รูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis หรือ RA) คือโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำลายเนื้อเยื่อของตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้เกิดการอักเสบในบริเวณ “ข้อเล็ก” เช่น ข้อมือ นิ้วมือ และนิ้วเท้า และอาจเกิดการบวม แดง ร้อน เกิดอาการเจ็บปวด และมักมีความฝืดของข้อในช่วงเช้า เป็นเวลานานกว่า 30 นาทีและเนื้อเยื่อรอบข้อ อาจส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย หากผู้ป่วยปล่อยไว้นานโดยไม่รักษา อาจทำให้บริเวณข้อเสียหายหรือผิดรูป และส่งผลต่ออวัยวะอื่น เช่น ปอด หัวใจ หรือหลอดเลือดได้และสาเหตุของการเกิดโรครูมาตอยด์ ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอาจรวมถึง พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม ฮอร์โมน
ผู้ป่วยที่มีโรครูมาตอยด์มักมีอาการดังต่อไปนี้
ปวดข้อเรื้อรัง บริเวณ ข้อ เช่น ข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อเข่า
ข้อบวมและอักเสบ บวม แดง ร้อน และกดเจ็บ
อาการข้อติดในตอนเช้า ตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกว่าข้อแข็ง ขยับลำบาก อาการอาจใช้เวลาหลายนาทีหรือหลายชั่วโมงกว่าจะดีขึ้น
อาการเกิดในหลายข้อพร้อมกัน มักเกิดในข้อเล็ก ๆ เช่น ข้อนิ้ว ข้อมือ โดยมีลักษณะอาการสมมาตร (ทั้งสองข้างของร่างกาย)
ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ห้ามกินอะไรบ้าง!
อาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เช่น ขนมกรุบกรอบ เบเกอรีที่มีเนยขาว หรืออาหารแปรรูป
ไขมันทรานส์สามารถกระตุ้นการอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
น้ำตาลและอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ขนมหวาน ลูกอม หรืออาหารที่มีการเติมน้ำตาลมาก เพราะน้ำตาลสามารถกระตุ้นการอักเสบและเพิ่มระดับสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในร่างกาย
เนื้อแดงและเนื้อแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน หรือแฮม เนื้อแดงมีกรดอะแรคิโดนิก (Arachidonic acid) ซึ่งอาจกระตุ้นการอักเส
อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนย มาการีน ชีส หรือผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันเต็มส่วน
ไขมันอิ่มตัวอาจกระตุ้นการอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังอื่น ๆ
อาหารที่มีเกลือสูง อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง เกลืออาจกระตุ้นการอักเสบและส่งผลเสียต่อสุขภาพกระดูกและข้อ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจกระตุ้นการอักเสบและลดประสิทธิภาพของการรักษาด้วยยา
กลูเตน (สำหรับผู้ป่วยบางราย) ผู้ป่วยบางคนอาจไวต่อกลูเตน (พบในแป้งสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์) ซึ่งอาจกระตุ้นอาการอักเสบในบางกรณี
อาหารทอดหรือปิ้งย่างที่มีการไหม้เกรียม สารที่เกิดจากการไหม้หรือทอดน้ำมันท่วม เช่น อะคริลาไมด์ (Acrylamide) อาจเพิ่มการอักเสบในร่างกาย
อาหารที่ควรรับประทานแทน
ผักและผลไม้ เช่น บลูเบอร์รี่ ส้ม ผักใบเขียว
ปลาที่มีไขมันสูง เช่น แซลมอน แมคเคอเรล (โอเมก้า-3 ลดการอักเสบ)
ถั่วและเมล็ดพืช เช่น อัลมอนด์ วอลนัท
ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวโอ๊ต ควินัว
เครื่องเทศ เช่น ขมิ้นและขิง (มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ)
การรักษา
ยา เช่น ยาต้านการอักเสบ (NSAIDs), ยากลุ่มสเตียรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกัน
กายภาพบำบัด ช่วยลดอาการปวดและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
การผ่าตัด (ในกรณีรุนแรง) เช่น การเปลี่ยนข้อ
แม้โรครูมาตอยด์จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และแม้ว่าโรคจะสงบแล้วก็อาจกลับมาเป็นได้อีก แต่การรักษาในปัจจุบันสามารถช่วยควบคุมโรค ลดอาการ และป้องกันความเสียหายของข้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดูแลตัวเองและการรักษาอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดผลกระทบจากโรคในระยะยาว
บทความโดย
นายแพทย์ เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน คลินิกระงับปวด และผ่าตัด ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่
ศูนย์ระงับปวด คอ บ่า ไหล่ หลัง ชั้น 2
โทร 02-836-9999 ต่อ *2621