xs
xsm
sm
md
lg

“สุชาดา” เลขาฯ รมว.อว. นำทีม บพข.- ม.มหิดล เจรจาร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำภาครัฐ-เอกชนของสเปน ชี้ โอกาสไทยร่วมพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุชาดา” เลขาฯ รมว.อว. นำทีม บพข.- ม.มหิดล เจรจาร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำภาครัฐ-เอกชนของสเปน ชี้ โอกาสไทยร่วมพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับสูง ทั้งการแพทย์นาโน-ยา-ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ลดการพึ่งพานำเข้ายกระดับสู่การพึ่งพาตนเอง

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ประธานคณะกรรมการบริหาร และ รศ.ดร. ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ที่ปรึกษาอธิการบดีฝ่ายวิจัย และคณะอาจารย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางไปเยี่ยมชมหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมทางวัสดุศาสตร์ทางชีวภาพและการแพทย์ ทางการแพทย์นาโน (Nanomedicine) และผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (ATMP) พร้อมเจรจาสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย ระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ประเทศสเปน

โดยทางคณะได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ และเจรจาพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับนักวิจัยชั้นนำจากหลากหลายสถาบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ Material Science Institute of Madrid (ICMM-CSIC), IMDEA Nanociencia Institute, VIVE BIOTECH, CIC BIOMAGUNE, The Institute for Bioengineering of Catalonia และ Vall D’Hebron Hospital, นอกจากนี้ ยังเข้าเยี่ยมชมและหารือความร่วมมือในอนาคต ร่วมกับ CDTI-E.P.E ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตรของ บพข. ในการให้ทุนร่วมกัน (Matching Fund) สำหรับโครงการที่มีความร่วมมือระหว่างสเปนและประเทศไทย CDTI ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ทุนแก่ภาคเอกชนที่ทำความร่วมมือวิจัยกับภาครัฐที่สำคัญของประเทศสเปน CDTI เป็นหน่วยงานรัฐภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของสเปน มีหน้าที่ส่งเสริมด้านนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทสเปน โดยให้การสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

น.ส.สุชาดา กล่าวว่า ประเทศสเปนมีการลงทุนในการวิจัยด้านการแพทย์ผ่านกองทุนต่างๆ มากถึง 2.36 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาด้านการแพทย์และสุขภาพ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์นาโน (Nanomedicine) และผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (ATMP) ร่วมกับสเปนจะส่งผลให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ในระดับสูง สามารถลดอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยจากมะเร็ง ลดการนำเข้ายามะเร็งราคาแพงจากต่างประเทศ การร่วมมือกับสเปนโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยาอาจช่วยลดการนำเข้ายาได้ในระดับหนึ่ง ที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่างไทยและสเปนในด้านวิจัยและนวัตกรรมมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการความร่วมมือทวิภาคีด้านนวัตกรรมไทย–สเปน (TLSIP – Thailand & Spain Innovating Program) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเสียในอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในการพัฒนานาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์และความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพใหม่ๆ ที่สามารถผลิตในประเทศไทย ความร่วมมือเหล่านี้อาจช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตยาในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้า และส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทยในอนาคต

“สำหรับตลาดสุขภาพของสเปน ไม่แค่เรื่องของทางการแพทย์เท่านั้น เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารเสริมทั่วโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2022 มีมูลค่าประมาณ 152.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 269.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีประมาณ 8.5% สำหรับสเปน ซึ่งเป็นประเทศในยุโรป มีแนวโน้มที่สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดอาหารเสริมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลเฉพาะเจาะจงสำหรับสเปน แต่ด้วยแนวโน้มการเติบโตของตลาดอาหารเสริมในยุโรป คาดว่าอุตสาหกรรมนี้ในสเปนจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต ดังนั้นจึงเป็นข้อดีในการพัฒนานาโนเทคโนโลยีในประเทศไทยให้ครอบคลุมทั้งอาหารเสริมและการแพทย์” น.ส.สุชาดา กล่าว














กำลังโหลดความคิดเห็น