xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข” ผู้ปลุกปั้น “วงปล่อยแก่-วงเยาวชนดนตรี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายปีที่ผ่านมา เราๆ ท่านๆ ย่อมได้ยินได้ฟังข่าวคราวของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ที่ไปบรรเลงตามจังหวัดต่างๆ ทั่วไทย ร่วมกับวงปล่อยแก่ ศิลปินพื้นบ้าน และวงดนตรีเยาวชนไทยจากทั่วประเทศ ขณะที่หลายคนได้มีโอกาสรับชมรับฟังในสถานที่จัดนั้นๆ ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมภายใต้การนำของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ปรมาจารย์ด้านดนตรี ที่คลุกคลีอยู่กับการสอนดนตรีกับเด็กและเยาวชนมานานกว่า 40 ปี พร้อมๆ กับการกระตุ้นเตือนให้ผู้คนได้เห็นและตระหนักถึงรากเหง้าของดนตรีไทยที่มาจากเพลงพื้นบ้าน เพลงไทยเดิมและเพลงประจำชาติ

ณ เวลานี้ แม้จะเกษียณฯ จากตำแหน่งคณบดีคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อายุได้ล่วงเลยสะพานพระราม 7 มาหลายป้ายแล้ว แต่ก็ยังไม่ทิ้งวงการดนตรี โดยเฉพาะการอนุรักษ์ ฟื้นฟูดนตรีพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและนับวันจะสูญหายไปจากสังคมไทย พร้อมๆ กับการนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา มาผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้ดนตรีไทยร่วมยุคร่วมสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นการนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันและสร้างสรรค์เพื่ออนาคต

วันนี้จะพาผู้อ่านมารู้จักกับ “รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข” ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เป็นประธานมูนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ซึ่งยังคงเป็นกำลังสำคัญของวงการดนตรีบ้านเรา และมีลูกศิษย์ลูกหาในวงการดนตรีเต็มบ้านเต็มเมือง

ในการสนทนากันช่วงแรก รศ.ดร.สุกรี เกริ่นให้ฟังว่า ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่ง ชาติ (วช.) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เริ่มจากโครงการวิจัยดนตรีประจำชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเยาวชน เริ่มจากเสียงอดีต มาเป็นอมตะสยาม เพลงไทยทางเปลี่ยน เพลงไทยทางใหม่ เสียงใหม่ในดนตรีไทย จนล่าสุดมาถึง “ไทยใหม่” ทำให้ได้เห็นพัฒนาการคือ การนำเพลงในอดีตที่มีอยู่มาเรียบเรียงให้บรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า ซึ่งเสียงที่เปลี่ยนไปทำให้ดูใหม่ขึ้น จากเพลงไทยเดิม มาเป็นเพลงไทยทางเปลี่ยน ในช่วงระยะเวลา 200-500 ปี เปลี่ยนมาสู่เสียงใหม่ และเพลงไทยใหม่ ที่เกิดขึ้นกับดนตรีในประเทศไทย

“สิ่งเหล่านี้ทำให้ได้เห็นพัฒนาการที่น่าภูมิใจยิ่ง อีกทั้งสามารถนำเพลงพื้นบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้ศึกษาผ่านมา 20 เมืองๆ หนึ่งๆ ทำไป 14-16 เพลง เพราะฉะนั้นคนรุ่นหลังสามารถศึกษาจากเพลงเหล่านี้อย่างน้อย 240เพลงได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมมีความสุขมากและมีความภูมิใจมาก สามารถตายได้อย่างสบายใจ”

รศ.ดร.สุกรี บอกด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นใหม่ที่ภูมิใจอีกเรื่องหนึ่งคือ วงปล่อยแก่กับวงเยาวชนที่ประลองในแต่ละครั้ง สำหรับการประลองวงเยาวชน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการสร้างรากฐานให้คนรุ่นใหม่ได้สืบทอดเพลงในอดีตแล้วนำมารับใช้ปัจจุบัน สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งการสร้างสรรค์ใหม่ของเยาวชน ทำออกมาแล้วจากเพลงไทยได้กลายเป็นเพลงของนานาชาติ เป็นเพลงที่ไปเล่นที่ไหนก็ไพเราะ สามารถนำเพลงเหล่านี้ไปแสดงที่กรุงเบอร์ลิน กรุงลอนดอน หรือไปแสดงร่วมกับกับวงลอนดอนซิมโฟนีออร์เคสตร้า หรือแสดงกับวงโตเกียวได้หมด

เชื่อว่าถ้าวงดนตรีขนาดใหญ่ๆ เหล่านั้นมาเห็นเพลงไทยใหม่ ได้ฟังเพลงเยาวชนไทย ก็ย่อมอยากนำเพลงเหล่านี้ไปเล่น ซึ่งสามารถทำได้เลย แต่เดิมหากจะนำเพลงไทยเดิมแบบเล่นด้วยเครื่องดนตรีไทย อาจยากไปหน่อย หรือการนำเพลงพื้นบ้านต่างๆ ไปเล่นก็ทำไม่ได้ พอวงของเด็กเยาวชนนำมาสร้างสรรค์จากเพลงที่มีอยู่เดิม ได้มาทำใหม่แล้วมาห่อหุ้มด้วยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน จึงเป็นทางเลือกใหม่ ทำให้คนปัจจุบันรับได้ ขอชื่นชมว่าเด็กเหล่านี้ว่าเก่งมากๆ โดยวงดนตรีเยาวชน 6 วง ที่ร่วมในเวทีประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 จะไปแสดงให้ชมกันในงานวันนักประดิษฐ์ปี พ.ศ. 2568 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2568 นี้ 
 
สำหรับวงปล่อยแก่ ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจรญสุข แจกแจงให้ฟังว่า เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานวิจัยเหมือนกัน เริ่มก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2562 โดยได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2565 ทางวช. มาร่วมสนับสนุนด้วย ปัจจุบันมีสมาชิกวงปล่อยแก่ 1,405 คนมีกิจกรรมวงปล่อยแก่ใน 12 จังหวัด มีอยู่ 13 วง ทั่วประเทศ เป็นพลังงานคนแก่ที่ถูกนำมาถ่ายทอดได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

หากย้อนไปในอดีตแต่ก่อน คนแก่มีเงินเหลือจากการทำงานในชีวิต 5-10 ล้านบาท ก็ต้องไปจ่ายให้หมอให้โรงพยาบาล จ่ายค่ายาหมด พอคนแก่มาออกกำลังกายด้วยการร้องเพลง ทำให้คนแก่มีความสุข ที่สำคัญลดปัญหาความเจ็บป่วย ลดค่ายา ลดค่ารักษา อีกทั้งมีเพื่อนมีสังคมด้วย นอกจากนี้ยังสร้างชื่อในเวทีนานาชาติด้วย โดยได้รับเชิญจากเมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ให้ไปร่วมแข่งขันการขับร้องประสานเสียง ที่เกาะบาหลี ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ที่จะถึงในปีนี้

อดีตคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวอีกว่า ต้องขอบคุณมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และวช. โดยเฉพาะ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช.ที่ได้ให้การสนับสนุนมาตลอด และยังได้เดินทางไปชมการแสดง ไปให้กำลังใจแก่เยาวชนในเวทีประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรีทุกครั้งด้วย ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้คือ การให้ความรู้กับสังคม สร้างให้ท้องถิ่นได้จดจำ และสร้างให้นักดนตรีได้มีอาชีพอย่างภาคภูมิใจ ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้มาบันทึกการแสดงและได้เผยแพร่ให้คนได้ดู ได้เห็นว่ายังมีงานดนตรีแบบนี้อยู่ด้วย โดยเฉพาะการที่นำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ไปแสดงในพื้นที่ให้ชาวบ้านดู แต่ก่อนไม่มีใครทำกัน เพลงเหล่านี้เลยไม่ได้ยินและไม่ได้ฟังกัน จึงต้องนำอดีตมาปรุงแต่งใหม่ให้เป็นปัจจุบันและเพื่ออนาคต ที่ผ่านมาอดีตก็อยู่อย่างอดีต แต่เมื่อได้ปรุงแต่งเป็นปัจจุบันทันสมัย ก็จะสร้างแรงบันดาลใจมองเห็นอนาคต ต่อไปเพลงไทยใหม่อยู่กับคนรุ่นใหม่ สามารถนำไปแสดงอยู่ในโรงแรมหรู ร้านอาหารที่รับแขกบ้านแขกเมือง เป็นเพลงตามสายในสนามบิน บนเครื่องบิน หรือเป็นเพลงไปอยู่ในภาพยนตร์ เป็นต้น
ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และสถานทูตไทยในประเทศต่างๆ ที่มีหน้าที่ขายซอฟพาวเวอร์ไทย ขายเฟสติวัลไทย ขายมหกรรมวัฒนธรรมไทยให้ไปอยู่ในระดับสากล

“การที่ผมทำงานวิจัยเหล่านี้ เพื่อก่อกวนทางวิชาการและก่อกวนทางปัญญา ผมเองเป็นคนแก่คนหนึ่ง ซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์และผมก็อยู่ในโลกอนาคตที่เดินไปข้างหน้า วัตุประสงค์หลักเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ มองเห็นว่าสิ่ งเหล่านี้คือตัวตนของซอฟท์พาวเวอร์ไทย คือความสวยงาม ความไพเราะ เป็นการนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งสิ่งใหม่ๆ เท่านั้นที่จะมีพาวเวอร์ สิ่งใหม่ๆ เท่านั้นที่มีพลัง และสินค้าใหม่เหล่านี้ไม่ได้มาลอยๆ ต้องมาจากรากเหง้าที่มีอยู่ในสังคม ซอฟต์พาวเวอร์ที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดคือศิลปะและดนตรี ถือเป็นซอฟพาวเวอร์ทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ฉะนั้นถ้านำคนไทยที่มีศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีและทางศิลปะมาทำแบบนี้ ประเทศไทยจะร่ำรวยมาก”ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข อธิบายจุดประสงค์ของงานวิจัย

รศ.ดร.สุกรี บอกด้วยความภาคภูมิใจว่า บ้านเรามีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นซอฟท์พาวเวอร์อย่างเห็นได้ชัด อาทิ จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีมุสลิม วงร็องแง็งเป็นวัฒนธรรมในท้องถิ่น มีภาษาร้องเป็นมลายู เมื่อมีฝรั่งเข้ามา มีทำนองเพลงเป็นฝรั่ง มีเครื่องดนตรีไวโอลินที่เป็นสากล มีรำมะนาเป็นเปอร์เซีย มีฆ้องเป็นไทย ฉะนั้นปัตตานีจึงเป็นแหล่งที่มีต้นทุนที่ยิ่งใหญ่มาก หรือในพื้นที่อย่างภูเก็ต ก็น่าสนใจมากเช่นกันเพราะเป็นเมืองนานาชาติมา 500 ปีแล้ว รวมถึงนครวัด หลวงพระบาง และเชียงตุง ด้วยมีเพลงที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยมาก
อย่างการแสดงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า ร่วมกับวงเยาวชน พร้อมศิลปินพื้นบ้านที่ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เพิ่งจะแสดงเสร็จสิ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ มีการนำเพลงของหมอผี มาทำในรูปแบบสมัยใหม่ เช่น เพลงกล่อมช้าง บวงสรวงช้าง อ้อนวอนช้าง เพลงอ้อนวอนเทวดา เพราะช้างเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากของกษัตริย์ในสมัยโบราณ การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเทวดาก็ต้องใช้หมอผี เป็นความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมของยุคโบราณ แต่ปัจจุบันไม่มีคนรู้จัก ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก

“ทุกวันนี้วงปล่อยแก่แต่ละจังหวัดมีงานแสดงเต็มไปหมด ส่งผลคนแก่มีความสุข ที่สำคัญสามารถหารายได้ด้วยตัวเอง ตัวอย่างวงปล่อยแก่ภูเก็ต ซึ่งจะจัดคอนเสิร์ตใหญ่ในวันที่ 29 เดือนมีนาคมนี้ เพื่อหารายได้มอบให้แก่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ส่วนวงเยาวชนต่างๆ ที่เข้าร่วมเวทีประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรีทั้งครั้งที่ 1-2 สามารถไปรับงานได้เยอะ กลายเป็นอาชีพใหม่ อย่างวงพิชชโลห์ ที่ชนะเลิศสองปีซ้อน ก็รับงานแสดงเยอะ มีคนชวนไปแสดงงานต่างๆ ล่าสุดเป็นดาราที่มีศักยภาพทางด้านดนตรี เชื่อว่าในที่สุดประเทศไทยสามารถทำเทศกาลดนตรีภูมิภาคนี้ได้ “รศ.ดร.สุกรี กล่าวด้วยสายตาเปี่ยมสุข

ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าผลงานของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข นั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการศิลปวัฒนธรรม และดนตรีของบ้านเรา ซึ่งส่งผลกระตุ้นในวงกว้างต่อสังคมไทย ทั้งในมิติของชุมชน สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ เพราะใช่แต่ดนตรีพื้นบ้าน ศิลปินพื้นบ้าน และคนแก่ จะมีพื้นที่ยืนและเป็นที่ยอมรับเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็สร้างเยาวชนให้รักและหวงแหนสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้ พร้อมๆ กับการยกระดับให้ดนตรีไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากลด้วย












กำลังโหลดความคิดเห็น