xs
xsm
sm
md
lg

"Skills Future Thailand" มาแล้ว! อว. เดินหน้าพัฒนาข้อมูลทักษะนักศึกษา เชื่อมโยงอาชีพ-ตลาดแรงงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศุภมาส” เผยกระทรวง อว. เตรียมเดินหน้าจัดทำ “Skills Future Thailand” ระบุข้อมูลทักษะรายบุคคลของนักศึกษา ว่าเหมาะกับอาชีพไหน หรือต้องการเพิ่มทักษะใด เพื่อประกอบอาชีพที่ต้องการได้ พร้อมใช้วางแผนผลิตบัณฑิตตรงความต้องการของประเทศ

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัย” ในงานการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิยาลัย (ก.บ.ม.) โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายสำคัญที่จะเดินหน้าประเทศไทยไปสู่อนาคต ภายใต้วิสัยทัศน์ “เรียนดี มีความสุข มีรายได้ เน้นวิจัย สร้างนวัตกรรมดี ตรงความต้องการ” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข เและป็นเหตุผลที่กระทรวง อว. มุ่งมั่นผลักดันนโยบาย "2 ลด 2 เพิ่ม" เพื่อให้เยาวชนทุกคนได้รับโอกาสที่เท่าเทียม และได้เข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาตามศักยภาพของแต่ละคน ซึ่งนโยบายดังกล่าวนั้นได้ช่วย “ลดภาระ” ด้านค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อให้ทุกครอบครัวสามารถส่งบุตรหลานเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาได้โดยไม่มีภาระหนักเกินไป “ลดความเหลื่อมล้ำ” ทำให้การศึกษาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือมีข้อจำกัดใด ๆ ก็ตาม “เพิ่มทักษะ” เพื่อสร้างโอกาสให้ทุกคนได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคต และ “เพิ่มโอกาส” โดยเปิดโอกาสให้บัณฑิตสามารถมีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง และแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

รมว.อว. กล่าวต่อว่า กระทรวง อว. ได้มีการทำหลักสูตรในการผลิตและพัฒนากำลังคนโดยใช้แผนที่ทักษะ (Skill Mapping) และมีการจัดทำใบรับรองผลการเรียน ที่ระบุทักษะของผู้เรียน เพิ่มเติมจากใบรับรองผลการเรียนในระบบปกติ (Skill Transcript) ใน 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยพะเยา มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีข้อมูลรายบุคคลว่านิสิต นักศึกษา มีทักษะแบบไหน เหมาะกับอาชีพใด หรือต้องการเพิ่มทักษะใด เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพที่ต้องการได้

“กระทรวง อว. จะนำแนวทาง Skills Future ของประเทศสิงคโปร์ มาปรับใช้เป็น Skills Future Thailand ซึ่งประเทศไทยสามารถทำได้ครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลของนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นข้อมูลสำคัญ ก่อนที่จะไปดูว่าตลาดแรงงานต้องการทักษะแบบใด กระทรวง อว. จึงได้เสนอต่อรัฐบาลในการประชุม ครม. วันที่ 28 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา และ ครม. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวง อว. สนับสนุนนิสิต นักศึกษาให้มี Skill Transcript ทุกคน และสามารถนำไป Upskill, Reskill ทักษะที่ต้องการเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพที่ต้องการได้ และสามารถที่จะใช้ในการวางแผนในการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศ รวมทั้งสามารถสร้างความมั่นใจในคุณภาพและปริมาณของบัณฑิตให้กับผู้ใช้บัณฑิต ภาคอุตสาหกรรม หรือนักลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนั้น ในอนาคตอาจจะขยายนโยบายนี้ให้ครอบคลุมคนไทยทุกคนต่อไป“ น.ส.ศุภมาส กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น