xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ความเป็นเลิศทางสารสนเทศศาสตร์ ชีวเวชและสาธารณสุข (BIOPHICS) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล มุ่งพัฒนาระบบสารสนเทศด้านสาธารณสุขให้ประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คุณอำนาจ คำศิริวัชรา หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางสารสนเทศศาสตร์ ชีวเวชและสาธารณสุข (BIOPHICS) กล่าวถึงบทบาทของศูนย์ BIOPHICS ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2534 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยทางระบาดวิทยาของโรคเอดส์และเชื้อเอชไอวี ด้วยการสนับสนุนให้คณะเวชศาสตร์เขตร้อนร่วมงานกับ HV/AIDS Collaboration (HAC) โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวิป กิตยาภรณ์ และศาสตราจารย์ ดร.จรณิต แก้วกังวาล เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานด้านระบาดวิทยา สถิติ และบริหารจัดการข้อมูล และริเริ่มจัดตั้งหน่วยบริหารฐานข้อมูล ขึ้นในปี พ.ศ. 2542 เพื่อดำเนินงานบริหารจัดการข้อมูลทางคลินิก ในโครงการทดลองวัคซีน 2 โครงการขนาดใหญ่ คือ AIDSVAX® Phase I/II ในอาสาสมัครจำนวน 2,500 คน และ โครงการ RV144 ซึ่งเป็นการทดลองวัคซีน HIV/AIDS Phase III ขนาดใหญ่ที่สุด ในอาสาสมัครจำนวนกว่า 16,000 คน โครงการทดลองดังกล่าวใช้เวลาดำเนินการทั้งหมดเป็นระยะเวลากว่า 8 ปี จึงได้ผลสรุป

ในปี พ.ศ.2550 มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เพื่อสนับสนุนงานด้าน Biomedical และ Public Health Informatics จึงได้ เปลี่ยนชื่อจาก หน่วยบริหารฐานข้อมูล เป็น ศูนย์ความเป็นเลิศทางสารสนเทศศาสตร์ ชีวเวชและสาธารณสุข คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล (Center of Excellence of Biomedical and Public Health Informatics – BIOPHICS) ผู้ที่มีส่วนสนับสนุนที่สำคัญในการจัดตั้งศูนย์ฯ ณ ขณะนั้น คือ รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประตาป สิงหศิวานนท์ อดีตคณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และ ได้มอบหมาย ให้ ศาสตราจารย์ ดร.จรณิต แก้วกังวล รับตำแหน่ง หัวหน้าศูนย์ BIOPHICS โดยตั้งเป้าหมายหลักของศูนย์ฯ คือ “Teaching and Reaching” เพื่อให้การศึกษาและอบรม ทางด้านข้อมูลระบบสารสนเทศทางด้านสุขภาพ ให้เป็นมาตรฐานสากล และ ครอบคลุมในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศูนย์ความเป็นเลิศทางสารสนเทศศาสตร์ ชีวเวชและสาธารณสุข (BIOPHICS) มีผลงานที่โดดเด่น เริ่มตั้งแต่สมัยที่ เป็น หน่วยบริหารฐานข้อมูล (Data Management Unit-DMU) ภายใต้ศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล (Vaccine Trial Centre-VTC) ได้มีการเสริมสร้างศักยภาพ และพัฒนาทางด้านการบริหารจัดการข้อมูลไปสู่ความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ผ่าน โครงการวิจัยทางคลินิกที่มีชื่อเสียงมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ โครงการทดสอบวัคซีน AIDSVAX ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ในอาสาสมัครจำนวน 2,500 คน ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากบริษัท VaxGen ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ สาระสำคัญที่ได้รับจากโครงการดังกล่าว คือ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐานในการบริหารจัดการวิจัยทางคลินิก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการถ่ายทอดความรู้ด้านนี้จากประเทศสหรัฐอเมริกา มายังประเทศไทย
ผลงานภายหลังจากที่เปลี่ยนชื่อ เป็น BIOPHICS ทางศูนย์ฯ ได้พัฒนา ระบบเฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรีย ที่มีความสำคัญในการควบคุมและกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ให้กับกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านโรค

ไข้มาลาเรีย และองค์ความรู้ด้านโรคเขตร้อน ประกอบกับความร่วมมือระหว่าง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมควบคุมโรค ทำให้ระบบเฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรียดังกล่าว เป็นระบบแรกในประเทศไทย ที่มีการเก็บข้อมูลเป็นอิเลคโทรนิคส์รวมศูนย์ได้จากทั่วประเทศ และเป็นแนวคิดที่ตรงกับชื่อศูนย์ฯ คือ การนำระบบไอที (Informatics) ผนวกกับงานด้านสาธารณสุข (public health) เกิดเป็นแอปพลิเคชันทั้ง web-based และ แอปพลิเคชัน ผ่านโทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นยุคที่ระบบการสื่อสารยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าปัจจุบัน
 
รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงสารนาถ ล้อพูลศรีนิยม รองหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางสารสนเทศศาสตร์ ชีวเวชและสาธารณสุข (BIOPHICS) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของศูนย์ฯ ในการจัดอบรม “การบริหารจัดการข้อมูลสำหรับงานวิจัยทางคลินิกและวิทยาศาสตร์สุขภาพ” (Data Management for Clinical Research) โดยมุ่งเน้นแบ่งปันความรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้าอบรมที่สำเร็จหลักสูตรไปใช้ในการทำวิจัยและการทำงานในสาขาวิชาชีพ ทั้งนี้ ศูนย์ BIOPHICS ได้ให้บริการปรึกษาด้านการบริหารจัดการ วิเคราะห์ข้อมูลทางคลินิก และงานด้านสารสนเทศศาสตร์ ชีวเวชและสาธารณสุข ให้แก่ หน่วยงานรัฐบาล สถาบันการศึกษาและองค์กรระหว่างประเทศ ด้วยมาตรฐานการปฏิบัติงานในระดับสากล ได้แก่ ด้านสารสนเทศทางสาธารณสุข (Public Health Informatics) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สามารถนำไปใช้ในการควบคุมโรคอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์การระบาดโรค COVID-19 ที่ผ่านมา มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานบริหารจัดการข้อมูล และโครงการทดลองวัคซีนโควิดหลายโครงการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในด้านการศึกษา ศูนย์ BIOPHICS ได้พัฒนาหลักสูตรปริญญาโท ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาสารสนเทศศาสตร์
ชีวเวศและสุขภาพ (Graduate Diploma in Biomedical and Health Informatics; D.B.H.I) และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสารสนเทศศาสตร์ชีวเวชและสุขภาพ (Master of Science in Biomedical and Health Informatics: (M.Sc.(B.H.I.)) ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวมีต้นกำเนิดจากศูนย์ BIOPHICS โดยได้รับทุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ที่ให้การสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยมหิดล

จากบทบาทและบริบทของศูนย์ความเป็นเลิศทางสารสนเทศศาสตร์ ชีวเวชและสาธารณสุข (BIOPHICS) มีเป้าหมาย มุ่งพัฒนาความสามารถด้านบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งมีการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 25 ปี ด้วยผลงานที่มีความโดดเด่นทางด้านสาธารณสุข การให้บริการวิชาการ สร้างคุณประโยชน์ การแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขให้กับประเทศ เพื่อส่งเสริมคุณภาพให้ได้มาตรฐานสู่ระดับสากล




กำลังโหลดความคิดเห็น