ประเทศไทยได้กลายเป็น ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สถานการณ์นี้ไม่ได้เพียงเพิ่มความท้าทายต่อการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ แต่ยังส่งผลถึงคุณภาพชีวิตในทุกมิติ รวมถึงปัญหาด้านที่อยู่อาศัยที่กลายเป็นประเด็นเร่งด่วน ผู้สูงอายุจำนวนมากขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและเหมาะสม บางรายต้องปรับปรุงบ้านให้รองรับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย แต่กลับประสบกับข้อจำกัดด้านงบประมาณหรือการเข้าถึงบริการ ซ้ำร้ายยังเกิดการแยกตัวจากครอบครัวและชุมชน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตโดยรวม
รศ. จงจิตต์ ฤทธิรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นว่าไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุอย่างรุนแรง “การพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบครบวงจรเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่อาศัยในถิ่นเดิมได้อย่างมีคุณภาพเป็นแนวทางที่ต้องผลักดันอย่างเร่งด่วน” ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพและการเข้าสังคมมีมากขึ้น แต่ปัจจุบันยังขาดการให้บริการที่ครอบคลุมในระดับประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท
จากการศึกษาเรื่อง “บริการด้านสุขภาพและนวัตกรรมทางสังคมเพื่อการสูงวัยในถิ่นที่อยู่” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย โดยการศึกษาเรื่องดังกล่าวได้ใช้แนวทางการวิเคราะห์เชิงระบบเพื่อรวบรวมข้อมูลจากโครงการและบริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน นำมาสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่อาศัยในถิ่นเดิมได้อย่างมีคุณภาพ ผลการศึกษาวิจัยพบว่าองค์ประกอบสำคัญของการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ ประกอบด้วย (1) สถานที่ เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อม จำเป็นต้องส่งเสริมโครงการซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านให้ปลอดภัยและเหมาะสม โดยลดค่าใช้จ่ายผ่านการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน (2) บริการสุขภาพและการดูแลระยะยาว ต้องเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพในชนบท พร้อมพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยลดภาระของผู้ดูแล และ (3) บริการการดูแลทางสังคม ควรจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมทางสังคม ช่วยลดปัญหาการแยกตัวและความรู้สึกโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุ จากผลการศึกษาที่ระบุถึงองค์ประกอบสำคัญดังกล่าว ที่จะช่วยส่งเสริมการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการดำเนินงานเชิงระบบที่บูรณาการทั้งระดับปฏิบัติการและเชิงนโยบาย เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในถิ่นที่อยู่เดิมได้อย่างมีคุณภาพ ดังนี้
1. ส่งเสริมโครงการที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร ร่วมกับภาครัฐและเอกชน สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ โดยภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มการเข้าถึงสำหรับทุกกลุ่มรายได้
2. เพิ่มบริการดูแลระยะยาวในพื้นที่ชนบท พร้อมพัฒนานวัตกรรมที่เข้าถึงได้ ขยายการดูแลผู้สูงอายุในชนบทผ่านทีมอาสาสมัครและบุคลากร พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเหลือและเทคโนโลยีที่ราคาย่อมเยา เพื่อให้เข้าถึงบริการได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ
3. ขยายกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่น จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างวัยในชุมชน เช่น การทำงานร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุและคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจ ลดความโดดเดี่ยว และเพิ่มการมีส่วนร่วมในสังคม.
“การดำเนินงานเหล่านี้ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ แต่ยังเป็นการเตรียมพร้อมสังคมไทยสำหรับการเผชิญหน้ากับยุคสังคมสูงวัยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการพัฒนานโยบายที่ครอบคลุมทั้งด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพ และสังคม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่อาศัยในถิ่นเดิมได้อย่างมีคุณภาพ การสร้างสังคมสูงวัยที่ยั่งยืนไม่ใช่เพียงหน้าที่ของภาครัฐ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม” รศ. จงจิตต์ กล่าว