รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตระเวน 2 เขตฝั่งพระนคร ลัดเลาะ 1 เขตฝั่งธนบุรี ส่องพื้นที่ทำการค้าที่หายไป พร้อมเดินหน้าปรับภูมิทัศน์ คืนทางเท้าให้คนเมือง อำนวยความสะดวกในการสัญจร
(18 ม.ค. 68) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปรับปรุงภูมิทัศน์และทางเท้า และตรวจความเรียบร้อยหลังการยกเลิกพื้นที่ทำการค้า ประกอบด้วย ตลาดลาว ถนนพระรามที่ 4 หน้าตลาดคลองเตย 2 ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย ซอยต้นสน เขตปทุมวัน และถนนลาดหญ้า เขตคลองสาน โดยมี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสาวเกศจริน สามิภักดิ์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย นายอิทธิพล อิงประสาร ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน นายสรสิช เหลืองรุ่งเกียรติ ผู้อำนวยการเขตคลองสาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา เขตคลองเตย เขตปทุมวัน เขตคลองสาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวว่า ในช่วงเช้าได้ลงพื้นที่ร่วมกับ รองปลัดฯ ศุภกฤต และผู้บริหารสำนักเทศกิจ เพื่อติดตามจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้าและตรวจความเรียบร้อยหลังยกเลิกพื้นที่ทำการค้าในพื้นที่ฝั่งพระนคร 2 เขต คือตลาดลาว ถนนพระรามที่ 4 หน้าตลาดคลองเตย 2 ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย ซอยต้นสน เขตปทุมวัน และฝั่งธนบุรี 1 เขต ถนนลาดหญ้าทั้ง 2 ฝั่ง เขตคลองสาน จุดแรกเป็นการติดตามความคืบหน้าในการปรับปรุงภูมิทัศน์ตลาดลาว ถนนพระรามที่ 4 หลังจากที่กรุงเทพมหานครได้รื้อถอนโครงสร้างตลาดลาว เมื่อเดือนธันวาคม 2567 จากนั้นได้บูรณาการทำงานของทุกหน่วยงานไปพร้อมกับการปรับปรุงภูมิทัศน์และทางเท้าตลาดลาว การประปานครหลวง ขุดวางท่อประปาใหม่ การไฟฟ้านครหลวง ปักเสาพาดสายไฟฟ้าใหม่ NT จัดระเบียบสายสื่อสาร สำนักการจราจรและขนส่ง ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) สำนักการระบายน้ำ ปรับปรุงยกระดับบ่อพักให้อยู่ในระดับเดียวกับทางเท้า พร้อมทั้งเปลี่ยนฝาปิดบ่อพักใหม่ ก่อสร้างบานประตูระบายน้ำใหม่ และปรับปรุงจุดเชื่อมต่อระบบระบายน้ำระหว่างคลองไผ่สิงโตกับคลองหัวลำโพง สำนักการโยธา ทุบพื้นทางเท้าเดิม จัดทำทางเท้าใหม่ความยาวครอบคลุมจุดเชื่อมต่อระบบระบายน้ำต่อเนื่องไปจนถึงถนนรัชดาภิเษก
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า จุดต่อมาหน้าตลาดคลองเตย 2 ถนนรัชดาภิเษก มีผู้ค้าอยู่ 10 กว่าราย จำหน่ายปลาสด ผักสด พื้นที่ทางเท้าจะเปียกน้ำอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดความสกปรกเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ประกอบกับกรุงเทพมหานครมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าและผิวการจราจร ถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่สี่แยกคลองเตย จนถึงห้าแยก ณ ระนอง เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในทางสาธารณะร่วมกัน อีกทั้งเพื่อให้การปรับปรุงภูมิทัศน์และทางเท้าต่อเนื่องกับตลาดลาว เขตคลองเตยจึงได้ออกประกาศให้ผู้ค้าหน้าตลาดคลองเตย 2 เคลื่อนย้ายทรัพย์สิน อุปกรณ์ทำการค้า และกันสาด ออกจากบริเวณดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 19 มกราคม 2568 โดยวันที่ 20 มกราคมนี้ จะลงพื้นที่ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่อีกครั้ง เพื่อให้การปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าและผิวการจราจร ถนนรัชดาภิเษก เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ส่วนความคืบหน้าการปรับปรุงทางเท้าหลังการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าซอยต้นสน ถนนเพลินจิต เขตปทุมวัน ผู้ค้า 17 ราย ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารตามสั่ง ร้านข้าวราดแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว เป็นรถเข็นมาตั้งวางขายสินค้าบนทางเท้า มีการประกอบอาหารก่อให้เกิดความสกปรกจากคราบน้ำมันและเศษอาหารบนทางเท้า เขตปทุมวันได้ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 จากนั้นสำนักการโยธา ได้ปรับปรุงทางเท้าซอยต้นสน ด้านถนนเพลินจิต ฝั่งอาคารเพลินจิตทาวเวอร์ ในจุดที่ชำรุดเสียหายและจัดทำทางลาดสำหรับรถเข็นคนพิการ รวมทั้งปรับปรุงทางเท้าฝั่งตรงข้าม ในจุดที่เป็นแอ่งให้มีความราบเรียบเสมอกัน เพื่อความปลอดภัยแก่ประชาชนในย่านดังกล่าว
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า จุดสุดท้ายตรวจความเรียบร้อยการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าเขตคลองสาน ถนนลาดหญ้าทั้ง 2 ฝั่ง จำนวน 3 จุด แบ่งเป็นพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 2 จุด คือถนนลาดหญ้า ฝั่งขาออก ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 45 ราย ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ค้า 30 ราย และพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 1 จุด คือถนนลาดหญ้า ฝั่งเลขคู่ ตั้งแต่ปากซอยลาดหญ้า 10 ถึงหน้าสหกรณ์ ผู้ค้า 4 ราย ที่ผ่านมาเขตคลองสาน ได้เชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า เนื่องจากผู้ค้าไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขพื้นที่ทำการค้าในที่สาธารณะ ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขตคลองสาน มีมติเห็นชอบยกเลิกพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันถนนลาดหญ้าทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2568 จากนั้นได้เสนอคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานคร เพื่อขอยกเลิกพื้นที่ทำการค้าดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 จากการสำรวจพบว่าผู้ค้า 43 ราย เลิกทำการค้าและกลับภูมิลำเนา บางส่วนย้ายเข้าไปขายในอาคารตนเอง บางส่วนขายในพื้นที่เอกชนและเช่าพื้นที่อาคารใกล้เคียง
ปัจจุบันเขตคลองเตย มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 96 ราย ดังนี้ 1.ถนนดวงพิทักษ์ ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-18.00 น. 2.ซอยสุขุมวิท 16 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.แยกกล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 4.ซอยสุขุมวิท 50 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 5.ปากซอยสุขุมวิท 4 ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 6.ปากซอยอรรถกวี ฝั่งขวาเอสโซ่ ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด คือตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ผู้ค้า 91 ราย ยกเลิกวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 42 ราย ดังนี้ 1.หน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาคลองเตย ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-20.00 น. 2.ซอยไผ่สิงโต ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 3.ปากซอยอรรถกวี ฝั่ง BMW ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และ 4.ปากซอยแสนสุข ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าทางเข้าห้างโลตัส ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 5 ราย 2.หน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 5 ราย
สำหรับเขตปทุมวัน มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 13 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 222 ราย ดังนี้ 1.ซอยร่วมฤดี ผู้ค้า 5 ราย 2.ซอยปลูกจิต ผู้ค้า 24 ราย 3.ซอยโปโล ผู้ค้า 3 ราย 4.สะพานหัวช้าง ถนนพระรามที่ 1 ผู้ค้า 6 ราย 5.ข้างสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ผู้ค้า 99 ราย 6.ซอยเกษมสันต์ 3 ผู้ค้า 3 ราย 7.ซอยจุฬาลงกรณ์ 4 ผู้ค้า 7 ราย 8.ซอยเกษมสันต์ 1 ผู้ค้า 6 ราย 9.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันออก ผู้ค้า 35 ราย 10.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันตก ผู้ค้า 4 ราย 11.ถนนพระรามที่ 6 หน้าส.โบตั๋น ผู้ค้า 6 ราย 12.ถนนจรัสเมือง ตรงข้ามสีตบุตร ผู้ค้า 16 ราย 13.ถนนจรัสเมือง หน้าแฟลตรถไฟ ผู้ค้า 8 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด คือหน้าวัดดวงแข ผู้ค้า 38 ราย นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดประตู 5 สวนลุมฯ ผู้ค้า 108 ราย 2.ตลาดหัวมุมแยกราชดำริ ผู้ค้า 14 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนรองเมือง (ริมรั้วรถไฟ) ผู้ค้า 4 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2567 2.ถนนหลังสวน ผู้ค้า 24 ราย ยกเลิกวันที่ 30 เมษายน 2567 ในปี 2568 ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยต้นสน ผู้ค้า 17 ราย 2. หน้าห้างสยามสเคป ถนนพญาไท ผู้ค้า 9 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2568 ส่วนรอบศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ ผู้ค้า 3 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการยกเลิก รวมถึงยกเลิกพื้นที่รอประกาศให้เป็นพื้นที่ทำการค้า 3 จุด ได้แก่ 1.บริเวณตลาดโรเล็กซ์ ถนนวิทยุ ผู้ค้า 20 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2567 2.ถนนสารสิน ผู้ค้า 25 ราย ยกเลิกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 3.ถนนหลังสวน ผู้ค้า 34 ราย ยกเลิกวันที่ 1 พฤษภาคม 2567
