มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์ฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานหวังพลิกโฉมการแพทย์ไทยผสานกระบวนการคิด Design Thinking เข้ากับการวิจัยทางการแพทย์ มุ่งสร้างนวัตกรรมอันล้ำหน้า พร้อมระดมทุนเพื่อการรักษามะเร็งด้วยการใช้เซลล์บำบัด
มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “Human Intreraction for Systemetic Innovation” ครั้งแรกกับการรวมตัวของนวัตกรระดับโลก กูรูด้านบริหารจัดการและนักวิจัยด้านการแพทย์ เพื่อพลิกโฉมการแพทย์ไทย จากกระบวนการคิด Systematic Framework ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการ Kickoff โครงการระดมทุนเพื่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เซลล์แทนเคมีบำบัด กองทุนมูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หวังทำโรงงานยาที่มีชีวิต หรือ MU-Bio Plant สร้างยาจากเซลล์ที่มีชีวิต (Living Drug) เป็นกลุ่มยา ATMP แห่งแรก เพื่อขยายผลสู่การผลิตยาเพื่อผู้ป่วยมะเร็งและโรคร้ายแรงในประเทศไทย และภูมิภาค ตอบโจทย์ความท้าทายทางสุขภาพในปัจจุบันและอนาคต
ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลในพระราชูปถัมภ์ มองว่า โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปแบบก้าวกระโดด จึงต้องเน้นทั้งการเรียนรู้ภายในองค์กรและนำการเรียนรู้ และการสร้างประสบการณ์จากภายนอกเข้ามาประยุกต์ใช้ แม้มหาวิทยาลัยมหิดลจะมีความเข้มแข็งอย่างมาก ในด้านงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ใช้ความเชี่ยวชาญที่ครบถ้วนในสหสาขาวิชาสร้างกลไก ในการเชื่อมโยงและกำหนดทิศทางประสานความร่วมมือเข้ามาช่วยขับเคลื่อนและร่วมพัฒนาประเทศ แต่การจะสร้าง Innovation ต้องเป็นไปอย่าง Systematic เพื่อก่อให้เกิดการต่อยอดและนำไปใช้ได้จริง เกิดโซลูชันที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของสังคม ไปสู่ผลสำเร็จใน Real World Impact คือ นอกจากจะพัฒนา ด้วยระบบการให้บริการงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่แล้ว ยังมีเรื่องงานวิจัยยาและการรักษาที่เป็นความหวังของผู้ป่วย งาน Human Interaction for Systematic Innovation จึงเป็นโครงการคิกออฟการระดมทุน เพื่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เซลล์แทนเคมีบำบัด ให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถทำโรงงานยาแบบ Cell and Gene Therapy อันจะเป็น Game Changer ของการรักษามะเร็ง ให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาโรค ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคภัยอันดับ 1 ของไทย ด้วยนวัตกรรมอันทันสมัยในราคาที่ต่ำลง
ภายในงานมีกูรูด้านนวัตกรรมและกระบวนการคิด (Design Thinking) ชั้นนำของโลก Prof. Steven Eppinger, Massachusetts Institute of Technology, Sloan School of Management มาเปิดมุมมองและ สร้างแรงบันดาลใจในด้านทักษะกระบวนการคิดและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ Systematic Innovation through Human-Centered Design ซึ่งนอกจากการบรรยาย ยังเปิดโอกาสช่วงถามตอบ เพื่อให้ตอบโจทย์ตรงใจผู้สนใจ ให้ได้มากที่สุด โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการเสวนา
นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาสุดเข้มข้นจาก คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ที่จะมาชี้มุมมองโอกาสเพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรมที่ยั่งยืน ในหัวข้อ ‘Empowering Thailand’s Economy Through Innovation’
ตบท้ายด้วยเสวนาสำคัญที่เป็นการอัปเดตนวัตกรรมการแพทย์ล่าสุด ในหัวข้อ ‘Revolutionizing Thai Healthcare Through Innovation: นวัตกรรมพลิกอนาคตวงการแพทย์ไทย’ ในการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการทดสอบการวิจัยผลิตภัณฑ์ยาในการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เซลล์บำบัดแทนเคมีบำบัด และการสร้างโอกาสในการรักษามะเร็งและโรคร้ายแรงอื่นๆ ในอนาคต โดยผู้เชี่ยวชาญดังนี้
- รศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล
- ศ. นพ.สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- รศ. ดร.ปฐมพล วงศ์ตระกูลเกตุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดำเนินการเสวนาโดย คุณณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด
“มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นการต่อยอดการศึกษาและวิจัยไปสู่ผลสำเร็จใน Real world impact ในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health science) และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม (Holistic wellbeing) ในระดับ โดยบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในอนาคตจะต้องมุ่งที่การสร้างผลกระทบเชิงบวกในโลกความจริง บนแนวทางการนำความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันเรื่องงานวิจัยยาจำนวนมาก เพื่อยกระดับการรักษาและดูแลสุขภาพ แต่ยังมีข้อจำกัดในการนำเข้าสู่ช่วง Clinical Trial ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะสามารถคิดค้นผลิตยา เป็นของไทยเอง เพราะการวิจัยทางคลินิก ต้องอาศัยความพร้อม และงบประมาณจำนวนมาก ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลมีแผนงาน ทำโรงงานยาที่มีชีวิต หรือ MU-Bio Plant โดยสร้างยาจากเซลล์ที่มีชีวิต (Living Drug) เป็นกลุ่มยา ATMP โดยหวังว่าจะเป็นโรงงานแรกของไทยที่ผลิตยาที่มีชีวิต เพื่อจะนำมารักษาโรคมะเร็งที่มีนวัตกรรมอันทันสมัยให้กับคนไทย” รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
โรคมะเร็งถือเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทย นอกจากเสียชีวิตจากโรคมะเร็งโดยตรง ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตจากการติดเชื้อเพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำเนื่องจากได้รับยาเคมีบำบัด สาเหตุหลักของการเสียชีวิตอีกประการหนึ่ง คือ การดื้อยาหรือการไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การใช้ยาจากเซลล์ที่มีชีวิตเพื่อการบำบัดรักษาโดยการใช้เซลล์และยีนจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการรักษา โรคมะเร็ง
ศาสตราจารย์ นพ.สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า “การวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้รักษามะเร็งด้วยเซลล์และยีน (CAR T-Cell) เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยที่ทีมแพทย์และอาจารย์นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลได้เริ่มวิจัยมาตั้งแต่ปี 2567 จนสำเร็จ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเริ่มโครงการนำร่องในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งโรคเลือดมัยอิโลมา และยังนำไปใช้ในการรักษาโรค SLE จึงเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการรักษาอันล้ำหน้านี้ เพราะต้นทุนต่ำลงมาก นับเป็นความภาคภูมิใจ เพราะเป็นผลงานของคนไทย 100% และได้รับการจดสิทธิบัตรครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ”
การที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ก่อตั้ง ‘กองทุนมูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน’ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและต่อยอดงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและสังคมโลก โดยการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายทางสุขภาพในปัจจุบันและอนาคต มีพันธกิจในการสนับสนุนนักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเพื่อป้องกัน รักษาโรค ส่งเสริมสุขภาพ ขยายการเข้าถึงการรักษาและยกระดับชีวิตคนไทย ครอบคลุมการพัฒนายา โครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา “นี่คือก้าวแรกของการสร้างอนาคตที่จะพลิกโฉมงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ เพื่ออนาคตคนไทยทุกคนได้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและเท่าเทียม”
ก้าวที่ไกลกว่าเดิม...จาก “ห้องทดลอง” สู่อนาคต “โรงงานยาที่มีชีวิตแห่งแรกในไทย” เพราะเราเชื่อว่า “โรงงานยาที่มีชีวิต”และ “ยาที่มีชีวิต” จะเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตของการรักษามะเร็งและเป็น Game Changer ที่จะพลิกโฉมวงการแพทย์ไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมนวัตกรรมทางการแพทย์ให้รุดหน้า และมีส่วนในการช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคร้ายแรงสามารถเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาที่ทันสมัยได้ดียิ่งขึ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์ฯ โทร. 082-526-5501 หรือ Facebook: มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล และ Line: @mufoundation
งาน HUMAN INTERACTION FOR SYSTEMATIC INNOVATION จัดขึ้นในวันที่ 21 มกราคม 2568 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา