xs
xsm
sm
md
lg

บึงบอระเพ็ด ช่วยลดโลกร้อนด้วยการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญของประเทศไทย เพราะเป็นบึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดและเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ชุมชนโดยรอบส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาที่มีการปลูกข้าวประมาณ 2 แสนไร่ หล่อเลี้ยงชาวนาในทั้งเขตและนอกเขตบึงบอระเพ็ด จากปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทำให้ฤดูร้อนปี 2567 บึงบอระเพ็ดมีอุณหภูมิสูงถึง 43 องศา ส่งผลให้ชาวนาต้องสูบน้ำมากขึ้นแข่งกับการระเหยของน้ำ เมื่อใช้น้ำมากเพื่อหล่อเลี้ยงน้ำให้ขังในแปลงนา จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การทำนาปรังโดยให้มีน้ำขังตลอดเวลาจะเกิดก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศทำให้สนับสนุนให้โลกร้อนมากขึ้น

นอกจากนี้การที่บึงบอระเพ็ด เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีหญ้าและวัชพืชขึ้นปกคลุมไปจำนวนมาก ช่วงฤดูน้ำหลากจะมีน้ำไหลเข้ามาท่วมขังจนเกิดหญ้าเน่าในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำเสียที่ส่งกลิ่น รวมทั้งผลิตก๊าซเรือนกระจกขึ้นอยู่ชั้นบรรยากาศเช่นกัน ดังนั้นมหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายกับทำงานในพื้นที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันทำโครงการการปรับวิถีการเกษตรในพื้นชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ขับเคลื่อนความเป็นต้นแบบของบึงบอระเพ็ดที่ช่วยลดโลกร้อน 2 ประเด็น ได้แก่ การทำนาเปียกสลับแห้ง และการทำวัสดุปรับปรุงดินจากวัชพืชน้ำบึงบอระเพ็ด

ดร.ณพล อนุตตรังกูร โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ได้กล่าวว่า “บทบาทของสถาบันวิชาการจะเข้ามาช่วยสนับสนุนพื้นที่ในร่วมคิดร่วมทำกับเครือข่าย เพื่อช่วยกันปรับวิถีการเกษตรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนให้ได้” ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำงานร่วมกับจังหวัดนครสวรรค์ หน่วยงาน และชาวบ้านในพื้นที่ เช่น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด หน่วยขุดลอกและกำจัดวัชพืชบึงบอระเพ็ด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรผู้ใช้น้ำบึงบอระเพ็ด และชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีขั้นตอนกระบวนการทำงานร่วมกันด้วยการให้ความรู้กับประชาชน การดูงานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งเรียนรู้จากการลงมือทำ ทั้งการทำนาเปียกสลับแห้งกับอาสาสมัครจำนวน 100 ไร่ ในเขตตำบลวังมหากรและตำบลทับกฤช ทำให้มีการใช้น้ำลดลง จากการตรวจวัดก๊าซเรือนกระจกพบว่ามีการปลดปล่อยลดลงจากการทำปกติ ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย การใช้สารเคมี และลดการสูบน้ำอีกด้วย ส่วนการทำวัสดุปรับปรุงดินได้มีการทดลองทำในเขตตำบลพระนอน โดยได้นำวัชพืชจากการเก็บของกรมประมงนำมาหมักแบบไม่กลับกอง ซึ่งได้มีการตรวจวัดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดการปลดปล่อยจากกองวัชพืชและในพื้นที่น้ำท่วมหญ้าในบึงบอระเพ็ด พบว่าการนำวัชพืชมาทำวัสดุปรับปรุงดินมีการปลอดปล่อยน้อยกว่าน้ำท่วมหญ้าในบึงบอระเพ็ด จากการร่วมไม้ร่วมมือกันของทุกฝ่ายด้วยการลงมือทำจากของจริงทำให้ ชุมชนเกิดความเข้มแข็งมีการรวมตัวกันจดจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนใน 2 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบึงบอระเพ็ด Low Cabonตำบลพระนอน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบึงบอระเพ็ด Low Cabonตำบลวังมหากร พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบบึงบอระเพ็ด Low Cabonที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนและคนที่สนใจอีกด้วย

ดร.ณพล อนุตตรังกูร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนี้ไปการเตรียมการต่อยอดการทำงานที่จะหนุนเสริมศักยภาพให้กับชุมชน ต่อยอดขยายผลให้กับชุมชนอื่น ๆ รอบบึงบอระเพ็ด ให้ช่วยกันประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นต้นแบบที่ช่วยลดโลกร้อน และตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้ครบทุกมิติต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น