รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐนียา โตรักษา
ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ
สวนประสาทสัมผัส (Sensory Garden) คือ สวนแบบครบวงจรที่มีการออกแบบพื้นที่ มีพรรณไม้ที่มีองค์ประกอบในสวนเชื่อมโยงให้มนุษย์ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เกิดการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสอย่างเต็มที่และเหมาะสม ที่ให้ความรู้สึกเงียบสงบ ผ่อนคลาย และมีบริเวณที่กระตุ้นความรู้สึกตื่นตัวในการทำกิจกรรม ด้วยการใช้สี แสงเงา และพื้นผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของน้ำ ความหลากหลายของพันธุ์พืช และทรัพยากรชีวภาพ ทำให้ผู้ใช้สวนได้ประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการรับรู้ทางประสาทสัมผัสที่หลากหลาย ทั้งหมด 7 ด้าน ประกอบไปด้วย ระบบประสาทสัมผัสพื้นฐานหลัก 5 ด้าน ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรส การสัมผัส และระบบประสาทสัมผัสอีก 2 ด้าน ได้แก่ การรักษาสมดุลการทรงตัว และการรับรู้อากัปกริยาร่างกายและพื้นที่ขณะเคลื่อนไหว เพื่อให้เกิดการรับรู้ที่เชื่อมโยงกับระบบการรับรู้ประมวลผล ซึ่งสัมพันธ์กับความสามารถของร่างกายและสมองในการจัดระเบียบความรู้สึกทั้งภายในและภายนอก รวมถึงการแสดงออกทางอารมณ์ พฤติกรรมและการเข้าใจผู้อื่นในสังคมด้วย ดังนั้น การกระตุ้นประสาทสัมผัสด้วยสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติรอบตัว จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อข้อมูลต่าง ๆ เข้าหากันได้ดีขึ้น แม่นยำมากขึ้น นำไปสู่การบูรณาการระบบประสาทรับรู้ความรู้สึก ซึ่งเมื่อระบบการรับรู้ความรู้สึกดีขึ้นย่อมส่งผลให้กระบวนการฟื้นฟูสภาพจิตใจที่ดีขึ้นตามมา ช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้าใจโลกได้ดียิ่งขึ้น
การออกแบบสวนประสาทสัมผัส และกิจกรรมการเล่น ให้สอดคล้องกับการกระตุ้นประสาทสัมผัส 7 ด้าน นั้น มีหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดกิจกรรมในการออกแบบ ดังนี้
การมองเห็น ควรใช้พืชพรรณไม้และวัสดุที่มีสีสัน ผิวสัมผัส รูปร่าง รูปทรง แสงและเงา ที่มีความแตกต่างกัน จัดกลุ่มสีอย่างเหมาะสม กลุ่มสีโทนร้อน จะให้ผลในการกระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้น ส่วนกลุ่มสีโทนเย็น จะช่วยให้ความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย หรือการจับกลุ่มคู่สีในลักษณะที่สร้างความแตกต่างระหว่างเฉดสีของสีเข้ม-สีอ่อน เช่น การปลูกดอกไม้สีเหลืองหรือขาวให้ตัดกับพุ่มใบสีเขียวเข้ม การใช้ม้านั่งสีอ่อนวางบนพื้นสีเข้ม จะช่วยให้ผู้พิการสายตาเลือนรางได้รับรู้ความต่างของสีง่ายขึ้น กิจกรรมที่จัดควรเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะสีสันต่าง ๆ ที่สร้างการรับรู้ได้ด้วยการมองเห็นและสัมผัส การเล่นละครบทบาทสมมุติ การเล่านิทานที่มีรูปภาพแสดงภาษาและความรู้สึก ฯลฯ
การได้ยิน เสียงจากธรรมชาติ ได้แก่ เสียงใบไม้ที่ปลิวไหว เสียงกิ่งไม้ที่แกว่งไปมา เสียงฝนตก ฯลฯ ช่วยให้ผู้ใช้สวนรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ ผ่อนคลาย จิตใจสงบ การปลูกพรรณไม้ชนิดที่มีผลเล็ก ๆ ที่นกชอบ จะทำให้มีจำนวนนกตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น ทำให้ได้ยินเสียงนกร้องตามธรรมชาติมากขึ้นด้วย เด็กที่พิการทางการได้ยินอาจรับรู้เสียงจากความสั่นสะเทือนซึ่งเกิดขึ้นได้จากอุปกรณ์ที่สร้างเสียง เช่น การสั่นกระดิ่ง การตีส้อมเสียง ที่ติดตั้งอย่างเหมาะสมไว้ในสวนได้ ซึ่งข้อควรระวัง คือ สิ่งเร้าที่กระตุ้นการได้ยินต้องไม่มากจนเกินไป จนกลายเป็นการสร้างความเครียดให้กับเด็กที่รับรู้ความรู้สึกไวต่อสิ่งเร้า เน้นกิจกรรมที่ฝึกการฟังและการโต้ตอบ เล่นดนตรีแบบใช้วัสดุที่เคลื่อนย้ายได้ มาทำให้เกิดเสียงหรือทำเป็นเครื่องดนตรี หรือการเดินชมป่า/ สวน ฟังเสียงธรรมชาติแล้วให้ระบุว่าเป็นเสียงอะไร เป็นต้น
การได้กลิ่น กลิ่นที่เกิดขึ้นภายในสวนประสาทสัมผัส ได้แก่ กลิ่นพืชพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ กลิ่นดิน กลิ่นน้ำฝน กลิ่นเปลือกไม้ กลิ่นฟาง กลิ่นที่เกิดขึ้นหลังการตัดหญ้า กลิ่นเหล่านี้ สามารถแยกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ กลิ่นที่รับรู้ได้โดยไม่ต้องสัมผัสจับต้องตัวพืชพรรณไม้นั้น เช่น กลิ่นใบเตย กลิ่นดอกแก้ว กลิ่นดอกโมก กลิ่นดอกกุหลาบ เป็นต้น ซึ่งการปลูกพรรณไม้กลิ่นหอมในบางตำแหน่งของสวนช่วยให้เด็กที่มีปัญหาทางการมองเห็น สามารถจดจำเส้นทางเดินได้ง่ายขึ้น
การรับรู้รส มีความเชื่อมโยงกับการได้กลิ่น การผสมผสานกิจกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมการทำสวนปลูกพืชผักสมุนไพรกินได้ กับการเก็บมาทำอาหารและเครื่องดื่ม หรือจากสวนมาสู่จาน เป็นวิธีที่ช่วยให้เด็กได้มีโอกาสในการเรียนรู้องค์ประกอบทางธรรมชาติที่หลากหลาย สร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวเด็กกับธรรมชาติ ไปพร้อม ๆ กับการรู้จักรสชาติใหม่ รวมไปถึงได้ทดลองทำความรู้จักกับผิวสัมผัสและรสชาติของพืชที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นรสหวาน รสขม รสเปรี้ยว รสเค็ม หรือรสเผ็ด
การสัมผัส ประกอบไปด้วยความรู้สึกรับรู้ต่าง ๆ ที่มีการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทในผิวหนังกับสมอง การจับต้องสัมผัสส่วนประกอบต่าง ๆ ของพืชพรรณไม้ (ใบ, กิ่ง, ก้าน, ผล) ดิน รวมไปถึงสิ่งของและวัสดุต่าง ๆ ที่มีรูปทรงและพื้นผิวที่แตกต่างกัน ทำให้เด็กได้เรียนรู้ความต่างของผิวสัมผัส แรงดัน อุณหภูมิ และการสั่นสะเทือน เป็นต้น
การรักษาสมดุลการทรงตัว คือ ระบบประสาทสัมผัสที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลสมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ตำแหน่งศีรษะ และการรับรู้ทิศทางของร่างกาย ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบประสาทควบคุมการทรงตัวที่อยู่ในหูชั้นใน การกระตุ้นระบบดังกล่าวสามารถทำได้ ด้วยการให้เด็กหมุนตัว กลิ้งตัวบนพื้นหญ้า ขี่จักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ เดินบนพื้นผิวที่ไม่เรียบ เดินทรงตัวบนก้อนหินก้อนกรวด แกว่งศีรษะและโยกตัวตามเสียงจังหวะและดนตรี รวมถึงการได้กระโดดโลดเต้นในท่าทางต่าง ๆ เพื่อให้ศีรษะได้เคลื่อนไหวเปลี่ยนตำแหน่งทิศทาง ซึ่งจะช่วยให้ระบบการรักษาสมดุลการทรงตัวทำงานได้ดี
การรับรู้อากัปกริยาร่างกายและพื้นที่ขณะเคลื่อนไหว เป็นลักษณะการรับรู้ตำแหน่งของร่างกายส่วนต่าง ๆ ร่วมกัน ขณะร่างกายมีการเคลื่อนไหว เมื่ออยู่ในพื้นที่ต่างๆ ภายในสวนประสัมผัส ทำให้เด็กใช้อวัยวะไม่ว่าจะเป็น แขน ขา ข้อต่อ อย่างคล่องแคล่วและต่อเนื่อง สามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่สวนโดยรอบ ทำให้เด็กรู้จักการกะระยะ การลงน้ำหนัก โดยไม่ต้องมองมือมองเท้าของตัวเองว่าอยู่ตำแหน่งไหนแล้ว กิจกรรมการเล่นในลักษณะจับ ดึง กระโดด รวมไปถึงการยกบัวรดน้ำ พรวนดิน ขุดดิน เด็ดใบไม้ดอกไม้ใส่ตะกร้าและถือตะกร้าเตรียมอาหาร ช่วยให้เด็กเรียนรู้ในการใช้แขนขาและกล้ามเนื้อให้สัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
ทั้งนี้ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาพื้นที่บริเวณลานไม้เลื้อย และลานสมุนไพรเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ให้เป็นสวนประสาทสัมผัส โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อเป็น “ต้นแบบ Sensory Garden” ซึ่งเป็นสวนบำบัดที่มีการออกแบบองค์ประกอบต่าง ๆ (ชนิดพันธุ์ไม้ สี พื้นผิว สัตว์ แมลง ฯลฯ) เพื่อดึงดูดและกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 7 ด้าน อย่างเต็มที่ รวมทั้งให้เป็น“ต้นแบบโปรแกรม Inclusive Sensory Play-Based Learning” ที่ลดความเหลื่อมล้ำ เชื่อมโยงและส่งเสริมปฏิสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วมของเด็กพิการกับเด็กที่ไม่พิการ โดยแบ่งออกเป็น 8 โซนกิจกรรม ที่จะส่งเสริมการกระตุ้นประสาทสัมผัสในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1.Water Features โซนนี้จะเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัสกับน้ำ ซึ่งเป็นกระตุ้นระบบการรับรู้ทางผิวหนังแบบหนึ่ง และมีการออกแบบรางน้ำให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสและเล่นน้ำ ได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับเด็กคนอื่น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวช่วยสร้างการเรียนรู้แบบเหตุและผล (cause and effect) ได้เป็นอย่างดี
2.Colorful Scenes โซนนี้ใช้สีสันของพรรณไม้ & วัสดุที่มีการทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ กระตุ้นการมองเห็นและสร้างความประหลาดใจ โดยใช้ร่วมกับวัสดุกระจกเงา และมีการออกแบบผนังและวงล้อที่ทำจากอะคริลิคสีต่าง ๆ ช่วย ให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องสีสัน และแสงเงา รวมทั้งออกแบบเก้าอี้รูปทรงใบไม้และรูปทรงเลียนแบบผึ้ง จัดวางให้กลมกลืนเชื่อมโยงกับสีสันของชนิดพรรณไม้ต่าง ๆ ในสวนประสาทสัมผัส
3.Green & Variety of Things โซนนี้ออกแบบโดยใช้ศักยภาพของพืชสมุนไพรเดิม โดยมีการปลูกพืชสมุนไพรและพรรณไม้บางชนิดเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อกระตุ้นการมองเห็น จากความหลากหลายของสีสัน และรูปทรงของพืชสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นสีเขียวที่แตกต่างกันของใบไม้ และสีโทนอื่น ๆ ทั้งจากใบ ดอก และกิ่งก้าน นอกจากสีสันและรูปทรงแล้ว ยังมีความหลากหลายของกลิ่นของสมุนไพร ที่จะช่วยกระตุ้นการรับรู้เชื่อมโยงธรรมชาติกับประสาทสัมผัสแต่ละด้านแบบองค์รวม
4.Room for Contemplation เป็นบริเวณที่ออกแบบไว้เพื่อเอื้อต่อการพักผ่อน สร้างบรรยากาศที่สงบ สบาย และผ่อนคลายกับผู้ใช้งาน ลักษณะเป็นพื้นที่ห้องกลางแจ้งพร้อมเก้าอี้ที่จัดวางไว้ตามระนาบผนังของห้อง เนื่องจากพื้นที่เดิมมีระนาบผนังที่ช่วยกั้นพื้นที่เป็นสัดส่วน และช่วยแบ่งพื้นที่ออกจากพื้นที่อื่น ๆ อย่างชัดเจน เพื่อสร้างบรรยากาศที่แตกต่างในบริเวณและเอื้อต่อการใช้งานที่ยืดหยุ่น และเพิ่มร่มเงาให้กับพื้นที่ให้สามารถใช้งานได้ทุกช่วงเวลา
5.Hiding Space โซนนี้เป็นพื้นที่สงบ สำหรับเด็ก ๆ ที่รู้สึกไม่สบายใจต่อสิ่งเร้าที่มากเกินไป (Hypersensitivity) ให้เด็กกลุ่มที่อ่อนไหวต่อการกระตุ้นได้ง่ายได้มาพักผ่อน หลบหนีจากความวุ่นวาย โดยการออกแบบจะมีเก้าอี้ที่เรียบง่าย ให้นั่งพักท่ามกลางพื้นที่ธรรมชาติ แยกเป็นสัดส่วนจากพื้นที่อื่น ๆ เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงอารมณ์ ได้อย่างเหมาะสม โดยพื้นที่ไม่ได้อยู่ไกลจากบริเวณที่ทำกิจกรรมมากนัก แต่สามารถบังสายตาจากภายนอกได้ ทำให้ผู้ใช้สถานที่รู้สึกปลอดภัยทั้งกายและใจ
6.Open for Eye Resting เป็นการปรับเส้นทางการเดินชมธรรมชาติให้มีสีสันที่หลากหลาย และสามารถเล่นไปกับเส้นทางการเดิน แทรกจุดพักให้สามารถเล่นระหว่างเส้นทางทั้งศิลปะ การทรงตัว (เช่น สะพานไม้ บันได) และการตกกระทบของแสงและเงา ทำให้ผู้ใช้สถานที่รู้สึกสนุก และช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและพักสายตา ระหว่างเส้นทางการเดินเชื่อมไปยังโซนต่าง ๆ ในสวนประสาทสัมผัส
7.Pavilion / Bird-Watching Tower โซนนี้ถูกออกแบบและจัดเตรียมไว้สำหรับการทำกิจกรรม และรองรับการใช้งานที่ยืดหยุ่น และรองรับความหลากหลายของกิจกรรม โดยแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะพื้นที่ ลักษณะแรกเป็นพื้นที่ร่มสำหรับทำกิจกรรม Art & Craft ซึ่งเป็นพื้นที่ศาลากิจกรรมที่มีการปรับปรุงเพิ่มร่องน้ำด้านข้างให้ผู้ใช้สถานที่รู้สึกผ่อนคลายระหว่างการทำกิจกรรม ถัดมาจะเป็นอาคารสำหรับการดูนกโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สนามหญ้า สำหรับการยืดเหยียดร่างกายก่อนเริ่มกิจกรรม ซึ่งเอื้อให้ผู้ใช้พื้นที่จะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติยิ่งขึ้นด้วยการสัมผัสกับสายลมและได้รับฟังเสียงสัตว์ต่าง ๆ และอาคารใบไม้ใบเดียวที่มีพื้นที่อเนกประสงค์ในร่ม รวมถึงห้องปรับอากาศซึ่งเป็นห้องที่มีอากาศเย็น โปร่ง สบายตา ที่ใช้สำหรับเป็นห้องสรุปกิจกรรม
8.Main Path with Attractive Features การเพิ่มองค์ประกอบทางศิลปะเพื่อสร้างความสนใจให้เด็ก ๆ ตลอดทางเดินหลัก มีการกระตุ้นการได้ยิน (ใช้กระดิ่งลม) เพื่อให้เกิดเสียงเป็นจุดสนใจ สลับกับใช้การจัดวางวัสดุศิลปะรูปสัตว์ท่ามกลางกลุ่มพรรณไม้ เพื่อสร้างความประหลาดใจและความตื่นเต้น ช่วยให้เด็ก ๆ ได้ค้นพบสิ่งที่เหนือความคาดหมายระหว่างการทำกิจกรรมในสวนประสาทสัมผัส
การเรียนรู้ผ่าน “การเล่น” ในสวนประสาทสัมผัสจึงเป็นเครื่องมือในการบำบัด ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาวะทั้งทางร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม ได้อย่างเป็นองค์รวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยในการฟื้นฟูความทรงจำ และกระตุ้นความรู้สึกที่ถูกเก็บบันทึกไว้ในผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อม ช่วยกระตุ้นพัฒนาการในเด็กพิการหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ที่มีความยากในการทำความเข้าใจความรู้สึกต่าง ๆ รวมถึงวิธีการตอบสนองต่อความรู้สึกเหล่านั้น ทั้งเด็กที่รับรู้ความรู้สึกช้าต่อสิ่งเร้า (Hyposensitivity) และเด็กที่รับรู้ความรู้สึกไวต่อสิ่งเร้า (Hypersensitivity) ให้เกิดการพัฒนาทักษะทางปัญญา การรู้คิด การพูด ภาษา อารมณ์และจัดการความรู้สึก เพื่อสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกันอย่างเท่าเที่ยมในสังคมได้