ส่วนเขตคลองสาน มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 379 ราย ดังนี้ 1.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก ตั้งแต่หน้าธนาคารกรุงไทย ถึงศาลเจ้าซำไนเก็ง ผู้ค้า 91 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. และ 17.00-24.00 น. 2.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก ตั้งแต่ท่าดินแดงซอย 1-5 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-24.00 น. 3.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 200 ถึงปากซอยท่าดินแดง 16 ผู้ค้า 34 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. และ 17.00-24.00 น. 4.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาออก หน้าวัดเศวตฉัตร สะพานเจริญนคร 4 ถึงซอยเจริญนคร 29 ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 5.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาออก ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 53 ถึงทางเข้าอาคารตรีทศ ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-21.00 น. 6.ถนนเจริญรัถ ฝั่งขาออก จากถนนเจริญรัถตัดถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ผู้ค้า 54 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 04.00-08.00 น. และถนนเจริญรัถ ฝั่งขาเข้า จากถนนเจริญรัถตัดถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงหน้าบ้านเลขที่ 228 ผู้ค้า 119 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 2-4 ผู้ค้า 1 ราย 2.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า หน้าวัดสุวรรณ ซอยเจริญนคร 8-12 ผู้ค้า 2 ราย ยกเลิกวันที่ 15 มีนาคม 2567 ในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาออก ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 45 ราย 2.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ค้า 30 ราย พื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 9 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 149 ราย ดังนี้ 1.ถนนอิสรภาพ ฝั่งเลขคี่ ตั้งแต่แยกซุ้มประตูไทยซิกข์ ถึงแยกบ้านแขก ผู้ค้า 16 ราย 2.ถนนเจริญนคร ฝั่งเลขคี่ ตั้งแต่แยกคลองสาน ถึงเจริญนครซอย 15 ผู้ค้า 15 ราย 3.ถนนเจริญรัถ ฝั่งเลขคู่ ตั้งแต่ถนนเจริญรัถตัดถนนเจริญนคร ถึงปากซอยเจริญรัถ 4 ผู้ค้า 13 ราย 4.ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งแต่ถนนเจริญรัถ ถึงปากซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 5 ผู้ค้า 25 ราย 5.ถนนเจริญนคร ฝั่งเลขคี่ ตั้งแต่สะพานเจริญนคร 3-4 ผู้ค้า 10 ราย 6.ถนนเจริญนคร ฝั่งเลขคี่ ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 29-53 ผู้ค้า 19 ราย 7.ถนนเจริญนคร ฝั่งเลขคู่ ตั้งแต่ปากซอยเจริญนคร 18-46 ผู้ค้า 29 ราย 8.ถนนกรุงธนบุรี ฝั่งเลขคู่ ตั้งแต่อาคารไทยศรี ถึงคลองบางไส้ไก่ ผู้ค้า 8 ราย 9.ถนนเชียงใหม่ทั้ง 2 ฝั่งตลอดทั้งเส้น ผู้ค้า 14 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 4 จุด ได้แก่ 1.ถนนเจริญนคร ฝั่งเลขคู่ ตั้งแต่ถนนเจริญรัถ ถึงปากซอยเจริญนคร 14 ผู้ค้า 28 ราย 2.ถนนกรุงธนบุรี ฝั่งเลขคี่ ตั้งแต่ปากซอยกรุงธนบุรี 1-5 ผู้ค้า 10 ราย 3.ถนนท่าดินแดง ฝั่งเลขคู่ ตั้งแต่แยกท่าดินแดง ถึงแยกประตูไทยซิกข์ ผู้ค้า 7 ราย 4.ถนนเจริญรัถ ฝั่งเลขคี่ ตั้งแต่ปากซอยเจริญรัถ 1-5 ผู้ค้า 3 ราย ยกเลิกเดือนมีนาคม 2567 ในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 4 จุด ได้แก่ 1.ถนนอิสรภาพ ฝั่งเลขคี่ ตั้งแต่แยกซุ้มประตูไทยซิกข์ ถึงแยกบ้านแขก ผู้ค้า 16 ราย 2.ถนนเจริญนคร ฝั่งเลขคี่ ตั้งแต่สะพานเจริญนคร 3-4 ผู้ค้า 10 ราย 3.ถนนเจริญนคร ฝั่งเลขคี่ ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 29-53 ผู้ค้า 19 ราย 4.ถนนลาดหญ้า ฝั่งเลขคู่ ตั้งแต่ปากซอยลาดหญ้า 10 ถึงหน้าสหกรณ์ ผู้ค้า 4 ราย