xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนการพัฒนาเมืองเพื่อสังคมสูงวัย 'ญี่ปุ่น' ควรทำอะไรเพื่อรับมือคนสูงวัยเต็มเมือง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากพูดถึง “สังคมสูงวัย” หรือ (Aging Society) หมายถึง สังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป โดยจากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาติในปี 2023 ได้สรุปไว้ว่า ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีทั่วโลก จะมีจำนวนสูงขึ้นกว่าเท่าตัวภายในปี 2050 โดยจะสูงถึง 1.6 พันล้านคน หรือ กว่าร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งโลก และในขณะเดียวกันอัตราการเกิดกลับน้อยลง จากสถิติข้างต้นนี้อาจส่งผลกระทบต่อเรื่องต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจ แรงงาน สุขภาพ หรือแม้กระทั่งคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ฯลฯ เป็นต้น

โดยประเทศไทยถือได้ว่าก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย อย่างเต็มรูปแบบแล้วเมื่อปี พ.ศ.2564 เพราะเนื่องจากมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึง 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2567 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผย สถิติจำนวนผู้สูงอายุ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567) พบว่า จำนวนประชากรมีทั้งหมด 65,969,270 เป็นประชากรไทย 64,973,186 มีจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 13,444,127 คน หรือร้อยละ 20.69 ซึ่งหากตัวเลขขยับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ อีก ไทยอาจจะเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) ได้ในไม่ช้า

และในบทสนทนานี้ ผู้จัดการออนไลน์ จะพาไปสำรวจมุมมองถึงประเด็นการถอดบทเรียนการพัฒนาเมืองเพื่อสังคมสูงวัย 'ญี่ปุ่น' เราควรทำอะไรเพื่อรับมือคนสูงวัยเต็มเมือง? ผ่านมุมมองจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ 2 หลักสูตร ได้แก่ ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดี วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต และ ดร.เฉลิมพร เย็นเยือก ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต และรองคณบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์และนโยบายสาธารณะ ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการก้าวสู่ยุคสังคมสูงวัยแบบเต็มตัวในอนาคต

ถอดบทเรียนการพัฒนาเมืองเพื่อสังคมสูงวัยจาก 'ญี่ปุ่น'
ความแตกต่างระหว่าง “ไทย” และ “ญี่ปุ่น”

ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศครองแชมป์ที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศสูงที่สุดในโลก (มีประชากรที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 29.1) และคาดว่าในปี 2040 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 34.8 รวมถึงญี่ปุ่นยังเป็น 1 ในประเทศที่มีอัตราการเกิดที่ตํ่าที่สุดในโลกอีกด้วย ทั้งนี้จึงเป็นประเทศที่น่าสนใจและนำการพัฒนาเมืองมาถอดบทเรียน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในอนาคต

ดร.เฉลิมพร เย็นเยือก ได้เผยทัศนะต่อประเด็นการถอดบทเรียนการพัฒนาเมืองเพื่อสังคมสูงวัย 'ญี่ปุ่น' ควรทำอะไรเพื่อรับมือคนสูงวัยเต็มเมือง? ว่า “ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พบเจอกับเรื่องสังคมสูงวัยมาก่อน จึงทำให้มีวิธีรับมือที่สามารถนำมาเป็นแบบอย่างให้ประเทศไทยถอดบทเรียนได้ แต่การจะถอดบทเรียนได้นั้น ต้องอยู่ภายใต้บริบทที่สามารถทำได้ด้วย
“การพิจารณาสังคมผู้สูงอายุในไทยกับญี่ปุ่น อาจต้องพิจารณาถึงความแตกต่างจากสภาพสังคมของไทยกับญี่ปุ่นก่อน ตั้งแต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศที่มีประชาชนที่มีวินัย มีระบบการเมือง กฎหมายที่เข้มแข็ง การทุจริตที่อ่อนแอ อาจกล่าวได้ว่า อยู่ในทิศทางตรงกันข้ามทุกด้าน แต่เป็นสภาพสังคมที่สำคัญที่ส่งผลต่อรูปแบบสังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้น”

“การบริการของประเทศญี่ปุ่นมีระบบประกันการดูแลระยะยาวที่มีคุณภาพและครอบคลุม แต่ได้พึ่งสถานดูแลผู้สูงอายุ (nursing home) เป็นหลัก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลระยะยาวแต่ละปีมากถึงกว่า 8 ล้านล้านเยนต่อปี (เกือบเท่างบประมาณประเทศไทยทั้งปี) และยังพบว่าประเทศญี่ปุ่นมีการเตรียมการทางด้านงบประมาณ โดยการจัดให้เกิดระบบการประกันการดูแลระยะยาวในสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ สำหรับประเทศไทยพบว่ามีการใช้กลยุทธ์ชุมชนเป็นฐานในการให้บริการด้านสุขภาพ (อสม.)”

“ประเด็นด้านสภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ เป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นของการเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ในวัยสูงอายุของคนส่วนใหญ่ มักจะประสบปัญหาทางด้านของสุขภาพ และเมื่อผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ไม่ดีมักจะเลือกที่จะอยู่บ้านและถอยห่างออกจากสังคม โดยรัฐบาลญี่ปุ่น ได้เห็นความสำคัญของช่วงปีแห่งสุขภาพของผู้สูงอายุให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น (หรือเรียกว่าให้ใช้ชีวิตปั้นปลายหลังเกษียณให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น ไม่อยู่เพื่อรอวันตาย) และเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมได้ยาวนานมากขึ้น จะเห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกนโยบาย “Smart Platinum Society” ในปี 2015 เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูงอายุได้ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างดี มีคุณภาพให้มีอายุ 100 ปี และนำแนวคิด Society 5.0 เข้ามาปรับใช้ในสังคมญี่ปุ่น โดยการให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงผู้สูงอายุในประเด็นทางด้านสุขภาพ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน และการเป็นส่วนหนึ่งในตลาดแรงงานและสังคมให้ยาวนานมากขึ้น (ข้อมูล BBC ปี 2023 : ถึงแม้ประเทศญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากอันดับต้นของโลกก็ตาม แต่แรงงานของสูงวัยยังคงมีสุขภาพดีและอยู่ในตลาดแรงงานสูงถึงร้อยละ 13 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูงด้วยกัน) ซึ่งเพื่อให้การเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแรงงานและสังคมได้ยาวนานขึ้น ภาครัฐจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมือง เสริมสร้างภูมิสถาปัตย์ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุขของสูงวัยด้วย”

แต่สังคมผู้สูงวัยญี่ปุ่น ตายเดี่ยวเยอะมาก โดย ดร.เฉลิมพร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากสถิติที่อ่านพบมีตัวเลขประมาณ 40,000 รายต่อปี

“แม้ว่าญี่ปุ่นมีความพยายามที่จะพัฒนาเมืองให้คนสูงวัยได้รับการดูแล มีระบบเทคโนโลยี ระบบคมนาคมที่ทันสมัย แต่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นชอบอยู่คนเดียว แยกตัวจากสังคม ซึ่งมีสูงวัยจำนวนมากที่อยู่คนเดียว ตายไปเงียบ ๆ คนเดียว ธุรกิจที่เติบโตของญี่ปุ่นที่เห็นแล้วแอบตกใจคือธุรกิจทำความสะอาดบ้านผู้เสียชีวิต คนเสียชีวิตกว่าจะมีคนรู้และเข้าไปทำความสะอาดบ้านใช้เวลาถึง 4-8 เดือน ซึ่งสะท้อนเรื่องของรูปแบบที่ว่าเราจะพัฒนาเมืองอย่างไร เพื่อที่จะตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย ทั้งนี้การพัฒนาเมืองภายนอกอย่างเดียวยังไม่พอ จะต้องมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และในสังคมด้วย หากมองกลับมาที่ประเทศไทย โดยเฉพาะในชนบทยังไม่เกิดการตายเดี่ยวเหมือนกับญี่ปุ่น”


ผศ.ดร.สุริยะใส ได้กล่าวถึงมุมมองต่อเรื่องดังกล่าวว่า ถ้าเปรียบเทียบไทยกับญี่ปุ่น แม้จะมีโจทย์เดียวกัน แต่ความซับซ้อนและปัญหาแตกต่างกัน เพราะว่าสังคมญี่ปุ่นผ่านขั้นตอนที่เป็นสังคมที่มีความสำเร็จทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การเมืองที่มั่นคง ประชาสังคมที่เข้มแข็ง กลับกันไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะไม่เหมือนกับญี่ปุ่น เพราะไทยจะกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่ ในขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาไปแล้ว

ปัญหาของไทยกับญี่ปุ่นแตกต่างกัน โดยปัญหาของไทย คือ เรื่องการขาดแคลนแรงงานที่เด่นชัดที่สุด จนกลายเป็นปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว การลักลอบเข้ามาประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย เป็นปัญหา ‘Geopolitics’

“ยกตัวอย่าง เมืองพัทยา ผู้ว่าฯ พัทยาได้บอกว่านับตั้งแต่มีสงครามในพม่าปลายปีมานั้น อัตราส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นถึง 4-5 เท่าตัว ซึ่งพัทยาก็ยังเป็นเมืองที่ได้งบประมาณเท่าเดิมจากรัฐบาล แต่ว่าสัดส่วนประชากรแฝงเพิ่มขึ้น 5 เท่า แรงงานต่างด้าวต้องมาเบียดบังทรัพยากรซึ่งเป็นกิจการสาธารณะที่แค่ดูแลคนไทยก็ยังไม่พอ หรืออย่างภูเก็ต ประชากรจริง ๆ 5 แสนคน แต่ประชากรทั้งหมดตอนนี้มี 1.5 ล้านคน แสดงว่ามีประชากรแฝงถึง 1 ล้านคน มองว่าตรงนี้เป็นปัญหาที่น่ากลัวมาก เพราะเราต้องเอาแรงงานเข้ามา เนื่องจากเราขาดแคลนแรงงาน เพราะเราก้าวสู่สังคมสูงวัย กระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม และอาจจะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เรื่องผิดกฎหมาย การพนัน อาชญากรรม เป็นต้น ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเขาอาจจะไม่เจอปัญหาแบบเรา”

“หากพิจารณาในประเด็นทางสังคมจากผลกระทบของจำนวนผู้สูงอายุ นอกเหนือจากสภาพสังคมการตายเดี่ยวแล้ว จำนวนผู้สูงอายุที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดนั้นมีหลายประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาในมิติของรัฐประศาสนศาสตร์ เช่น การบริการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ คุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจอันส่งผลต่อสังคมของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสังคมสูงวัยหลังเกษียณอายุ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะไม่มีงานประจำทำ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักในการเลี้ยงชีพ และถึงแม้ว่าจะมีผู้สูงอายุบางส่วนที่มีเงินเก็บก้อนหนึ่ง ที่ได้รับมาจากการเก็บออมตลอดช่วงระยะเวลาการทำงานก็ตาม แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในระยะยาว และยังมีปัญหาจากการโดนหลอกเอาเงินเก็บก้อนสุดท้ายของสูงวัยจากพวกแก๊งต่าง ๆ อีก ดังนั้น เมื่อกลุ่มเหล่านี้ขาดรายได้หลักที่ใช้ในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ผู้สูงอายุบางส่วนจึงหันมาพึ่งพารายได้จากรัฐเป็นรายได้หลัก การเพิ่มขึ้นของสูงวัยก็ส่งผลโดยตรงต่องบประมาณที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐ โดยเฉพาะงบประมาณด้านสวัสดิการสุขภาพ ซึ่งกรณีนี้ในหลายประเทศต่างก็ประสบปัญหาเป็นอย่างมาก” ดร.เฉลิมพร กล่าวเสริม

คณาจารย์ทั้งสองท่านมองจุดเด่นของทั้งสองประเทศ โดยญี่ปุ่นมีความน่าสนใจคือ การใช้เทคโนโลยี หรือ AI ส่วน ‘ไทย’ มีจุดแข็ง คือ การเป็นสังคมเกษตรกรรม รวมถึงมีบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ที่นำมาบูรณาการเพื่อเป็นฐานในการสร้างความเข้มแข็งและดูแลปัญหาผู้สูงวัยได้ นอกจากนี้อาจนำมาซึ่งโปรเจ็กต์ใหม่ หรือเกิดการจ้างงานในชุมชน

