xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทของดนตรีในการส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน โดยแต่ละสังคมก็จะมีดนตรีหรือบทเพลงเป็นของตัวเองไม่ว่าจะเป็นดนตรีไทยหรือดนตรีสากลก็ตาม นอกจากนี้ มนุษย์ได้นำดนตรีมาใช้เพื่อเป็นสื่อกลางในการบำบัดทางด้านต่าง ๆ เพราะดนตรีอยู่รอบตัวเราและเป็นสิ่งที่มนุษย์ยอมรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การนำดนตรีมาใช้เพื่อส่งเสริมในเรื่องของการนอนนับเป็นหนึ่งในประโยชน์ที่มนุษย์มีการนำดนตรีมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต

อาจารย์วิพุธ เคหะสุวรรณ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ดนตรีมีความสามารถพิเศษที่เข้ามามีส่วนช่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจของมนุษย์ โดยเฉพาะดนตรีหรือเพลงที่ชอบมักจะให้ความรู้สึกที่ดี ผ่อนคลาย และสบายใจแก่ตัวผู้รับฟัง ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยและปลอดภัย คลายความเครียดและความกังวลใจ อีกทั้งดนตรีโดยเฉพาะแบบที่มีจังหวะค่อนข้างช้าและไม่ซับซ้อน ยังช่วยปรับระบบการทำงานของร่างกาย เช่น ลดความเร็วของอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความดันโลหิต ทำให้ร่างกายเกิดความสงบและผ่อนคลายลงได้ เพราะฉะนั้นเมื่อร่างกายและจิตใจรู้สึกผ่อนคลายก็จะทำให้สามารถนอนหลับได้ง่ายและดียิ่งขึ้น

อาจารย์กฤษดา หุ่นเจริญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต่อว่า สภาวะเครียดหรือกดดันเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาการนอนหลับ เนื่องจากสภาวะสู้หรือหนี (fight or flight) ที่ทำให้ร่างกายและจิตใจยังมีความตื่นตัวและเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานหรือแก้ปัญหา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพักผ่อนและการฟื้นฟูร่างกายขณะนอนหลับ อย่างไรก็ตาม ดนตรีมีคุณสมบัติในการช่วยให้เกิดการผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์ได้ โดยการใช้ดนตรีควรเลือกใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการนอน และควรระมัดระวังปัจจัยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น ภาพประกอบเพลง เนื้อหา ความคิดเห็นในสื่อโซเชียลมีเดีย และควรจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนนอนแล้วใช้ดนตรีเข้ามาช่วยก็จะทำให้เราสามารถเข้าสู่สภาวะผ่อนคลายและหลับได้ตามธรรมชาติมากขึ้น

โดยปกติสาเหตุของอาการนอนไม่หลับหรือนอนไม่ดีเกิดจากปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย (Biological factors) ซึ่งสาเหตุของการนอนไม่หลับส่วนใหญ่มักเกิดจากปัจจัยด้านนี้ที่อาจส่งผลต่อความไม่สบายกายในด้านต่าง ๆ เช่น มีโรคประจำตัว ปัญหาทางสมอง รวมถึงฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ด้านจิตใจ (Psychological factors) จะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกและความคิด ซึ่งอาจทำให้เกิดทั้งความรู้สึกที่ดีหรือไม่ดีในขณะนั้น รวมถึงบางคนอาจมีทักษะในการจัดการกับปัญหาด้านนี้ได้ไม่ดีนัก จึงส่งผลให้เกิดภาวะนอนไม่หลับหรือหลับอย่างไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ปัญหาที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวล ก็สามารถมีปัญหาการนอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป ด้านสุดท้าย คือ ด้านสังคม (Social factors) หมายถึง ผลกระทบของสังคมและสภาพแวดล้อม ที่อาจส่งผลต่อการนอนหลับได้ เช่น การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยและถูกรบกวน หรือการนอนต่างสถานที่ อาจทำให้ต้องใช้เวลาในการปรับตัวจึงจะหลับได้

อาจารย์วิพุธ เคหะสุวรรณ เสริมว่า ส่วนหนึ่งจึงอาจต้องค้นหาสาเหตุของการนอนไม่หลับก่อนว่าเป็นเพราะอะไรหรือเกิดจากสาเหตุใด ถ้าเป็นเพราะความเครียดก็ต้องจัดการกับสาเหตุของปัญหานั้นก่อน แต่หากปัญหานั้นต้องใช้เวลานานในการแก้ไขหรือเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขในเวลานั้น ก็สามารถใช้ดนตรีในการช่วยลดความเครียดซึ่งช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น โดยทั่วไป ดนตรีบรรเลงหรือเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องหรือเรื่องราวให้คิดตาม เครื่องดนตรีน้อยชิ้น เสียงดนตรีไม่ซับซ้อนและเบาสบายจะช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย เบี่ยงเบนผู้ฟังไปจากความคิดหรือความรู้สึกที่เป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับได้ ซึ่งการเปิดเพลงเร็ว ๆ พร้อมกับออกกำลังกายยังถือเป็นการช่วยปลดปล่อยพลังงานออกไปซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้สึกโล่งสบายและนอนหลับได้ง่ายขึ้น

แม้ว่างานวิจัยจะรายงานว่าดนตรีที่มีจังหวะช้า ควรเป็นเพลงบรรเลงและไม่ซับซ้อนช่วยเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับได้ แต่วิธีที่ดีที่สุดคืออยากให้คนที่จะใช้ดนตรีเป็นคนคัดสรรและเลือกด้วยตัวเองก่อน โดยการลองฟังและพิจารณาดูว่าเพลงที่เราฟังให้ความรู้สึกผ่อนคลายหรือสบายกายใจหรือไม่ หรือเพลงกลับทำให้เครียดหรือเศร้ากว่าเดิม หรือกระตุ้นทำให้ตื่นตัวจนกลายเป็นไม่นอน บางคนฟังเพลงบรรเลงแล้วนอนหลับได้ดี แต่บางคนฟังเพลงร็อคแล้วหลับได้เร็วกว่าเดิมก็มีเช่นกัน นอกจากนี้ การฟังคลื่นเสียง (sound wave) สำหรับบางคนอาจนอนไม่หลับเพราะไม่ได้รู้สึกปลอดภัยกับเสียงประเภทนี้ก็ได้ บางคนอาจรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในห้วงอวกาศ ดนตรีที่มีเสียงธรรมชาติ (natural sounds with music) อาจสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย แต่บางคนอาจรู้สึกรำคาญเสียงนกร้องหรือเสียงน้ำอาจกระตุ้นความทรงจำที่ไม่ดีในอดีตได้ เพราะฉะนั้น อยากให้เลือกเพลงที่เราชอบ (preferred music) ที่เป็นเพลงที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ สบายกาย และไม่กระตุ้นความเครียดหรือประสบการณ์ในอดีตที่ไม่ดีขึ้นมา จากนั้นฟังอย่างตั้งใจโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เรานอนได้สบายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ “จังหวะ” (tempo) ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ จังหวะที่เร่งอาจทำให้เรานอนหลับไม่ค่อยดีนัก ซึ่งเพลงเร็วมีส่วนในการกระตุ้นความรู้สึกหรือระบบประสาทของเราได้ โดยความเร็วที่เหมาะสมที่สุดอยู่ที่ 60-80 BPM (beats per minute) ส่วนในเรื่องของ “ทำนอง” (melody/pitch) ก็ไม่ควรที่จะกระโดดมาก ทำนองส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบคาดเดาได้ มีเสียงใกล้ ๆ กัน ก็จะช่วยให้ความรู้สึกของเราตามเสียงนั้น ๆ ไป รวมถึง “คอร์ด” โดยส่วนใหญ่ก็จะต้องเป็นคอร์ดที่ฟังแล้วลื่นหู และเข้ากันได้พอดี ฟังแล้วไม่กระโดด ก็จะทำให้ผู้รับฟังรู้สึกสบายมากกว่าแบบที่ไม่สามารถคาดเดาได้ นอกจากนี้ จากงานวิจัยต่างประเทศในเรื่องของเครื่องดนตรี ก็แนะนำให้เป็นในกลุ่มเครื่องสาย (string) เช่น ไวโอลิน เชลโล่ หรือเปียโน ส่วนของไทยก็สามารถเลือกเป็นประเภทเพลงป๊อปก็ได้

อาจารย์กฤษดา หุ่นเจริญ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ดนตรีเป็นของทุกคน” ปัจจุบันมีช่องทางมากมายที่ช่วยให้เราเข้าถึงดนตรีได้อย่างสะดวกและง่ายดาย การเลือกเพลงแต่ละเพลงเราสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้แทบทั้งสิ้นถึงแม้ว่าเพลงอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดของทางออกของปัญหาก็ตาม หากพิจารณาตามหลักในการสมดุลชีวิตหรือการบาลานซ์ที่บางทีระหว่างวันเราอาจจะเครียดเกินไปและไม่ได้ถูกกำจัดออกอย่างถูกวิธี การเลือกฟังเพลงเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายก็อาจไม่ได้ทำให้หายเครียดได้เพราะแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด หรือบางครั้งอาจเป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น จำเป็นต้องกินยาบางอย่าง มีอาการนอนกรน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับภาวะหยุดหายใจจนตื่นมากลางดึกแล้วนอนต่อไม่ได้ การใช้ดนตรีมาช่วยจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพตรงนี้ได้ รวมถึงบางครั้งอาจเป็นปัญหาเรื่องสังคมหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการนอนหลับ การอยู่ในสถานที่หนึ่งที่มีความเครียดความกดดันสูงก็อาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ฉะนั้นดนตรีไม่ใช่ยาวิเศษ เราจึงควรพิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ อย่างรอบด้าน แล้วสุดท้ายหัวใจสำคัญที่ควรพิจารณาคือสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ช่วยให้เรานอนหลับได้ดีขึ้นหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น