xs
xsm
sm
md
lg

สมองเสื่อม : ความท้าทายด้านสุขภาพที่ไทยกำลังเผชิญ พร้อมข้อเสนอนโยบายเชิงรุกเพื่อการเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสุขภาพครั้งสำคัญในยุคที่สังคมก้าวสู่การเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยภาวะสมองเสื่อมถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ การที่จำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างภาระต่อระบบสาธารณสุข แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อครอบครัวและชุมชน งานวิจัยจากหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการปัญหานี้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

รศ. พญ.วราลักษณ์ ศรีนนท์ประเสริฐ หัวหน้าหน่วยวิจัยฯ ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์และความสำคัญ ถึงการวิจัยเรื่องนี้ว่า “ปัญหาเรื่องภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไทยไม่เพียงแต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว แต่ยังเป็นความท้าทายที่สำคัญของระบบสุขภาพและสังคมโดยรวมในยุคที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”
งานวิจัยดังกล่าวดำเนินการผ่านการวิเคราะห์แผนปฏิบัติการระดับโลกและการตอบโต้ภาวะสมองเสื่อมของประเทศที่มีความก้าวหน้า เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยใช้กรอบแนวคิดจากแผนปฏิบัติการขององค์การอนามัยโลก (WHO) และ OECD งานวิจัยมุ่งเน้นศึกษารูปแบบการดูแลที่ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการดูแลระยะยาวและการสนับสนุนผู้ดูแลในชุมชน เพื่อปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย การรวบรวมข้อมูลดำเนินการผ่านการทบทวนวรรณกรรมและนโยบายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสืบค้นข้อมูลเชิงลึกจากการปฏิบัติจริงในประเทศต่าง ๆ
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการภาวะสมองเสื่อม มีจุดเด่นในการบูรณาการการดูแลอย่างเป็นระบบและครอบคลุม เช่น การสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้ป่วย (Dementia-Friendly Communities) การจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพสำหรับผู้ป่วยที่เน้นการดูแลแบบครบวงจร รวมถึงการสนับสนุนผู้ดูแลผ่านการอบรม การให้คำปรึกษา และการช่วยเหลือทางการเงิน ประเทศเหล่านี้ยังเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ระบบข้อมูลสุขภาพแบบรวมศูนย์ การวินิจฉัยระยะเริ่มต้นผ่านแอปพลิเคชัน และการประสานงานเชิงรุกระหว่างโรงพยาบาลและชุมชน จากการศึกษาในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า การป้องกัน การสร้างความตระหนัก และการดูแลผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในทุกระดับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยพบข้อเสนอเชิงนโยบายที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในการเร่งพัฒนานโยบายและระบบบริการสุขภาพที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว โดยมีข้อเสนอหลักดังนี้

1. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบบูรณาการ: ควรจัดตั้งแผนการดำเนินงานระยะยาวที่มีความยั่งยืน โดยบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2. การสร้างความตระหนักรู้ในสังคม: ส่งเสริมกิจกรรมรณรงค์เพื่อลดการตีตราผู้ป่วยและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม พร้อมทั้งสร้างชุมชนที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย

3. การสนับสนุนผู้ดูแล: ควรจัดให้มีบริการช่วยเหลือระยะสั้น (respite care) รวมถึงการอบรมและการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อช่วยลดภาระของผู้ดูแล

4. การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์: จัดอบรมพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นให้กับแพทย์และพยาบาล รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในชุมชน

5. การใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูล: พัฒนาระบบสารสนเทศที่สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาภาวะสมองเสื่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน การวางรากฐานระบบบริการที่ครอบคลุมและยั่งยืนไม่เพียงแต่จะช่วยลดผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัว แต่ยังสามารถลดภาระทางเศรษฐกิจและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุในอนาคต” รศ.พญ. วราลักษณ์ กล่าว

ผศ. พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และ นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ให้ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมต่อประเด็นนี้ว่า “สถานการณ์ผู้ป่วยสมองเสื่อมในประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของผู้สูงอายุที่มากขึ้นทุกปี คาดว่าในจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดจะพบสมองเสื่อมอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ปี 2567 มีผู้สูงอายุ ประมาณ 20 ล้านคน นั่นหมายความว่าในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสมองเสื่อม 2 ล้านคน สิ่งที่ท้าทายคือ ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้จะส่งผลกระทบเป็นปัญหาในสังคมอย่างมาก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ที่ ณ วันนี้ สถานดูแลผู้สูงอายุของรัฐประสบปัญหาขาดทุน ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่ยาวนาน และมีแนวทางพยายามให้คนที่มีภาวะสมองเสื่อมอยู่ในชุมชนให้มากที่สุด จนถึงขั้นที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้แล้วจริงๆ จึงรับเข้าสถานดูแล ในแนวคิด Community Service ในประเทศไทยเองนั้นยังไม่มีสถานพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมโดยรัฐ แต่มีแนวทางในการพยายามสร้างความร่วมมือให้เกิดการดูแลโดยชุมชน สังคม โดยการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างเดย์แคร์เพื่อให้ผู้ดูแลสามารถไปทำงานได้ในตอนกลางวัน หรือในรูปแบบครอบครัวอุปถัมภ์”

ปัญหาการเตรียมพร้อมการรับมือกับสังคมสูงวัยและผู้ป่วยสมองเสื่อมนั้น ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะครัวเรือนเท่านั้น การแก้ไขจึงไม่ใช่เพียงปล่อยให้แต่ละครอบครัวฟันฝ่ากันไปด้วยตัวเอง แต่จำเป็นต้องอาศัยภาคส่วนสังคมเข้ามามีส่วนช่วย มีมืออื่นเข้ามาช่วยอุ้มชู ให้เกิดการประคับประคองไปด้วยกันได้




กำลังโหลดความคิดเห็น