เมื่อปฏิทินเปลี่ยนไปสู่ปีใหม่ หลายคนมักใช้โอกาสนี้ในการมองย้อนกลับไปมองสิ่งที่ผ่านมาพร้อมกับการตั้งเป้าหมายใหม่ การตั้งปณิธานปีใหม่ หรือ New Year Resolution ถือเป็นธรรมเนียมที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในการเริ่มต้นปี โดยปณิธานปีใหม่ที่พบได้บ่อยส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของสุขภาพ เพิ่มการออกกำลังกาย ออมเงิน และภายหลังเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากขึ้น
และแน่นอนว่า เมื่อพูดถึงเรื่องสุขภาพก็ต้องคิดถึง สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ยังคงเดินหน้าผลักดันแนวทางต่าง ๆ เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพ และเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต ล่าสุด สสส. เปิด 7 เทรนด์สุขภาพในงาน “จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย 2568 (ThaiHealth Watch 2025)” ภายใต้แนวคิด Health by The Hour ทุกนาที ทุกชั่วโมงของชีวิตคือการลงทุนเพื่อสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล (Data-Driven Society) พัฒนานวัตกรรม ThaiHealth Watch เพื่อนำเสนอแนวทางลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นใหม่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6
เปิดภาพรวมปัญหาสุขภาพคนไทย
จริงหรือไม่…ที่ตายไวเพราะพฤติกรรม!?
“ถ้าชีวิตเป็นนาฬิกา ตอนนี้คุณอยู่ที่กี่โมง” นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเวทีด้วยคำถามชวนคิดง่าย ๆ “ลองนึกภาพดูนะถ้าเกิดว่า เราอายุ 20 ปีมันก็ยังเป็นเวลาช่วงต้น ๆ อาจจะอยู่ที่ประมาณ 6 โมงเช้ายังเหลือเวลาอีกเยอะเลย พออายุ 30 ปีก็อาจจะเป็น 9 โมงเช้า ก็ยังมีเวลาอีกเยอะ แต่พอนึกภาพว่าอายุ 60 ปี มันก็คือ 6 โมงเย็นแล้ว เวลาเราเหลือแค่ 6 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงนาฬิกาชีวิตอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็ได้เพราะบางคนอาจจะจบชีวิตไปก่อนวัยอันควร หนึ่งคนที่ตายเหมือนกันอาจจะมีความสูญเสียไม่เท่ากัน แน่นอนว่า ในความสูญเสียทางด้านจิตใจ ถ้าเกิดว่า ต้องไปงานศพของลูก ไปงานศพของคนอายุน้อย มันเป็นสิ่งที่โหดร้ายมาก”
นพ.พงศ์เทพ ชวนมาดูข้อมูลสถานการณ์ปัญหาสุขภาพประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือ ความแตกต่างด้านอายุเฉลี่ยระหว่างเพศชายและเพศหญิงในประเทศไทย ซึ่งพบว่า ผู้ชายมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 72 ปี น้อยกว่าผู้หญิงถึง 9 ปี นับว่า เป็นตัวเลขที่ชวนให้ตั้งคำถาม ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบในระดับโลก อายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายไทยอยู่ในอันดับที่ 91 ขณะที่ผู้หญิงอยู่ในอันดับที่ 59 อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกันแล้วอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศอยู่ที่อันดับ 78 แม้ประเทศไทยจะมีระบบการแพทย์และสาธารณสุขที่ดีจนได้รับการยอมรับในช่วงการระบาดของโควิด-19 และมีดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพที่อยู่อันดับ 5 ของโลกก็ตาม แต่ปัจจัยเหล่านี้กลับไม่ใช่คำตอบของการมีชีวิตที่ยืนยาว ซึ่งปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 170,000 คนต่อปี จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 แสนคน
“ผู้ชายไทยตายเพราะอุบัติเหตุมากกว่าผู้หญิง 3-4 เท่า นอกจากนี้ยังมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่างไรก็ดี แม้ว่า ผู้หญิงเป็นเบาหวานและอ้วนมากกว่าผู้ชาย แต่ในกลุ่มอายุน้อย ผู้ชายกลับมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจสูงกว่าผู้หญิง รวมถึงโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ในประเทศไทยพบว่า ผู้ชายเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุ 15 ปี และในกลุ่มวัย 15-18 ปี มีผู้ดื่มถึง 40% เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 80% และที่สำคัญก็คือผู้ชายเกินครึ่งของประเทศดื่มแล้วขับ ทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคตะวันออก เหนือ อีสาน ที่ยังครองแชมป์พื้นที่ที่มีปัญหาเมาแล้วขับมากที่สุดในประเทศ”
ในขณะที่องค์การอนามัยโลกได้คำนวณปีสุขภาวะที่หายไป จากความพิการและการตายที่เกิดจากพฤติกรรม โดยพบว่า สาเหตุอันดับแรกคือการสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่มีผลกระทบต่อหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบ ซึ่งหลอดเลือดมีลักษณะคล้ายถนนที่ใช้ในการขนของต่าง ๆ ไปยังร่างกาย หากถนนเหล่านี้เกิดการชำรุดหรือเสียหายจะส่งผลให้ชีวิตเร็วขึ้น โดยบุหรี่ทำให้คนไทยทั้งชายและหญิงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 3.5 ล้านคนต่อปี และผู้ชายมีสัดส่วนการสูญเสียมากถึง 90%
และตามมาด้วยอันดับที่ 2 ก็คือเหล้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างเช่น อาหาร มลภาวะทางอากาศ การไม่สวมหมวกกันน็อค เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งรวมไปถึงอาหารขยะที่ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง น้ำหนักเกิน ส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ตามมา เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพาต และโรคไตวาย
ซึ่งทั้งหมดนี้สิ่งที่ ผู้จัดการกองทุน สสส. ต้องการย้ำคือความจริงที่ว่า “คนไทยตายจากพฤติกรรม” นั่นเอง
“ตอนนี้เราก้าวเข้าสู่สมรภูมิสุขภาพ 3 ยุค ยุคที่ 1 คือ Infectious War (สงครามติดเชื้อ) เราชนะไปได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี เชื่อหมอและฟังพยาบาล ใช้เทคโนโลยีในการฉีดวัคซีน มียาปฏิชีวนะ เราจึงชนะสงครามจากเชื้อโรค นั่นคือสงครามจากภายนอกที่จู่โจมภายใน แต่ปรากฏว่าเรามาแพ้ สงครามยุคที่ 2 คือ Behavior War (สงครามจากพฤติกรรม) เพราะศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดคือใจของเราเอง เราแพ้ใจ แพ้ความหวาน มัน เค็ม สุดท้ายก็ตามมาด้วยโรค NCDs แต่ยุคที่ยากกว่านั้นคือ สงครามยุคที่ 3 คือ Social Pathology War หรือเรียกง่าย ๆ ว่า สังคมป่วย อย่างยาเสพติดทั้งหลาย บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงภัยออนไลน์หลอกลวงกันที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย เสียทรัพย์ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือฝุ่นพิษ โลกเดือด น้ำท่วม ทั้งหมดนี้คือสังคมที่ป่วย เร่งเร้าให้คนทุกข์มากขึ้น ป่วยมากขึ้นและพิการมากขึ้น”
“การจะเอาชนะได้นั้นไม่สามารถชนะได้ด้วยยาหรือเทคโนโลยี แต่การป้องกันคือทางออกที่จะชนะสงครามยุค 3 ได้ รวมทั้งความร่วมมือร่วมใจหรือที่ สสส. เรียกว่า การสานพลัง แน่นอนว่า คน ๆ เดียวไม่สามารถดูแลระบบบริการสุขภาพได้ทั้งหมด ต้องอาศัยภาคีทั้งประชาชน ท้องถิ่น ราชการ ภาควิชาการและสื่อมวลชน โดย สสส. จะทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมประสานทำให้สามารถนำคนทุกคน มารวมพลังกันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปพร้อมกัน”
ทิศทางต่อไป นพ.พงศ์เทพ ย้ำว่า สสส. จะเดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Data-Driven Strategy สู่ Data-Driven Society หรือสังคมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการจัดการข้อมูลเพื่อประโยชน์สูงสุด ปัจจุบัน สสส. ที่หลากหลายและชัดเจน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาขับเคลื่อนให้สังคมเกิดการตื่นตัวและร่วมมือในการจัดการปัญหาของตนเอง
สสส. เจาะลึก 7 เทรนด์สุขภาพปี 2568
ประเด็นแรกที่ สสส. อยากให้จับตามองในปีหน้า เริ่มต้นกันที่ 1.ยิ่งเปราะบาง ยิ่งเดือดร้อน วิกฤตโลกเดือด จากการศึกษา พบว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา อุณหภูมิในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส และคาดว่า จะเพิ่มขึ้นอีก 1-3.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ ข้อมูลจากสหภาพยุโรประบุว่า ปี 2566 เป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิร้อนที่สุด ซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชากร โดยประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่มี 5 กลุ่มคนเปราะบางที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง และผู้ที่มีรายได้น้อย
ไม่เพียงเท่านั้น ภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีแรงงานกว่า 11 ล้านคน และสร้างรายได้ 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทำให้ผลผลิตข้าวลดลงถึง 57% ทั่วโลก ชาวนาสูญเสียรายได้จากการส่งออกข้าวลดลง 17% ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องใช้น้ำมากขึ้นจากภัยแล้ง ส่งผลให้สูญเสียรายได้ปีละกว่า 40,000 ล้านบาท ขณะที่โคผลิตน้ำนมลดลง 10-20% สูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี สุกรน้ำหนักเฉลี่ยลดลง สูญเสียทางเศรษฐกิจ 2,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงการจับสัตว์น้ำในทะเลลดลง 20% สูญเสียทางเศรษฐกิจ 25,000 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันระบบนิเวศทางทะเลก็ต้องเผชิญกับปัญหาปะการังฟอกขาวจากน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น
ที่ผ่านมา สสส. มุ่งส่งเสริมการปรับพฤติกรรมของคนไทยในการต่อสู้กับโลกร้อน ขับเคลื่อนการลดการใช้ถุงพลาสติกและการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำ พร้อมพัฒนาหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนและโครงการ ความเป็นธรรมทางภูมิอากาศในห้องเรียน เพื่อสร้างความเข้าใจในปัญหาโลกร้อนตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ยังจัดตั้งเครือข่าย พลเมืองตื่นรู้ กอบกู้วิกฤตโลกร้อน และจัดเวทีวิชาการ COP28 ภาคประชาชน เพื่อเพิ่มความตระหนักในสังคม
ในระดับชุมชนมีการเข้าไปพัฒนาโครงการใน 3 จังหวัด (นครพนม จันทบุรี พังงา) เพื่อลดผลกระทบจากโลกร้อน ฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวและส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น การปลูกไม้ยืนต้นและฟื้นฟูแหล่งน้ำ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับชุมชน ทั้งยังสามารถสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศเกษตรได้อีกด้วย
2.ชีวิตอมฝุ่น ตัวเลขผู้ป่วยก้าวกระโดด นโยบายก้าวไม่ทัน ประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ในปี 2566 ประเทศไทยมีมลพิษทางอากาศสูงเป็นอันดับที่ 36 ของโลก โดยมีค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 เฉลี่ยที่ 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงเกือบ 5 เท่า โดยสาเหตุหลักมาเกิดจากการเผาป่าในภาคเหนือ การเผาเพื่อการเกษตรในภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมลพิษจากการจราจรในกรุงเทพฯ
โดยเฉพาะในภาคเหนืออย่าง อ.พาน จ.เชียงราย ที่มีค่า PM 2.5 สูงถึง 51.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ครองอันดับหนึ่งของเมืองที่คุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุด ในปี 2566 ตามมาด้วยเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมในภาคเหนืออย่าง อ.ปาย จ. แม่ฮ่องสอน เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ในพื้นที่ภาคเหนืออย่าง ต.แม่กา จ.พะเยา ต.นางแล จ. เชียงรายและต.ในเวียง จ.น่าน
“PM 2.5 ความน่ากลัวคือมันมีขนาดเล็ก จนกระทั่งสามารถลงไปได้ถึงหลอดลม แต่ยิ่งกว่านั้นมันเหมือนเข็มแทงทะลุถุงลมของเรา และถุงลมที่บาง ๆ มันต่อกับเส้นเลือดที่จริง ๆ ต้องการออกซิเจนเข้าไป แต่ได้เป็นฝุ่นพิษเข้าไปแทนก่อนจ่ายไปทั่วร่างกาย ไปสมองก็ได้และตรงนี้คือจุดที่นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า มะเร็งปอดและมะเร็งของส่วนต่าง ๆ มีงานวิจัยในหนูนะว่า หนูที่ได้รับ PM 2.5 ตลอดเวลามันสามารถทะลุไปที่หลอดเลือดแล้วไปแทนที่บริเวณจอประสาทตาของหนูได้ ดังนั้น มันกระจายไปได้ทุกที่ ซึ่งจากข้อมูล 5 จังหวัดที่มีการตายสูงสุดจากมะเร็งปอดก็คือภาคเหนือทั้งนั้น ทั้ง ลำปาง พะเยา น่าน ลำพูน เชียงราย แม้ว่าจริง ๆ แล้วภาคใต้เป็นภาคที่สูบบุหรี่สูงสุด แต่ภาคเหนือทั้งสูบบุหรี่ด้วยแล้วก็มี PM 2.5 ด้วย เจอสองเด้ง หนีไม่พ้นทุกกลุ่มอายุ”
นอกจากมะเร็ง PM 2.5 ยังเป็นสาเหตุหลักของโรคหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 จำนวนผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2563 นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อภาวะซึมเศร้าและความเครียด
ในขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่า PM 2.5 สร้างมูลค่าความเสียหายสูงขึ้นทุกปี ในปี 2562 สามารถสร้างความเสียหายต่อครัวเรือนไทยกว่า 2.2 ล้านล้านบาท และในกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2563 มีผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 3,200 - 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยอย่างการซื้อเครื่องฟอกอากาศ และหน้ากากป้องกันฝุ่น
นั่นจึงทำให้ สสส. มีการขับเคลื่อน “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” 3 กลไกแก้ภัยฝุ่นระดับประเทศ นพ.พงศ์เทพ อธิบายว่า ภูเขาลูกแรกคือ วิชาการ สสส. ทำงานร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
ภูเขาลูกที่สองซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ภาคประชาชน โดยการสนับสนุนการทำงานของสภาลมหายใจในจังหวัดต่าง ๆ ที่รวมพลังกันทั้งในระดับชุมชนและวิชาการ เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ และภูเขาลูกที่สามคือ กฎหมาย
“หนึ่งในความคืบหน้าสำคัญคือวันนี้เรามีการผลักดันร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับประชาชน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการมลพิษ ขณะเดียวกันในอนาคตในร่างนี้อาจจะมีพ.ร.บดี ๆ อย่างการให้คนที่สร้างมลพิษ จ่ายค่าปรับเข้ากองทุนและใช้งบประมาณนั้น ๆ มาจัดการกับปัญหาฝุ่นต่อไป ซึ่งความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกฝ่ายเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อการสร้างอนาคตที่มีอากาศสะอาดและปลอดภัยสำหรับทุกคน”
นอกจากปัญหาทางกายแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญกันต่อไป 3.เยียวยาจิตใจ ปรับพฤติกรรมใหม่ เข้าถึงการดูแลได้ทุกคน ปัญหาสุขภาพจิตได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นทั้งในระดับประเทศและสากล เนื่องจากมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการดำเนินชีวิตของผู้คน โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่า จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการด้านจิตเวชในประเทศไทยมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคนในปี 2566 ซึ่งสะท้อนถึงจำนวนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาหรือไม่เปิดเผยปัญหาดังกล่าว
ในขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตในแต่ละช่วงวัยก็แตกต่างกัน วัยเด็กเผชิญความท้าทายในด้านอารมณ์และพฤติกรรม วัยรุ่นต้องรับแรงกดดันจากครอบครัว ถูกบูลลี่ ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้าที่สัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย จากการสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2567 พบว่า วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 190,325 ราย มีความเสี่ยงซึมเศร้าถึง 18,000 ราย และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 30,126 ราย ส่วนวัยทำงานประสบความเครียดจากหน้าที่การงาน การแข่งขันในสังคม การเงิน ซึ่งนำไปสู่ภาวะหมดไฟหรือโรควิตกกังวล
ด้านผู้สูงอายุมักประสบกับความโดดเดี่ยวและภาวะซึมเศร้า โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงของผู้สูงอายุอยู่ที่ 9.47 ต่อแสนคน โดยจังหวัดที่มีผู้สูงอายุฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน พะเยา และเชียงใหม่
“ผู้สูงอายุฆ่าตรวจตายสูงมีหลายจังหวัดเลยโดยเฉพาะภาคเหนือ หลายรายที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ ส่วนใหญ่จะบอกว่า รู้สึกเป็นภาระกับลูกหลาน บางทีเป็นเบาหวาน ความดัน สุดท้ายเริ่มติดเตียง บางรายลูกหลานต้องไปรับไปส่งโรงพยาบาล ลูกก็ไปเต็มใจไปส่งนะแต่ไปถึงแล้วขอทวงบุญคุณหน่อย ปรากฏยิ่งพูดแบบนี้สุดท้ายกลายเป็นเหมือนซ้ำเติมทำให้เขารู้สึกว่าเป็นภาระ สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง”
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า สุขภาพจิตมีความสัมพันธ์กับสุขภาพกายอย่างชัดเจน หากร่างกายแข็งแรง ก็มีโอกาสที่จะมีสุขภาพจิตที่ดีตามไปด้วย แต่หากร่างกายเจ็บป่วย ความทรมานจากอาการป่วยก็อาจทำให้รู้สึกท้อแท้และหมดหวัง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลสุขภาพจิตคือสุขภาพสังคม หากสังคมรอบตัวเอื้ออาทรและดูแลซึ่งกันและกัน เราก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีและมีแรงที่จะมีชีวิตต่อไป
ที่ผ่านมา สสส. ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการเชื่อมใจผู้สูงอายุในชุมชน โดยการสอนเทคนิคการดูแลสุขภาพจิตและช่วยให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าของกันและกัน อีกหนึ่งโครงการที่สำคัญคือ ธนาคารเวลา ซึ่งผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงจะไปช่วยดูแลผู้สูงอายุคนอื่นที่ต้องการการดูแล เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือ ผู้สูงอายุที่เคยได้รับการดูแลก็สามารถกลับมาช่วยเหลือได้ นี่คือการสะสมเวลาชีวิตที่มีคุณค่าและช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัย โดยการลดช่องว่างระหว่างรุ่น ส่งเสริมการสื่อสารและความเข้าใจกันในชุมชน
4.ต่างวัยต่างติดจอ เผชิญปัญหาต่าง กระทบชีวิตไม่แตกต่าง คนไทยใช้เวลาเฉลี่ยบนอินเทอร์เน็ตถึง 7.04 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างชัดเจน ปัญหาที่พบบ่อย ได้แก่ การเสพติดการเล่นเกม (Gaming Addiction) การเสพติดความสัมพันธ์ทางไซเบอร์ (Cyber Relationship Addiction) และ การเสพติดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia) ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่า เป็นกลุ่มอาการที่ต้องได้รับการรักษา
ข้อมูลจาก DataReportal ระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก โดยในปี 2565 พบว่าอินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษาค้นคว้า และการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น แต่ในอีกด้านหนึ่ง การใช้อินเทอร์เน็ตที่ขาดการกำกับดูแลอย่างเหมาะสมอาจนำไปสู่ปัญหา เช่น การพนันออนไลน์ การเสพติดสื่อลามก การกลั่นแกล้งบนโซเชียลมีเดีย พฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรงจากเกมหรือสื่อออนไลน์ นำไปสู่ผลการเรียนที่ลดลง
อย่างไรก็ดี โลกออนไลน์เปรียบเสมือนดาบสองคม แม้จะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง แต่ก็อาจกลายเป็นแหล่งปัญหาหากใช้งานโดยปราศจากความระมัดระวัง ความเข้าใจและการรู้เท่าทัน จึงเป็นที่มาที่ สสส. พัฒนานวัตกรรม “366 Q-KIDS” เพื่อเสริมทักษะครูศูนย์เด็กเล็กให้สามารถส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยรอบด้าน ผลักดันโครงการ “อ่านยกกำลังสุข ปลุกพลัง(กาย-ใจ) พลเมืองเด็ก” และโครงการ “Young Forward” เพื่อสร้างเยาวชนที่มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านสื่อสุขภาวะและการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
พร้อมร่วมจัดการ Fake News ร่วมกับโครงการ COFACT ท่ามกลางคดีอาชญากรรมไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 575,507 คดีในช่วงปี 2565-2567 สร้างความเสียหายรวมกว่า 65,715 ล้านบาท โดยเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่และวัยทำงาน (อายุ 30-44 ปี) รองลงมาเป็นผู้สูงวัย (60 ปีขึ้นไป)
5.เด็กอ้วนเพิ่ม ผู้ใหญ่ความดันพุ่ง ทำสุขภาพทรุด เศรษฐกิจโทรม โรค NCDs หรือ คือโรคไม่ติดต่อ เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อน โดยรวมถึงโรคสำคัญ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในแรงงานไทยมากถึง 400,000 รายต่อปี คิดเป็นร้อยละ 74 ของการเสียชีวิตทั้งหมด แม้ในกลุ่มวัย 30-70 ปี จะมีอัตราการเสียชีวิตจาก NCDs ลดลงในช่วงปี 2553 แต่ในปี 2561 โรคเบาหวานกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น เครื่องดื่มน้ำตาลสูง เนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารกึ่งสำเร็จรูป
NCDs เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนวัยทำงานเสียชีวิต ซึ่งแน่นอนว่า ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรมนุษย์และมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้สูญเสียมูลค่าเศรษฐกิจประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 9.7% ของ GDP
“การมีสุขภาวะที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับการสร้างวินัยและนิสัยในชีวิตประจำวัน ซึ่งการมีวินัยหมายถึงการทำสิ่งที่เราตั้งใจทำ แม้ว่าจะรู้สึกไม่อยากทำ เช่น การลุกขึ้นมาออกกำลังกาย หรือการหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ส่วนการสร้างนิสัยหมายถึงการทำสิ่งเหล่านั้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ของเรา เมื่อการดูแลสุขภาพกลายเป็นนิสัย เราจะสามารถทำมันได้อย่างมีความสุขและยั่งยืนในระยะยาว”
โดยหนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยป้องกัน NCDs นพ.พงศ์เทพ แนะนำให้เริ่มที่การออกกำลังกาย แต่จากข้อมูลพบว่า 91% ของคนไทยไม่ได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายยังไม่กลายเป็นนิสัยที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวัน ดังนั้น เราจึงต้องสร้างวิธีการที่ช่วยให้คนมีนิสัยในการออกกำลังกายมากขึ้น
“สสส. มี กลยุทธ์ 3P สู้ NCDs วัยทำงานมาแนะนำ เริ่มที่ People ปรับไลฟ์สไตล์ระดับปัจเจก เขาต้องรู้สึกก่อนว่า เขาอยากออกกำลังกาย แต่เขาจะสามารถสร้างให้เป็นวินัยได้อย่างไร สิ่งสำคัญคือต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเพื่อนที่ทำงานชวนกันไปออกกำลังกาย พื้นที่ออกกำลังกายในที่ทำงาน หรือสวนสาธารณะรอบ ๆ ที่ทำงาน Public การสื่อสารในวงกว้าง ทุกคนออกกำลังกายกันแล้วแชร์โพสต์ในโซเชียลเพื่อชวนให้คนอื่นรู้สึกว่า การออกกำลังกายมันสำคัญอย่างไรและที่สำคัญ Policy ขับเคลื่อนงานระดับนโยบาย ซึ่ง สสส. ทำอยู่ก็คือ การเก็บภาษีความหวาน ที่ร่วมกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง”
“สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ สสส. ทำมาแล้วและต้องทำต่อ ซึ่งถ้าในอนาคตถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเห็นว่า ถ้าเราดูแลสุขภาพดี ไม่เป็นเบาหวาน สามารถเอาสุขภาพดีไปลดหย่อนภาษีอะไรแบบนั้น(หัวเราะ)”
ด้านภาวะอ้วนในเด็กก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเด็กเล็กวัย 0-5 ปี สัดส่วนเด็กที่มีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในปี 2560 เป็น 8-11.5% ในปัจจุบัน ส่วนในเด็กวัย 6-14 ปี พบสัดส่วนเด็กอ้วนอยู่ที่ 10.7-13.6% ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การบริโภคอาหารไม่เหมาะสมและขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วนในเด็กไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคต โดยเฉพาะโรคอ้วนเมื่อเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในวัย 35 ปี
เพื่อลดภาวะการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและภาวะอ้วนในเด็ก โครงการต่าง ๆ เช่น โครงการเด็กไทยแก้มใส จาก สสส.ร่วมมือกับโรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมการปลูกผักและการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ให้เด็กมีส่วนร่วมในการปลูกผักและทำอาหารเองในโรงเรียน ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันและปลูกฝังนิสัยการทานอาหารที่ดีในระยะยาว
นอกจากนี้ โครงการธนาคารหมวกกันน็อก ยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการส่งเสริมความปลอดภัยของเด็กในชุมชน โดยการนำหมวกกันน็อคที่ใช้แล้วไปซักและส่งต่อให้กับรุ่นน้อง ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและส่งเสริมพฤติกรรมความปลอดภัยในเด็ก อีกทั้งทำงานร่วมกับชุมชนโดยการจำแนกปัญหาของเด็กตามสีต่าง ๆ เช่น สีแดง สีเขียว และสีเหลือง เพื่อร่วมมือกับชุมชนในการดูแลเด็กอย่างทั่วถึง
6.โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ เติมความรู้ให้แน่น ก่อนจะเล่นกับความรัก ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะ 5 โรคหลัก ได้แก่ ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรค โดยอัตราการป่วยโรคซิฟิลิสเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากปี 2560 ขณะที่โรคหนองในมีอัตราป่วยเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2565 ซึ่งมาจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่าง การเริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย การไม่ใช้ถุงยางอนามัย และการขาดความเข้าใจในความสำคัญของการป้องกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่ความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ที่เพิ่มขึ้น 5-9 เท่า แต่ยังส่งผลต่อระบบสาธารณสุขและสังคมในระยะยาว
อย่างไรก็ดี แม้การลดลงของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หลังจากมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตามพระราชบัญญัติการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ออกมา แต่การใช้ถุงยางอนามัยก็ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยในปี 2562 เพศชายระดับมัธยมปีที่ 5 ใช้ร้อยละ 84.6 และนักเรียนหญิงปวช.ปีที่ 2 ใช้ร้อยละ 67.3
นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดในวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการตัดสินใจที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงในการติดโรคทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้ จากผลสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นไทยในช่วงวันวาเลนไทน์ พบว่า 89% เชื่อว่า การดื่มแอลกอฮอล์อาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
สสส. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะทางเพศอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการลดปัญหาการท้องไม่พร้อมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ผ่านโครงการและแคมเปญต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ www.คุยเรื่องเพศ.com ที่ให้ข้อมูลการพูดคุยเรื่องเพศกับลูกในแต่ละช่วงวัย รวมถึงบทความ เว็บบอร์ด และวัสดุเสริมความรู้เพื่อสนับสนุนการสื่อสารที่เหมาะสมในครอบครัว มินิซีรีส์ “คุยเรื่องเพศ” ที่แนะนำเคล็ดลับการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว นอกจากนี้ยังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เพื่อเสริมสร้างทัศนคติบวกเกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัย ผ่านกิจกรรม “CondomLand” ที่เน้นการเรียนรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศปลอดภัยและการเข้าถึงถุงยางอนามัย
และประเด็นสุดท้าย 7.การตลาดบุหรี่ไฟฟ้าภาพหวานเหมือนขนม ซ่อนพิษขมสำหรับเด็ก การตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าใช้กลยุทธ์ที่เจาะกลุ่มเยาวชน ด้วยการออกแบบที่ทันสมัย สีสันสดใส กลิ่นหอมที่หลากหลาย และรูปลักษณ์ที่ดู “เท่” ซึ่งสร้างภาพลวงตาว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยและเหมาะสำหรับเยาวชน โดยมีการนำเสนอผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้เยาวชนจำนวนมากเข้าใจผิดว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดาและสามารถช่วยให้ช่วยเลิกบุหรี่ธรรมดา ทั้งที่ในความเป็นจริง บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพไม่ต่างจากบุหรี่ทั่วไป
ปัญหานี้ยังคงขยายตัวทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถตามทันการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในช่วงที่การซื้อบุหรี่ไฟฟ้าง่ายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์และร้านขายที่ใกล้สถานศึกษา โดยบางร้านยังมีบริการให้สูบบุหรี่ไฟฟ้าภายในร้าน นอกจากนี้ การตลาดบุหรี่ไฟฟ้า พุ่งเป้าเริ่มไปที่กลุ่มเด็กประถมศึกษา และหากเริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่อายุยังน้อย จะทำให้โอกาสในการเลิกนิโคตินลดลงเหลือเพียงร้อยละ 30% เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
สสส. มีเป้าหมายในการลดอัตรานักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างความตระหนักถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการเฝ้าระวัง พัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่าย พร้อมทั้งยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนงานในพื้นที่จริงอย่าง โตไปไม่สูบ ที่ร่วมกับ 16 โรงเรียนใน 12 จังหวัดภาคใต้ มุ่งเสริมทักษะสุขภาพและการสร้างสรรค์สื่อลดปัจจัยเสี่ยงให้เยาวชน โฆษณา 2 เรื่อง บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่าที่คิด และจัดทำเครื่องมือเรียนรู้ รู้ทันกลลวงบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าและกระตุ้นให้หลีกเลี่ยงการใช้
ผู้จัดการกองทุน สสส. ย้ำว่า การดูแลสุขภาพตั้งแต่วัยทำงานเป็นสิ่งสำคัญ หากไม่เริ่มดูแลตั้งแต่ในช่วงวัยทำงาน เมื่อถึงวัยสูงอายุอาจจะสายเกินไป ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการดูแลสุขภาพคือในวัยหนุ่มสาว การทำงานหนักและการเลี้ยงดูครอบครัวในช่วงวัยหนุ่มสาวอาจทำให้ไม่มีเวลาใช้จ่ายเงินเพื่อดูแลตัวเอง แต่เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ เรามีทั้งเวลาและเงิน แต่บางครั้งกลับไม่มีสุขภาพที่ดีพอที่จะใช้ชีวิตตามที่หวังไว้
“ร่างกายของเรามีความแข็งแรงสูงสุดในช่วงอายุ 20 ปี และจะคงที่จนถึงอายุ 40 ปี หลังจากนั้นความเสื่อมของร่างกายจะเริ่มเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย หรือมีน้ำหนักเกิน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคต่าง ๆ และอาจทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
“แต่หากเราดูแลสุขภาพตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่มสาว โดยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และควบคุมอาหาร แม้ในวัย 50-60 ปี อาจจะเริ่มมีปัญหาสุขภาพบ้าง แต่หากดูแลอย่างดี คุณก็ยังสามารถมีชีวิตไปจนถึงอายุ 70-80 ปี บางคนยังสามารถทำกิจกรรมที่ชอบอย่างการวิ่งมาราธอนได้ แม้ในวัย 80 ปี อันนี้เป็นความฝันของเราทุกคน แต่มันต้องเริ่มจากการที่เราลงทุนตั้งแต่วัยหนุ่มสาว”
“ปีใหม่นี้อยากเชิญชวนทุกคนที่เริ่มรู้สึกว่า ร่างกายตัวเองไม่ไหว หรือบางคนที่รู้สึกว่า ถึงเวลาที่ต้องให้ความสำคัญกับนาฬิกาชีวิตของตัวเองแล้ว มาลงทุนกับสุขภาพชีวิตกัน อาจจะเริ่มสร้างจาก Atomic Habits หรือ การสร้างนิสัยระดับอะตอมเลย ถ้าเราอยากออกกำลังกายแต่ใจไม่ไป ขาไม่ก้าว ลองบอกกับตัวเองว่า วันนี้ขอแค่ 5 นาทีได้ไหม เตรียมรองเท้าให้พร้อม ไปเดิน 5 นาทีแต่แถมนิดหน่อย ไม่เป็นไร แล้วทำ 5 นาทีทุกวัน ๆ จากนั้นก็ค่อย ๆ เพิ่มทีละนิด ลองลดอาหารหวานมันลงหน่อย ลดอาหารที่เป็นแป้งได้แค่ไหน เริ่มจากนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วเราจะเปลี่ยนนาฬิกาชีวิตตัวเองได้ และสามารถเป็นเจ้านายชีวิตเราได้” นพ.พงศ์เทพฝากทิ้งท้าย
บทบาทของคน ‘ส่งสาร’
กับความท้าทายเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมคน
ในความเห็นของ น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. มองว่า ปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้การลดโรค NCDs ทำได้ยากมีด้วยกันหลายปัจจัย หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ นวัตกรรม ซึ่งเราเห็นว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ดี ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในหลายด้าน แต่ในด้านสังคมก็ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก เช่น การสั่งอาหารออนไลน์ที่ไม่จำเป็นต้องเดินออกไปซื้อที่หน้าปากซอยอีกต่อไป
รวมทั้ง การตลาด ที่มีกลยุทธ์การลด แลก แจก แถม โปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เราประสบกับปัญหาโรค NCDs ที่ไม่คาดคิด นอกจากนี้การนำเข้าสินค้าอย่างบุหรี่ไฟฟ้าและกัญชา ซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้การควบคุมโรค NCDs มีความยากลำบากยิ่งขึ้น
ต่อมาที่ปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5 ซึ่งทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายกลางแจ้งได้ในตอนเช้า ขณะที่โรงเรียนก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน และเด็ก ๆ ไม่สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้เหมือนเดิม ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้โรค NCDs เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่เราสร้างขึ้นเองในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นความท้าทายที่สำคัญในการลดอัตราการเกิดโรคดังกล่าวในอนาคต
“อุปสรรคอีกอันหนึ่งที่เห็นบ่อย ๆ คือคำว่า ให้รางวัลกับตัวเอง เป็น Keyword ที่เราจะได้ยินบ่อยมาก ยิ่งเวลาเครียด เราต้องตอบแทนตัวเอง ฉันต้องการรางวัลอะไรบางอย่างที่กลับมาเป็น Reward กับตัวเอง อันนี้เป็นคีย์ที่สำคัญมากเลยที่ทำให้การลด NCDs ยาก เพราะรางวัลที่ว่าส่วนมากมันคือการกิน กินทุกอย่าง กินชาบู โปรโมชั่นก็เต็มไปหมด หมดแล้วก็สั่งอีก ให้รางวัลกับตัวเองด้วยการไปแฮงค์เอาท์กับเพื่อน โอกาสในการกินเหล้าสูบบุหรี่ก็ตามมา เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนมองมุมใหม่ ๆ หารางวัลระยะยาวให้ตัวเอง ไม่มองแค่ระยะสั้น ดังนั้น มันเลยวนกลับมาสิ่งที่ สสส. พยายามทำมาตลอดคือ การทำให้เขาเห็นว่า รางวัลรอบ ๆ ตัวเขามีความเสี่ยงอยู่พอสมควร”
ในขณะเดียวกัน น.ส.สุพัฒนุช ก็ชี้ให้เห็นว่า กระแสสังคมมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งเราพยายามสื่อสารกับกลุ่มผู้ใหญ่และวัยกลางคนที่มีพฤติกรรมดื่มและเริ่มต้องการเลิกแต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือ เมื่อสัมภาษณ์กลุ่มเด็ก ๆ กลับพบว่า เด็กเองก็งดเหล้าเข้าพรรษาจำนวนมาก และยังได้รับแรงบันดาลใจจนเกิดความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า สังคมสามารถสร้างได้ด้วยพลังของสังคม ในทำนองเดียวกัน หากย้อนกลับไปในอดีต การวิ่งมักถูกมองว่าเป็นกิจกรรมของผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่กลับลุกขึ้นมาวิ่งอย่างจริงจัง ซึ่งสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมที่ได้รับแรงผลักดันจากกระแสสังคม
ดังนั้น เด็กและเยาวชนไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใด หรือแม้แต่ในเรื่องที่ดูเหมือนพวกเขาอาจไม่ได้สนใจหรือเกี่ยวข้อง แต่ความจริงคือพวกเขารับฟังและพร้อมที่จะเติบโตไปกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม หากเราสร้างทิศทางที่ดีให้กับสังคม เชื่อว่า สิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต
“อันดับแรกคือต้องเริ่มต้นจากความคิดก่อนว่า เราแก้ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นแม่คน หรือเป็นผู้บริหารองค์กร ครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ อยากให้ทุกคนเชื่อเถอะว่า ถ้าอยากเห็นสังคมดีขึ้น อยากเห็นสุขภาพเราและครอบครัวดีขึ้น เราเป็นคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเริ่มต้นได้เลย”
นอกจากแคมเปญที่เป็นที่รู้จักอย่าง "งดเหล้าเข้าพรรษา" สสส. ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเรื่องเหล้าในกลุ่มผู้หญิง เหล้ามีผลต่อมะเร็งเต้านม ทำให้อัตราการดื่มในกลุ่มผู้หญิงลดลง หรือกรณีบุหรี่ไฟฟ้า เรื่องไอบุหรี่เกาะปอดไม่สามารถล้างไม่ได้ รวมถึงจุดประกายการตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้ง่าย เช่น แคมเปญ “ไขมันเริ่มสลายเมื่อออกกำลังกายอย่างน้อย 10 นาที”
แต่ทั้งนี้ ในบทบาทผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ก็ต้องยอมรับว่า การต่อสู้กับความคิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เนื่องจากหลายคนเชื่อว่า มันไม่เป็นอันตราย และคิดว่าไม่สามารถเสพติดได้ แต่การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นข้อเท็จจริงสามารถช่วยให้คนเหล่านี้ตระหนักได้มากขึ้น เช่น การอธิบายถึงสารพิษที่เกิดจากการใช้ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จากผลการศึกษาหรือการเปิดเผยข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้การใช้ตัวอย่างจากข่าวที่เกี่ยวข้องที่เราเห็นกันช่วงหนึ่ง คือ การพบสารพิษในเครื่องปรับอากาศที่ถูกล้าง ก็เป็นข้อมูลที่ช่วยให้คนเห็นภาพและเข้าใจถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่เป็นอันตราย
“จริง ๆ โจทย์ของการสื่อสารคือ เริ่มต้นที่ให้ความรู้และข้อมูลที่มีประโยชน์กับเขา ดูว่า เขาควรจะต้องรู้อะไร และเราเชื่อว่า ถ้าเกิดข้อมูลความรู้นั้นเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ เขาจะอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้เลยว่า Inside ใด ๆ ก็ตามที่เป็นข้อมูล ความรู้จะทำให้เขาตระหนักและฉุกคิด ไม่ต้องบอกเขาเลยว่า อย่าดื่ม อย่าสูบ จริง ๆ มันก็เหมือนกับการตลาดอื่น ๆ ที่เค้าใช้มุกแบบนี้ ยกตัวอย่างโฆษณาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พอเราดูจบ เราอยากกินทันทีเลย การประจักษ์ของข้อมูลมันมีผลต่อการปรับพฤติกรรม” น.ส.สุพัฒนุชขยายความเพิ่ม
ด้านมุมมองจิตวิทยา ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมเทคนิคการให้ “รางวัลกับตนเอง” ไว้ว่า การให้รางวัลตนเองเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตามเทคนิคที่นักจิตวิทยาแนะนำคือ การวางแผนล่วงหน้า ไม่ใช่ว่าทำเสร็จแล้ว รู้สึกเหนื่อย ค่อยวางแผนทีหลัง เพราะถ้าถึงตอนนั้นเราจะตามใจตนเอง ไม่สามารถที่จะยับยั้งชั่งใจได้ เช่น หากตั้งใจจะให้รางวัลด้วยการออกไปช้อปปิ้ง การวางแผนล่วงหน้าจะช่วยให้ตัดสินใจได้รอบคอบมากขึ้น หรือรางวัลเป็นชานมไข่มุก ก็สามารถกำหนดขนาดหรือปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมได้ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน โอกาสในการที่จะทำสำเร็จมันง่ายขึ้น พยายามทำให้เป็นเป้าหมายที่จับต้องได้ เชื่อว่า มันจะค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น
พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถพิจารณาได้จาก 3 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกคือโอกาสและทรัพยากร เช่น การออกกำลังกาย จำเป็นต้องมีอุปกรณ์และพื้นที่ที่เหมาะสม ปัจจัยที่สองคือความรู้และความสามารถ ซึ่งหมายถึงการเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกาย ปัจจัยที่สามคือแรงจูงใจและการควบคุมตนเอง ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ท้าทายที่สุด เนื่องจากมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสุขภาพจิต เพราะหากเรามีสุขภาพจิตที่ไม่ดี หรือกำลังเผชิญกับความเครียด ท้อแท้ แรงจูงใจในการปรับพฤติกรรมจะลดลงตามไปด้วย
ต้อง SAVE จิตใจอย่างไร
เมื่อวัยไหน ๆ ก็หนีไม่พ้นความ(ซึม)เศร้า
ในขณะที่ตัวเลขปัญหาสุขภาพจิต ปี 2566 คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตาย 7.9 คนต่อประชากรแสนคน และยังมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี แต่บุคลากรด้านสุขภาพจิตกลับเป็นสาขาที่มีจำนวนจำกัด มีจิตแพทย์ 1,000 คน นักจิตวิทยา 1,000 คน ซึ่งการจะเพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปี กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่า 10 ปีข้างหน้า สุขภาพจิตจะกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นอันดับ 1 ของโรคไม่ติดต่อทั้งหมด ซึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ กลุ่มวัยทำงาน พบมีความเครียดในการทำงาน 42.7% ในจำนวนนี้มีภาวการณ์ฝืนทำงานแม้มีปัญหาสุขภาพจิต 27.5% การรักษาในโรงพยาบาลจึงอาจไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต
เมื่อพูดถึงประเด็นการทำงานที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตและโรค NCDs ดร.เจนนิเฟอร์ เห็นไปในทิศทางเดียวกับที่นพ.พงศ์เทพได้กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันคนไทยทำงานหนักขึ้น “คิดว่า สิ่งที่ทำให้คนมุ่งมั่นทำงานมันอาจจะมีความซับซ้อนอยู่ หนึ่งเขาอาจจะต้องการที่จะทำงานจริง ๆ หรือสองมันอาจจะมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ความกดดันที่จากภาคธุรกิจ การแข่งขันกัน เศรษฐกิจ หรือการเงิน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคนทำงานกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความคิดหรือร่างกาย”
“ดังนั้น เรามองว่า องค์กรหรือบริษัทมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะช่วยส่งเสริมตรงนี้ได้ เพราะบางทีพนักงานอยากจะดูแลจิตใจแล้วก็ร่างกายตัวเอง แต่บางทีทำไม่ได้ ถ้าหัวหน้ายังโทรตามงานอยู่ หรือยังต้องทำงานในวันหยุด เพราะฉะนั้นมันจะต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะทำให้พนักงานสามารถที่จะมีกลไกในการดูแลสุขภาพจิตกับสุขภาพกายดียิ่งขึ้น”
ซึ่งจากการสำรวจกลุ่มคนทำงานได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่สามารถส่งเสริมสุขภาพจิตของคนทำงาน อันดับแรกคือต้องการให้เข้าถึงบริการตรวจสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอ เป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินความเครียดและปัญหาทางจิตใจของพนักงาน นอกจากนี้การเสริมทักษะในการรับมือกับความเครียดและการฝึกอบรมทางจิตใจช่วยให้พนักงานมีเครื่องมือในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตการทำงาน การมีสวัสดิการที่สนับสนุนการพักผ่อนระหว่างวันและในช่วงสุดสัปดาห์ รวมถึงการจัดหาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการระบายความเครียด Safe Zone ยังเป็นสิ่งที่พนักงานต้องการ เพื่อให้พวกเขาสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่องค์กรสามารถดำเนินการเพื่อสนับสนุนสุขภาพจิตและร่างกายของพนักงานได้
“แต่อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่วัยทำงาน แต่การดูแลสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกช่วงวัยต้องให้ความสนใจ สุขภาพจิตจะเกิดกับวัยผู้ใหญ่ค่อนข้างเยอะ แต่จริง ๆ เด็กก็เผชิญกับภาวะซึมเศร้าได้ รวมไปถึงผู้สูงวัยมากยิ่งขึ้นอาจจะด้วยหลากหลายปัจจัย หนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า สังคมของเรามีความเป็นปัจเจกมากยิ่งขึ้น มีความรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา เริ่มรู้สึกขาดคุณค่าในตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อร่างกายเสื่อมถอยและไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้ในอดีต เช่น การทำงานหรือการหารายได้ ดังนั้น การช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าในตัวเองและในสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญ”
“อย่างการจัดกิจกรรมที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่า เช่น การเป็นอาสาสมัคร นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความหมายในชีวิตแล้ว ยังสามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพกายได้ด้วย เนื่องจากการทำงานอาสาสมัครจะช่วยบำบัดสุขภาพจิตและส่งเสริมการออกกำลังกายไปพร้อมกัน”
ท้ายนี้ ดร.เจนนิเฟอร์ ก็ได้เชิญชวนให้ทุกคนในปีหน้าให้ความสำคัญกับประเด็นสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น "ในปีนี้ ขอให้ทุกคนหันมาพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตอย่างจริงจังมากขึ้น ดูแลตัวเองให้สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ นอนหลับอย่างเพียงพอ และจัดสรรเวลาเพื่อการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการรักษาสุขภาพจิตที่ดี"