อาจารย์ แพทย์หญิงอัญชนา ทองแย้ม
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น คือ ภาวะที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนต้น ที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ในขณะนอนหลับ ทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด และเกิดภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือดที่มีผลทำให้คุณภาพของการนอนหลับลดลง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยในแต่ละช่วงวัยมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป อันดับหนึ่งที่เกิดในเด็กส่วนใหญ่จะเกิดจากต่อมอะดีนอยด์กับต่อมทอมซิลที่โต ภูมิแพ้ หรือภาวะอ้วน ในเด็กที่มีน้ำหนักเกิน ส่วนของเด็กที่โตขึ้นมา หรือเป็นผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ สาเหตุที่พบบ่อยจะเป็นในกลุ่มที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน คนที่มีภาวะโรคอ้วน และมีโรคร่วม เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับได้
สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก ได้แก่ นอนกรนบ่อยมากกว่า 3 คืนต่อสัปดาห์ หายใจแรงกว่าปกติในขณะนอนหลับ มีหยุดหายใจแล้วตามด้วยเสียงหายใจดังเฮือก ปัสสาวะรดที่นอน นอนในท่านั่งหลับหรือแหงนคอขึ้น ริมฝีปากเขียว ปวดศีรษะตอนตื่นนอนผล็อยหลับ หรือง่วงเวลากลางวัน มีปัญหาการเรียนและพฤติกรรม เช่น ซุกซนผิดปกติ หรือสมาธิสั้น ก้าวร้าว
การตรวจร่างกายที่พบในภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก ได้แก่ น้ำหนักน้อย หรืออ้วนกว่าเกณฑ์ ต่อมทอลซิลโต คางเล็กหรือร่นหลัง เพดานปากโค้งสูงหรือโหว่ การเจริญเติบโตช้ากว่าเกณฑ์ ความดันโลหิตสูง อาการแสดงหัวใจด้านขวาล้มเหลว
การวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก พบว่าการซักประวัติและการตรวจร่างกายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถวินิจฉัย หรือบอกถึงความรุนแรงขอภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็กได้ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยโรคให้แม่นยำขึ้น ได้แก่
1. การตรวจภาพรังสี การถ่ายภาพทางรังสีบริเวณคอจะช่วยให้ทราบถึงขนาดและตำแหน่งของต่อมทอนซิล และหรืออะดีนอยด์ ที่อาจมีผลอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน
2. การตรวจการนอนหลับชนิดเต็มรูปแบบ ยังถือว่าเป็นการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็กได้ดีที่สุด มีประโยชน์ในการวินิจฉัยภาวะนี้ในเด็กที่มาด้วยอาการนอนกรนหรือหายใจลำบากขณะหลับ และช่วยแยกแยะความรุนแรงของโรค ช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนของภาวะนี้ ตลอดจนผู้ป่วยที่มีอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
การรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นมีหลายวิธี เช่น
1. การรักษาโดยการผ่าตัดต่อมอดีนอยด์และทอลซิล เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์โต พบว่าการผ่าตัดต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์ ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และทำให้คุณภาพชีวิตตลอดจนปัญหาทางด้านพฤติกรรมของผู้ป่วยดีขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาแบบติดตามอาการ
2. การใช้ยา มีการนำยาพ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์ใช้ในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์ได้ หรือหลังผ่าตัดแล้วยังมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเหลืออยู่ในระดับรุนแรงน้อย
3. การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่องในเด็กใช้ในกรณี
- ผู้ป่วยที่ให้การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์ แล้วยังมีอาการของหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นหลงเหลืออยู่
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่สัมพันธ์กับภาวะอ้วน, โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และโครงสร้างใบหน้าผิดปกติที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้สำเร็จ
- ผู้ป่วยที่ปฏิเสธหรือไม่สามารถรักษาโดยการผ่าตัดได้ การใช้ทันตอุปกรณ์ประโยชน์ในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ร่วมกับมีการสบฟันผิดปกติ หรือมีคางร่น
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้หลายระบบ ได้แก่ กลุ่มพฤติกรรมผิดปกติซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงออกเป็นการซนมากผิดปกติ บางครั้งเข้าข่ายโรคซนสมาธิสั้น หรืออาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือหลับมากผิดปกติในช่วงกลางวัน ความดันโลหิตสูง ความดันเลือดในปอดสูง หัวใจห้องขวาทำงานผิดปกติ และหัวใจวายในที่สุด ปัญหาโรคอ้วน การสะสมไขมันที่ผิดปกติ เป็นต้น