ม.รังสิต เปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์บูรณาการและสาธารณสุข มอบ “หมอธีระวัฒน์” ดำรงตำแหน่งประธานศูนย์ฯ ขับเคลื่อนพัฒนาความเป็นเลิศด้านการศึกษา การพัฒนาด้านการวิจัยและนวัตกรรม ตั้งเป้าผลักดัน “การแพทย์สะอาด” ให้เป็นรูปธรรม พร้อมยกระดับสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
ต้องบอกว่า นับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมหาวิทยาลัยรังสิต จัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่มีชื่อว่า “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์บูรณาการและสาธารณสุข” พร้อมแต่งตั้งให้ “ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ดำรงตำแหน่งประธานศูนย์ฯ ใหม่แห่งนี้
แน่นอนว่า วงการแพทย์ของไทยและประชาชนคนไทยย่อมเคยได้ยินชื่อหรือรู้จัก “คุณหมอธีระวัฒน์” จากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ในหลากหลายบทบาท รวมทั้งการเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งทำให้คุณหมอมองเห็นและเข้าใจปัญหาของการสาธารณสุขของไทยเป็นอย่างดี
ผู้จัดการออนไลน์ มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณหมอธีระวัฒน์ ในวาระที่กำลังเริ่มออกสตาร์ทในบทบาทใหม่ โดยคุณหมอเน้นย้ำในหลายครั้งหลายคราว่า บทบาทหน้าที่นี้ตั้งใจทำด้วยจิตบริสุทธิ์และคำนำถึง “ชีวิตมนุษย์” เป็นสิ่งสำคัญ!
ตั้งเป้ามุ่งสู่ “การแพทย์สะอาด”
ด้วย Totality of Evidence
“ศูนย์ฯ แห่งนี้ตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยรังสิต จากความคิดริเริ่มของท่านอธิการบดี ด้วยความตั้งใจในการยกระดับความตระหนักรู้และความรู้ของประชาชนคนไทยและสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายคือเพื่อให้คนไทยสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งระบบสาธารณสุขของรัฐมาก เพราะอย่างที่รู้กันว่า เวลานี้ ระบบสาธารณสุขของเรานั้นค่อนข้างมีทุนจำกัด ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขก็มีมากพอสมควร ส่วนค่ายาค่ารักษาก็ถีบตัวสูงขึ้น”
คุณหมอธีระวัฒน์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้น พร้อมระบุว่า อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งศูนย์ฯ คือต้องการให้เกิด “การแพทย์สะอาด” (Clean Medicine) จากการมองเห็นปัญหาว่า ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา การรักษา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในเรื่องของการวิจัย อาจจะมีความเชื่อมโยงหรือมีอิทธิพลจากบริษัทผู้ผลิต ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย จนกระทั่งประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ ขณะเดียวกัน บทความทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นก็มีความเชื่อมโยงอยู่กับบริษัทซึ่งอาจส่งผลให้ข้อมูลที่เผยแพร่นั้นเกิดการเบี่ยงเบน
“เรารู้ว่า การแพทย์กับธุรกิจ บางครั้งบางครา มันแยกกันไม่ออกเพราะเรื่องของผลกำไรที่เชื่อมโยงอยู่กับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ ยา และวัคซีน ซึ่งจริง ๆ เรื่องแบบนี้ก็มีมานานแล้ว ดังนั้น บางทีข้อมูลที่ประชาชนได้รับก็จะเป็นข้อมูลฝ่ายเดียวซึ่งมาจากบริษัทผู้ผลิต หรือข้อมูลนั้นของบริษัทที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ มีความเชื่อมโยงผลประโยชน์กัน ดังนั้น การจะพูดอะไรก็คงไม่ได้ถนัดถนี่เท่าไหร่นัก”
ดังนั้น หนึ่งในบทบาทของศูนย์ฯ แห่งนี้ ก็คือการเป็นเหมือนคนกลางซึ่งทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลหลักฐานรอบด้าน ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก ไม่ใช่แค่หลักฐานในวารสารอย่างเดียว แต่จะดูผลลัพธ์ทั้งหมดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เที่ยงตรงที่สุดโดยไม่เบี่ยงเบนเข้าข้างใคร จากนั้นจะนำมาวิเคราะห์ว่ามันมีปัญหาอย่างไรหรือไม่ ได้รับการพิสูจน์แล้วหรือยัง? สามารถที่จะใช้ได้หรือเปล่า? ถ้ายังใช้ไม่ได้ ก็จะมีการวิจัยและพัฒนาต่อ เพื่อพิสูจน์ว่ามันจะใช้ได้จริง ๆ หรือไม่ ทั้งหมดนี้เกิดจากความคิดความเชื่อที่ว่า ข้อมูลหลักฐานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วมีส่วนช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ได้
“ที่ผ่านมา เรามีการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์โดยมีคำว่า Evidence-Based Medicine (เวชศาสตร์เชิงประจักษ์ หรือการแพทย์แบบอิงหลักฐาน) แต่ปัญหาก็คือว่า หลักฐานนี้มาจากไหน ขณะที่หลักฐานหลายชิ้นที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลก ก็มีการพิสูจน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ไม่ได้ให้ข้อมูลร้อยเปอร์เซ็นต์ และบางข้อมูลอาจจะถูกเซ็นเซอร์ หรือไม่ได้รับการยอมรับในทางการ แต่ศูนย์ฯ แห่งนี้จะใช้คำว่า Totality of Evidence หรือหลักฐานที่ประจักษ์
“เราจะยึดเอาหลักฐานที่เห็นได้ด้วยตาจากและเกิดขึ้นจริงกับคนในสังคมเป็นสำคัญ เช่น คนที่ได้รับยาไปแล้ว ดีขึ้นจริงหรือไม่ มีผลแทรกซ้อนต่อเนื่องไปหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว ดังนั้น หลักฐานตรงนี้จะมีความแม่นยำ มากกว่าที่จะอ้างอิงจากวารสารต่าง ๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้ผลเท่ากับที่ตีพิมพ์ในวารสาร เรื่องแบบนี้เรามองว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเรากำลังดีลอยู่กับชีวิตมนุษย์ เรายอมไม่ได้ ถ้าหากว่าการแพทย์หรือการสาธารณสุขนั้นไปเล่นกับชีวิตมนุษย์และไม่รับผิดชอบกับชีวิตมนุษย์”
“แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราไม่ได้ไปท้ารบท้าตีท้าต่อยกับใครนะครับ” คุณหมอธีระวัฒน์กล่าวย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
“เราจะเน้นเรื่องการให้ข้อมูลที่เป็นข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และเป็นข้อมูลหลักฐานที่เราเห็นในผู้ป่วยจริง ๆ เพื่อจะได้ไปบอกประชาชนว่า ควรจะระวังอย่างนั้นอย่างนี้ และคนที่ให้การบริการด้วยยาหรือวัคซีนหรือยาต่าง ๆ ก็ควรระวังลักษณะอย่างนั้นด้วย เราไม่มีอำนาจที่จะไปสั่งใคร แต่จะใช้ความจริงที่ได้รับการพิสูจน์แล้วทางวิทยาศาสตร์
“ยกตัวอย่างเรื่องวัคซีน Covid ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาอยู่ก็คือ เรื่องผลกระทบหรือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว คำว่าระยะยาวนั้นหมายความว่า เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้ว 2-3 ปี ผลกระทบนั้นยังเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่ว่าจะเป็นสมอง หลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกันวิปริตหรือด้อยลง จนทำให้คนไข้นั้นหรือคนที่ได้รับวัคซีนนั้น ๆ มีความอ่อนแอ และทำให้เชื่อโรคต่าง ๆ ปะทุขึ้นมา เช่น เริม หรืองูสวัด อีกทั้งความต้านทานต่อโรคก็ลดลง ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องส่งสัญญาณให้ทางการและผู้ผลิตรับทราบด้วยข้อมูลที่เราพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว เพื่อที่จะได้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยที่สุด”
เดินหน้ายกระดับสมุนไพร
เพื่อคนไทยช่วยเหลือตัวเองได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาและประสิทธิภาพของยา และนี่ก็คืออีกหนึ่งเป้าหมายของศูนย์ฯ แห่งนี้ที่ต้องการบรรลุ
“เราจะต้องให้ประชาชนรับทราบว่า ยาที่ใช้อยู่ขณะนี้เป็นแค่ยาบรรเทาอาการโดยที่ไม่ได้รักษา หรือเป็นยาที่มีสรรพคุณในการรักษา หรือทำให้โรคนั้นสงบไปได้ ซึ่ง 2 กลุ่มนี้ต่างกันมาก ถ้าเราใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการอย่างเดียว โรคก็จะยังคงดำเนินต่อไปและลุกลามไปเรื่อย ๆ โดยที่ผู้ป่วยก็ไม่ทราบ ทั้งนี้ หากได้ยาที่เราเรียกว่า ‘สะอาด’ ปราศจากอิทธิพลเชื่อมโยงต่าง ๆ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน”
อันดับต่อมาคือเรื่องของ “ยาสมุนไพร” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยและทางเลือกในการดูแลสุขภาพและรักษาโรค ศูนย์ฯ จะบูรณาการร่วมกับแพทย์แผนตะวันออก สร้างฐานข้อมูลของสมุนไพรที่ผ่านการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และยกระดับสมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น
“ถ้าเราสามารถเลือกสมุนไพรที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด และสามารถทำฐานข้อมูลว่าสมุนไพรตัวไหนดีในด้านไหน วิธีการใช้ ใช้อย่างไร มีกลไกในการออกฤทธิ์ตรงไหนบ้าง ใช้แล้วจะไปตีกับสมุนไพรตัวอื่นหรือยาอื่นหรือไม่อย่างไร ซึ่งตรงนี้สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐาน ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือแพทย์แผนปัจจุบันก็ตาม”
ทั้งนี้ เนื่องจากวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการรวบรวมหลักฐานและจัดเก็บสมุนไพรไว้หลายพันรายการ พร้อมทั้งระบุสรรพคุณไว้เรียบร้อยแล้ว “คุณหมอธีระวัฒน์” กล่าวว่า จากนี้จะทำการจัดกลุ่มและดูหลักฐานที่ได้มาจากการใช้งานจริงว่าได้ผลลัพธ์อย่างไร
“สมุนไพรถือเป็นขุมทรัพย์มหาศาลของคนไทย ความตั้งใจของศูนย์ฯ แห่งนี้ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ ขณะที่ระบบสาธารณสุขก็อยู่ได้ แต่ว่าจะเป็นอย่างนั้นได้ สมุนไพรที่เรานำมาเสนอ จะต้องได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์”
ยิ่งกว่านั้น นอกเหนือจากสมุนไพรที่มีการใช้อยู่แล้ว ศูนย์ฯ ยังพร้อมเดินหน้าเสาะแสวงหาสมุนไพรใหม่ ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย พร้อมยกระดับขึ้นมาโดยการพิสูจน์ทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
พร้อมร่วมมือทุกภาคส่วน
เพื่อช่วยให้คนไทย ‘ไม่อมโรค’
สุดท้ายแล้ว หากถามถึงความคาดหวังของคุณหมอธีระวัฒน์จริง ๆ กับการทำหน้าที่ในศูนย์แห่งนี้ คุณหมอกล่าวโดยสรุปว่า เราจะให้หลักฐานความเป็นจริงกับประชาชนคนไทย และอยากให้คนไทยตระหนักว่า ระบบสาธารณสุขของเราตอนนี้จำกัดจำเขี่ยมาก เพราะฉะนั้น การที่เราจะเดินเข้าไปโรงบาลแล้วบอกว่าเราเป็นโรคนี้และจะรักษาทันที โดยที่ไม่สนใจเรื่องการป้องกันหรือดูแลตัวเองให้แข็งแรง ก็อาจจะรอดยาก ประการต่อมาคือการทำให้เกิดความตระหนักว่า การแพทย์นับจากนี้ต้องทำให้สะอาดโดยไม่มีอคติมากที่สุด และประการที่สามคือคนไทยสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้โดยการใช้สมุนไพรหรือนำเข้ามาใช้ร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันโดยไม่ตีกัน คือนอกจากตัวยาไม่ตีกัน หมอแผนปัจจุบันกับหมอสมุนไพรก็ไม่ตีกันด้วย
“ตัวผมเองและอาจารย์ที่อยู่ในศูนย์ และอยู่ในกรรมการปฏิรูปของระบบสาธารณะสุขของประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เราทราบถึงโครงสร้างของระบบซึ่งอาจจะสามารถแนะแนวหรือชี้นำได้ว่า ควรที่จะแก้ความเหลื่อมล้ำหรือแก้ความไม่เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันให้มีการบูรณาการมากขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร ขณะเดียวกัน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์บูรณาการและสาธารณสุข ยังได้มีความร่วมมือกับคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรังสิต ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และกลุ่มคณะสังคมศาสตร์ เพราะไม่มีใครเก่งที่สุดหรือสามารถทำคนเดียวได้ทั้งหมด สิ่งไหนที่เรายังขาดตกบกพร่อง เราก็ไปร่วมมือกับสถาบันอื่น องค์กรอื่น”
โดยความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เกิดผลดีตามมา คือ ลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้ประโยชน์มากที่สุด (Minimize budget , Maximize benefits) โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องมือใหม่ การใช้คนน้อยที่สุดในการทำงาน แต่มีความสามารถที่จะเชื่อมโยงบุคลากรและเครื่องมือที่มีอยู่แล้วในมหาวิทยาลัยรังสิตเข้าด้วยกัน แต่ถ้ามีความยังไม่พร้อมใน 2 กรณีนี้ ก็สามารถที่จะเชื่อมโยงหรือสร้างเครือข่ายกับภายนอกได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งนี้ ก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย
ทั้งนี้ ข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ที่เกิดจากการดำเนินงานของศูนย์ฯ จะมีการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรังสิต รวมทั้งสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้และเข้าใจได้ ขณะเดียวกันก็จะมีการจัดเสวนาให้ความรู้ประชาชนทั่วไปซึ่งจะมีการนำหลักฐานต่าง ๆ ที่ย่อยให้เข้าใจง่ายเรียบร้อยแล้วมาถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับรู้ และถ้ามีใครไม่เห็นด้วย ก็พร้อมเปิดใจรับฟัง ถือเป็นการเปิดเวทีเพื่อให้นำเอาหลักฐานมาชี้แจงกัน นอกจากนั้นยังจะมีการจัดสัมมนาซึ่งยกระดับขึ้นอีกขั้นด้วยการเชิญวิทยากรที่เป็นบุคลากรในอาชีพนั้น ๆ มาให้ความรู้ เช่น การใช้สมุนไพรให้ดีมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
“สุดท้าย เราหวังว่าประชาชนคนไทยจะต้องไม่เป็นคนอมโรค คนไทยต้องไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และต้องได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการเข้าถึงยาและการรักษา ผมเป็นหมอ หน้าที่ของเราตั้งแต่เรียนมา คือ Do no Harm ไม่ทำอันตรายกับมนุษย์ และช่วย Protect ชีวิตมนุษย์ไม่ให้เกิดอันตรายขึ้นอย่างดีที่สุด
“ด้วยจิตบริสุทธิ์ เราคิดอยู่อย่างเดียวคือชีวิตมนุษย์ต้องปลอดภัย คนไทยต้องปลอดภัย และเราก็มองทุกหน่วยงาน ทุกบริษัท เป็นกัลยาณมิตร แต่ในกรณีที่อาจจะไปกระทบกับใคร เราก็คงต้องเรียนด้วยข้อมูลจริง ๆ และเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ เราไม่ได้มาเพื่อทำลายบริษัท เพราะถ้าบริษัทยาอยู่ไม่ได้ ก็ไม่มียาให้มนุษย์ ถ้าบริษัทวัคซีนอยู่ไม่ได้ ก็ไม่มีวัคซีนดี ๆ สำหรับมนุษย์เช่นกัน แต่ว่าเราต้องการยาและวัคซีนที่ดี ที่ปลอดภัยที่สุดต่อชีวิตมนุษย์เท่านั้นเอง และเหนืออื่นใด ไม่ว่าคุณจะนุ่งผ้าถุงสวมรองเท้าแตะ หรือนั่งรถซูเปอร์คาร์ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน” คุณหมอธีระวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
#หมอธีระวัฒน์ #มหาวิทยาลัยรังสิต #ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์บูรณาการและสาธารณสุข