ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยความท้าทาย การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาคน ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาคนที่ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีการเรียนการสอน การอบรมครู ไปจนถึงการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตสำหรับนักเรียนและประชาชนตลอดชีวิต เน้นสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ ได้รับการพัฒนาอย่างดีที่สุดในทุกช่วงวัย และพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ การสร้าง “คน” คือ การลงทุนที่คุ้มค่า และต้องคำนึงถึงมากที่สุด ในแผนการพัฒนาการศึกษาของประเทศ
ความท้าทายที่การศึกษาไทยต้องก้าวผ่าน
การศึกษาไทยยังเผชิญหน้าความท้าทายที่เป็นโจทย์ใหญ่ ด้านปัญหาอุปสรรคหลักของระบบการศึกษาไทย ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลยังขาดแคลนทรัพยากรพื้นฐาน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อุปกรณ์ดิจิทัล และสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย ครูขาดทักษะและทรัพยากรสนับสนุน หลักสูตรไม่ตอบโจทย์ทักษะศตวรรษที่ 21 เน้นท่องจำและวิชาการ ขาดการเชื่อมโยงกับทักษะที่จำเป็นในโลกการทำงาน เช่น การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะดิจิทัล การบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ผู้บริหารโรงเรียนต้องเผชิญกับความกดดันจากนโยบายที่เปลี่ยนแปลงบ่อยและระบบงบประมาณที่จำกัด ทำให้ขาดความคล่องตัวในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ปกครองผู้ปกครองยังขาดความรู้และทักษะในการสนับสนุนการเรียนรู้ของลูก และการสื่อสารระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง
15 ข้อเสนอแนะยกระดับการศึกษาไทย
นายวิทยา มิตรศรัทธา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนซิส มีเดียคอม จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา เปิดเผยว่า “15 ข้อเสนอ ที่นำเสนอผ่านบทความ “15 ข้อเสนอ ปูทางพัฒนาการศึกษา อัปเกรดโอกาส ปลุกพลังคน พลิกโฉมอนาคตประเทศไทย” เป็นข้อเสนอในมุมมองภาคเอกชน ที่มีคาดหวังและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาในมุมมองและกรอบคิดใหม่ จากประสบการณ์ในแวดวงการศึกษามากกว่า 29 ปีของเจเนซิส เชื่อว่าการศึกษาและการพัฒนาคน คือ หัวใจของการพัฒนาชาติ “คน” คือ ทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดของประเทศ จึงต้องสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ ได้รับการพัฒนาอย่างดีที่สุดในทุกช่วงวัย แนวทาง 15 ข้อนี้ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลกและตอบสนองต่อความต้องการของอนาคต
1. ปรับปรุงโครงสร้างเทคโนโลยีของโรงเรียน ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ดิจิทัล เช่น จอภาพระบบสัมผัส คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง พร้อมจัดตั้งพื้นที่สร้างสรรค์อย่าง Makerspace เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ และสนับสนุนการศึกษานอกห้องเรียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
2. สร้างโอกาสด้านเครื่องมือประจำตัวในการเข้าถึงสื่อการสอนและสื่อการเรียนรู้ โดยแจกแท็บเล็ตหรืออุปกรณ์ประจำตัวครูและนักเรียนภายใน 5 ปี พัฒนา Learning Management System (LMS) ให้ครอบคลุมทุกหลักสูตร และส่งเสริม Blended Learning ที่ผสมผสานการเรียนรู้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
3. เพิ่มความเป็นผู้นำเชิงนวัตกรรม ผ่านการอบรมผู้นำการศึกษา 30,000 คนให้มีทักษะด้านการคิดเชิงกลยุทธ์และการใช้เทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบบริหารโรงเรียน (SMS) และนำระบบมาใช้วิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเพื่อช่วยพัฒนาแผนการเรียนการสอน
4. พัฒนาครูให้มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี โดยเปิดให้เข้าถึงซอฟต์แวร์สร้างบทเรียนดิจิทัล สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการวางแผนการสอนและประเมินผลนักเรียน และลดภาระงานเอกสารด้วยระบบอัตโนมัติเพื่อให้ครูมีเวลาสอนมากขึ้น
5. ยกระดับการสอนของครู ด้วยการสร้างคลังสื่อการสอนออนไลน์ที่ครอบคลุมสื่อ 3D, VR, Metaverse และสื่อดิจิทัลอื่นๆ พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Active Learning และ Problem-Based Learning รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และทักษะการแก้ปัญหา
6. อบรมครูอย่างต่อเนื่อง ผ่านหลักสูตรอบรม 500 หลักสูตรใน 5 ปี ครอบคลุมหัวข้อสำคัญ เช่น PBL และ Design Thinking สนับสนุนการเรียนรู้แบบ Mentorship เชื่อมโยงครูรุ่นใหม่กับผู้มีประสบการณ์ และใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงการอบรมได้สะดวก
7. พัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลและการสื่อสาร ที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครองผ่านระบบดิจิทัล รวมถึงการแจ้งเตือนและติดตามผลสัมฤทธิ์
8. ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน มีห้องสมุดดิจิทัลและแพลตฟอร์มคลังสื่อเพื่อการเรียนรู้ สนับสนุนการเรียนรู้เชิงโต้ตอบ (Interactive) ผ่านบทเรียนที่ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเสริมประสบการณ์การเรียนรู้
9. สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่าน Project-Based Learning และ Microlearning โดยเปิดโอกาสให้เรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย
10. พัฒนาผู้เรียนผ่านการฝึกฝน จัดตั้งแพลตฟอร์มออนไลน์แห่งชาติ สำหรับการเรียนรู้ ฝึกทำตะลุยโจทย์ ทำแบบข้อสอบผ่านระบบด้วยตนเอง ที่รองรับนักเรียน 2 ล้านคน และใช้ AI วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อนรายบุคคลเพื่อพัฒนาแผนการเรียนรู้เฉพาะตัว
11.ส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ จัดการเรียนการสอนแบบสองภาษาและกิจกรรม English Day มีแอปพลิเคชันช่วยพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่านและเขียน ส่งเสริมการฝึกภาษาอังกฤษผ่านกิจกรรมสนทนากับครูทักษะสูง พร้อมใช้ AI วิเคราะห์จุดอ่อนด้านภาษาของนักเรียนและช่วยพัฒนารายบุคคล
12. พัฒนาทักษะแห่งอนาคต ผ่านหลักสูตรที่จำเป็นเพื่อตอบสนองทักษะที่โลกคาดหวัง เช่น Coding, AI, Data Analysis และ Soft Skills พร้อมสนับสนุนการเรียนรู้แบบ Experiential Learning และ Problem-Based Learning
13. พัฒนาคนอย่างเป็นระบบด้วยเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาคนและครอบครัว (อพค.) ซึ่งเป็นเหมือน "ครูของชุมชน" ให้คำแนะนำด้านการศึกษา ทักษะอาชีพ และการใช้ชีวิตในทุกช่วงวัย สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาครอบครัวและชุมชน พร้อมประสานทรัพยากรจากภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
14. สร้างแพลตฟอร์มวางแผนชีวิต ช่วยกำหนดเป้าหมายและวางแผนพัฒนาตนเองในทุกช่วงวัย ผ่าน LPP ID ที่เชื่อมโยงกับวิทยาลัยออนไลน์ตลอดชีวิต ใช้ AI และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ วิเคราะห์ศักยภาพ แนะนำเส้นทางพัฒนาอาชีพ ทักษะ และสุขภาพ พร้อม บันทึก Portfolio และเชื่อมโยงเครือข่ายที่ปรึกษาเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
15. ปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาคน มุ่งพัฒนาคนแบบองค์รวม ที่ครอบคลุมทั้ง ร่างกาย สมอง และจิตใจ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ ความรู้ และคุณธรรม นำไปสู่การเติบโตที่สมบูรณ์แบบและมีคุณภาพ เกิดความสำเร็จอย่างแท้จริงในประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (Real Success Nation)
“การศึกษา” คือกุญแจสู่การพัฒนาประเทศ ลงทุนใน “คน” คือการลงทุนที่คุ้มค่า
การยกระดับการศึกษาไทยไม่ใช่เพียงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานหรือนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและกระบวนการพัฒนาคนในทุกมิติ โดยเริ่มจากหน่วยที่เล็กที่สุด คือบุคคลและครอบครัว (Micro-Level) เพื่อขยายผลสู่ชุมชนและสังคม (Macro-Level)
“เราเชื่อว่า การลงทุนใน “คน” คือ การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด แนวทางสู่การเปลี่ยนแปลง คือ "ทำจากเล็กไปใหญ่" จากบุคคลสู่ครอบครัว โรงเรียนและสังคม และนำเครื่องมือเทคโนโลยี มาสร้างโอกาสที่เท่าเทียม ความเท่าเทียมที่ง่าย มีค่าใช้จ่ายต่ำและคุ้มค่าที่สุด คือ “ดิจิทัล” ถ้าเราต้องการปลุกพลังคน พลิกโฉมประเทศ เราต้องเริ่มต้นที่การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาคน และต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างคนไทยให้มีศักยภาพ พร้อมรับมือกับความท้าทายของโลกยุคใหม่ และขับเคลื่อนประเทศสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง” นายวิทยา กล่าวทิ้งท้าย
*อ้างอิงเนื้อหาจาก บทความ “15 ข้อเสนอ ปูทางพัฒนาการศึกษา-อัปเกรดโอกาส ปลุกพลังคน พลิกโฉมอนาคตประเทศไทย” อ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.genesis.co.th/post/15-ข้อเสนอ-ปูทางพัฒนาการศึกษา-อัปเกรดโอกาส-ปลุกพลังคน-พลิกโฉมอนาคตประเทศไทย