ดร.เฉลิมพร กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงพัฒนาคุณภาพชีวิตสูงวัย โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของผู้สูงอายุทั้งภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐเน้นการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยพัฒนาระดับของสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งผ่านข้อมูลสำคัญ ๆ ในพื้นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ การพัฒนาเทคโนโลยีให้ใช้ได้ง่ายขึ้นสำหรับการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูงและครอบครัว อีกทั้ง ญี่ปุ่นยังพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการพูดคุยและการดูแลผู้สูงอายุ ปี 2018 รัฐบาลญี่ปุ่นให้งบประมาณเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและช่วยเหลือผู้สูงอายุเป็นจำนวนสูงถึงกว่า 10,000 ล้านบาท


ด้าน ผศ.ดร.สุริยะใส แสดงความคิดเห็นเสริมถึงเรื่องนี้ว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ AI เข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคนทุกวัย โดยมองว่าต้องมีกลไกที่จะใช้ AI เข้ามาช่วยในวิถีชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น เรื่องสุขภาพ การศึกษา ค้าขาย เศรษฐกิจ แต่ต้องรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเครื่องมือ เพราะปัญหาที่ไทยพบเจอคืออาชญากรรมทางไซเบอร์ หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งผู้สูงวัยมักตกเป็นเหยื่อมากที่สุด ตรงนี้จึงควรที่จะมีกลไกที่ช่วยดูแลบริหารจัดการ เพื่อจะได้ใช้ AI ได้อย่างเป็นประโยชน์

ส่วนจุดแข็งของไทย คือ การเป็นสังคมเกษตรกรรม เป็นสังคมพุทธ มีบวร (บ้าน วัด โรงเรียน)

“ผมคิดว่ากระทรวงพัฒนาสังคม สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ต้องบูรณาการกันใหม่ วัดควรจะซัพพอร์ตชุมชนมากกว่าเป็นสถานที่ของคนสูงวัยที่ไม่รู้จะไปไหน หรือไปบวช ไปปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ลานวัดต้องเป็นลานที่ช่วยอัปสกิล รีสกิลเลยด้วยซ้ำ ประเทศไทยเรามีเป็นหมื่น ๆ วัด เราต้องบูรณาการกันมากขึ้น และใช้ ‘บวร’ (บ้าน วัด โรงเรียน) เป็นฐานในการสร้างความเข้มแข็งและดูแลปัญหาผู้สูงวัยได้ ผมว่าสามารถเป็นไปได้ ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดโปรเจ็กต์ มีการจ้างงานเกิดขึ้นด้วย” ผศ.ดร.สุริยะใส กล่าว

มุมมองต่อการพัฒนาเมืองเพื่อคนสูงวัยในประเทศไทย
สังคมผู้สูงวัยของไทยในอนาคต ควรจะเป็นอย่างไรต่อไป?

อย่างที่เราได้สนทนากันไปข้างต้นว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว อัตราการเกิดของเด็กยุคใหม่ก็มีสัดส่วนที่น้อยลงไปมาก Gen X ก็กำลังจะเตรียมต่อแถวเกษียณอายุกัน ทำให้ผู้สูงวัยมีจำนวนประชากรที่มากขึ้น เชื่อแน่ว่าอาจส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมา ทั้งนี้เราควรเตรียมพร้อมรับมือให้ทันท่วงที ก่อนจะสายเกินไป แล้วอะไรคือความเป็นไปได้ที่จะเป็นทางออกของการออกแบบพัฒนาเมืองของสังคมสูงวัยในไทยที่ทำได้ทันที?

ดร.สุริยะใส เผยมุมมองความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ว่า ต้องรื้อจากรากฐาน ต้องตั้งวิสัยทัศน์กันใหม่ เน้นนโยบายเรื่องการกระจายโอกาส กระจายรายได้ และกระจายอำนาจ สร้างการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ชุมชนให้มากขึ้น

“ผมมองว่า เราต้องเริ่มตั้งแต่ตั้งวิสัยทัศน์ใหม่ จากนั้นนโยบายก็ต้องเน้นเรื่องการกระจายโอกาส กระจายรายได้ กระจายอำนาจ และสร้างการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ของชุมชนให้มากขึ้น ต้องรื้อที่รากฐานเลย”

“Aging Society มองในมิติของรัฐ ผมคิดว่าภาครัฐยังไม่ได้ตั้งรับแบบมีเชิงรุก เช่น มีกลไก มีหน่วยงานเป็นเจ้าภาพที่คิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งไม่ควรไปแปะอยู่ทุกกระทรวง ทุกกรม เพราะเวลาวัด KPI จะไม่ค่อยเห็นผลเท่าไหร่ แต่ถ้าเรามีหน่วยงานที่ทำ กระทรวงพัฒนาสังคมเป็นแม่งานได้มั้ย สมมติมีงบประมาณมา ซึ่งนั่นคือส่วนที่ผมคิดว่าเป็นการจัดการในภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันการคิดแบบนวัตกรรมสังคมแบบผู้นำ ก็จะมองว่าเราหมดยุคที่จะไปพึ่งพารัฐทุกอย่างแล้ว บางเรื่องเราต้องจัดการตนเอง เพราะว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกิดขึ้น ความรู้ ผู้คน สังคมเปิดกว้างมากขึ้น การคิดอะไรที่เป็นนวัตกรรม มีการบริหารจัดการ มีชุมชนตัวเอง อย่างในชนบทหลายที่น่าสนใจ เช่น ลพบุรี อ่างทอง สุรินทร์ ฯลฯ ก็เป็นตัวแบบที่จัดการเรื่องนี้ด้วยตัวเอง หรือ 60 ปีเริ่มงานใหม่ มีการเรียนอัปสกิลแบบชาวบ้าน พึ่งพาตนเองได้ อันนี้ก็แทบไม่ต้องพึ่งพารัฐเลย พูดง่าย ๆ คือ นวัตกรรมสังคม ผู้นำชุมชนต้องกล้าคิดใหม่ด้วย เราต้องคิดว่าถ้าเราพึ่งพาตนเองได้ พอรัฐมาเติมเต็มก็จะง่ายขึ้น”


ดร.เฉลิมพร ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นเดียวกันนี้ว่า เป็นสถานการณ์ที่ไทยเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ โดยการพัฒนาเมืองที่สำคัญในสังคมผู้สูงอายุพบว่ามักจะมีโอกาสเจ็บป่วย และมีอัตราการเข้าโรงพยาบาลมากกว่าประชากรในกลุ่มอายุอื่นค่อนข้างมาก ทั้งโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดัน ฯลฯ รวมถึงการใช้ชีวิตในภูมิสถาปัตย์ที่ต้องมีการออกแบบให้รองรับการเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ ดังนั้น การพัฒนาเมืองจึงควรมีปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงสองปัจจัย คือ

1)การพัฒนาเมืองเพื่อเอื้อให้สูงวัยได้สามารถเข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ อาทิ สถานที่ในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ให้เท่าเทียมกันของประชากรผู้สูงอายุทุกกลุ่ม การคมนาคม การมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับบริบท

2) การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในการพัฒนาเมือง ในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมให้คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มสูงวัยได้อย่างแท้จริง

“ในอนาคต มีแนวโน้มอย่างชัดเจนที่คนสูงวัยจะมีเพิ่มมากขึ้น และมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนเช่นเดียวกันว่า ประชากรผู้สูงวัยถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความรู้เฉพาะค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงควรต้องนำผู้สูงอายุกลับเข้ามาในระบบเศรษฐกิจเพื่อให้ใช้ประสบการณ์ ความรู้ให้เป็นประโยชน์ แต่ก็จะต้องดำเนินการไปควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพด้านสาธารณสุข รวมถึงการสร้างทักษะด้านดิจิทัล ทั้งความรู้ ความสามารถ การใช้ การรู้เท่าทันเทคโนโลยีให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายฝ่ายต้องตระหนักเตรียมตัวให้ถูกต้อง เหมาะสมอย่างยิ่ง เพื่อเตรียมพร้อมกับผลกระทบเชิงสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามไปด้วย ถือเป็นประเด็นสำคัญในมิติของรัฐประศาสนศาสตร์ที่ต้องถอดบทเรียนการตระหนัก การเตรียมความพร้อม การกำหนดแนวทางหรือนโยบายต่าง ๆ เพื่อรองรับ รวมถึงการติดตามประเมินผลนโยบายที่ได้กำหนดขึ้นนั้น เพื่อประเมินให้ทราบถึงผลดี ผลเสียที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของภาครัฐ อันจะพบว่ามีการปรับปรุง เพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินกิจกรรมของภาครัฐให้เป็นไปอย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น”


“ถ้าพูดถึงการพัฒนาเมืองของไทย เราสามารถทำได้ทันที โดยเริ่มจากผู้นำชุมชน เพราะการพัฒนาทุกอย่าง อย่าว่าแต่การพัฒนาเมืองเลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแรงงาน ปัญหาสังคม สามารถทำได้เลย โดยเริ่มจากคนในพื้นที่ จากผู้นำชุมชน เพราะเขาอยู่กับปัญหาตรงนั้น เขาจะรู้ว่ามีปัญหาอะไรมากน้อยแค่ไหน รู้ว่าทรัพยากรที่มีอยู่มีมากน้อยแค่ไหน รู้ว่าบริบทเร่งด่วน ไม่เร่งด่วน ส่วนรัฐมีหน้าที่ดูนโยบายที่จะช่วยดูแล ส่งเสริมให้เราใช้ชีวิตในการที่จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ มีนโยบายอะไรบ้างที่จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน โดยในมิติของรัฐประศาสนศาสตร์ เน้นให้ความสำคัญกับกระบวนการบริหารกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐเพื่อให้กิจกรรมสาธารณะ ต่าง ๆ ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐ โดยโฟกัสที่การประเมินผลนโยบายสาธารณะ การมีส่วนร่วม การดำเนินกิจกรรมสาธารณะในชุมชน สังคมให้เกิดประโยชน์ส่วนร่วม และการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาคประชาชน ให้สามารถอยู่ร่วมกัน แบ่งปันกันอย่างสร้างสรรค์ ด้วยความเป็นธรรม เสมอภาค เท่าเทียมในสังคม รวมถึงการนำแนวคิดทางการตลาดของภาคเอกชนมาประยุกต์ใช้ในภาครัฐให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับบริบท สถานการณ์และทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศ”

“ณ วันนี้ รัฐต้องวิเคราะห์แล้ว ต้องวางแผนเตรียมพร้อมรับมือทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และระยะเร่งด่วน ภาครัฐต้องเป็นเบอร์ 1 ในการขับเคลื่อน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาภาครัฐก็ได้ให้ความสำคัญกับประชากรสูงวัยผ่านนโยบายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อาทิ บัตรทอง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือ การลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ เป็นต้น” ดร.เฉลิมพร กล่าว

รัฐประศาสนศาสตร์, ผู้นำและนวัตกรรมสังคม
2 หลักสูตร ตอบโจทย์การออกแบบพัฒนาเมือง มุ่งสร้างสังคมที่ดีขึ้น

ทว่าการจะมีผู้นำที่ดี ต้องสร้างจากรากฐานที่ดี โดยมหาวิทยาลัยรังสิตมีหลักสูตรปริญญาโท-ปริญญาเอก กว่า 50 หลักสูตร ที่จะช่วยปั้นบัณฑิตเป็นผู้มีความรู้ มีความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ และมีจิตสำนึกต่อสาธารณะประโยชน์

ดร.เฉลิมพร อธิบายถึงหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยรังสิต ว่า เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการให้บริการ การสร้างกิจกรรมสาธารณะเพื่อตอบโจทย์ประชาชน

“ผู้เข้ามาเรียนส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้นำที่จะขับเคลื่อนชุมชนของตนเองได้ มีความสามารถที่จะดึงทรัพยากรมาใช้เพื่อพัฒนาเมือง พัฒนาชุมชนของตนเอง”

หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ปลูกฝังเพื่อให้ผู้เรียนได้นำไปพัฒนาตนเอง พัฒนาเมือง เพื่อชุมชน เพื่อสังคม โดยเป้าหมายของหลักสูตร คือ มุ่งหวังสร้างความตระหนักให้ทุกคนเห็นสาธารณะประโยชน์ เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ทุกกิจกรรมจะเสริมสร้างการมีส่วนร่วม การให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม ความสำเร็จที่เกิดจากการมีส่วนร่วมบูรณาการในทุกมิติ โดยมีการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่ององค์การ การทำกิจกรรม การทำงานร่วมกัน การคลัง การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ รวมไปถึงการกระจายทรัพยากรให้ทุกคนเข้าถึงอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม

ผศ.ดร.สุริยะใส ให้ข้อมูลถึง หลักสูตรวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ว่า เป็นหลักสูตรการสร้างนักคิด ผลิตผู้นำ โดยมี 2 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การสร้างนักคิดและผลิตผู้นำ และ มิติที่ 2 การเรียนการสอน Social Novation หรือนวัตกรรมสังคม หมายถึง การคิดใหม่ ทำใหม่ ด้วยวิธีคิดแบบใหม่เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น

“วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ให้ความสำคัญกับการสร้างชุมชน สังคมที่เข้มแข็ง มีเครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะทำให้องค์กร ชุมชน หรือสังคมน่าอยู่ นักศึกษาส่วนใหญ่จบไปสามารถประกอบอาชีพ นักธุรกิจ นักการเมือง, นักพัฒนาสังคม (NGOs), นักวิชาการ, ผู้ประกอบการทางสังคม (Social Entrepreneur), ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ, สื่อสารมวลชน ด้านวิเคราะห์ข่าวด้านการเมือง ธุรกิจ และสังคม, ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรภาคเอกชน ฯลฯ โดยเนื้อหาการเรียนการสอน จะเรียนเชิงบูรณาการ หรือเรียกว่า ‘สหวิทยาการ’ ไม่ว่าจะเป็นสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ เป็นต้น”

ปัญหาใหญ่ในขณะนี้เรามีวิกฤตที่เรียกว่า ‘วิกฤตผู้นำ’ จริง ๆ ทั่วโลกผู้นำเป็นปัญหาส่วนหนึ่ง และสำคัญคือ ‘ผู้ตาม’ ตื่นตัว ส่งเสียง มีบทบาท มีส่วนร่วม มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้น การออกแบบผู้นำจึงสำคัญ ผู้นำไม่มีสูตรสำเร็จแต่ต้องปรับตัว ปรับวิธีคิดใหม่ ปรับกรอบคิดใหม่ ทบทวน ถอดบทเรียนตัวเองอยู่ตลอดเวลา และผู้นำที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดี ต้องมีทักษะการเป็นนวัตกรด้วย เพราะจะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และพัฒนาได้ตลอดเวลา

“เราเชื่อว่านักศึกษาที่เข้ามาเรียน จะได้เครื่องมือในการวิเคราะห์ ปรับปรุง และพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคราชการ ภาคการเมืองระดับท้องถิ่น / ระดับชาติ หรือจบไปทำอาชีพใดก็ตาม ก็จะได้เครื่องมือเหล่านี้ไป” ดร.สุริยะใส กล่าวทิ้งท้าย


บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยรังสิต มอบสิทธิพิเศษส่วนลดทางการศึกษาระดับปริญญาโท เทอม S/2568 มอบทุนส่วนลดทางการศึกษา 20% ของค่าหน่วยกิต พร้อมมอบทุนดูงานต่างประเทศหรือทุนวิจัย 20,000 บาท และสามารถแบ่งชำระค่าเล่าเรียนได้ 2 งวด 0% หลักสูตรสอนเป็นภาษาไทย ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยรังสิต สำหรับผู้สมัครและลงทะเบียนเรียนภายในวันที่ 30 เมษายน 2568

เงื่อนไข :
- สำหรับผู้สมัครและลงทะเบียนเป็นนักศึกษาใหม่ ปริญญาโท
- สิทธิพิเศษเฉพาะคนไทยเท่านั้น สามารถสมัครเรียนออนไลน์ได้ที่ https://grad.rsu.ac.th
สอบถามรายละเอียด โทร. 0-2997-2222 ต่อ 4001-4005, 4024-4026 อีเมล : grad@rsu.ac.th
#บัณฑิตวิทยาลัย #บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยรังสิต #ปริญญาโท
*ตามเงื่อนไขของมหาวิทยาลัยรังสิต

grad.rsu.ac.th




กำลังโหลดความคิดเห็น