จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มุ่งเน้นการใช้พลังของ “การสื่อสาร” เป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะในสังคม ทั้งในรูปแบบของสื่อสร้างสรรค์ โครงการและแคมเปญ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม แต่บ่อยครั้งยังกลายเป็นวลีที่คุ้นหูคนไทยถึงแม้จะผ่านมาหลายยุคหลายสมัยแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น “งดเหล้าเข้าพรรษา” ตามมาด้วยวลีติดปากอย่าง “จน เครียด กินเหล้า” หรือ “รับน้องปลอดเหล้า” “แค่ขยับ = เริ่มออกกำลังกาย” “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” หรือ “ตั้งสติก่อนสตาร์ท”
ปีนี้ สสส. กำลังก้าวไปอีกขั้นสำหรับการ “สื่อสารแบบใหม่” ที่ทรงพลังยิ่งขึ้น ไปกับ “คอนเทนต์สร้างสุข” ผนึกกำลังกับสื่อชั้นนำของประเทศที่มารวมพลังแสดงความตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวด้านสุขภาพใน มุมมองใหม่ เข้าใจง่าย เข้าถึงคนไทยทุกพื้นที่ ด้วยคอนเทนต์คุณภาพคับจอกว่า 7 รายการ!
โดยมีพิธีกร-ดารา ชื่อดัง ทั้งเจ้าพ่อเกมโชว์อย่าง ปัญญา นิรันดร์กุล ตุ๊กกี้ สุดารัตน์ อาร์ม กรกันต์ เต้ย จรินทร์พร ชาย ชาตโยดม กิตติ สิงหาปัด และ ป๋อ ณัฐวุฒิ ร่วมเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่สาระความรู้ด้านสุขภาพ
สสส. ปฏิวัติสุขภาพคนไทย
ผ่าน “คอนเทนต์สร้างสุข”
ที่ผ่านมา สสส. มุ่งสร้างความตระหนักรู้เพื่อให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพ ซึ่งประเด็นปัญหาสุขภาพที่น่าสนใจ คือ ความแตกต่างด้านอายุคาดเฉลี่ยระหว่างเพศชายและเพศหญิงในไทย พบว่า ผู้ชายมีอายุคาดเฉลี่ยเพียง 72 ปี น้อยกว่าผู้หญิงถึง 9 ปี ซึ่งหากเปรียบเทียบในระดับโลก อายุคาดเฉลี่ยของผู้ชายไทยอยู่ในอันดับที่ 91 ขณะที่ผู้หญิงอยู่ในอันดับที่ 59 เมื่อรวมกันแล้วอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่อันดับ 78 ถึงแม้ไทยจะมีดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพอยู่อันดับ 5 ของโลก แต่กลับไม่ใช่คำตอบของการมีชีวิตที่ยืนยาว
โดยหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทย นั่นคือโรคไม่ติดต่อ (Non-Communicable Diseases: NCDs) อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า ความน่ากลัวของโรค NCDs ทำให้ผู้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย คนไทยป่วยด้วยโรค NCDs ถึง 14 ล้านคน ในปี 2566 มีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรค NCDs ก่อนอายุ 60 ปี ประมาณ 400,000 ราย และคาดว่า จะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“การจะเอาชนะสมรภูมิสุขภาพจากพฤติกรรมเสี่ยงที่เร่งเร้าให้คนทุกข์ ป่วย และพิการมากขึ้นได้นั้น ไม่สามารถชนะได้ด้วยยาหรือเทคโนโลยี” ผู้จัดการกองทุน สสส. เสริมว่า จะต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ และ สร้างความตระหนักรู้ การป้องกันโรค NCDs ให้แก่ประชาชนที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ โดยสื่อสารผ่านการป้องกันจากการขยายผลความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและสื่อมวลชน ขับเคลื่อนให้สังคมเกิดการตื่นตัว รู้จัก เข้าใจโรค NCDs และร่วมมือจัดการปัญหา ช่วยลดการตายจากพฤติกรรมของตนเองได้ตรงจุด
จากแนวคิดดังกล่าว สสส. จึงเดินหน้าผลักดันโครงการ “คอนเทนต์สร้างสุข” ตอบโจทย์การสร้างสังคมสุขภาวะ โดยจับมือกับสถานีโทรทัศน์ 4 แห่ง และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล (Data-Driven Society) พัฒนารายการโทรทัศน์ 7 รายการ มุ่งเป้าหมาย 3 ประเด็น คือ 1.ขยายความร่วมมือกับองค์กรสื่อของรัฐและเอกชน 2.นำเสนอข้อมูลสร้างเสริมสุขภาพให้ประชาชนเข้าใจโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่ถูกต้องและชัดเจน 3.ประชาชนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงนวัตกรรม เครื่องมือ นำไปสู่การปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมลดปัจจัยเสี่ยงโรค NCDs มีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี
นพ. พงศ์เทพ อธิบายถึงการเลือกใช้รายการเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร โดยระบุว่า แม้ข้อมูลจากสำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. จะพบว่าแคมเปญแบบเดิมสามารถเข้าถึงผู้คนได้จำนวนมาก แต่การค้นหาวิธีการสื่อสารใหม่ ๆ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายให้ผู้คนสามารถซึมซับความรู้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านวิธีการที่ง่ายและเข้าใจง่ายขึ้น โดยใช้บุคคลที่เขาคุ้นเคยอยู่แล้ว
สสส. จึงดำเนินการทดลองวิธีการสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลาย เนื่องจากพฤติกรรมของแต่ละบุคคลมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งการเลือกใช้รายการเป็นสื่อกลางนั้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงอาจไม่ชอบการติดตามรายการข่าวหรือการหาความรู้ในรูปแบบตรงไปตรงมา หรือจากนักวิชาการ ซึ่งบางครั้งอาจเข้าใจได้ยาก
สิ่งสำคัญคือ กระบวนการสื่อสารที่สามารถทำให้เนื้อหาง่ายต่อการเข้าใจและเข้าถึงสิ่งที่คนชอบ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น เพราะการตัดสินใจของคนเรามักไม่ได้เกิดจากเหตุผล แต่เกิดจากจิตใต้สำนึก ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่ฝังอยู่ในจิตใจ เช่น อินฟลูเอนเซอร์หรือรายการที่ชื่นชอบ สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้เช่นกัน
“ปัจจุบันเรากำลังสู้กับโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อที่สัมพันธ์กับใจเราเอง เราแพ้ใจเราเอง ทานมากเกิน สารเสพติดต่าง ๆ ในอาหาร ไม่อยากออกกำลังกาย ไม่อยากทำสิ่งต่าง ๆ แต่ถ้าเราสามารถมีความตระหนักรู้มากกว่านี้ ผ่านกระบวนเกม รายการ หรือละครที่ชอบ เราคาดหวังว่า ประชาชนทุกคนจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองได้ มีสุขภาวะที่ดี ไม่พิการ ไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร”
“ส่วนหนึ่งก็อยากส่งกำลังใจผ่านสื่อให้กับภาคีของเราที่เขาทำงานอยู่ที่อื่น ซึ่งในบางรายการก็จะมีการนำเรื่องราวของคนทำงานมาสื่อสาร เพื่อให้ภาคีต่าง ๆ เรียนรู้ร่วมกัน และให้สังคมได้เห็นด้วย อีกทั้งสามารถที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายของ สสส. ในการขับเคลื่อนสังคม”
ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุน สสส. เน้นว่า แม้จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้เข้าถึงง่ายขึ้น แต่ข้อมูลทุกชิ้นยังคงต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
