ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่ง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างมาก ซึ่งมีข้อมูลจาก We Are Social ดิจิทัลเอเจนซีระดับโลก ระบุว่า คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 63 ล้านคน คิดเป็น 88% เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในรอบ 10 ปี สะท้อนให้เห็นว่าสื่อออนไลน์ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของทุกคน ทุกช่วงวัย ซึ่งเทคโนโลยีมีประโยชน์หลากหลาย แต่กลับกันหากใช้ในทางที่ผิดหรือรู้ไม่เท่าทันก็อาจก่อให้เกิดโทษ เป็นปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ตามมาได้
รู้หรือไม่ว่า? คนไทยกว่า 36 ล้านคน ถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ และกว่า 89% ต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และที่น่าตกใจคือ กว่า 50% ตกเป็นผู้เสียหาย (รายงานผลจากการสำรวจสถานการณ์การถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ปี พ.ศ. 2566 โดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อีกทั้งยังมีประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงจำนวน 1,375,908 สาย (เฉลี่ย 3,149 สายต่อวัน (ข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 1441 AOC)
นอกจากนี้กลุ่มที่น่าเป็นกังวลที่สุด คือ เด็กและเยาวชน เพราะปัจจุบันเด็กเข้าถึงสื่อออนไลน์ เข้าถึงสื่อโซเชียลตั้งแต่อายุยังน้อย โดยข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยสถิติคดีเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2567 มี 346 คดี ในจำนวนนี้มีเด็กอายุ 8-14 ปี ตกเป็นผู้เสียหายมากสุด 125 คน
ด้วยเหตุนี้เอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ ประเทศไทย), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมกว่า 50 องค์กร อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA (เอ็ตด้า), กรมกิจการเด็กและเยาวชน, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) DEPA, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.), สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), โคแฟค ประเทศไทย, ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท, True, AIS, TikTok, Meta ฯลฯ เป็นต้น เปิดงาน Safer Internet Day Thailand 2025 (SIDTH 2025) ภายใต้แนวคิด "Together for a Safer Internet" ชวนทุกภาคส่วนมาร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
Safer Internet Day Thailand 2025 (SIDTH 2025)
ภายใต้แนวคิด "Together for a Safer Internet"
ยึดหลัก 3S SAFE SMART STRONG
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยถึงที่มาและความสำคัญของการจัดงาน Safer Internet Day Thailand 2025 (SIDTH 2025) ภายใต้แนวคิด "Together for a Safer Internet" ว่า ด้วยบทบาทของโลกไซเบอร์ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทำให้ภัยอันตรายจากการใช้อินเทอร์เน็ตมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และเกิดความรุนแรงขึ้นทุกวัน ในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรม เรื่องเทคโนโลยี เรื่อง AI มองว่าการพัฒนาที่ดีไม่ใช่การพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวล้ำเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาพร้อมกับความระมัดระวังในเรื่องจริยธรรมด้วย เพราะพื้นที่ความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ว่าจะต้องปลอดภัยทางกายภาพเพียงเท่านั้น แต่ Digital Safety ยังรวมถึงความปลอดภัยทางด้านจิตใจอีกด้วย
