บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (ไทย) จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการ ‘Chula Stroke Academy: The Stroke Excellence สโตรค โรคหลอดเลือดสมอง รู้ เร็ว รอด’ โดยมีวัตถุประสงค์ในการยกระดับคุณภาพการดูแลและรักษาโรคหลอดเลือดสมองผ่านการส่งเสริมการแบ่งปันองค์ความรู้โรคหลอดเลือดสมองผ่าน MDCU MedUMORE แพลตฟอร์มคลังความรู้แพทย์ออนไลน์ (E-Learning Platform) ที่ครอบคลุมการดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมองในทุกมิติทั้ง การรักษาแบบการให้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic Management) การทำหัตถการผ่านสายสวนหลอดเลือดสมอง (Endovascular Thrombectomy) ฯลฯ รวมไปถึงการเพิ่มการเข้าถึงแพลตฟอร์มในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ โดยงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ณ อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัย มุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันต้นแบบการแพทย์มาตรฐานที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ในบริบท Lifelong Learning การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างไม่จำกัด ผ่านการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมการเรียนรู้ทางการแพทย์ เพื่อแบ่งปันความรู้ในการดูแลและรักษาโรคฯ ให้แก่กลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์ ความร่วมมือในโครงการ ‘Chula Stroke Academy: The Stroke Excellence สโตรค โรคหลอดเลือดสมอง รู้ เร็ว รอด’ ในครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรด้านการแพทย์ที่มีความหลากหลาย และมีส่วนสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์ขั้นสูง เพื่อยกระดับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองให้มีความแม่นยำ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากที่สุด”
ศ.พญ. นิจศรี ชาญณรงค์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยแพลตฟอร์ม MDCU MedUMORE ถือเป็นการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาแพทย์สู่มิติใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์การพัฒนาบัณฑิตแพทย์ยุคใหม่ได้มากยิ่งขึ้น เราเชื่อว่าความร่วมมือในสร้างสรรค์หลักสูตรออนไลน์บนแพลตฟอร์มผ่านโครงการ ‘Chula Stroke Academy: The Stroke Excellence สโตรค โรคหลอดเลือดสมอง รู้ เร็ว รอด’ นี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนและความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองให้เข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์และสอดรับกับโลกแห่งการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน”
รศ.(พิเศษ) พญ.อรอุมา ชุติเนตร หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยเพิ่มเติมว่า “เราได้ออกแบบหลักสูตรภายใต้โครงการ ‘Chula Stroke Academy: The Stroke Excellence สโตรค โรคหลอดเลือดสมอง รู้ เร็ว รอด’ ให้ครบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองในทุกแง่มุม ตั้งแต่การสร้างการตระหนักในผู้ป่วยเกี่ยวกับสัญญาณ และอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ไปจนถึงวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เราหวังว่าโครงการฯ นี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้บุคคลกรทางการแพทย์ได้เรียนรู้โรคหลอดเลือดสมองได้ง่าย และรับมือกับผู้ป่วยโรคนี้ได้ไวอย่างมีประสิทธิภาพ”
นายริคาร์เต้ เซลวานเดส ริเวร่า ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (ไทย) จำกัด เผยว่า “โรคหลอดเลือดสมอง ถือเป็นภัยด้านสุขภาพใกล้ตัวที่ไม่อาจมองข้ามได้ และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย โดยในปี 2567 พบว่าในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองไปแล้วกว่า 39,086 ราย และมียอดผู้ป่วยสะสมราว 358,062 ราย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ผ่านการส่งต่อองค์ความรู้ด้านการแพทย์ ที่ขับเคลื่อนผ่านการวิจัยและค้นคว้าวิธีการรักษาแบบก้าวหน้า โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง ภัยร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยก่อนวัยอันควรเป็นอันดับ 2 เบอริงเกอร์ฯ จึงผสานกำลังกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ ‘Chula Stroke Academy: The Stroke Excellence สโตรค โรคหลอดเลือดสมอง รู้ เร็ว รอด’ ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ที่ครบทุกมิติ รวมถึงช่วยยกระดับการดูแลและรักษาโรคฯ ได้อย่างยั่งยืนบน MDCU MedUMORE โดยตั้งเป้าในการที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ตลอดระยะเวลา 2 ปีของความร่วมมือเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน”
โครงการ ‘Chula Stroke Academy: The Stroke Excellence สโตรค โรคหลอดเลือดสมอง รู้ เร็ว รอด’ เป็นความร่วมมือระหว่าง เบอริงเกอร์ฯ และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยครอบคลุมระยะเวลาความร่วมมือเป็นเวลา 2 ปี ประกอบไปด้วยการจัดกิจกรรมและสื่อการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันองค์ความรู้ในการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ครอบคลุมเนื้อหาในทุกมิติ อาทิ การรักษาโรคสมองขาดเลือดด้วยยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic Treatment) ในโรคสมองขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Ischemic Stroke) ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง (Intracerebral hemorrhage) การทำหัตถการผ่านสายสวนหลอดเลือดสมอง (Endovascular Thrombectomy) การเชื่อมโยงการรักษาและเป้าหมายในอนาคต การดูแลผู้ป่วยใน Stroke Unit สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง ระบบการส่งต่อที่ไร้รอยต่อ ความสำคัญของระยะเวลาจากการตัดสินใจถึงการรักษา (Door to Needle Time) ระบบดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบเร่งด่วน (Stroke Fast Track) ซึ่งรวมถึง การพัฒนาและการประเมินผล การสร้างความตระหนักในผู้ป่วยเกี่ยวกับสัญญาณ อาการ และปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