ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล แนวทางการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในประเทศไทยยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับความต่อเนื่อง หลักสูตร Active Learning จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง ด้วยจุดเด่นที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในแบบที่เห็นผลเป็นรูปธรรม และยั่งยืน โดยไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ปกครองและรัฐบาล ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุน อย่างแข็งขันจากศาสตราจารย์วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีผู้ขับเคลื่อนนโยบาย ด้านการศึกษา
ศาสตราจารย์วิษณุชี้ว่า หลักสูตร Active Learning โดยเฉพาะในรูปแบบ GPAS 5 Steps มีศักยภาพสูงในการพัฒนาผู้เรียนให้คิด วิเคราะห์ และลงมือปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีหรือสื่อการสอนราคาแพง อาทิ สมาร์ตบอร์ด หรือแอปพลิเคชันเฉพาะทาง แต่อาศัยเพียงการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน เช่น การแก้ปัญหา เชิงปฏิบัติ การเรียนรู้แบบโครงงาน (Project-Based Learning) และการคิดวิเคราะห์แบบเชิงระบบ (Systematic Thinking)
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์วิษณุยังเปรียบเทียบว่า หากมีการเปลี่ยนไปใช้หลักสูตรอื่น เช่น หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum) หรือปรับหลักสูตรแกนกลาง (หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551) ใหม่ทั้งหมด อาจนำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับรัฐบาลและผู้ปกครอง ทั้งในเรื่องการจัดพิมพ์หนังสือเรียนใหม่ การอบรมครูผู้สอน และ การจัดหาสื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่อาจไม่จำเป็นต่อกระบวนการเรียนรู้ในบริบทของโรงเรียนขนาดเล็กหรือในพื้นที่ชนบท
หลักสูตร Active Learning : พัฒนาการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ของผู้เรียนผ่านขั้นตอนสำคัญ 5 ขั้น ได้แก่
1. การกำหนดเป้าหมาย (Goal Setting) : นักเรียนและครูร่วมกันกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้
2. การเตรียมการเรียนรู้ (Preparation) : วางแผนการเรียนรู้ร่วมกัน
3. การปฏิบัติ (Action) : ลงมือทำกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง
4. การตรวจสอบและปรับปรุง (Supervision and Revision) : วิเคราะห์และปรับปรุงผลลัพธ์
5. การประเมินผล (Evaluation) : สรุปผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
ศาสตราจารย์วิษณุเชื่อว่า แนวทางที่จะประสานกับรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้มีการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาระบบของประเทศนั้น รัฐบาลคงทราบอยู่แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร แต่ว่าสิ่งที่ผมสามารถแนะนำช่วยเหลือได้ก็จะทำ อาศัยว่ารู้จักมักคุ้นกันกับคน ในรัฐบาล อาจจะแนะนำหรือบอกกล่าวไป แต่บางครั้งอาจจะมีคนที่แนะนำดีแล้วก็ได้ ต้องช่วยกันหลายคนหลายฝ่าย อย่างที่ผมเรียนให้ทราบว่าอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคเอกชนเอง นักการศึกษา และนักวิชาการคุรุศาสตร์เอง คงจะต้องให้คำแนะนำต่อกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องนี้ และที่สำคัญที่สุดคืออย่าดื้อ คือเขาแนะนำก็นำไปพิจารณาประกอบด้วย ไอเดียที่ยุ่ง ๆ กันอยู่นี้ก็เพราะที่ปรึกษาทั้งนั้นแหละครับ
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์วิษณุยังมีข้อเสนอเพื่อสรรความต่อเนื่องในการผลักดันหลักสูตร Active Learning GPAS 5 Steps ด้วยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อกำกับดูแลและขับเคลื่อนหลักสูตร Active Learning ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งวางรากฐานให้หลักสูตรนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในอนาคต โดยเน้นให้ระบบการศึกษาสร้างเด็กไทยที่สามารถคิด ค้นคว้า และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ การตั้งกรรมการดีที่สุดที่จะช่วยคิดในเรื่องเหล่านี้ และทำในเรื่องนี้ทั้งระบบ พร้อมสนับสนุนให้มีการตั้งกรรมการดูแล อาจใช้ว่า นวัตกรรมทางการศึกษา ก็ได้ Active Learning ก็ได้ ภาษาไทยเขาเรียนการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก ซึ่งไม่ว่ารัฐบาล จะเปลี่ยนไปอย่างไร เราต้องการระบบการศึกษาที่มั่นคงและยั่งยืน หลักสูตร Active Learning สามารถตอบโจทย์นี้ได้โดยไม่เพิ่มภาระให้ทั้งรัฐบาลและประชาชน และที่สำคัญที่สุดคือ เด็กไทยทุกคนจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม
ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเร่งผลักดันแนวทางนี้อย่างจริงจัง เพื่อสร้างการศึกษาไทยที่ยั่งยืนและ ตอบโจทย์อนาคตของประเทศ ความคาดหวังของสังคมไทย เด็กไทย ต่อขบวนการที่เราจะปฏิรูปการศึกษา เมื่อรัฐบาลตั้งตัวติด ก็จะให้สัญญาอยู่แล้วว่าปีใหม่นี้จะได้เห็นนโยบายแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้น ท่านนายกฯ ก็ไปปาฐกถาเมื่อไม่นานมานี้ว่าวิสัยทัศน์ประเทศต่อไปนี้จะเป็นอย่างไร แต่นั่นเป็นเรื่องในทางเศรษฐกิจ ทางสังคม การศึกษาก็เป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งที่ผมเชื่อว่าถ้ารัฐบาลมีนโยบายชัดเจน และการศึกษาฯ ก็รับสนอง นโยบายนั้นจะเดินหน้าในเรื่องนี้ได้ต่อไป