แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลงกว่า 79 ปี แต่ถึงอย่างนั้นภาพของความขัดแย้งก็ยังปรากฏให้เห็นได้ในหลายพื้นที่ของโลก คำถามที่ว่า “สงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นหรือไม่” กลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจ เมื่อความตึงเครียดลุกลามตั้งแต่การแย่งชิงอำนาจในตะวันออกกลาง สงครามรัสเซีย–ยูเครน การปะทะในเกาหลี และยิ่งมากขึ้นเมื่อมหาอำนาจอยู่ในมือผู้นำคนใหม่ ซึ่งความเป็นไปได้นี้อาจต้องมองผ่านมุมมองที่หลากหลาย
MGR Online ได้มีโอกาสพูดคุยประเด็นดังกล่าวผ่านมุมมองจาก 3 หลักสูตร การทูตและการต่างประเทศ รัฐประศาสนศาสตร์ และรัฐศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยรังสิต ผ่าน 3 คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ นายสมปอง สงวนบรรพ์ คณบดีคณะการทูตและการต่างประเทศ ดร.เฉลิมพร เย็นเยือก ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต และรองคณบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์และนโยบายสาธารณะ รวมถึง นายชุติเดช เมธีชุติกุล รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา จากคณะรัฐศาสตร์
ในบทสนทนานี้ เราจะย้อนกลับไปศึกษาจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระดับโลก พร้อมกันนี้ สำรวจถึงบทบาทของหลักสูตรดังกล่าว ในฐานะ “เครื่องมือสำคัญ” ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงเวลาที่อาจเกิดสงครามและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ย้อนอดีตเพื่อทำนายอนาคต
สงครามโลกครั้งที่ 3 เป็นไปได้แค่ไหน?
สงครามโลกครั้งที่ 1 เปิดฉากเมื่อปี 1914 โดยเหตุการณ์สำคัญที่จุดชนวนความรุนแรงคือการลอบปลงพระชนม์ อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เหตุการณ์นี้เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้สถานการณ์ลุกลามเป็นสงครามใหญ่ในยุโรปก่อนที่จะขยายไปทั่วโลกในที่สุด ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่สะสมมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น คาบสมุทรบอลข่านที่รอวันระเบิด การแข่งขันทางอำนาจระหว่างมหาอำนาจยุโรป การสะสมอาวุธอย่างต่อเนื่อง และความตึงเครียดจากแนวคิดชาตินิยม
เพียงสองทศวรรษหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มเปิดฉากขึ้นอีกครั้งในปี 1939 โดยมีการสะสมความไม่พอใจที่หยั่งรากลึกจากผลกระทบของสนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งกลายเป็นชนวนสำคัญที่จุดไฟแห่งความขัดแย้งครั้งใหม่ ในขณะที่เยอรมนี ภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซี ได้ทำการรุกรานโปแลนด์ ส่งผลให้สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี ความขัดแย้งขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีสองฝ่ายหลักคือ ฝ่ายอักษะ นำโดยเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น และฝ่ายสัมพันธมิตร นำโดยสหราชอาณาจักร สหภาพโซเวียต (ปัจจุบันคือรัสเซีย) สหรัฐอเมริกา และจีน
สงครามยืดเยื้อจนถึงปี 1945 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะ ซึ่งถือเป็นการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโลกยุคใหม่
นายสมปอง สงวนบรรพ์ คณบดี คณะการทูตและการต่างประเทศ เริ่มเล่าว่า “หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ด้วยความได้เปรียบทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ในขณะที่สหภาพโซเวียต (ปัจจุบันคือรัสเซีย) มุ่งเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องการปลดแอกจากการเป็นอาณานิคม ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างสหรัฐฯ และโซเวียต พัฒนาไปสู่ “สงครามเย็น” จนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991
หลังสงครามเย็น ความสนใจของโลกละเลยจีนไปช่วงหนึ่ง แม้จีนเคยสนับสนุนสหภาพโซเวียต แต่ในปี 1970 จีนเริ่มมีความขัดแย้งกับโซเวียตและแยกตัวออกจากพันธมิตร เปิดทางให้สหรัฐฯ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ส่งผลให้โซเวียตถูกโดดเดี่ยวในเวทีโลก แม้จะยังคงมีรัฐบริวารบางส่วน แต่ก็ถือว่า ถูกปิดกั้น
สหรัฐฯ พยายามสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจจีน โดยหวังว่าจีน จะเปลี่ยนผ่านจากระบบสังคมนิยมไปสู่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของจีนเกิดขึ้นด้วยความสามารถของผู้นำประเทศและระบบคอมมิวนิสต์ของจีน ที่มีแนวคิด แนวปฏิบัติ และระบบเศรษฐกิจในแบบของตน สามารถลดความยากจนหลายร้อยล้านคน และพัฒนาเศรษฐกิจจนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา
แม้คล้ายกับการเติบโตของญี่ปุ่นในปี 1980 ที่ในขณะนั้นญี่ปุ่นมีขนาดเศรฐกิจเป็นลำดับ 2 ของโลก และมีความสัมพันธ์ทางพันธมิตรกับสหรัฐฯ สวนทางกับความเป็นคู่แข่งทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่เกิดขึ้นจากการที่จีนใช้ระบบการปกครองและเศรษฐกิจที่แตกต่างจากสหรัฐฯ
นายสมปอง ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ คือ ความพร้อมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาทัดเทียมมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก แตกต่างจากสถานการณ์ของญี่ปุ่นในอดีต นอกจากนี้จีนยังมีประชากรจำนวนมาก เทคโนโลยีการผลิต อุตสาหกรรม และอาหาร รวมทั้งความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยี IT และ AI ซึ่งทำให้จีนมีความสามารถในการแข่งขันอย่างสูง ทำให้สหรัฐฯ พยายามสกัดกั้น จนเกิดสภาวะภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งการปรับของภูมิรัฐศาสตร์ในโลกก็มีผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเช่นกัน
“ความขัดแย้งดังกล่าวสามารถนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้หรือไม่นั้น” ในทัศนะของคณบดีคณะการทูตและการต่างประเทศ มองว่า สถานการณ์โลกในปัจจุบันมีปัจจัยและมีสัญญาณให้เห็นบ้าง นอกเหนือจากความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา เช่น การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รวมถึงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการล้างเผ่าพันธุ์ชนชาติปาเลสไตน์ นอกจากนี้ยังมี 2-3 จุดที่อันตรายคือ กรณีไต้หวันกับปัญหาทะเลจีนใต้ และคาบสมุทรเกาหลี
ในขณะที่นักวิชาการตะวันตกแสดงความกังวลต่อความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในเอเชียแปซิฟิกว่า อาจเป็นปัจจัยที่น่ากลัวที่สุดที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งรวมถึงสงครามนิวเคลียร์
“หากประเทศในกลุ่มอาเซียนพยายามที่จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง การเผชิญหน้าหรือการปะทะกัน โอกาสที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 จากแถวนี้ก็คงไม่มี ส่วนจากภูมิภาคอื่น เราก็ไม่แน่ใจ เพราะว่าเอาเข้าจริง ๆ เราอยู่ในเอเชียไม่สามารถที่จะรู้ลึกซึ้งถึงแนวความคิด ความเชื่อของคนในประเทศแถวนั้น เราอาจจะมีข้อมูลในแง่ของการเมืองเศรษฐกิจ แต่ว่ามันยังมีสิ่งที่อยู่ข้างหลังอีกเยอะ ซึ่งเราไม่รู้ อย่างเช่นว่า ทำไมอิสราเอลต้องปราบหรือกำจัดปาเลสไตน์เพราะสิ่งที่เขาพยายามที่จะทำทุกวันนี้คือ การล้างเผ่าพันธุ์ แต่ทำไมต้องเป็นแบบนั้น บางทีมันมีประวัติศาสตร์ มีที่มาที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน และยาวนานต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นโอกาสที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ผมเองก็เห็นว่า ไม่น่าจะง่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็น่าจะประเมินได้ว่า ทรัมป์คงไม่อยากทำสงคราม ไม่เหมือนรัฐบาลของโจ ไบเดน”
ขณะที่ นายชุติเดช เมธีชุติกุล รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ เสริมในประเด็นเดียวกันว่า สงครามโลกมักเกี่ยวข้องกับแนวคิดของสงครามเบ็ดเสร็จ (Total War) ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องมีส่วนร่วมในสงคราม ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การเมือง พลเรือน หรือกองทัพ ทั้งหมดจะถูกรวมเข้าด้วยกันเพื่อสนับสนุนการทำสงครามโดยสิ้นเชิง
เมื่อพิจารณาผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 จะเห็นได้ว่าการทำสงครามในลักษณะนี้นำไปสู่การสูญเสียชีวิตของทั้งทหารและพลเรือนจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ สงครามเบ็ดเสร็จยังต้องการทรัพยากรจำนวนมาก ในขณะที่ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่มักปกครองด้วยประชาธิปไตย การประกาศสงครามและการให้ความยินยอมในการทำสงครามแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่มักจะต้องผ่านระบอบบรัฐสภาเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเข้าสู่สงครามจึงเป็นเรื่องที่ต้องรับฟังทุกภาคส่วนของสังคม
และหากพิจารณาสงครามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของรัสเซีย-ยูเครน หรือความขัดแย้งในอิสราเอลและตะวันออกกลาง จะสังเกตได้ว่า สงครามเหล่านี้มีลักษณะเป็น สงครามที่จำกัดขอบเขต ในพื้นที่ที่ค่อนข้างชัดเจน และไม่ได้มุ่งขยายขอบเขตความขัดแย้งให้กว้างออกไปมากนัก
กรณีของรัสเซีย-ยูเครน อาจมองได้ว่า เป็นสถานการณ์ที่รัสเซียคาดการณ์ผิดพลาดในบางประการ เนื่องจากเดิมคาดว่า การจัดการและการยึดครองจะสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ในความเป็นจริง สงครามนี้ได้ดำเนินมาจนเกือบ 2 ปี ส่วนกรณีของอิสราเอล สามารถสังเกตได้ว่า สงครามดำเนินในลักษณะของปฏิบัติการที่เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดเวลา
“ผมคิดว่า แนวโน้มจึงอาจจะยากด้วยหลายเงื่อนไข ประกอบกับปัจจุบันเรามีบทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 และในช่วงเวลาที่ผ่านมามีกลไกที่จะคอยป้องกันไม่ให้การเกิดสงครามง่ายเหมือนในอดีต อย่างเคสสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 จะมีการเซ็นสัญญาสัมพันมิตรในคู่ขัดแย้ง ประมาณว่า ถ้าคุณเกิดสงครามหรือใครมาทำสงคราม เราพร้อมประกาศสงคราม พอเป็นอย่างนั้น ตามเงื่อนไขก็เลยเกิดการประกาศไปพร้อมกันทั่วโลก โดยไม่มีการเจรจาหรือพูดคุยกันเท่าที่ควร ในขณะที่สหประชาชาติ (UN) ก็เกิดขึ้นมาเพื่อพยายามที่จะจัดการเรื่องพวกนี้ แม้ว่าในปัจจุบันเราจะเห็นว่า มันไร้น้ำยาหรืออะไรก็ตามแต่ อีกปัจจัยหนึ่งโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้เป็นช่วงหลังโควิด-19 เพราะฉะนั้นทรัพยากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงการระดมไปสำหรับการฟื้นฟูเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นผมคิดว่า จึงมีแนวโน้มที่ยังไม่เห็นชัด”
ต่อจากนั้น รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า “ในครั้งที่ผ่าน ๆ มาจะเห็นว่า สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดจากการสังหารอาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ เป็นมกุฎรัชทายาทของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี หรือในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดจากการที่เยอรมันสั่งบุกโปแลนด์ เพราะฉะนั้นผมว่า มันพูดได้ยากว่าอะไรที่จะเป็นเงื่อนไขหรือจุดชนวนจริง ๆ เรื่องบางเรื่องที่เป็นทางการมากมีกลไกที่ป้องกันอยู่แล้ว แต่เรื่องที่ไม่คิดว่าจะเป็น ก็อาจจะเป็นสาเหตุได้ แต่ผมก็ไม่อาจจะฟันธงได้ว่า มันจะไม่เกิด 100% แต่คิดว่า คงเกิดยากขึ้น และจุดชนวนก็อาจจะไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งของ 2 มหาอำนาจ อาจจะเป็นมหาอำนาจอื่น ๆ หรือเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นได้”
“แต่ว่าความยากก็อย่างที่ผมบอกว่า โลกมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน แล้วก็สภาวะหลังโควิด-19 ที่ต้องระดมทรัพยากรสำหรับฟื้นฟูประเทศ บทเรียนที่เคยเกิดขึ้นมาว่า สงครามสร้างอะไรไว้ ผมจึงคิดว่า นานาประเทศคงมีแนวทางที่พยายามเจรจาทางการทูตก่อน”
ด้าน ดร.เฉลิมพร เย็นเยือก ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต และรองคณบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์และนโยบายสาธารณะ ตอบในมุมมองที่คล้ายกัน โดยให้ความเห็นว่า สงครามโลกเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยทุกครั้งที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ถึงความเสียหายและผลกระทบที่ตามมา ซึ่งเป็นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีตที่ไม่เคยสร้างผลดีให้กับใครเลย มีแต่ความสูญเสียและความเสียหาย ดังนั้น การที่จะกล่าวถึงโอกาสในการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 จึงเป็นเรื่องที่ยากและไม่สามารถฟันธงได้ แต่หากถามว่า ทำไมสงครามโลกครั้งที่ 3 จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีบางกลุ่มที่พยายามจุดชนวนให้เกิดสงคราม แต่ยังคงมีหลายฝ่ายที่พยายามหาทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าว โดยกลุ่มเหล่านี้มีพลังและรู้จักใช้พลัง มีความสามารถเพื่อปรับลดความตึงเครียดลง เพื่อไม่ให้สถานการณ์ดำเนินไปถึงจุดนั้น
อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งยังคงอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอน เนื่องจากมีทั้งปัจจัยที่สนับสนุนและปัจจัยที่พยายามลดความกดดัน ดังนั้น เราก็ต้องมาเรียนรู้ว่า จะทำอย่างไรเพื่อที่จะไม่ไปถึงจุดของความเสียหายตรงนั้น
หากต้องเลือกข้าง
ไทยควรยืนฝั่งไหนในสงครามโลก?