เกมโชว์ ละคร ซิทคอม
เสิร์ฟถึงหน้าจอ เข้าถึงง่ายกว่าที่เคย
ในส่วนของ น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. กล่าวถึงความพิเศษของโครงการนี้ คือ การนำจุดแข็งของแต่ละสถานี ทั้งแนวคิด รูปแบบการนำเสนอ นำมาร่วมออกแบบ สร้างสรรค์ให้การสื่อสารสอดแทรกประเด็นสุขภาพ เช่น ลดพุงลดโรค เบาหวานหายได้ เพิ่มกิจกรรมทางกาย อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย โดยรายการทั้ง 7 รายการที่เปิดตัว ได้แก่
1.เกมสร้างสุข รายการวาไรตี้ เกมโชว์ สร้างสรรค์รายการผ่านคำถามพิชิตสุขภาพ ได้ทั้งความรู้ ความบันเทิง ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ดำเนินรายการโดยคุณปัญญา นิรันดร์กุล ทุกวันพุธ เวลา 19.00 น. ทางช่องเวิร์คพอยท์ 23
2.หกฉากคับจารย์ รายการละครซิทคอม สื่อสารกับกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ผ่านนักแสดงตุ๊กกี้ รับบทครูเพ็ญศรี และอาร์ม กรกันต์ สุทธิโกเศศ รับบทครูสุข ทุกวันอาทิตย์ เวลา 12.00 น. ทางช่องเวิร์คพอยท์ 23
3.SUPER100 อัจฉริยะเกินร้อย รายการสร้างแรงบันดาลใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากคนต้นแบบในชุมชน สู่พื้นที่สร้างสรรค์ ทางช่องเวิร์คพอยท์ 23
4.มาตาลดา มากับ สสส. ละครสั้นสร้างแรงบันดาลใจจากเรื่องใกล้ตัว 14 ตอน ถ่ายทอดผ่านนักแสดง เต้ย จรินทร์พร รับบทมาตาลดา และชาย ชาตโยดม ในบทพ่อเกรซ ทางช่อง 3
5.กิตติสะกิดใจ ข่าวสั้นเล่าประเด็นสุขภาพอย่างง่าย สนุก 20 ตอน ดำเนินรายการโดยคุณกิตติ สิงหาปัด และคุณป๋อ ณัฐวุฒิ สะกิดใจ ทางช่อง 3
6.ซีรีย์ “รัก OVERDOSE” 6 ตอน นำเสนอเรื่องราวของคู่รัก ป๊าต๊อบ-ปีใหม่ ผ่านนักแสดงหญิงรักหญิงที่ฝ่าฟันอุปสรรค ทั้งปัญหาครอบครัวและยาเสพติด ทางช่องวัน 31
7.คนสานสุข รายการที่นำนวัตกรรมด้านสร้างเสริมสุขภาวะสานสร้างให้คนไทยสุขภาพดี ดำเนินรายการโดย ดร.สง่า ดามาพงษ์ ทางช่องไทยพีบีเอส
น.ส.สุพัฒนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำเสนอเนื้อหาในรายการทั้ง 7 รายการ แม้จะมุ่งเป้าไปที่โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นเป้าหมายหลัก แต่ สสส. ยังมุ่งหวังให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อสุขภาวะในมิติที่หลากหลาย เพราะนอกเหลือจาก NCDs จะพบว่า การที่จะมีความสุขได้ไม่ใช่แค่เรื่องโรค แต่ยังมีมิติเรื่องรอบตัวอื่น ๆ ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น สสส. พยายามที่จะทำให้เห็นว่า เรื่องรอบตัว เช่น สิ่งแวดล้อม แม้จะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องโดยตรงแต่กลับสัมพันธ์กับความสุขด้วย จึงได้มีการจัดทำเนื้อหาที่หลากหลาย
“สื่อที่เรานำเสนอมีความหลากหลายและเต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย แต่บางครั้งข้อมูลอาจดูน่าเบื่อ และยากที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น การทำให้ข้อมูลเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องสนุกและน่าสนใจจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญ” และเสริมต่อว่า “ครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญที่เราตั้งใจจะออกแบบความรู้ ย่อยข้อมูลเชิงลึก และการทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ตั้งเป็นโจทย์ในการชวนทุก ๆ รายการมาช่วยกันทำ ซึ่งก็ต้องขอบคุณพลังที่ยิ่งใหญ่จากทุกคน ที่ผ่านมา สสส. มีเพื่อน ๆ สื่อมวลชนช่วยกันส่งสารตลอด แต่ครั้งนี้จะแตกต่างตรงที่ว่า มันถูกออกแบบเรื่องราวเนื้อหาเพื่อที่จะคิดหรือหาวิธีการที่จะทำให้ง่ายและกระชับขึ้น เราเชื่อว่า การออกแบบในรูปแบบต่าง ๆ ของรายการ สไตล์ที่ต่างกัน น่าจะทำให้ทุกกลุ่มเป้าหมายสนุกได้ในวิธีต่าง ๆ”
“แต่ละรายการลักษณะมีแตกต่างกัน และทาร์เก็ตกรุ๊ปที่มีความหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นคอนเทนต์จะมีความสัมพันธ์ไปกับรูปแบบรายการ พยายามเข้าถึงทุกกลุ่ม ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในหลากหลายวิธีแล้วก็หลากหลายวัย อย่างละครจะเห็นได้ว่าก็คนละทางกัน ทางที่สนุกสนานกับทางที่เรารู้สึกว่า มีแรงบันดาลใจ แต่ละรูปแบบรายการจะเลือกจากต้นความคิดก่อนว่า รายการนั้นมีกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างไร เหมาะกับเนื้อหาแบบไหนแล้ว สสส. ค่อยประกบอีกทีหนึ่งว่า ควรมีเนื้อหาอะไรบ้างในแต่ละรายการ”
อีกทั้ง ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ยังอธิบายถึงกระบวนการคัดเลือกเนื้อหาของรายการไว้ว่า “เนื่องจาก สสส. เป็นหน่วยงานภาครัฐ จึงให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและคุณภาพของโครงการเป็นหลัก ในการดำเนินงานครั้งนี้ได้กำหนดแนวทางอย่างชัดเจน โดยเปิดโอกาสให้มีการผลิตรายการทั้งหมด 7 รายการ ซึ่งแต่ละรายการได้รับการออกแบบให้มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเกมโชว์ วาไรตี้ ซิทคอม ละครสั้น หรือข่าวสั้น โดยกระบวนการคัดเลือกมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกโครงการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของภาครัฐที่เน้นความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพสูงสุด”
“โดยกระบวนการคัดเลือกไม่ได้พิจารณาเพียงแค่แนวคิดสร้างสรรค์ของรายการเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ช่วงเวลาออกอากาศ รูปแบบรายการ พิธีกร และองค์ประกอบโดยรวม ซึ่งทุกโครงการต้องเสนอรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น พิธีกรหลัก ผู้ร่วมรายการ ระยะเวลาของแต่ละตอนด้วย”
นอกจากนี้ สสส. มองไปยังแผนที่จะดำเนินการในเฟสที่ 2 ในปีถัดไป โดยผลตอบรับจากผู้ชมในช่วงแรกจะเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาคอนเทนต์ให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการต่อยอดงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์
ด้านฝ่ายตัวแทนรายการที่ได้รับคัดเลือก เริ่มที่เจ้าพ่อเกมโชว์อย่าง นายปัญญา นิรันดร์กุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะพิธีกรรายการเกมสร้างสุข กล่าวว่า การได้ร่วมงานกับ สสส. และ 7 พันธมิตรรายการ ถือเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาก โดยรูปแบบรายการเป็นการนำเสนอเนื้อหาด้านสุขภาพผ่านรูปแบบเกมโชว์ อาทิ เรื่องอาหารและการคำนวณโภชนาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่ายและมีหลักการชัดเจน สามารถช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงความพอดีของร่างกายและวิธีการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม ผ่านการใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและสนุกสนาน
“ในชีวิตประจำวัน อาหารการกินและการใช้ชีวิตเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่หลายคนอาจมองข้ามหรือขาดความเข้าใจ ซึ่ง สสส. จะเป็นผู้ที่ทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้น ผมเองก็ได้เรียนรู้และปรับพฤติกรรมทั้งการกินและการใช้ชีวิตหลังทำรายการเหมือนกัน แล้วผมก็มั่นใจขึ้นด้วย ซึ่งเราจะมีความสุขคนเดียวไม่ได้ ต้องบอกคนรอบข้างด้วย”
รายการเกมสร้างสุข เริ่มออกอากาศตอนแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในตอน “พุงนี้ไม่สาย...ที่จะลดกัน” ซึ่งนำเสนอแนวทางในการลดน้ำหนักและดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี โดยมี นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมให้คำแนะนำอีกด้วย ซึ่งสามารถรับรายการออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 19.00 น. ทางช่องเวิร์คพอยท์
ด้าน ตุ๊กกี้ สุดารัตน์ บุตรพรม หรือ คุณครูเพ็ญศรี คาแรคเตอร์สุดฮาจากซิทคอมหกฉากคับจารย์ กล่าวว่า ขอบคุณ สสส. ที่เลือกซิทคอมหกฉากคับจารย์ เพราะเนื้อหาซิทคอมถือว่า ตรงประเด็นมาก เนื่องจากซิทคอมเรื่องนี้เป็นโรงเรียนตลกที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน รวมถึงปัญหาสังคม ซึ่งต่อไปจะมีการเสริมด้วยเนื้อหาสาระพิเศษอย่างเรื่องยาเสพติดมากขึ้น โดยยังคงใช้รูปแบบซิทคอมในการถ่ายทอดเนื้อหาที่กระชับ เข้าใจง่าย แต่ยังคงความสนุกสนาน ตลก แฝงด้วยความรู้สู่สังคม ซึ่งจะมีอาจารย์สุข รับบทโดย อาร์ม กรกันต์ มาร่วมพูดถึงเรื่องราวของยาเสพติดอย่างเจาะลึก เพื่อให้เยาวชนห่างไกลยาเสพติด รวมถึงประเด็นรอบข้างที่เป็นประโยชน์กับเด็กและเยาวชน
ในส่วน ดร.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการและนักสื่อสารสุขภาพ เตรียมเปิดตัวรายการใหม่ “คนสานสุข” รายการที่จะนำเสนอเรื่องราวของบุคคลต้นแบบ และขยายผลให้สังคมได้รับรู้และนำไปปฏิบัติได้จริง โดยแนวคิดมาจากการที่ปัจจุบันมีโครงการด้านสุขภาพจำนวนมากที่ดำเนินการโดย สสส. แม้จะมีการผลิตสื่อที่ครอบคลุมหลายประเด็น เช่น สุรา บุหรี่ สุขภาพจิต และโภชนาการ แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายว่า ผลงานนวัตกรรมด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้หรือโมเดลต้นแบบยังไม่ได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างเต็มรูปแบบ
ซึ่ง “คนสานสุข” พร้อมมุ่งมั่นที่จะสื่อสารสิ่งที่ สสส. รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ ออกไปสู่สาธารณชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิด สร้าง สาน ส่ง สุข
“คำว่า คน ในที่นี้ หมายถึงใครก็ได้ไม่ใช่เฉพาะภาคี สสส. อย่างเดียว เป็นปัจเจคที่ทำอะไรขึ้นมาหรือที่เรียกว่า บุคคลต้นแบบ แล้วคนอื่นเอาไปเป็นแบบอย่าง ผมเอาสิ่งที่คนเหล่านี้ทำมาเล่าเป็นความยาวประมาณ 3 นาทีว่า เขาทำอย่างไร ทำแล้วบอกคนอื่นต่อได้อย่างไร แล้วสุดท้ายทำแล้วก็มีความสุขอย่างไร พอดูคนสานสุขปุ๊บจะร้องอ๋อเลยว่า ฉันเองก็ทำได้ ส่วนกำหนดการออกอากาศคาดว่า จะเริ่มในช่วงเดือนมีนาคม” ดร.สง่า ทิ้งท้าย
สามารถติดตามรายละเอียด คอนเทนต์สร้างสุข เพิ่มเติมได้ที่