xs
xsm
sm
md
lg

นิเทศฯ จุฬาฯ ประกาศจุดยืน หนุน พิรงรอง“ ปฏิบัติหน้าที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์สนับสนุน ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ในบทบาทกรรมการ กสทช. ย้ำปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต โปร่งใส ยึดมั่นในหลักการ และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของสาธารณะ

จากกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จำคุก 2 ปี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ในความผิดมาตรา 157 ต่อมา ศาลอนุญาตให้ประกันชั่วคราว วงเงิน 1.2 แสนบาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อตำแหน่ง กสทช.นั้น

วันนี้ (6 ก.พ.) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญานั้น

คณะนิเทศศาสตร์ตระหนักดี ว่า มิอาจวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลอันจะเป็นการล่วงละเมิดอำนาจศาลได้ กระนั้นในฐานะสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ก็มิอาจนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยประเทศไทยผ่านการต่อสู้ขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปสื่อจากภาควิชาการ วิชาชีพ และประชาชนจำนวนมากมาเป็นเวลายาวนานกว่าที่จะก่อตั้งองค์กรอิสระในการกำกับดูแลสื่ออย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เกิดขึ้นได้

องค์กรนี้จึงเป็นองค์กรที่สังคมคาดหวังให้มีความเป็นอิสระทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้บริโภคสื่อ มิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ ตามความในมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553

ปัจจุบันนี้ สภาพการณ์ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีอยู่ ไม่สามารถรองรับการกำกับดูแลสื่อในสภาพการณ์จริงได้ทัน จนเกิดปัญหาอย่างยิ่งต่อระบบอุตสาหกรรมสื่อและสิทธิเสรีภาพด้านการสื่อสารของสังคมไทย ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตถูกกำกับดูแลให้ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย ในขณะที่มีผู้ประกอบธุรกิจสื่อจำนวนมากที่อาจกระทำการเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิผู้บริโภคสื่อโดยอาศัยความได้เปรียบที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลนี้

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นความท้าทายยิ่งขององค์กรกำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช. ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ดังนั้น หากมีกรณีที่ผู้บริโภคสื่อร้องเรียนขึ้นมาว่าถูกละเมิดสิทธิในฐานะผู้บริโภคสื่อ กสทช.มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามบทบาทในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อ

ผลของคดีความทางกฎหมายที่เกิดขึ้น อาจทำให้สังคมเกิดคำถามต่อความเป็นอิสระในการทำงานของ กสทช. และกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ผู้ประกอบกิจการสื่อ นักวิชาชีพสื่อ และผู้บริโภคสื่อมีต่อการทำงานของ กสทช. ในอนาคต

อีกทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะนี้ยังกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ ในฐานะที่พึ่งของประชาชนในการพิทักษ์สิทธิที่ประชาชนพึงมี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงออก ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคมโดยพยายามทำให้เกิดความกดดันและความกลัว

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอแสดงจุดยืนของคณะฯ สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ยึดมั่นในหลักการ และปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณะต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น