การกำหนดจุดยืนของประเทศไทยในช่วงสงครามจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ นำมาสู่โจทย์ใหญ่ที่ต้องขบคิดต่อว่า ไทยควรยืนข้างไหน? แนวทางการทำตัวเป็น “ไผ่ลู่ลม” ที่เคยนำพาเราผ่านพ้นวิกฤติในอดีตจะยังเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในยุคสมัยนี้หรือไม่
นายชุติเดช ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “ผมมองว่า มันจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนแน่ ๆ ในอดีตก็จะมีอักษะและสัมพันธมิตร ในท้ายที่สุดก็จะมี 2 มหาอำนาจที่จะไปเป็นคู่ขัดแย้งและบีบบังคับให้ประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นพวกเดียวกับเขา เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่า ไทยควรทำอย่างไร ผมมองว่า เราควรมีสติว่า ควรจะเข้าข้างไหมหรือควรจะวางตัวเป็นกลาง ซึ่งในอดีตมีประเทศวางตัวเป็นกลาง แต่ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่แน่นอนว่า ในช่วงที่เกิดสงครามเราไม่รู้หรอกว่า อนาคตฝ่ายไหนจะชนะเพราะเราอยู่ในสภาวะที่ข้อมูลมีจำกัด บางทีก็ไม่แน่ใจว่า ข้อมูลจริงไหม เท็จไหม หรือข้อมูลนี้เพียงพอไหม ครบหรือไม่ เพราะฉะนั้นข้อจำกัดของการรับรู้ข้อมูลไม่ใช่แค่ประชาชน แต่รวมทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจด้วย”
“ผมคิดว่า หนึ่ง ในการตัดสินใจไม่ควรที่จำกัดอยู่กับแค่คนคนเดียว แต่ก็ไม่ควรพึ่งเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงคนส่วนมากจนเกินไป เพราะฉะนั้นอาจต้องมีการคุยระดมความเห็นเท่าที่สามารถ ผมย้ำนะว่า เท่าที่สามารถ เรารู้อยู่แล้วว่า ข้อมูลเยอะมาก เราไม่มีทางรู้ทุกอย่าง แต่ผมคิดว่า หลายหัวดีกว่าหัวเดียว เพราะฉะนั้นควรจะมีการคุยกันให้ชัดเจน แล้วก็ยึดแนวทางว่า ควรจะทำอย่างไร ณ สถานการณ์ตอนนั้นแนวโน้มเป็นอย่างไรบ้าง ในแง่นี้จึงจำเป็นที่จะต้องคิดใคร่ครวญให้ดีและพร้อมที่จะปรับตัว เมื่อล้มแล้วยืนหยัดได้เร็ว”
“เพราะฉะนั้นบางครั้งอาจจะตัดสินใจผิดได้ แต่ก็ต้องรีบปรับหรือรีบหาทางออกจากผลที่เกิดจากการตัดสินใจนั้น เพราะฉะนั้นไทยก็ควรจะคิดใคร่ครวญให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ต้องยึดหลักผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่หรือผลประโยชน์ของประเทศชาติว่า สุดท้ายแล้วการตัดสินใจเข้าข้างฝ่ายไหนจะดีหรือการวางตัวเป็นกลาง หรือการมีความกำกวมในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้ส่งผลเสียมากนัก แบบไหนจะดีที่สุด”
ขณะที่ นายสมปอง มีมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยมองว่า แม้การเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คงจะไม่เหมือนกับสถานการณ์สงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากปัจจุบันโลกมีลักษณะเป็น “โลกหลายขั้ว” ไม่ใช่ “โลกสองขั้ว” เหมือนในอดีต โดยมีประเทศต่าง ๆ ที่มีอำนาจและกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากในอดีตที่สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจเดี่ยวที่สามารถกำหนดทิศทางของโลกได้ตามที่ต้องการ ขณะที่ปัจจุบันพัฒนาการของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก
ทั้งนี้ ในฐานะประเทศไทยเป็นประเทศขนาดกลางในภูมิภาค นายสมปอง เสนอท่าทีและการวางตัวของประเทศไทยโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการยึดมั่นใน อาเซียน (ASEAN) ซึ่งบทบาทของอาเซียนจะมีความสำคัญมากขึ้นในด้านการเมือง การทูต และเศรษฐกิจ โดยมีความหวังว่า อาเซียนจะสามารถมีส่วนช่วยในการบรรเทาความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจ คือ จีนและสหรัฐฯ ให้น้อยลง ทั้งนี้ ต้องพยายามรักษาเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เปิดโอกาสให้พื้นที่ในภูมิภาคนี้กลายเป็นสมรภูมิของความขัดแย้งระดับโลก ประเทศไทยอาจจะไม่กระทบกระเทือนมากนัก ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ยังสามารถสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีได้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะกับชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานทั้งถาวรและชั่วคราว เห็นได้จาก กระแสของต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ แม้จะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่ยังเห็นสัญญาณที่เพิ่มขึ้น
“สงครามโลกเป็นเรื่องของมหาอำนาจ เป็นเรื่องของประเทศที่มีอำนาจ ประเทศไทยก็อำนาจน้อย รวมกับอาเซียนก็มีอำนาจมากขึ้น แต่ก็ไม่มีอำนาจถึงการหยุดยั้งการเกิดสงครามโลกได้ เพียงแต่ว่าเราจะต้องทำพื้นที่ของเราไม่ให้เป็นสมรภูมิ ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ในที่สุดแล้วประเทศใหญ่กับประเทศกลางเขาก็เน้นที่อำนาจ เราประเทศขนาดกลางก็ต้องคอยระวังตัว นี่แหละเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราต้องมาเรียนเรื่องการทูตการต่างประเทศ ถ้าเรามองเฉพาะตรงนี้บางที มองด้วยความไม่มีข้อมูลพร้อม ความหวาดกลัว กระแสต่าง ๆ ก็อาจจะทำให้ความเข้าใจหรือความหวาดกลัวเพิ่มขึ้น”
ทูตและการต่างประเทศ รัฐประศาสนศาสตร์ รัฐศาสตร์
3 หลักสูตรตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง
และหากพูดในมุมมองของการศึกษา สงครามโลกไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ หากยังถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจถึงความซับซ้อนของความขัดแย้งระดับโลก รวมถึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายในอนาคต
ซึ่งนั่นก็ถือเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายสำคัญของ 3 หลักสูตร การทูตและการต่างประเทศ รัฐประศาสนศาสตร์ และรัฐศาสตร์ โดย มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ ทักษะที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักสูตรเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองต่อความไม่แน่นอนของโลกยุคใหม่
ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ช่วยส่งเสริมความพร้อมของนักศึกษาให้สามารถก้าวทันโลกของการเปลี่ยนแปลง
ดร.เฉลิมพร อธิบายง่าย ๆ ว่า หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มีจุดเด่นคือการหลอมรวมองค์ความรู้จากหลากหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะความรู้ทางนิติศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และรัฐศาสตร์ เพื่อให้นักศึกษาสามารถบูรณาการความรู้จากหลากหลายมิติ และนำไปใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง หลักสูตรยังมุ่งเน้นการสร้างโอกาสและความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงและวิกฤตต่าง ๆ โดยการร่วมมือกันของทุกฝ่ายเพื่อจัดการและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากปัญหาที่มีความรุนแรงระดับสูงให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมทั้งก้าวผ่านความท้าทายเหล่านั้นไปด้วยกันและเติบโตในอนาคต
