xs
xsm
sm
md
lg

ส่องเทรนด์การเรียนรู้เพื่ออนาคต ตอบโจทย์โลกยุค Ai

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “เอไอ (Ai)” ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นทุกวันต่อการใช้ชีวิต รวมทั้งการทำงานที่สถานประกอบการหลายแห่งเริ่มพิจารณาถึงการนำ Ai เข้ามาใช้ ทำให้หลายคนกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อแรงงานซึ่งเป็นมนุษย์ ขณะที่สถาบันการศึกษาจำนวนไม่น้อยต่างก็ปรับตัวและปรับหลักสูตรเพื่อให้สามารถรองรับโลกแห่งอนาคตที่ Ai รุกคืบเข้ามาทุกที

คำถามที่น่าสนใจก็คือ การเรียนรู้หรือการศึกษาในยุคต่อจากนี้ควรจะเป็นอย่างไร ที่จะสามารถช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนก้าวเดินไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและตอบโจทย์โลกยุค Ai

ทุกบรรทัดถัดจากนี้ คือมุมมองที่น่าสนใจซึ่งทีมงานผู้จัดการออนไลน์นำมาฝากกัน ด้วยความปรารถนาว่าจะช่วยให้เราเข้าใจ Ai พร้อมทั้ง “เรียนรู้” และ “อยู่ร่วม” กับ Ai ได้อย่างไม่สูญสิ้นพลัง!

Ai มนุษย์สร้าง - ใช้เป็น เกิดคุณค่า
อนาคต Ai จะเก่งกว่านี้อีก อย่าไปทิ้งเขา


ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมาถึงของ Ai ทำให้เกิดการปรับตัวในแทบทุกสายงาน และบางตำแหน่งมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงมากที่จะถูก Ai เข้ามาแทนที่ อย่างไรก็ดี ในมุมมองของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลภา เฉลิมวงศาเวช หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา วิทยาลัยครูสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า Ai เป็นเครื่องมือที่ทำให้การใช้ชีวิต การทำงาน การดำรงชีวิตของมนุษย์ง่ายขึ้น แต่มาแทนไม่ได้ มาแทนความเป็นคนไม่ได้

“Ai เป็นหนึ่งในเครื่องมือ แต่มาแทนมนุษย์ไม่ได้ ตราบใดที่มนุษย์เป็นผู้คิดค้น Ai ไม่ใช่เทคโนโลยีแรกที่เกิดขึ้นในโลก เรามีเทคโนโลยีแรกที่เกิดขึ้นในโลกมาเป็นหลายร้อยปีแล้ว เพียงแต่เทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้นมาเป็น Ai ในปัจจุบัน อาจารย์เชื่อว่า Ai เป็นเครื่องมือที่ทำให้ชีวิต การใช้ชีวิต การทำงานในชีวิตประจำวันง่ายขึ้น รวดเร็วฉับไวได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในเชิงข้อมูล อาจารย์มองว่า AI ทำได้ดี แต่ถามว่าในรายละเอียดเชิงลึก ต้องศึกษาให้มากขึ้น”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลภา เฉลิมวงศาเวช หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  วิทยาลัยครูสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต
และหากโฟกัส Ai ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลภา มองว่า งานบางงาน AI เข้ามาแทนได้ระดับหนึ่ง เช่น งานส่วนที่ต้องใช้คนในการบริการเยอะ ๆ ก็อาจจะลดจำนวนคนลง แต่ต้องไม่ลืมว่า Ai ไม่มีความคิด วิจารณญาณ ความรู้สึกแบบมนุษย์ ดังนั้น หุ่นยนต์ยังคงแทนมนุษย์ไม่ได้ 100%

“ถามว่าอาชีพไหนจะรุ่งหรือร่วง อาจารย์มองว่าน่าจะเป็นการทำงานไปด้วยกันระหว่างคนกับ Ai มากกว่า โดย Ai จะมีประโยชน์มากในบางเรื่อง เช่น ทางการแพทย์ที่ต้องตรวจรักษาอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์ส่วนที่เข้าไม่ถึง นักธรรมชาติวิทยาที่ต้องเข้าไปสำรวจภูเขาไฟ อะไรที่เป็นอันตรายที่มนุษย์ไม่ควรเข้าไป ส่ง Ai เข้าไป จะเป็นประโยชน์มาก ๆ ซึ่งจะทำให้การทำงานง่ายขึ้น ลดการบาดเจ็บ อาจารย์เชื่อว่าเขามาแทนเราไม่ได้หรอก แต่ต้องทำงานไปด้วยกัน ตราบใดที่เขายังถูกควบคุมโดยเรา มนุษย์เป็นผู้สร้าง มนุษย์เป็นผู้ควบคุมและยังต้องเป็นผู้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลภา กล่าวย้ำเพิ่มเติม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทอดศักดิ์ ชมโต๊ะสุวรรณ ผู้อำนวยการหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐกิจดิจิทัล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
นั่นก็สอดคล้องกับมุมมองของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทอดศักดิ์ ชมโต๊ะสุวรรณ ผู้อำนวยการหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐกิจดิจิทัล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเห็นว่า มนุษย์ต้องปรับตัวและพิจารณาว่าจะใช้ Ai อย่างไรให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบจาก Ai ให้มากที่สุด เพราะว่าอย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดแล้วมนุษย์เราก็ไม่สามารถที่จะวิ่งหนี Ai ได้ เราต้องเรียนรู้ ฝึกฝน ปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกับ Ai และใช้ประโยชน์จาก Ai ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

“เราไม่จำเป็นต้องพยายามที่จะเอาชนะ แต่เราควรที่จะใช้ Ai เป็นผู้ช่วยของเรา เป็นลูกจ้างของเรา และเป็นทีมของเรา เราควรมีทัศนะคติว่า Ai เป็นพวกเดียวกับเราไม่ใช่ศัตรูหรือคู่แข่งของเรา เพราะว่าเราไปสู้กับ Ai ในบางเรื่องไม่ได้ เราต้องใช้ Ai เป็นเครื่องมือให้เราสะดวกสบาย ให้เราถึงเป้าหมาย อาทิเช่น การคำนวณที่ต้องการความรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ การทำงานซ้ำๆต่อเนื่องเนื่องเป็นเวลายาวนาน การคำนวณฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นต้น และในอนาคต Ai จะยิ่งเก่งกว่านี้อีก อย่าไปทิ้งเขา ต้องเอาเขามาช่วยงานเรา”

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทอดศักดิ์ ยังเน้นเพิมเติมว่า เราควรต้องพัฒนาทักษะตนเองไปในด้านการคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงสร้างสรรค์ การสร้างนวัตกรรม การบริการ คุณธรรมจริยธรรม และการสร้างมนุษยสัมพันธ์ ซึ่งเป็นทักษะที่ Ai ยังขาดและเลียนแบบมนุษย์ได้ยาก ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เรารอดและก้าวหน้าในวิชาชีพของตนเองอย่างยั่งยืน

Digital Literacy และ การเรียนรู้ในสิ่งที่ Ai ทำไม่ได้
คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเรียนรู้เพื่ออนาคต


เพราะการเข้ามาของ Ai ทำให้การเรียนการสอนหรือรูปแบบการศึกษายุคต่อจากนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปด้วย เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ได้ตรงจุด จากแต่เดิมที่ครูเป็นผู้บอกเล่าหรือเล็กเชอร์แต่เพียงฝ่ายเดียว การศึกษายุคใหม่ ผู้เรียนและผู้สอนกลับกลายเป็นผู้ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และที่สำคัญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลภา ย้ำว่า ผู้บริหารการศึกษาในยุคใหม่ต้องปรับตัวและยอมรับ จะเอาต์ไม่ได้

“เราเพิกเฉยต่อเทคโนโยลีที่เกิดขึ้นใหม่ไม่ได้เลย ทุกคนต้องตื่นตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในเครื่องมือทุกเครื่องมือ คนที่เป็นผู้บริหารต้องเรียนรู้ ต้องเข้าใจ ใช้ได้ ทำเป็น แต่อาจจะไม่ได้ถึงกับต้องเป็น 100% แต่ต้องรู้ เพราะลูกน้องของเราเด็กกว่า เป็น GEN ใหม่กว่า ผู้บริหารจึงต้องตื่นตัวกับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Ai หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ เพราะมันมีหลายเรื่องมาเกี่ยวข้องกัน เช่น เรื่องงบประมาณ การบริหารจัดการบุคคล”


นอกจากนั้น คือการฝึกทักษะเรื่อง Digital Literacy หมายถึง ทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทุกคนในสังคมโลกปัจจุบัน ซึ่งสอนให้ตั้งแต่เริ่มคิดว่าต้องใช้ดิจิทัลอย่างไร เข้าถึงดิจิทัลอย่างไร ใช้อะไรเมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ย่อยสลายข้อมูลนั้นอย่างไร มีจริยธรรม มีจรรยาบรรณหรือไม่

“อาจารย์มองว่าถ้าเรามีทักษะ Digital Literacy ก็จะไม่มีเฟคนิวส์ คนที่ใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด เพราะเขามี Digital Literacy ที่ไม่ถูกต้อง เพราะอย่างหนึ่งที่สำคัญของมนุษย์ก็คือ จรรยาบรรณ จริยธรรม ซึ่งโลกในยุคไหนก็ตาม ถ้าไม่มีจรรยาบรรณ ไม่มีจริยธรรมของการเป็นมนุษย์ ไม่มีสามัญสำนึกของความเป็นคน ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีหรือไม่มี โลกก็บัลลัยแน่นอน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลภา กล่าวเพิ่มเติมถึงหลักสูตรบริหารการศึกษาที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ว่า นอกจากการวัดสมรรถนะทางดิจิทัลแล้ว ในทุกวิชาต้องมีสอดแทรก Digital Literacy เข้าไป และมุ่งเน้นฝึกให้ผู้เรียนก้าวออกไปเป็นผู้บริหารที่มีทักษะและรู้เท่าทันต่อดิจิทัล สามารถประยุกต์ใช้ดิจิทัลในการบริหารจัดการสถานศึกษาให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด


ขณะที่การเรียนในสายเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องปรับปรุงอยู่เสมอเช่นกัน เพื่อให้ทันยุคทันสมัยและรองรับความเปลี่ยนแปลง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทอดศักดิ์ ระบุว่า ปัจจุบัน หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยรังสิต มีรายวิชาที่สอนเกี่ยวกับการใช้ Ai สำหรับวิชาชีพเศรษฐศาสตร์โดยตรง อีกทั้งมีการสอดแทรกการประยุกต์ใช้ Ai เข้าไปในแทบทุกรายวิชาในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ อาทิเช่น สอนให้ผู้เรียนสามารถเขียนคำสั่งให้ Ai ทำงานตรงกับที่เราต้องการ เพราะว่าระหว่างคนที่สั่งงาน Ai ไม่เป็นกับคนที่สั่งงาน Ai เป็น จะทำได้คำตอบตรงและที่มีคุณภาพต่างกันอย่างมาก

“ดังนั้นจึงเกิดมีอาชีพใหม่คืออาชีพวิศวกร Ai คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ช่วยสั่ง Ai ให้ทำงานให้เราได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงความต้องการ ในสายเศรษฐศาสตร์เราสอนให้ผู้เรียนใช้ Ai ในหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น การค้นหาข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล การคำนวณ การสร้างรูปภาพสำหรับใช้แบบโลโก้บริษัท การออกแบบโปสเตอร์ การแต่งและสร้างเพลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ การวิเคราะห์นโยบายต่างๆ หรือวิชาที่เกี่ยวกับการตลาดก็สอนให้ใช้ Ai ในการวิเคราะห์ตลาด กลยุทธ์การขาย จะต้องทำยังไง Ai ก็จะช่วยหาคำตอบ วิเคราะห์ให้เราในระดับหนึ่ง เป็นต้น การใช้ AI จะสามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรวดเร็วในการทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องกลั่นกรองผลลัพธ์ที่ได้จาก Ai ด้วยเพราะ Ai ไม่ได้เก่งทุกเรื่องและไม่ได้ทำถูกทุกอย่าง โดยสรุปแล้วก็คือ ในการเรียนการศึกษา เราหนี AI ไม่ได้”


โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทอดศักดิ์ ยังเน้นย้ำอีกว่า การเรียนต้องเน้นการปฏิบัติ ต้องเรียนในสิ่งที่ Ai ทำไม่ได้ เช่น เรื่องความรัก ความสัมพันธ์ อารมณ์ ความรู้สึก การสื่อสาร การเข้าสังคม การทำงานเป็นทีม Ai ทำไม่ได้ Ai อาจจะสามารถให้แต่ข้อมูล 1-2-3-4 แต่การพูดให้ลูกค้าประทับใจ เสียงดัง เสียงค่อย สีหน้า แววตา Ai ทำไม่ได้ เราต้องเรียนรู้สิ่งนี้จะช่วยให้เราไม่ตกงาน

“นอกจากนั้น การเรียนในยุคนี้จะเรียนสาขาใดสาขาหนึ่งอาจไม่เพียงพอ อย่างหลักสูตรเศรษฐศาตรมหาบัณฑิตของเรา จะรู้แต่เพียงด้านเศรษฐศาสตร์คงไม่พอ เราต้องรู้ทางด้านเทคโนโลยี ด้าน Ai คอมพิวเตอร์ โปรแกรมต่าง ๆ รวมถึงจิตวิทยาด้วย เราต้องเชื่อมโยงกันทั้งหมด ในยุคนี้เราต้องเรียนให้เก่งรอบด้าน ในทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกว่าเราต้องรู้ทั้งระดับจุลภาค หรือไมโคร (Micro) เช่น รู้ตัวเราเอง รู้บริษัท รู้ธุรกิจเรา และระดับมหภาค หรือแมคโคร (Macro) คือเราต้องรู้เรื่องประเทศ เรื่องเงินเฟ้อ เรื่องการเมือง เรื่องต่างประเทศ หุ้นขึ้น หุ้นลง อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทอ่อน เงินบาทแข็ง ด้วย หรือแม้กระทั่งสงครามโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด เราต้องรู้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยง ซึ่งตรงนี้ Ai ช่วยเราได้ ช่วยเรารวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ความเสี่ยงในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง”


ทั้งนี้ ในหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทอดศักดิ์ ระบุว่า ถึงแม้ผู้สนใจเข้าเรียนจะไม่มีพื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์มาก่อน ก็สามารถเข้าเรียนได้ เพราะทางหลักสูตรจะมีวิชาที่ช่วยปูพื้นฐาน ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ การเมือง เทคโนโลยี และมีวิชาเกี่ยวกับการวิเคราะห์เศรษฐกิจการลงทุน วิชาเกี่ยวกับการเงินในยุคดิจิทัล วิชาเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี่ วิชาเกี่ยวกับการเมืองและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งการเรียนแทบทั้งหมดจะมีการประยุกต์ใช้ Ai เข้าไปเสริมเพื่อเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ Ai อย่างมีประสิทธิภาพให้กับผู้เรียน

ขณะที่หลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต มี 3 หลักสูตรให้เลือกศึกษาตามความสนใจ ไล่ตั้งแต่ 1. ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาหลักสูตรการบริหารการศึกษา เมื่อเรียนจบแล้วสามารถเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนในระดับผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียนได้ทั่วประเทศไทย 2. ศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ผลิตมหาบัณฑิตพร้อมใบประกอบวิชาชีพที่สามารถเป็นครูสอนในโรงเรียนที่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีทั้งหมดในโรงเรียนทั่วประเทศ และ 3. การศึกษาระบบสองภาษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาต่างชาติมาเรียนเพื่อกลับไปเป็นครูสอนสองภาษาในประเทศของตนเอง

โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต อาคารรัตนคุณากร (ตึก11) ชั้น 2 ห้อง 206
โทร. 02-997-2200 ต่อ 4001-4005
Email. grad@rsu.ac.th
Facebook : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต https://www.facebook.com/grad.rsu/?locale=th_TH
เว็บไซต์ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต https://grad.rsu.ac.th/


กำลังโหลดความคิดเห็น