xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวง อว. -มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี หารือความร่วมมือพัฒนาด้านการศึกษา วิจัยและนวัตกรรมไทย-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้แทนกระทรวง อว. ให้การต้อนรับ นางสาวเหวย ชื่อ-เจิน (Ms.Wei Shizhen) อธิการบดีมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี (Guangxi Minzu University) และคณะ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการประสานงานของคุณหวง เว่ยเว่ย (Mr.Huang Weiwei) รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสและกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนากลยุทธ์และความร่วมมือกับประเทศจีน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) เพื่อประชุมหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่าง อว. และมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี ณ ห้องประชุม 18C อาคารอุดมศึกษา 2 สป.อว.

ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ความร่วมมือทางการอุดมศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาโดยตลอด โดยปัจจุบันมีนักศึกษาจีนจำนวน 23,496 คน กำลังศึกษาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดจากทั้งหมด 43,977 คน ขณะเดียวกันนักศึกษาไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในสาธารณรัฐประชาชนจีนเช่นกัน กระทรวง อว. จึงตระหนักดีถึงคุณค่าของความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและในระดับมณฑล และเชื่อว่าการหารือในวันนี้จะนำไปสู่การขยายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยและจีน โดยเฉพาะในด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา การวิจัยร่วม การพัฒนาหลักสูตร การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาด้านนวัตกรรม

ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังมีนโยบายที่สำคัญ ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างองค์ความรู้ และการส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะใน สาขาเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีอวกาศ วิทยาศาสตร์การแพทย์ และเทคโนโลยีสีเขียว ทั้งยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยสามารถบูรณาการความร่วมมือร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระดับโลกต่อไป

“ปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาในไทยออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก 2.กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม 3.กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น 4.กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา และ 5.กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ ซึ่งทุกกลุ่มมีห้องแล็บที่พร้อมให้การสนับสนุนในการวิจัยด้านต่าง ๆ อาทิ ห้องแล็บด้านดาราศาสตร์ ควอนตัม ฟิสิกส์ EV AI เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น ส่วนความร่วมมือด้านนวัตกรรม กระทรวง อว. มีหน่วยงานในสังกัดด้านวิจัยและนวัตกรรมมากกว่า 16 หน่วยงาน ที่พร้อมให้ความร่วมมือ อาทิ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ สถาบันที่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีรวมไปถึงพัฒนาผู้ประกอบการที่ทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาอยู่แล้ว ทั้งนี้ยังมีแผนที่จะขยายความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านภาษาโดยการจัดตั้งสถาบันขงจื้อเพิ่มขึ้นในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเอกชนนอกเหนือจากเดิมที่มีอยู่แล้วในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นอกจากนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน กระทรวง อว. ได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมผ่านการจัดแสดงนิทรรศการในงาน อว.แฟร์ ปี 68 พร้อมจัดการประกวดสุนทรพจน์และความรู้ภาษาจีนระดับอุดมศึกษาซึ่งจัดอยู่แล้วทุกปีให้อยู่ภายในงานนี้ด้วย” ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว

ด้าน นางสาวเหวย ชื่อ-เจิน (Ms.Wei Shizhen) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเยือนครั้งนี้ และแนวทางความร่วมมือที่เป็นไปได้ระหว่างมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีและสถาบันอุดมศึกษาของไทยว่า มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีเป็นมหาวิทยาลัยสหวิทยาการที่มีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงในมณฑลกว่างซี ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองทางด้านทิศตะวันตกของนครหนานหนิงซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลกว่างซี ปัจจุบันมีสาขาวิชามากกว่า 80 วิชา 26 คณะ มีนักศึกษาประมาณ 43,000 คน เป็นนักศึกษาไทยและต่างชาติรวมกว่า 2,100 คน การมาเยือนครั้งนี้นอกจากการขยายความร่วมมือเดิมในการพัฒนาบุคลากรด้านภาษาทั้งคณาอาจารย์และนักศึกษาแล้ว ยังมีนโยบายการพัฒนาเชิงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการให้ทางกระทรวง อว. สนับสนุนใน 2 ประเด็นคือ การสร้างหรือพัฒนาห้องแล็บและด้านนวัตกรรม โดยการเป็นหน่วยประสานเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย










กำลังโหลดความคิดเห็น