“โลกพัฒนาก้าวหน้าไปแค่ไหน เทคโนโลยีก้าวหน้าไปแค่ไหน ความปลอดภัยทางเทคโนโลยียิ่งสำคัญมากขึ้นทวีคูณ ปัจจุบันเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI สำคัญมาก ดังนั้น คนที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์จะต้องมีปัญญาที่ไม่ประดิษฐ์ เป็นปัญญาที่รู้สึกผิดชอบต่อสังคมด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือจัดงาน Safer Internet Day Thailand 2025 (SIDTH 2025) กับทุกภาคส่วน ขอขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะพันธกิจของจุฬาลงกรณ์ คือ ‘Safer Internet Safer the World’ มาร่วมแลกเปลี่ยนและร่วมสร้างโลกใบใหม่ในโลกของอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและมีความสุขมากยิ่งขึ้น”
งาน Safer Internet Day Thailand 2025 (SIDTH 2025) ภายใต้แนวคิด "Together for a Safer Internet" ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกภาคส่วนมาร่วมกันเสริมสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน มุ่งสื่อสารให้ประชาชนมีองค์ความรู้รับมือภัยออนไลน์ทุกรูปแบบ และมีขีดความสามารถในการใช้สื่อออนไลน์ โดยยึดหลัก 3S คือ 1. SAFE รู้จักปกป้องตนเองจากภัยออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ 2. SMART ฉลาดใช้งานในทางสร้างสรรค์ เกิดประโยชน์ สร้างงาน สร้างอาชีพ และนวัตกรรมใหม่ ๆ 3. STRONG มีความเข้มแข็งรับมือกับปัญหา ฟื้นฟูเยียวยาได้ มีภูมิคุ้มกัน
สสส. สานพลังภาคี 50 องค์กร
ลดความเสี่ยง-ป้องกันภัยในยุคดิจิทัล
มุ่งสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่ดี
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. ได้กล่าวถึงบทบาทของ สสส.และการสนับสนุนการจัดงาน Safer Internet Day Thailand 2025 (SIDTH 2025) ภายใต้แนวคิด "Together for a Safer Internet" ว่า สสส. มุ่งสร้างสังคมแห่งการรู้เท่าทันสื่อ ส่งเสริมพลเมืองใช้สื่อสร้างสรรค์ ผ่านการยกระดับทักษะเท่าทันสื่อดิจิทัลให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย ควบคู่กับการพัฒนากลไกเฝ้าระวังตรวจสอบสื่ออย่างมีส่วนร่วม การส่งเสริมการจัดการความรู้ และการขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบายเพื่อสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่สมดุลและยั่งยืน โดยร่วมกับภาคี 50 องค์กร จัดงาน SIDTH 2025 เพื่อทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปลอดภัย โดย สสส. มีความเชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนจะทำให้เกิดระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่ดีได้
“ยอมรับว่าอินเทอร์เน็ตทำให้โลกของเราดีขึ้น ทำให้ความรู้ต่าง ๆ การแลกเปลี่ยนต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น คนที่มีความรู้มากขึ้นก็จะผลิตอาหารได้ดีขึ้น ความรู้ทางการแพทย์ก็ดีขึ้น รักษาคนได้มากขึ้น คนป่วยก็น้อยลง คนยากจนก็น้อยลง เรามองเห็นสิ่งดีทั้งนั้นเลย อินเทอร์เน็ตจึงเป็นเสมือนหลอดเลือดที่นำสารอาหารส่งไปทั่วร่างกาย แต่แน่นอนในหลอดเลือดนั้นถ้าเกิดมีสารพิษก็สามารถนำสารพิษไปสู่ร่างกายและทำลายทุกเซลล์ได้เช่นกัน อินเทอร์เน็ตจึงเป็นสิ่งดีและเป็นสิ่งที่นำพาอันตรายมาสู่พวกเราได้ ซึ่งความผิดไม่ได้อยู่ที่อินเทอร์เน็ต แต่ความน่ากลัวอยู่ที่กิเลสมนุษย์ที่เป็นตัวสำคัญที่ทำให้มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าเราสามารถช่วยกันปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน หรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุ จากการเข้าถึงการหลอกลวงทางออนไลน์ ก็จะทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยขึ้นได้”
“สสส. เชื่อมั่นใน ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สร้างจุดเปลี่ยนพัฒนาประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าภาครัฐอย่างเดียวทำงานไม่สำเร็จ ต้องอาศัยภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคประชาชนด้วย ดังนั้น งานในครั้งนี้จึงเป็นส่วนสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้รวมพลังกัน ทำงานร่วมกัน สสส. เราพยายามจะเข้าไปทำงานร่วมเพื่อที่จะทำให้เกิดระบบนิเวศสุขภาวะสื่อที่ดี และเราเชื่อมั่นว่าพลังของทุกคนจะสามารถปกป้องทำให้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยได้”
สื่อออนไลน์ “ภัยคุกคามเด็กและเยาวชน”
จากข้อมูลพบเด็กอายุระหว่าง 12-17 ปี ราว 400,000 คนในประเทศไทย หรือร้อยละ 9 ตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ โดยมีเพียงร้อยละ 1-3 เท่านั้นที่แจ้งตำรวจ
นายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิเด็กในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) ได้สะท้อนถึงปัญหาในสื่อออนไลน์และให้ข้อมูลว่า ‘เด็กและเยาวชน’ ตกเป็นเหยื่อทางออนไลน์ง่ายที่สุด ซึ่งจากรายงานเรื่อง หยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย (Disrupting Harm in Thailand) ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ ร่วมกับเอ็คแพท และอินเตอร์โพล พบว่า ในปี พ.ศ. 2564 มีเด็กอายุระหว่าง 12-17 ปี ราว 400,000 คนในประเทศไทย หรือร้อยละ 9 ตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ ผ่านวิธีการหลากหลายรูปแบบโดยคนแปลกหน้าหรือบุคคลที่เด็กรู้จัก เช่น การส่งต่อภาพทางเพศของพวกเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการแบล็คเมลหรือข่มขู่เด็กให้เข้าร่วมกิจกรรมทางเพศ โดยสัญญาว่าจะให้เงินหรือสิ่งของเป็นการตอบแทน รายงานฉบับนี้ยังพบว่า เด็ก ๆ มักจะไม่บอกใครและไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือที่ไหน โดยมีเพียงร้อยละ 1-3 เท่านั้นที่แจ้งตำรวจ นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็ก ๆ มักโทษตัวเองและเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและคนทั่วไปก็คิดแบบนั้นเช่นกัน ซึ่งกลายเป็นปัญหาร้ายแรงต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน
“ปัญหาเรื่องออนไลน์ เรื่องไซเบอร์ หลายคนมักมองไปที่คอลเซ็นเตอร์ ทำให้ทุกหน่วยงานทุ่มเทแก้ปัญหาเรื่องการหลอกลวงทรัพย์สินทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ แต่รู้หรือไม่ว่าปัญหาเด็กที่ถูกหลอกลวงทางเพศก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล สื่อออนไลน์กำลังเป็นภัยคุกคามเด็กและเยาวชน จากกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีใช้เป็นช่องทางแฝงตัวจ้องเข้ามาล่อลวงแสวงหาผลประโยชน์ หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่นับวันยิ่งจะเกิดถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเรื่องนี้ผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ ต่างตื่นตัวและได้ทำปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ โดยในอาเซียนปี 2020 ได้ทำแผนปฏิบัติไว้ 2 แนว แนวแรก “ปรับกฎหมายรับสถานการณ์” เพราะกฎหมายล่วงละเมิดทางเพศในประเทศอาเซียนบังคับใช้มานาน เทคโนโลยีทำให้การทำผิดซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นต้องปรับกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีหลายประเทศที่ได้พยายามปรับปรุงกฎหมายในรูปแบบต่าง ๆ แนวที่สอง “การปฏิบัติในการบริการ และคุ้มครองสนับสนุนเด็ก” กรณีที่เด็กต้องตกเป็นเหยื่อแต่ละประเทศจะมีแนวทางการปฏิบัติอย่างไร เพื่อสนับสนุนความสามารถในการเข้าถึงระบบคุ้มครองเด็ก”
เน้นสร้างความตระหนัก ให้ทุกคนมีส่วนร่วม
มุ่งสื่อสารให้ประชาชนมีองค์ความรู้รับมือภัยออนไลน์
พร้อมผลักดันกฎหมายเชิงป้องกัน
ด้าน ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวให้ข้อมูลเสริมถึงปัญหาการล่อลวงและค้าสื่อลามกอนาจารเด็กว่า มีความรุนแรงมากขึ้น เหยื่อเด็กมีอายุน้อยลง และจำนวนคดีก็เพิ่มมากขึ้นถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ทำงานไม่ทัน การผลักดันกฎหมายเชิงป้องกันและการจัดการ จับคนร้ายที่มีพฤติกรรมเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศ
“จริง ๆ ทุกวันนี้ เรามีพรบ. คอมพิวเตอร์ แต่ยังครอบคลุมแค่บางเรื่อง เช่น การนำเข้าสื่อลามกอนาจารเข้าสู่คอมพิวเตอร์ เรามีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราเจอคือคนร้ายยังไม่ได้นำเข้าระบบคอมพิวเตอร์แต่กำลังล่อลวง คนร้ายบางคนเป็น Stalking แอบส่องชีวิตในโลกออนไลน์ รู้ว่าไปไหน ส่งข้อความมาหา หรือคนร้ายบางรายใช้วิธี กรูมมิ่ง (Grooming) คือกระบวนการเตรียมผู้ถูกกระทำให้อยู่ในสภาพที่จะไม่กล้าขัดคำสั่ง ชักจูงโน้มน้าวหรือกดดัน เพื่อนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งต้องบอกว่ามีเคสแบบนี้เกิดขึ้นจริง ๆ มีการแจ้งความ แต่บางเคสก็ไม่สามารถแจ้งความได้ เพราะตำรวจมองว่ายังไม่ได้ข่มขืน อนาจาร กระทำชำเรา หรือสอดใส่ ตรงนี้จึงมองว่า ถ้าเรารอให้คนร้ายล่อลวง รอให้ถึงขั้นข่มขืน ทำอนาจาร หรือพรากผู้เยาว์ อาจทำให้เด็กตายทั้งเป็น บางคนฆ่าตัวตายเลยก็มี ดังนั้น เราจึงควรมีกฎหมายเชิงป้องกัน จริง ๆ แล้วกฎหมายอาจจะไม่ต้องร่างขึ้นมาใหม่หรือศึกษาใหม่เลย แต่อาจจะเป็นการเพิ่มเข้าไปหรือปรับให้เข้ากับตัวบทกฎหมายที่เรามีอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้สามารถพัฒนากฎหมายได้รวดเร็วขึ้น”
นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่างาน SIDTH 2025 มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างกลไกของรัฐบาลในการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ ซึ่งจากข้อสรุปจากเวที ASEAN ICT Forum 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปี พ.ศ. 2567 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ว่าด้วยเรื่องบทบาทของแพลตฟอร์มดิจิทัลในการจัดการกับปัญหาการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศต่อเด็กในสภาพแวดล้อมออนไลน์ (OCSEA : Online Child Sexual Exploitation and Abuse) จะนำมาต่อยอด โดยการปกป้องเด็กในโลกดิจิทัลจำเป็นต้องมีการปฏิรูปนโยบายและกฎหมายที่เข้มแข็ง เสริมสร้างความร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ พร้อมส่งเสริมให้เด็กและครอบครัวมีความรู้เท่าทันภัยออนไลน์ การทำงานร่วมกันอย่างจริงจังทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ จะช่วยป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เราทุกคนต้องเผชิญกับอันตรายในโลกอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ประเด็นสำคัญที่อยากให้คำนึงมากขึ้น คือ เรื่องกฎหมาย เรื่องการพัฒนา Digital Literacy หรือทักษะความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนควรมี”
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช ยังได้แสดงความคิดเห็นอีกว่า เรื่องภัยออนไลน์ต้องสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ให้พ่อแม่ ให้ผู้ปกครองได้ดูแลลูก ให้เด็ก ให้ประชาชนได้ป้องกันตนเอง รวมถึงภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มากกว่า 50 องค์กร ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้กันต่อไป
“อนาคตเราหวังอยากให้มีศูนย์แห่งชาติที่ดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยภารกิจคือ ให้ความรู้ ป้องกัน สร้างความตระหนัก คุ้มครอง ช่วยเหลือ ติดตามผล มีกระบวนการยุติธรรม มีกฎหมายดูแล” ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กล่าวเสริม
สสส. และภาคี หวังว่า SIDTH 2025 จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
สู่สังคมออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในอนาคต
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า SIDTH 2025 จะเป็นเวทีวิชาการที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาต่อเนื่อง สสส. คาดหวังว่าจากการที่ทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน จะทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาให้ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตดีขึ้นได้
“ผมคิดว่าคนในสังคมเราจำเป็นต้องกลับมามองประเด็น หาวิธีการสร้างการรับรู้ของตัวเราและคนรอบข้างให้มากขึ้น โจทย์นี้เป็นโจทย์ใหญ่ ซึ่งภัยออนไลน์ยังมีหลากหลายรูปแบบ ที่เราต้องเข้าไปวิเคราะห์ข้อมูลปัญหา และช่วยกันหากระบวนการจัดการ เรายืนยันที่จะร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง จริงจัง และขอใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เพื่อร่วมสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน”