xs
xsm
sm
md
lg

โรงพยาบาลเอกชนกับการปรับตัวสู้วิกฤตเศรษฐกิจ พัฒนาระบบดูแลสุขภาพที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายและการชะลอตัว หลายภาคส่วนจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ระบบสุขภาพไทยต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ คือ 1.ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว: ความไม่แน่นอนทางการเงินส่งผลต่อการตัดสินใจใช้จ่ายของประชาชน แม้กระทั่งในเรื่องของการดูแลสุขภาพ ทำให้หลายโรงพยาบาลต่างปรับกลยุทธ์ การลดต้นทุน การพัฒนาบริการที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ที่มีความต้องการหลากหลาย ทั้งในด้านความคุ้มค่าของราคาและคุณภาพการรักษา 2.ภาระงานของโรงพยาบาลรัฐ: การขาดแคลนทรัพยากรและจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนต้องเข้ามาแบ่งเบาภาระ ด้วยบริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 3.การแข่งขันภายในกลุ่มเอกชน: การขยายตัวของ กลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กลุ่มโรงพยาบาลในเครือ BDMS อาทิ โรงพบาลกรุงเทพ รวมถึงเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ทำให้บริการสุขภาพมีทางเลือกที่หลากหลายและเข้าถึงง่ายขึ้น

ผลกระทบเชิงบวกต่อผู้ป่วยและระบบสุขภาพโดยรวม
การปรับตัวของโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้เป็นเพียงการตอบสนองความต้องการของตลาด แต่ยังช่วยสร้างความสมดุลในระบบสุขภาพด้วย นั่นคือ การลดค่าใช้จ่ายของประชาชน หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของโรงพยาบาลเอกชน คือ การเปิดตัวแพ็กเกจสุขภาพราคาย่อมเยา เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ อย่างยิ่งกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและต่ำ แพ็กเกจเหล่านี้ครอบคลุมบริการทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี การรักษาโรคทั่วไปและการผ่าตัดเล็ก นอกจากนี้โรงพยาบาลเอกชนยังได้นำเทคโนโลยี ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น สามารถกลับไปพักที่บ้าน ได้เร็วขึ้น ไม่ต้องนอนในโรงพยาบาลนานๆ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวที่โรงพยาบาล การปรับตัวของโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างระบบสุขภาพที่เข้าถึงได้และมีคุณภาพสูง ช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลรัฐ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่จำเป็น ได้อย่างทั่วถึง


จากข้อมูลของ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ปี 2567 คาดการณ์ว่ารายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน จะเติบโตขึ้นราว 8-12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2568 ที่อัตรา 6-10% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับการพัฒนาทางการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ อันเป็นเหตุผลให้โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำหลายแห่งหันมานำเสนอแผนบริการสุขภาพที่เน้นความคุ้มค่าและการเข้าถึงได้ง่าย โดยให้ความสำคัญกับ ความสมดุลระหว่างคุณภาพของบริการและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม เช่น แพ็กเกจตรวจสุขภาพราคาย่อมเยา การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และการนำโมเดล Value-Based Healthcare มาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดูแลผู้ป่วย ทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่เพียงแต่เป็นตัวเลือกเฉพาะกลุ่ม แต่ยังกลายเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างระบบสุขภาพไทยในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทายนี้ อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพ: ให้บริการตรวจสุขภาพประจำปีในราคาที่จับต้องได้ เพื่อตอบโจทย์ประชาชนที่ต้องการเริ่มต้นดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินไป พร้อมนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการวินิจฉัยโรค เพื่อเพิ่มความแม่นยำและลดความเสี่ยง ในการรักษา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์: นำเสนอบริการ Personalized Healthcare ที่ให้การดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล เพิ่มโอกาสการป้องกันและรักษาที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว โรงพยาบาลเมดพาร์ค: พัฒนาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพผ่านระบบอัจฉริยะ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพและสะดวกยิ่งขึ้น พร้อมแพ็กเกจสุขภาพที่ออกแบบมาให้เหมาะสำหรับครอบครัว โรงพยาบาลพระราม 9: มุ่งเน้นการบริการที่เป็นมิตรกับผู้ป่วยทุกกลุ่ม โดยปรับลดค่าใช้จ่ายในบางรายการ เพื่อช่วยลดภาระของประชาชน


สำหรับเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ถือเป็นอีกตัวอย่างของโรงพยาบาลเอกชนที่นำกลยุทธ์ Value-Based Healthcare มาใช้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดในทุกมิติภายใต้แคมเปญ “Value Healthcare” โดยมี ทีมแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ร่วมกันออกแบบแผนการรักษา ที่ตอบโจทก์ตามบริบทในเรื่องสุขภาพ ระยะเวลาการรักษา เทคโนโลยีและบริการต่างๆ ในงบประมาณที่พึงพอใจ ตามเป้าหมายของผู้ป่วยที่แตกต่างกันภายใต้มาตรฐานทางการแพทย์ของโรงพยาบาล โดยได้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ ‘ADD WISE’ เทคโนโลยี AI ที่ช่วยประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพเฉพาะบุคคล พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพและผลการรักษาของผู้ป่วยว่ามีความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือไม่ เช่น โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงการแนะนำแนวทางการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุดได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ‘VELYS (Robotic-Assisted Surgery)’ ที่เพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ด้วยเทคโนโลยี AI ที่ให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถปรับเปลี่ยนการตัดแต่งกระดูกและปรับแต่งความตึงของเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าได้อย่างถูกต้องเพื่อการวางตำแหน่งข้อเข่าเทียมในตำแหน่งที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้การวางแผนและการผ่าตัดมีความแม่นยำ ปลอดภัย และลดระยะเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิผล นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี AI EKG สำหรับการอ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างแม่นยำ และ ที่นอนลดแผลกดทับ Never Pressure Injuries (NPI) ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชัน Health Up ที่เชื่อมต่อการบริการสุขภาพทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ตั้งแต่การนัดหมายแพทย์จนถึงบริการพบแพทย์ผ่าน Telecare และ แพ็กเกจสุขภาพ All You Can Check โปรแกรมตรวจสุขภาพเชิงป้องกันที่ออกแบบมาให้สามารถตรวจติดตามผลสุขภาพได้ตลอดทั้งปี โดยจ่ายเพียงครั้งเดียวในราคาประหยัด ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างระบบสุขภาพที่เข้าถึงได้ บนมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล พร้อมให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าในทุกมิติของการดูแลผู้ป่วย

มองไปข้างหน้า: สุขภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้
โรงพยาบาลเอกชนกำลังปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์จาก “แพงและพิเศษ” สู่ “คุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้” การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ แต่ยังแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลรัฐ ส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของ คนไทยทุกกลุ่มได้อย่างแท้จริง


ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐยังคงมีบทบาทเป็นเสาหลักในการดูแลสุขภาพของประชาชนส่วนใหญ่ ด้วยค่าบริการ ที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตามระบบของโรงพยาบาลรัฐยังคงเผชิญข้อจำกัดด้านทรัพยากร รวมถึงความจำเป็นในการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งส่งผลต่อความครอบคลุมและความรวดเร็วในการเข้าถึงบริการสุขภาพ

เพื่อสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืนและเท่าเทียม ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกัน โดยโรงพยาบาลเอกชนมุ่งเน้นการพัฒนาบริการที่สมดุลระหว่างคุณภาพและค่าใช้จ่าย ขณะที่โรงพยาบาลรัฐต้องเร่งปรับปรุงบริการและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

“สุขภาพคือการลงทุนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต” บทบาทของโรงพยาบาลเอกชนในระบบสุขภาพไทยยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ พร้อมช่วยสร้างสมดุลระหว่างการบริการที่มีคุณภาพและการเข้าถึงได้ของประชาชนทุกกลุ่ม


กำลังโหลดความคิดเห็น