“รัฐประศาสนศาสตร์พยายามที่จะหล่อหลอมสร้างการรับรู้ สร้างการตระหนักให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ชั้นรากหญ้า ตระหนักถึงความสำคัญ ความเสียหาย และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต นั่นแหละเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐประศาสนศาสตร์ของเรา รวมไปถึงนโยบายสาธารณะพยายามสร้างความตระหนักให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม การตระหนักรู้ การสร้างเครือข่าย เพราะเครือข่ายจะมีการแบ่งปันต่าง ๆ นานา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่ออกนโยบายมาว่า พวกเราประชาชนคนไทยควรจะแบ่งปันโอกาส แบ่งปันตลาด แบ่งปันความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นี่แหละเป็นสิ่งที่รัฐประศาสนศาสตร์เตรียมพร้อมว่า เราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับความเสียหายจากผลที่เกิดขึ้นจากสงคราม”
โดยหลักสูตรนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเปิดโอกาสให้กับบุคคลจากทุกระดับและทุกสาขา ไม่ว่าจะสำเร็จการศึกษามาจากหลักสูตรใด มาจากภาครัฐหรือภาคเอกชน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการหล่อหลอมองค์ความรู้จากทั้ง 2 ภาคส่วน สามารถประสานงานและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความร่วมมือที่นำไปสู่ความสำเร็จในหลาย ๆ งาน
อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับ “กระบวนการเสริมสร้างผู้เรียน” ในการออกแบบและจัดกิจกรรมด้วยตนเอง โดยเน้นการสร้างเครือข่ายเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในกลุ่มนักศึกษา หรือการเชื่อมโยงกับชุมชน สนับสนุนให้นักศึกษาได้คิด ไม่มีการกำหนดกรอบความคิด และมีงบประมาณพร้อมสนับสนุน
ด้าน นายชุติเดช เล่าว่า “รัฐศาสตร์คือการศึกษาความสัมพันธ์ทางอำนาจ เรามักจะพูดถึงการเมือง แต่ในสังคมไทยปัจจุบันมักจะเข้าใจการเมืองในแง่ลบ ซึ่งเวลาพูดถึงการเมืองสังคมไทยในแง่ลบมันเป็นลักษณะการเมืองความหมายที่แคบมาก ซึ่งมักจะอยู่กับเรื่องรัฐบาล รัฐสภา การเมืองเป็นทางการ แต่เอาจริง ๆ การเมืองเมื่อนิยามในความหมายที่กว้าง มันคือความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมที่มาอยู่ร่วมกัน เราจะจัดการความสัมพันธ์ของคนที่มาอยู่ในสังคมร่วมกันได้อย่างไร ใครควรเป็นผู้ปกครอง ปกครองอย่างไร และเมื่อไหร่ควรจะมอบอำนาจ การจัดสรรทรัพยากรควรจัดสรรให้ใครมากกว่ากัน พยายามให้เหตุผล ให้ความชอบธรรมผ่านรูปแบบของกฎหมายหรือการเจรจาพูดคุยกันจนเป็นกฎหมาย”
“รัฐศาสตร์ปัจจุบันไม่ได้ศึกษาแค่เรื่องการเมืองที่อยู่ในรัฐสภาหรือการเมืองที่เป็นทางการ แต่เป็นการศึกษาการเมืองในความหมายกว้าง ที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกซอกทุกมุมของชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ การ์ตูน มังงะที่ดู ๆ กันก็แฝงการเมืองในหลาย ๆ แง่มุม ฟุตบอล กีฬา หรือแม้แต่การเมืองท้องถิ่น เพราะฉะนั้นการเรียนรัฐศาสตร์ถึงพยายามให้เราเห็นแง่มุมเหล่านี้ที่ดูเผิน ๆ เราไม่คิดว่ามันเป็น เปรียบง่าย ๆ คือเป็นแว่นให้เราเห็นโฟกัสบางจุด เรามีแว่นเยอะมากให้คุณเลือกสรร คุณจะเห็นความสัมพันธ์การเมืองกับภาคประชาชน การเมืองกับวัฒนธรรมร่วมสมัย หรือแม้แต่เพลงปัจจุบันเราจะเห็นว่าเพลงหรือ MV เริ่มมีการทำความสัมพันธ์กับการเมือง หรือพยายามสื่อสารมากขึ้น”
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน นายชุติเดช ยกตัวอย่างที่น่าสนใจในห้องเรียนโดยการนำมังงะและอนิเมะมาวิเคราะห์ประเด็นทางสังคมและการเมืองให้กับนักศึกษา เช่น วันพีช (One Piece) ที่สะท้อนแนวคิดเรื่องเสรีภาพ เดธโน้ต (Death Note) ที่กล่าวถึงความยุติธรรมในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยอำนาจ และ โดราเอมอน (Doraemon) ที่สะท้อนถึงครอบครัวชนชั้นกลางและผลกระทบของเทคโนโลยีต่อชีวิต
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ดาบพิฆาตอสูร (Demon Slayer) ซึ่งสะท้อนภาพสังคมญี่ปุ่นในยุคปฏิรูปเมจิ ช่วงที่ประเทศเปลี่ยนผ่านจากสังคมดั้งเดิมเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ การวิเคราะห์ในเชิงรัฐศาสตร์ช่วยให้มองเห็นว่าอสูรหรือปัญหาทางสังคมเหล่านี้เกิดจากอะไร และสะท้อนถึงโครงสร้างทางสังคมในยุคนั้นอย่างไร
“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในทุกอณูชีวิตในสังคมของเรา บางครั้งเรามองการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ การเมืองอยู่ใกล้ตัว เพราะฉะนั้นหลักสูตรรัฐศาสตร์ทั้งปริญญาโท และปริญญาเอก เราพยายามทำให้เห็นว่า รัฐศาสตร์เป็นอะไรที่กว้าง แต่ในขณะเดียวกันเราก็สอนให้คุณคมชัดในสิ่งที่จะเห็นต่อไปและให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ในหน้าหนึ่งยุติธรรม และในด้านหนึ่งที่ไม่ยุติธรรม ผมคิดว่า การมีองค์ความรู้ที่ครอบคลุมมาก ๆ จะทำให้เราเห็นทุกแง่มุมก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้”
ปัจจุบันหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของรัฐศาสตร์ มีการปรับปรุงเนื้อหาและแนวทางการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับโลกของความไม่แน่นอน (Vuca World) ครอบคลุมการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตมนุษย์ รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โควิด-19 และโรคอุบัติใหม่
พร้อมมุ่งเน้นให้นักศึกษามีองค์ความรู้ที่ครอบคลุม ทฤษฎีที่ชัดเจน และมีเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ทั้งยังเน้นการศึกษาและวิเคราะห์กรณีศึกษาในอดีต เพื่อให้นักศึกษามองเห็นถึงปัจจัยและมุมมองที่หลากหลายผ่านการประยุกต์ใช้แนวคิดทางรัฐศาสตร์
ที่สำคัญไปกว่านั้น เป็นหนึ่งในไม่กี่หลักสูตรที่มีสอนวิชา เทคโนโลยีกับการเมือง (Science & Technology Studies) ที่ว่าด้วยการศึกษาอิทธิพลของเทคโนโลยีที่มีต่อการเมือง สังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งเน้นการสร้างความเข้าใจใน Digital Literacy หรือความรู้เท่าทันทางดิจิทัล และนอกจากมุ่งพัฒนาทั้งความรู้ทางทฤษฎี ไม่ลืมที่จะพัฒนา Hard Skills และ Soft Skills ที่จำเป็นสำหรับการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน โดยส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่น (Resilience) ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายของโลกยุคใหม่
ท้ายนี้ นายสมปอง ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการทูตและการต่างประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่นักเรียนและนักศึกษาในด้านวิชาการต่างประเทศ โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการประยุกต์ใช้ความรู้ในการพัฒนาประเทศให้มีความยั่งยืน นอกจากนี้ยังเน้นการศึกษาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ทั้งในด้านการเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมถึงการเข้าใจสถานะของประเทศตนเองในเวทีโลก การติดตามสถานการณ์โลกและปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในบริบทของมหาอำนาจและประเทศที่มีความสัมพันธ์กัน
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเข้าใจประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน ซึ่งการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันและความร่วมมือในภูมิภาคเป็นสิ่งที่เรามุ่งหวังให้นักศึกษาได้รับการฝึกฝนในการพัฒนาความร่วมมือ การทำงานร่วมกันในภูมิภาค เพื่อหลีกเลี่ยงความแตกแยกและเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับโลก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการเรียนในหลักสูตรนี้