่น
พร้อมพัฒนาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้
เมื่อพูดถึงขอนแก่นหลายคนอาจนึกถึง พระธาตุขามแก่น หรือ เมืองดอกคูนเสียงแคน ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมเก่าแก่ วิถีชีวิตแบบบ้านเฮาที่ยังมีให้เห็น แต่ ขอนแก่น ในวันนี้ก้าวไปไกลกว่าภาพจำเดิม ๆ ของเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เพราะหัวเมืองใหญ่แห่งนี้กำลังถูกยกระดับไปสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้ใจกลางภาคอีสาน” ที่เปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทุกคนได้เข้าถึงองค์ความรู้และทรัพยากรการศึกษาอย่างทั่วถึง
ในฐานะเจ้าบ้าน รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวถึงความสำคัญของกิจกรรมช่วงปิดเทอมว่า จะช่วยให้เด็ก เยาวชน นักเรียน และนักศึกษา ใช้เวลาว่างอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์การเรียนรู้ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่เกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยเฉพาะช่วงปิดเทอม เป็นโอกาสที่เด็กและเยาวชน จะได้ค้นหาความสนใจ และพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ของสสส.สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในจังหวัดขอนแก่นและทั่วภาคอีสาน ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมเป็นกำลังที่สำคัญของประเทศต่อไป
โดย รศ.ดร.นิยม กล่าวต่อว่า มข. มีเป็นพื้นที่ Creative Economy ที่พร้อมเปิดกว้างสำหรับทุกคนอย่างหอศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับการรับรองเป็นหอศิลป์แห่งชาติมากว่า 2 ปี ซึ่งภายในจัดแสดงนิทรรศการศิลปะระดับชาติ รวมถึงผลงานของ ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินระดับภูมิภาค และศิลปินอีสานกว่า 100 ผลงานในหลากหลายแขนง โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10:00 – 19:00 น.ไม่มีวันหยุด
ทั้งนี้ ในอนาคตมข.มีแผนพัฒนาหอศิลปวัฒนธรรมให้สามารถเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และเพิ่มพื้นที่สำหรับหอภาพยนตร์ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นพื้นที่สำหรับการฉายภาพยนตร์เชิงศิลปะและสารคดี โดยผู้สนใจสามารถจองเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายพร้อมพัฒนาสู่การเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์มากขึ้น
แก้โจทย์ปัญหา
เดินหน้ากิจกรรมนำการเรียนรู้
ในยุคที่ความรู้เป็นพลังขับเคลื่อนสังคม “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” กลายเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านนี้ ได้เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจสำคัญเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุ
สำหรับนายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) มองว่าการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของผู้เรียนนั้นจำเป็นต้องเริ่มต้นจากต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้เรียนหนึ่งในแนวทางสำคัญของการจัดการเรียนรู้ คือ“การสร้างกิจกรรมนำการเรียนรู้”ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือหลักในการกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน นั่นจึงทำให้เกิดความร่วมมือครั้งสำคัญตามมา โดยสกร.ได้ร่วมกับสสส.และภาคีเครือข่าย ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้สร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ทำงานร่วมกัน 6 ด้าน ได้แก่
1.พัฒนาระบบฐานข้อมูล (Learning Platform) รวมแหล่งเรียนรู้ นำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้เด็กและครอบครัวเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง 2.พัฒนามาตรฐานแหล่งเรียนรู้ (Learning Space) เพิ่มศักยภาพแหล่งเรียนรู้ให้มีคุณภาพ และขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือระดับท้องถิ่น 3.พัฒนาศักยภาพนักจัดการเรียนรู้ (Learning Creator) ให้ออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องตามบริบทของพื้นที่ ผลักดันให้เกิดการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพของนักจัดการเรียนรู้ 4.จัดแคมเปญกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ (Learning Activity) ผ่านการรวบรวมและเผยแพร่กิจกรรมสร้างการเรียนรู้ในช่วงปิดเทอม พร้อมขยายผลให้เกิดการเรียนรู้ตลอดทั้งปี 5.ศึกษาแนวทางระบบธนาคารหน่วยกิต( Credit Bank) รวบรวมบทเรียนและองค์ความรู้ของเครือข่ายที่มีประสบการณ์ เชื่อมแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนและการศึกษาของรัฐ นำไปขยายผลให้แหล่งเรียนรู้สามารถบูรณาการการเรียนรู้และการศึกษาของรัฐ และ 6.สนับสนุนบทเรียน งานวิจัย และงบประมาณสำหรับการจัดการแหล่งเรียนรู้
“การจัดการเรียนรู้ของสกร.มีความมุ่งหวังว่า การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถตอบสนองผู้เรียนได้นั้นต้องเรียนรู้ถึงความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก ยกตัวอย่าง การเรียนรู้ที่จะช่วยให้เรียนรู้ได้ดี ต้องรู้ว่า เขามีปัญหาอะไรในชีวิต เมื่อค้นพบปัญหาก็ค้นพบความต้องการ แล้วจัดกิจกรรมให้เขาได้เกิดการเรียนรู้ตามความต้องการ สิ่งเหล่านี้เป็นภารกิจที่สกร.จะต้องจัดให้มีและเกิดขึ้นให้ได้ เช่น การส่งเสริมการอ่านเราใช้กิจกรรมนำการอ่านเข้ามา ถ้าไปบอกให้เขามาอ่านหนังสือ เขาไม่รู้หรอกว่า ความจำเป็นของเขาคืออะไร ทำไมเขาต้องอ่าน แต่เมื่อค้นพบปัญหาแล้ว ก็สามารถจัดกิจกรรมและนำไปสู่การแนะนำหนังสือที่ดีให้อ่านต่อได้ เขาก็อยากจะอ่าน แน่นอนว่า การจัดการเรียนรู้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากพวกเราจัดกิจกรรมนำการเรียนรู้ ผมเชื่อว่า จะแก้ปัญหาให้กับผู้เรียนได้อย่างถูกต้องและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง”
ปิดเทอมนี้ไม่เหงา
สสส.จัดเต็มกิจกรรมนับพัน!
นอกจากขอนแก่นแล้วสสส.ยังร่วมกับภาคีเครือข่ายอีก 8 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สุพรรณบุรี อุตรดิตถ์ ลำพูน ลำปาง นราธิวาส กระบี่ นครราชสีมา พร้อมหน่วยจัดการประสานงานและขับเคลื่อนกิจกรรมในอีก 21 จังหวัด ในปี 2568 มีภาคีภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมที่มีแหล่งเรียนรู้ 985 องค์กรทั่วประเทศร่วมกันจุดประกายให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ในช่วงวันหยุดและปิดเทอม
“สสส. ชวนเพื่อนภาคีทั่วประเทศจับมือกัน พยายามที่จะทำให้เด็ก ๆ เข้าถึงการเรียนรู้ได้แม้ว่าโรงเรียนปิดเทอมแล้ว ทำต่อเนื่องมาทุกปี แต่ทุกปีเรา Kick off กันที่กรุงเทพฯ ปีนี้เป็นปีแรกที่มาต่างจังหวัด ต้องขอบคุณขอนแก่น เจ้าบ้านที่เปิดบ้านต้อนรับทำให้เราได้มีงานวันนี้ ได้มาพบปะกัน ต้องบอกก่อนว่า สสส. ไม่ใช่องค์กรที่มีภารกิจหลักเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ในภาพกว้าง แต่ว่าการจะไปให้ถึงสุขภาวะที่ดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวัยไหนก็ตาม สำคัญที่สุดเลยก็คือเรื่องการเรียนรู้ว่า ควรที่จะมาดูแลตัวเองอย่างไร จะหลีกเลี่ยงอะไรหรือควรที่จะตัดสินใจ ทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ซึ่งมันจะมีผลกับตัวเองทั้งสิ้น”
“ทักษะเป็นสิ่งสำคัญ เรารู้ดีว่า แค่ความรู้อย่างเดียวมันไม่พอ แต่ทักษะในการที่จะคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจหรือทำสิ่งใดก็ตาม มันเป็นสิ่งที่อยู่ ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ว่าจะต้องถูกบ่มเพาะปลูก สั่งสม ถูกให้โอกาสในการที่จะได้เรียนรู้ จุดนี้เป็นจุดที่เราให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้ที่จะต้องต่อเนื่องไปตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดเลยก็ว่าได้ จริง ๆ ถ้าศึกษาเรื่องพัฒนาการเด็ก ท่านทั้งหลายที่ทำงานเลี้ยงเด็กจะรู้ว่า มันเริ่มต้นตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ การเรียนรู้ของมนุษย์เริ่มเร็วมาก ซึ่งสสส.หวังว่า พวกเราจะร่วมมือกันแล้วขยายวงของความร่วมมือนี้ส่งต่อพื้นที่การเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ให้เด็ก ๆ ได้เติบโตต่อยอดศักยภาพตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่อไป” น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวเปิดงาน
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจ ปีนี้สสส.เพิ่มความพิเศษให้กับโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูลบนระบบ LINE OA ‘@happyschoolbreak’หรือ สามารถค้นหากิจกรรมได้จาก www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ที่รวบรวมกิจกรรมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ความสุข และแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง สู่การเป็นพลเมืองไทย และพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ มากกว่า 1,000 กิจกรรม รวมถึงข้อมูลนำเสนอพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองเลือกเข้าร่วมกิจกรรมตามที่สนใจ เป็นแหล่งเรียนรู้อยู่ใกล้บ้าน เด็กสามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที คาดว่า จะมีเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมตลอดทั้งช่วงปิดเทอมมากกว่า 100,000 คน
ย้อนรอยการเติบโตของ ‘ปิดเทอมสร้างสรรค์’
เมื่อเส้นทางของปิดเทอมสร้างสรรค์เดินมาถึงปีที่ 8 เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากจุดเริ่มต้นที่ยังคลำทาง ไปสู่เครือข่ายการเรียนรู้ที่แข็งแกร่งและกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ หากถอดบทเรียนที่ได้รับในช่วงเวลาที่ผ่านมา น.ส.ณัฐยา บุญภักดี หรือ พี่ผึ้ง ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ได้สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการและแนวทางที่ช่วยให้เกิดการขยายตัวของเครือข่ายพื้นที่การเรียนรู้
ในช่วงปี 2557–2558 ปิดเทอมสร้างสรรค์เริ่มต้นขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ และไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โครงการได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นปีที่ 8 ของการดำเนินงาน
พี่ผึ้งเริ่มเล่าว่า ช่วง 2-3 ปีแรกของโครงการสสส.ดำเนินงานมุ่งเน้นไปที่การทำงานร่วมกับหน่วยงานส่วนกลางเป็นหลัก โดยพยายามจะเอาพื้นที่การเรียนรู้เข้าไปใกล้เด็กให้มากที่สุด เช่น องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.)มีพิพิธภัณฑ์ตามจังหวัดต่าง ๆ กรมป่าไม้มีอุทยานกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในช่วงปิดเทอมก็เปิดอุทยานจัดโครงการเดินป่า ต่อมามีการจัดทำเมนูกิจกรรม ซึ่งรวบรวมกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วส่งต่อให้องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)นำไปดำเนินการในพื้นที่ แต่ก็พบว่า ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีบุคลากรรองรับงานด้านนี้ ทำให้แนวทางดังกล่าวไม่สามารถขยายผลได้อย่างที่หวัง จับมือกับกรมพลศึกษาที่ดูแลสนามกีฬา 800 กว่าอำเภอ ก็ว่า ใกล้แล้วนะ แต่ว่าก็ยังได้แค่เรื่องกีฬา นอกจากนั้นก็มีอีกหลายภาคส่วน พูดกันง่าย ๆ ก็คือในเวลานั้นใครมีอะไรก็เอามารวมกัน แต่สุดท้ายก็ยังไปไม่ถึง
ผลสำรวจในแต่ละปีสะท้อนปัญหาซ้ำ ๆ ว่าเด็กจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงกิจกรรมเหล่านี้
จากผลสำรวจข้อมูลพฤติกรรมและความต้องการแหล่งเรียนรู้ กลุ่มเยาวชนอายุ 15-25 ปี รวม19,694คน จากทั่วประเทศ ปี2565โดยสสส.และศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว(คิดforคิดส์)พบเด็กและเยาวชน 60% ไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้ประเภทศูนย์ฝึกอาชีพ 42.7% ไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ 29% ไม่เคยไปสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ 22.8% ม่เคยไปสนามกีฬา สาเหตุที่เข้าไม่ถึงแหล่งเรียนรู้เนื่องจากระยะทางไกล การเดินทางเป็นอุปสรรค เด็กและเยาวชนกว่า 60% อยู่ในครอบครัวรายได้น้อย
สอดคล้องกับรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2566 โดย สสส. และคิดforคิดส์ พบเด็กเยาวชนไทยเติบโตในครอบครัวเปราะบางและยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจ มีเด็ก 1.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 26.5% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย เมื่อพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลเด็กต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง หรืออยู่กับผู้สูงอายุและเพื่อน เสี่ยงต่อปัญหาพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาวะ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติด ไม่เกิดแรงจูงใจใฝ่เรียน และอาจส่งผลให้หลุดจากระบบการศึกษา
“เด็ก ๆ ก็จะบอกว่า เข้าไม่ถึง มันไกล เด็กเล็กไม่มีคนพาไป เด็กโตไม่มีเงินไปเพราะแค่ค่าเดินทางก็ไม่ไหวแล้ว เดี๋ยวอาจมีค่าเข้า ค่ากินระหว่างทางอีก สุดท้ายเราก็เจอทุกปีว่า เด็กเข้าไม่ถึง ตัวชี้วัดนี้ถือว่า ยากมากสำหรับเรา ทุกปีสสส.พยายามหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ จัดให้มีกิจกรรมเรียนรู้สร้างสรรค์เพื่อดูว่าเด็กเข้าถึงกันได้มากน้อยแค่ไหน ระยะทางยังเป็นอุปสรรคอยู่หรือไม่ ไกลเกินไปหรือเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งจากการสำรวจทุกปีก็คงพูดตรง ๆ ว่า ยังปิดช่องว่างตรงนี้ไม่ได้ เป็นเรื่องท้าทายจริง ๆ ปีนี้ก็เหมือนกัน แม้จะระดมความร่วมมือได้มากขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ยังคงเชื่อว่า ผลการสำรวจก็อาจจะออกมาว่า ยังมีช่องว่างอยู่”
สสส.เชื่อมต่อเครือข่าย จัดการความรู้ชุมชน
เปิดประตูสู่มุมมองใหม่
ต่อมาสสส.เดินหน้าสแกนหาเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในพื้นที่มากขึ้น พี่ผึ้ง เล่าต่อว่า“เราเปิดแผนงานใหม่เป็นแผนงานที่รวบรวมภาคีภาคประชาสังคม องค์กรปกครอง ที่ทำเรื่องการเรียนรู้ พื้นที่เรียนรู้ พื้นที่สร้างสรรค์ต่าง ๆ รวมไปถึงพื้นที่เล่น
สำหรับเด็กเล็กรวมเข้าด้วยกัน กลยุทธ์ที่ใช้คือมองหาว่า มีใครทำอะไรอยู่แล้วชวนเข้ามา ใช้วิธีสแกนหา ซึ่งวิธีสแกนหาที่ดีที่สุด คือทำงานกับคนในพื้นที่ นี่แหละคือกลยุทธ์ของ สสส.จากนั้นก็เข้าไปสนับสนุนเขา จากนั้นเขาก็จะเอาไปสร้างสรรค์ต่อ สำคัญที่สุดคือการได้มีส่วนร่วมกับเครือข่ายขนาดใหญ่ เมื่อก่อนทำเองก็อยู่ในที่ของตัวเอง อาจไม่มีใครรู้จัก แต่พอรวมตัวกัน มันได้ให้กำลังใจซึ่งกันและกันแล้วก็ได้ Branding เดียวกันด้วย เขาก็มีความสุขที่จะมา เพราะฉะนั้นแรงจูงใจของเจ้าของพื้นที่เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของโอกาสในการที่จะเข้ามาเชื่อมร้อยงานกัน พอ สสส. เข้าไปเสริม หน่วยงานอื่นมองเห็นก็เข้ามาต่อยอดและเข้ามาช่วยทำ”
ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. บอกว่า ปัจจุบันเริ่มมองเห็นแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของเครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชนที่มีการกระจายตัวอย่างกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญของการทำงานด้านการเรียนรู้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้รับความสนใจมากขึ้น และมีกรอบกฎหมายรองรับ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเกี่ยวกับธนาคารหน่วยกิต หรือสิทธิของประชาชนในการจัดการเรียนรู้และการเข้าถึงการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้รับการพูดถึงในระดับนโยบายทั้งภูมิภาคและประเทศ ทำให้เกิดการรับรู้และให้ความสำคัญต่อแนวทางดังกล่าวมากขึ้น
นอกจากนี้ แผนงานด้านพื้นที่การเรียนรู้ได้ขยายผลไปสู่พื้นที่เรียนรู้เพื่อความสุขของเด็ก โดยเน้นแนวคิดเรื่องความสุขของเด็กเป็นหลัก ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ปัจจุบันเครือข่ายปิดเทอมสร้างสรรค์มี Learning Space และ Learning Station (สถานีการเรียนรู้) รวมทั้ง Learning Creator (นักสร้างสรรค์การเรียนรู้)ที่ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ
“ปีนี้เป็นปีที่มุมมองถูกเปิดกว้างที่สุดเลย คราวนี้เห็นเต็มไปหมดเลย เรามีคำว่า Learning Station หมายถึงการไปพลิกพื้นที่ที่หนึ่ง ซึ่งตอนแรกอาจจะไม่ได้มองว่า ตัวเองเป็นพื้นที่เรียนรู้ หรือมองว่า ตัวเองไม่มีอะไรเลย แต่สุดท้ายได้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ขึ้นมาจากการถูกจัดการความรู้ ยกตัวอย่าง หลานทำกุนเชียงขาย ยายทำโรงคั่วกาแฟโบราณขายมา 70 ปี แต่วันหนึ่งได้รับการจัดการความรู้นั้นออกมาอยู่ในรูปแบบที่คนอื่นเข้าถึงได้ เด็กไปเรียนรู้ได้ กลายเป็นสถานีการเรียนรู้ขึ้นมาแล้วสุดท้ายก็กลายเป็น Learning Space เปิดพื้นที่ของตัวเองได้”
“พอเปลี่ยนมุมมอง จะเห็นเลยว่า ทุกบ้านมีความรู้ที่จะนำเสนอได้ สร้างการเรียนรู้ได้ ซึ่งก็คิดว่า พัฒนาการของงานส่งเสริมพื้นที่เรียนรู้ผ่านแคมเปญปิดเทอมสร้างสรรค์มันเดินทางมาถึงจุดที่พีคแล้ว แต่ยังอยากจะให้มีพีคในพีคต่อได้อีก”
“ทุกภาคมีของดี ถ้าเปลี่ยนมุมมองที่ดู” พี่ผึ้งยังยืนยันว่า ถ้ามองว่า คุณยายเราทำอาหารอร่อย หรือคุณตาทำของเล่นไม้ อุปกรณ์จากไม้เก่ง ถ้ามองว่า ธรรมดา มันก็ธรรมดา แต่ถ้ามองว่า มันคือทักษะที่ถ้าเด็ก ๆ ถ้าได้เรียนรู้ติดตัวไป เขาจะเอาไปต่อยอดได้ในอนาคต มันจะกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้จริง ๆ ครัวของยายและลานบ้านที่ตานั่งทำงานไม้จะกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ทันที ผู้ใหญ่เองก็ต้องเปลี่ยนมุมมองถึงจะได้มองเห็น เพราะฉะนั้นถามว่า แต่ละภาคมีความโดดเด่นอะไร ขอนแก่นมีอะไรโดดเด่น เรามองว่า เปรียบเทียบยากมาก เพราะไม่มีอะไรดีกว่าที่ไหนเลย ทุกที่มีสตอรี่ ทุกที่มีนักสร้างการเรียนรู้ อยู่ที่จะมองเห็นรึเปล่า
“ขอนแก่นที่ทำให้เราเปิดตัวแคมเปญที่นี่ เพราะเราใช้กลยุทธ์ในการค้นหาเครือข่าย การทำงานโดยไม่ได้ยึดติดกับหน่วยงานยุทธศาสตร์เลยเพิ่งมารู้ว่า ขอนแก่นมีคนรุ่นใหม่กลับบ้านเยอะ ทำงานศิลปะ ทำงานสร้างสรรค์ มีคนรุ่นใหม่ที่เห็นคุณค่าของศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นและเข้าไปคลุกคลีเป็นเนิร์ด แล้วหยิบขึ้นมาเล่าใหม่ เชื่อมต่อกับเด็ก ๆ มากขึ้นเยอะมาก เลยทำให้เราคิดว่า ขอนแก่นพร้อมแล้ว และเป็นที่ที่ทำให้เห็นถึงความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อได้” น.ส.ณัฐยา กล่าวทิ้งท้าย
‘อีสานจะเลิร์น’
ต่อยอดแนวคิดปิดเทอมสร้างสรรค์
และหากสสส.คือแม่งาน ‘อีสานจะเลิร์น’ ก็เปรียบเสมือนลูกหลานของปิดเทอมสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นภาพการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนที่เห็นภาพชัดเจนที่สุด
เพราะแนวคิดปิดเทอมสร้างสรรค์ ขยายออกไปไกลกว่านั้น ห่างออกไปกว่า 120 กิโลเมตรจากตัวเมือง ในพื้นที่อำเภอสีชมพู ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ยังมีกลุ่มคนที่มุ่งมั่นผลักดันให้เกิด‘พื้นที่เรียนรู้ในชุมชน’ของตนเอง นั่นก็คือ ครูสอยอ-สัญญา มัครินทร์ หนึ่งในเครือข่ายอีสานจะเลิร์น
ครูสอยอเริ่มเล่าว่าแม้ช่วงแรกจะมีงบประมาณจำกัด แต่นักกิจกรรมในพื้นที่ก็สามารถนำไปต่อยอดขยายผลจนเกิดเป็นกิจกรรมที่หลากหลาย จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ นี้ เมื่อโครงการดำเนินไปจากปีแรกสู่ปีที่สอง จากไม่กี่กิจกรรมก็เดินหน้าสู่60พื้นที่รวมกันเป็นร้อยกว่ากิจกรรม
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มนักกิจกรรมในพื้นที่เริ่มตั้งคำถามว่า “แล้วเราจะเอายังไงกันต่อ?” และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการรวมตัวของเครือข่ายที่ชื่อว่า อีสานจะเลิร์น
“อีสานจะเลิร์น เราเชื่อว่า เมืองจะเจริญ ถ้าเกิดคนมี Mindset ของการเรียนรู้อยู่ตลอดเหมือนกับ Lifelong Learning แล้วเราทำอะไรได้บ้างในฐานะคนที่สนุกกับการเรียนรู้ ถ้างั้นลองชวนคนที่รักการเรียนรู้ออกมาเจอ เอาบทเรียน วิธีมุมมองของเราไปชวนคนอื่น ๆ ต่อ เรามองว่า กลุ่มอีสานจะเลิร์นจะเป็นเหมือนตัวเชื่อม Learning Hub ให้เพื่อน ๆ เพราะเพื่อนบางคนอยากทำ แต่ขาดเครื่องมือ ขาดองค์ความรู้ แต่เรามีเพื่อนที่เป็นคนทำสื่อลาวเด้อเรามีนักออกแบบกระบวนกรอย่าง Ground Loud มีคนที่เก่งเรื่องเทคโนโลยีอย่างเทคไทบ้านมีคนที่ทำงานภาคประชาสังคมกับกลุ่มเปราะบางไร้บ้าน โอ้โห เรามีเพื่อนเยอะมากเลยงั้นเอาคนกลุ่มนี้มาออกแบบด้วยกันแล้วขับเคลื่อนกันต่อ”
เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้รับกลับมา ครูสอยอแบ่งปันประสบการณ์ผ่านมุมมองนักกิจกรรมในพื้นที่ เริ่มจากการที่ได้ค้นพบตนเองเมื่อไม่ได้เป็นครูในระบบการศึกษาก็ยังสามารถเป็นครูในชุมชนได้ ผ่านการชวนชาวบ้านและผู้ประกอบการมาร่วมกันสร้างการเรียนรู้ในพื้นที่ ชุมชนกลายเป็นสนามที่เขาได้ตั้งคำถามและสร้างสรรค์การเรียนรู้ร่วมกัน อีกด้านหนึ่งที่เห็นคือการเชื่อมโยงและสร้างมิตรภาพกับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา โดยใช้มุมมองที่หลากหลายจากทั้งเพื่อน ผู้ประกอบการ และคนในชุมชน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ทุกคนต่างอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา
นอกจากนี้ยังเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้าง Ecosystems ที่ดูแลคนทำงานสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับการดูแลในระบบเดิม พร้อมมุ่งหวังที่จะพัฒนาไปสู่โปรแกรมธุรกิจที่สามารถช่วยส่งเสริมการพัฒนาของแรงงานสร้างสรรค์ในอนาคต รวมทั้งเรื่องสวัสดิการ
“สิ่งที่พวกเราพยายามเชื่อมและพยายามสื่อสาร เรากำลังจะบอกว่า ทุกที่มีคนทำงานสร้างสรรค์อยู่แล้ว มีคนทำภาคการศึกษาอยู่แล้ว แต่เราจะมาเป็นเพื่อนกัน ให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของเยาวชนแล้วก็ของคนทุกคน เชื่อเหลือเกินว่า การเรียนรู้ที่เป็น Lifelong learning มันไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ภาครัฐ ไม่ใช่ภาคเอกชนหรือไม่ใช่แรงงานสร้างสรรค์ แต่เป็นองค์กรทุกคนที่มาร่วมสร้างสรรค์แล้วก็ออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน อย่างที่กล่าวไป เยาวชนคืออนาคตของชาติ อนาคตของชาติก็คือเยาวชน ที่เราจำเป็นที่จะต้องลงทุนแล้วก็ทำงานกับเขาเพราะอนาคตของเรา เราจะฝากชีวิตแล้วก็ฝากความหวังไว้กับใคร ก็คือคนที่เรากำลังทำงานด้วยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน”
“ในวันที่ลาออกจากระบบการศึกษา ผมรู้สึกว่า การศึกษาของเรามันความหวังน้อยลงแต่วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ทุกคนมาเป็นประจักษ์พยานว่า ไม่จำเป็นต้องให้ครูคนเดียวหรือคนในระบบการศึกษาทำเท่านั้น แต่มันเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ลุกขึ้นมาสร้างการศึกษา ซึ่งการศึกษาจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะพัฒนาอนาคต เราอยากจะชวนทุกคนมาใช้กุญแจนี้แล้วก็ใช้เครื่องมือนี้มอบโอกาสแล้วก็สร้างการศึกษาที่เข้าถึงง่ายแล้วก็เป็นมิตรกับทุกคน”
แล้วจะเป็นอย่างไร หากความรู้ถูกเสิร์ฟพร้อมกาแฟแก้วโปรด
‘บ้านหลังวัด Coffee’ มีคำตอบ
ขอนแก่นมีพื้นที่เรียนรู้กระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่ แม้แต่ข้างหลังวัด และนั่นจึงเป็นที่มาของชื่อร้าน ‘บ้านหลังวัด Coffee’ ร้านกาแฟที่เป็นมากกว่าร้านกาแฟ ใบหม่อน-เพชรลัดดา บุตรมหาและอุฟอิฟ-พัชราพรรณ กองมณี สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งนิยามแบบนั้น แต่ที่นี่เป็นทั้งพื้นที่แห่งการเรียนรู้และการเชื่อมโยงชุมชนเข้าด้วยกัน จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้พื้นที่สร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ สสส. และปิดเทอมสร้างสรรค์ ชวนมาเข้าร่วมในครั้งนี้
บ้านหลังวัด Coffee เกิดขึ้นจากแนวคิดของกลุ่มนักศึกษาที่มีโอกาสฝึกงานกับเครือข่ายชาวบ้านที่ทำงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยพวกเขาตระหนักว่า การทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจะต้องมีพื้นที่กลางที่ช่วยให้ผู้คนได้เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งรอบตัว
ดังนั้นร้านกาแฟจึงถูกเลือกเป็นสื่อกลางที่เข้าถึงง่ายและเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้
บ้านหลังวัดไม่ได้เป็นเพียงร้านกาแฟ แต่ยังเป็นพื้นที่ศิลปะที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาสร้างสรรค์และแสดงออกอย่างอิสระ มีการจัดกิจกรรมศิลปะทั้งฟรีและมีค่าใช้จ่าย เช่น การเพ้นท์ขวดโซดา การปั้นปูนหรือการวาดภาพตามตัวเลข มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และกิจกรรมเวิร์กช็อปที่หลากหลาย
ในทุกวันอาทิตย์ ที่นี่ยังเปิดเป็น“ห้องเรียนธรรมชาติ” สำหรับเด็กและเยาวชน อุฟอิฟเล่าว่า ห้องเรียนนี้จะเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่เชื่อมโยงเด็กกับทรัพยากรในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ การทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำอาหาร ห่อข้าวต้มมัด ชำต้นไม้ เกษตรอินทรีย์ การหมักปลาร้า ทำงานศิลปะหรือภาษาอังกฤษ โดยมีคุณครูที่เป็นอาสาสมัครแล้วก็เพื่อนที่รู้จักมาสอนให้ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดพื้นที่ให้ร้านค้าหรือผู้ประกอบการในชุมชนนำผลิตภัณฑ์ของตนเองมาขาย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง และยังเชื่อมโยงผู้คนในชุมชนให้มามีส่วนร่วมกันมากขึ้น
โดยวิชาที่เลือกสอนก็มาจากการแชร์ไอเดียร่วมกันใบหม่อนอธิบายต่อว่า บางทีก็เป็นเนื้อหาที่กำลังเป็นกระแสใน YouTube หรือ TikTok หรือถามเด็ก ๆ ว่า เขาอยากเรียนอะไร สนใจอะไร แล้วก็ค่อยมาปรับเรียนในห้องเรียน เพราะว่ามันเป็นห้องเรียนธรรมชาติสามารถทำได้ทุกอย่างเลย ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นนักเรียนตั้งแต่ประถมถึงมัธยมในพื้นที่ที่มา
“เราเปลี่ยนวิชาไปเรื่อย ๆ แต่ก็จะมีธีมบ้าง อย่างเช่นปีนี้จะทำเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เราพยายามเสิร์ฟเรื่องอาหารสุขภาพ เราเพิ่งทำสลัดโรลผักพื้นบ้านไป พากินหมกลาบปลาตอง พยายามทำให้อาหารเข้าถึงได้ง่ายจากการลงมือทำของเด็กเอง เด็ก ๆ ส่วนมากต้องใช้พลังเชิงบวก เพราะอย่างเวลาที่คุณครูบอกว่า ต้องกินนะ เด็กจะไม่เชื่อ แต่ถ้าบอกว่า ทำเอง กินเอง ชิมเอง เขาจะรู้สึกว่า มันคือภาคภูมิใจที่เขาได้ทำเองแล้วก็ได้กิน”
“ส่วนฟีดแบคก็ดีมาก เพราะนอกจากเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่เด็กเข้ามาเป็นการเชื่อมโยงแล้ว นอกจากจะเป็นการทำงานร่วมกันกับชุมชน เรายังเชื่อมโยงกับสังคมด้วย ร้านกาแฟก็ไปร่วมจอยกับกิจกรรมของทางโรงเรียน กิจกรรมระหว่างชุมชนหรือเครือข่ายรอบนอกด้วย เป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์แล้วก็โปรโมทร้านไปในตัว”
สิ่งที่น่าสนใจในตลอดการพูดคุยคือจะเห็นได้ว่า ทั้งสองคนให้ความสำคัญกับคำว่าชุมชนดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ที่นี่เป็นสถานที่ที่หลอมรวม ‘คนต่างGen’ เข้าด้วยกันอุฟอิฟและใบหม่อนเชื่อว่า บ้านหลังวัด Coffee ไม่ได้เติบโตเพราะตนเป็นคนรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะแนวทางของร้านที่เน้นการทำงานร่วมกับชุมชน ไม่ได้มุ่งขายแค่กาแฟ แต่ต้องการมอบประสบการณ์และเรื่องราวให้กับผู้มาเยือน โดยความสำเร็จของที่นี่ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟที่ได้รับความนิยม แต่คือการที่ชุมชนสามารถเติบโตไปพร้อมกัน เป็นพื้นที่ที่คนหลายรุ่นสามารถมาแลกเปลี่ยนไอเดียและใช้เวลาร่วมกันได้อย่างมีความสุข
“ถ้าขายแต่กาแฟอย่างเดียว มันก็ไม่ได้ หรือจะขายของในชุมชนอย่างเดียว ก็ไม่ได้อีก เราเลยมองว่ามันคือ การที่Genแต่ละGenมาผสมกันแล้วอยู่ร่วมกัน มันสนุกมีตีกันบ้างบางทีเป็นเรื่องปกติ(หัวเราะ)จนตอนนี้เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย เพราะทุกอย่างต้องอาศัยการพูดคุย ทำความเข้าใจ เปิดใจให้กันและกัน ถึงจะได้แชร์ไอเดียร่วมกัน”
แม้ว่าการเดินทางของบ้านหลังวัดCoffeeจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งกำลังครบ2ปีในกลางปีนี้ แต่ทีมงานยังคงมุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่นี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น หนึ่งในความตั้งใจคือ การจัดดนตรีในร้านกาแฟ ตลอดจนพัฒนาเป็นสินค้าแนวใหม่เพื่อให้เป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน
เมื่อลูกค้าได้ความสุขอะไรกลับไป แล้วเราได้อะไรกลับมา เราถามต่อ “เรารู้สึกมีคุณค่าในตัวเองเพราะว่าได้ทำงานที่ชอบ แล้วเห็นทุกคนได้เข้ามาพักผ่อนฮีลใจ เป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนได้มาแชร์และใช้ช่วงเวลาดี ๆ ร่วมกัน อีกอย่างเราก็ได้เรียนรู้ไปด้วย เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดเยอะเหมือนกัน ไม่ใช่ทำแล้วประสบความสำเร็จเลย ก็มีที่เฟลหลายครั้งเหมือนกันนอยด์เหมือนกัน แต่ก็ไม่เป็นไร ลองใหม่ พยายามใหม่ ดูอีกทีหนึ่ง บางทีมันไม่ได้สำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก”ใบหม่อนเล่า
ส่วนอุฟอิฟก็บอกคล้าย ๆ กัน“รู้สึกดีทางใจเหมือนที่ใบหม่อนว่า เราทำสิ่งที่มุ่งหวังหรือคาดหวังไว้ให้เป็นจริง ตอนที่ยังไม่มีลูกค้า เราก็มองไม่เห็นอนาคตว่า จะไปต่อยังไง แต่พอเรามีความเชื่อ เชื่อมั่นในตัวเองและทีมงานว่า มันสามารถเติบโตไปได้ มันก็หายเหนื่อย เราเห็นถึงความพยายามที่ร่วมกันพัฒนาแล้วก็สู้มาด้วยกัน ก็อาจจะมีวันที่ท้อแท้หมดหวังแต่เราก็ไม่ยอมแพ้ และจุดนี้นี้ก็ยังไม่ใช่จุดที่สูงที่สุดของเราด้วย ยังอยากไปต่ออีก อยากพัฒนาพื้นที่และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้คนรู้จักมากขึ้น แล้วก็เป็นร้านกาแฟที่ทำงานกับชุมชนแบบมีคุณภาพด้วย อยากเป็น Happy Place Happy Time สำหรับทุกคน”
ในวันหยุดสุดสัปดาห์ หลายครอบครัวมองหากิจกรรมที่น่าสนุกสำหรับลูก ๆ หลาน ๆ รวมทั้งครอบครัวของแทนศร พรปัญญาภัทรและแพรวพรรณ มณีรัตน์ ที่พาลูกชายเข้าร่วมงานปิดเทอมสร้างสรรค์ในครั้งนี้
แทนศร เล่าว่า “ปกติในวันหยุดจะพาลูกไปวิ่งเล่นตามสวนสาธารณะ ไปสวนสัตว์หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นอยู่แล้ว แต่วันนี้ได้เห็นข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมนี้จึงตัดสินใจพามาเข้าร่วม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ ไม่ค่อยมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับเมืองขอนแก่นเท่าไหร่ ที่สำคัญคือฟรีด้วย เพราะกิจกรรมแบบนี้เป็นโอกาสดีที่เด็กจะได้เรียนรู้จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะสำหรับเด็กที่ยังไม่ได้ไม่เข้าเรียนโรงเรียนประจำ”
ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทำให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนาทักษะและพบปะผู้คนใหม่ ๆ ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่ดี ในขณะเดียวกันเป็นโอกาสดีในการเปิดโลกการเรียนรู้ให้กับเด็กโดยผ่านการสัมผัสประสบการณ์จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ได้
และแม้ว่ากิจกรรมนี้จะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นชั่วคราว แทนศรก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการขยายกิจกรรมลักษณะนี้ในอนาคต โดยเสนอให้มีการจัดกิจกรรมขนาดเล็ก ๆ กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ของเมืองขอนแก่น เพื่อให้ครอบครัวและเด็ก ๆ ได้มีโอกาสเข้าร่วม